“สุดอนาถ! โครงข่ายรถไฟฟ้าใจกลางกรุง ลาดพร้าว - รัชดา - พหลฯ แค่ 3 กิโล 3 ระบบ 3 สาย สุดท้ายประชาชนคนกรุงรับกรรม แค่จะนั่งจากลาดพร้าวไป รร.หอวัง - ม.เกษตร ต้องนั่ง 3 ต่อ 3 ระบบเสียค่าแรกเข้าซ้ำซ้อน ด้านผู้บริหาร BTS-สายสีเหลือง ยันพร้อมลงทุนเชื่อมสายสีเหลือง-สีเขียว 3,000 ล้าน แต่ถูก รฟม. ติดเบรก”
การทดลองเปิดให้บริการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ลาดพร้าว-สำโรง ที่ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ จะเดินทางมาเป็นประธานในพิธีเปิดทดลองให้บริการอย่างเป็นทางการ ในวันที่ 19 มิ.ย.นี้ โดยจะขยายสถานีให้บริการประชาชนร่วมทดลองใช้บริการตลอดสาย ครบทั้ง 23 สถานี ตั้งแต่สถานีลาดพร้าว – ศรีนครินทร์ – สถานีสำโรง ระยะทางรวม 30 กม. ซึ่งสามารถเชื่อมต่อการเดินทางไปยังรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงแบริ่ง – สมุทรปราการ ที่สถานีสำโรง , รถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ และรถไฟสายตะวันออก ที่สถานีหัวหมาก รวมถึงรถไฟฟ้ามหานครสายสีน้ำเงิน ที่สถานีลาดพร้าว
แม้ทุกฝ่ายจะออกมาขานรับการเปิดให้บริการรถไฟฟ้าสายนี้กันกึกก้อง ว่า จะสามารถบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนผู้ใช้บริการ แต่ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อว่า การเปิดให้บริการรถไฟฟ้าสายดังกล่าวหาได้เป็นการแก้ไขอุปสรรคการเดินทางอย่างต่อเนื่องดังที่ทุกฝ่ายเพรียกหา
ตรงกันข้ามกลับเป็นการสร้างอุปสรรคต่อการเดินทางเชื่อมต่อที่ไม่คิดว่าจะเกิดขึ้นได้กับโครงข่ายรถไฟฟ้าใจกลางกรุง! โดยเฉพาะบริเวณ “ห้าแยกลาดพร้าว” ตัดพหลโยธิน ที่ระยะทางเพียง 3-4 กม. แต่ผู้โดยสารกลับต้องเดินทางต่อรถไฟฟ้า 3 ระบบ 3 สาย และต้องเสียค่าโดยสาร ค่าแรกเข้าซ้ำซ้อน กลายเป็นอุปสรรคต่อการเดินทางของผู้ใช้บริการมากขึ้นไปอีก
นักเรียน นักศึกษา และผู้ใช้บริการในเส้นทางจากลาดพร้าวที่จะเดินทางต่อไปยัง 5 แยกลาดพร้าว และเชื่อมต่อไปยัง รร.หอวัง หรือ ม.เกษตรศาสตร์ ที่มีระยะทางเพียง 3-5 กิโลเมตร จะต้องเดินทางข้ามโครงข่าย 3 ระบบ 3 สาย และต้องจ่ายค่าโดยสารค่าแรกเข้าซ้ำซ้อนโดยใช่เหตุ (ยกเว้นผู้ใช้บัตรตั๋วร่วม EMV)
โดยหากโดยสารจากลาดพร้าว สถานีโชคชัย 4 หรือสถานีภาวนา เพื่อเดินทางไปโรงเรียนหอวัง อตก.หรือ ม.เกษตรศาสตร์ จะต้องโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเหลือง มาลงสถานี รัชดา-ลาดพร้าว เพื่อต่อรถไฟฟ้าเฉลิมมหานคร หรือสายสีน้ำเงินเดิม ต้องเสียค่าแรกเข้าใหม่ ก่อนไปต่อรถไฟฟ้าสายสีเขียวที่สถานีพหลโยธินหรือห้าแยกลาดพร้าว ซึ่งแม้ระยะทางแค่ 3-4 กม. แต่ต้องเดินทางเชื่อมต่อถึง 3 ระบบ 3 สาย ต้องเสียค่าโดยสารและค่าแรกเข้าซ้ำซ้อนถึง 3 ระบบ (แม้ในปัจจุบันสายสีเหลืองยังเป็นช่วงทดลองไม่เก็บค่าโดยสาร และสายสีเขียวส่วนต่อขยาย จะยังไม่เก็บค่าโดยสาร แต่เมื่อทั้ง 3 ระบบเปิดให้บริการปกติ จะต้องจ่ายค่าแรกเข้าซ้ำซ้อนตามมาอย่างแน่นอน)
เป็น “วิบากกรรมรถไฟฟ้าใจกลางกรุง” ที่ยุ่งขิงยิ่งกว่ายุงตีกัน และไม่รู้ว่าสิ่งเหล่านี้ นายกรัฐมมนตรีพลเอกประยุทธ์ จะเคยได้รับรายงานจากผู้บริหารการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนฯ (รฟม.) และกระทรวงมหาดไทย ในฐานะผู้กำกับดูแลรถไฟฟ้าสายสีเขียวของ กทม. หรือไม่
ก่อนหน้านี้ คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้เคยให้ความเห็นชอบโครงการขยายเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีเหลืองจากสถานีรัชดา-ลาดพร้าว ผ่านศาลอาญาไปยังสถานีพหลโยธิน ระยะทางราว 2 กม.เศษ วงเงินลงทุนราว 3,000 ล้านบาท โดยบริษัทเอกชนผู้รับสัมปทานเดินรถไฟฟ้า สายสีเหลืองจะลงทุนเอง แต่เรื่องดังกล่าวกลับเงียบหายเข้ากลีบเมฆไปดื้อ ๆ..(แม้กระทั่งวิสัยทัศน์ของผู้บริหาร รฟม. ยุคก่อนหน้านี้ ที่มีแผนจะก่อสร้างรถไฟฟ้าสีเหลือง โดยลากยาวจากจุดสิ้นสุดรถไฟฟ้าสายสีเหลืองบริเวณรัชโยธิน โดยลากแนวเส้นทางไปตามถนนรัชดาภิเษก (เชื่อมรถไฟฟ้าสีแดง บริเวณประชาชื่น)-เชื่อมรถไฟฟ้าสีม่วง (บริเวณแยกวงศ์สว่าง) และลากยาวข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา ตรงสะพานพระราม 7 ไปเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสีน้ำเงิน (บริเวณถนนจรัญสนิทวงศ์) เพื่อสร้างโครงข่ายรถไฟฟ้าแบบไร้รอยต่อ เพื่อแก้วิกฤติจราจรบนถนนรัชดาภิเษก และให้ประชาชนเดินทางได้สะดวกยิ่งขึ้น..แต่ปรากฏว่า เรื่องดีๆ แบบนี้กลับหายเข้ากลีบเมฆ!)
อย่างไรก็ตาม ต่อกรณีส่วนต่อขยายรถไฟฟ้าสีเหลืองช่วงแยกลาดพร้าว-รัชโยธิน ดังกล่าว นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ บีทีเอสซี ผู้ให้บริการรถไฟฟ้าบีทีเอส และผู้รับสัมปทานโครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง กล่าวว่าโครงการส่วนต่อขยายสายสีเหลืองดังกล่าวนั้น ได้ผ่านความเห็นชอบจาก รฟม. และคณะกรรมการสิ่งแวดล้อม (EIA) รวมทั้งคณะรัฐมนตรีแล้ว โดยเอกชนพร้อมที่จะลงทุนเองทั้งหมด
แต่เมื่อบริษัทจะดำเนินการก่อสร้างกลับได้รับแจ้งจาก รฟม. ว่า ทาง BEM ผู้รับสัมปทานรถไฟฟ้าใต้ดิน สายสีน้ำเงิน มีข้อทักท้วงมายัง รฟม. โดยขอให้ชดเชยรายได้แก่บริษัท เพราะศึกษาแล้วพบว่า จะมีผลกระทบต่อรายได้ จึงขอให้บริษัทรับภาระการชดเชยให้ ซึ่งบริษัทได้ตอบกลับไปว่า ไม่สามารถกระทำได้ เพราะหากจะมีข้อทักท้วงเหล่านี้ก็ควรมีคั้งแต่การทำประชาพิจารณ์ เปิดรับฟังความเห็น และก่อนนำเสนอขอความเห็นชอบต่อบอร์ด รฟม. และ ครม.คั้งแต่แรกแล้ว เรื่องจึงเงียบไปไม่มีการดำเนินการใดๆ จนถึงขณะนี้
ทำให้เส้นทางเชื่อมต่อรถไฟฟ้า เพื่อแก้ไขปัญหาการเดินทางข้ามโครงข่าย ข้ามสาย ข้ามภพถูก "ปิดประตูลั่นดาน" ไปแบบงง งง และงง! ไปโดยปริยาย
ส่วนจะได้รับการปลดล็อคเมื่อไหร่ คงต้องรอรัฐบาลใหม่ผ่าทางตันเท่านั้น และจะหวังพึ่งพานายกรัฐมนตรีคนปัจจุบัน "ผ่าทางตัน" ให้ก็คงเป็นไปได้ยาก.....
ขนาดถูกหลอกให้มาเปิดให้บริการรถไฟฟ้า สายอนาถา 3 กิโล 3 ระบบ 3 สาย ก็ยังไม่รู้ตัวเองเลยด้วยซ้ำ!
แก่งหิน เพิง