ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2566 ดร.พิเชฐ คุณาธรรมรักษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางราง (ขร.) และนายอธิภู จิตรานุเคราะห์ รองอธิบดีกรมการขนส่งทางราง พร้อมผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ ขร. ลงสำรวจพื้นที่สถานีลาดพร้าว ภายหลังจากการเปิดให้ประชาชนร่วมทดสอบการเดินรถเสมือนจริง (Trial Run) โครงการรถไฟฟ้า สายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว - สำโรง ตลอดสายอย่างเป็นทางการเมื่อวานที่ผ่านมา จำนวน 23 สถานี ซึ่งมีสถานีลาดพร้าว (YL01) ของโครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว - สำโรง เป็นสถานีเชื่อมต่อกับสถานีลาดพร้าว (BL15) ของโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน
ดร.พิเชฐฯ กล่าวว่า การลงพื้นที่ในครั้งนี้เพื่อสำรวจระบบป้ายบอกทาง ป้ายสัญลักษณ์ และป้ายแสดงข้อมูลการเชื่อมต่อระหว่างโครงการรถไฟฟ้ามหานคร สายสีน้ำเงิน และโครงการรถไฟฟ้ามหานคร สายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว - สำโรง ณ สถานีลาดพร้าว พร้อมทั้งหารือร่วมกับการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) บริษัท อีสเทิร์น บางกอกโมโนเรล จำกัด (Eastern Bangkok Monorial: EBM) ผู้ให้บริการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง และบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (BEM) ผู้ให้บริการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน
ผลจากการหารือเบื้องต้นนั้น ทุกฝ่ายเห็นพ้องร่วมกันว่าควรเร่งปรับปรุงป้ายบอกทาง ป้ายสัญลักษณ์ และป้ายแสดงข้อมูลการเชื่อมต่อระหว่างรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน และโครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ดังนี้
1. ในส่วนของสถานีลาดพร้าวของรถไฟฟ้าสายสีเหลือง EBM จะปรับปรุงป้ายบอกทางออกที่ 3 ซึ่งเป็นทางออกหลักสำหรับผู้โดยสารที่ต้องการเดินทางเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินด้วยทางเดิน (Sky Walk) และเพิ่มป้ายสัญลักษณ์แสดงสิ่งอำนวยความสะดวกทั้งลิฟต์และบันได้เลื่อนในทางเข้า-ออกอื่น ๆ ให้ชัดเจนยิ่งขึ้น
2. ในส่วนของสถานีลาดพร้าวของรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน BEM ซึ่งสามารถเชื่อมกับรถไฟฟ้าสายสีเหลืองได้ที่ทางออกที่ 4 ปัจจุบันมีการจัดทำป้ายบอกทางสำหรับผู้โดยสารที่ต้องการเดินทางเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีเหลืองตลอดทางเดินไปทางออกที่ 4 แล้ว โดยจะปรับปรุงขนาดและตำแหน่งให้ผู้โดยสารเห็นได้ชัดเจนยิ่งขึ้น
3. สำหรับในส่วนของอาคารจอดแล้วจรลาดพร้าวของ รฟม. ซึ่งเดิมมีผู้ใช้บริการเป็นผู้โดยสารของรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินนั้น รฟม. ได้ปรับปรุงป้ายบอกทาง ป้ายสัญลักษณ์ และป้ายแสดงข้อมูลการเชื่อมต่อระหว่างรถไฟฟ้าแล้ว ก่อนการเปิดให้บริการสถานีลาดพร้าวของรถไฟฟ้าสายสีเหลือง แต่เนื่องจากโครงสร้างและสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ได้แก่ บันไดและลิฟต์ของอาคารจอดแล้วจร ไม่ได้เตรียมไว้รองรับผู้โดยสารจากสถานีลาดพร้าวของรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ที่ต้องการเดินทางเชื่อมต่อผ่านอาคารจอดแล้วจรไปยังสถานีลาดพร้าวของรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ที่จะมีผู้ใช้บริการพร้อม ๆ กันเป็นจำนวนมาก ดังนั้น รฟม. จะพิจารณาประสานกับ EBM ปรับปรุงป้ายสัญลักษณ์และป้ายแสดงข้อมูล และเร่งเปิดใช้บริการลิฟต์โดยสารและบันไดสำหรับทางออกที่ 4 โดยเร็วเพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ผู้โดยสาร
นอกจากนี้ ดร.พิเชฐฯ เปิดเผยเพิ่มเติมว่า จากยอดปริมาณผู้โดยสารรถไฟฟ้าสายสีเหลืองที่เพิ่มสูงขึ้น ภายหลังเปิดให้ประชาชนใช้บริการที่สถานีลาดพร้าว (YL01) เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2566 ตั้งแต่เวลา 12.00 น. – 21.00 น. มียอดผู้โดยสารจำนวน 65,511 คน-เที่ยว และเพิ่มขึ้นเป็น 72,807 คน-เที่ยว ในวันที่ 20 มิถุนายน 2566 ภายหลังขยายระยะเวลาให้บริการตั้งแต่ 06.00 น. – 21.00 น. ซึ่งจากการลงพื้นที่ในช่วงเวลาเร่งด่วนเย็น พบว่า ประชาชนให้ความสนใจทดลองใช้บริการรถไฟฟ้าสายสีเหลืองที่สถานีลาดพร้าวจำนวนมาก จึงเสนอให้ EBM พิจารณาการทดลองเพิ่มความถี่ในการให้บริการเดินรถที่ 5 นาทีต่อขบวน ในช่วงเวลาเร่งด่วนเช้า (7.00 น. – 9.00 น.) และช่วงเวลาเร่งด่วนเย็น (17.00 น. – 20.00 น.) เพื่อรองรับปริมาณผู้โดยสารที่เพิ่มมากขึ้น ซึ่งทาง EBM รับไปดำเนินการโดยคาดว่าจะเริ่มการเพิ่มความถี่ในชั่วโมงเร่งด่วนในสัปดาห์หน้า
กรมการขนส่งทางราง จะเร่งประสานติดตามการดำเนินงานข้างต้น เพื่อให้การเดินทางเชื่อมต่อระหว่างเส้นทางรถไฟฟ้าทั้งสองสายเป็นไปด้วยความสะดวก รวดเร็ว ปลอดภัย รวมทั้งอำนวยความสะดวกสำหรับการเดินทางของผู้โดยสารทุกกลุ่ม ซึ่งจะช่วยส่งเสริมและสนับสนุนให้ระบบการการเดินทางด้วยระบบขนส่งมวลชนทางรางเป็นโครงข่ายหลักในการเดินทางในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลต่อไป