“เส้นทางวิบาก ของ "พิธา ลิ้มเจริญรัตน์" ก่อนทะยานสู่เก้าอี้นายกฯคนที่ 30 ไม่ได้ปูด้วยด้วยกุหลาบ เหมือนนิยายรักโรแมนติก แต่เต็มไปด้วย ขวากหนาม หลุมพราง ตั้งล่อเป็น "กับดัก" หวังสกัดกั้น เตะตัดขา ทั้ง จาก องค์กรอิสระ นักการเมือง โดยเฉพาะ สมาชิกวุฒิสภา หรือ ส.ว."ตัวตึง" ที่เป็นด่านสำคัญ จึงเป็นประเด็นร้อนให้ คอการเมืองต้องจับตา ด้วยความลุ้นระทึก ชนิดกระพริบตาไม่ได้”
กำหนดการโหวตนายกฯ คนที่ 30 ที่ นายวันมูฮัมหมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ระบุว่า น่าจะเป็น วันที่ 13 ก.ค. 2566 โดย 8 พรรคร่วมรัฐบาล จะเสนอชื่อ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล (ก.ก.) ให้ที่ประชุมรัฐสภาพิจารณา โดยมีเสียงอยู่ในกำมือ 312 เสียง แต่ตามเงื่อนไขรัฐธรรมนูญ ต้องได้อย่างน้อย 376 เสียง ซึ่งยังขาดอยู่อีก 64 เสียง จาก ที่ประชุมรัฐสภา 750 เสียง โดยมี ส.ส. 500 และ ส.ว.250
นั่นคือประเด็นสำคัญ!!
เนื่องจากจนถึงขณะนี้ จากสถานการณ์ ภาพรวมบ่งชี้ว่า มีเพียง ส.ว. ประมาณ 10 เสียงเท่านั้น ที่เผยผ่านสื่อจะยกมือหนุนให้ "พิธา" เป็นนายกฯ แต่ขณะที่ ส.ว.ที่เหลือ ส่วนใหญ่ ยังไม่ประกาศท่าทีชัดเจน แต่ก็มีบางส่วนยืนยัน จะ งดออกเสียง และ พร้อมจะโหวตสวน
ส.ว.ตัวตึง! หลายคน อาทิ สมชาย แสวงการ, กิตติศักดิ์ รัตนวราหะ , เสรี สุวรรณภานนท์ ฯลฯ ระบุตรงกันว่า สมาชิกวุฒิสภาส่วนใหญ่ ไม่เห็นด้วยกับนโยบายแก้ไข มาตรา 112 ของพรรคก้าวไกล จะกระทบต่อสถาบันสูงสุด
ดังนั้นจึงเป็นที่มาของ "เกมจ้องสกัด เตะตัดขา" การเข้าสู่ตำแหน่งนายกฯของ "พิธา" แม้ว่า จะได้เสียงไว้วางใจจากประชาชนมากที่สุด และได้สิทธิ์เป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล! ร่วมกับพรรคเพื่อไทย ที่ได้คะแนนมาเป็นลำดับที่ 2
ย้อนกลับไป สำรวจตรวจสอบกันให้ชัดๆ อีกครั้ง
อะไรบ้างที่เป็น "เกมจ้องสกัด เตะตัดขา" เริ่มจาก "หุ้น ITV" ที่เป็นประเด็นร้อน ตกเป็นข่าวเกรียวกราว จนถึงขนาดสื่อหลายสำนัก ขุดลึกเบื้องลึกมาตีแผ่ "หุ้นมรดก" จำนวน 42,000 หุ้น ในฐานะ "ผู้จัดการมรดก" ที่พิธาได้รับจากบิดา "พงษ์ศักดิ์ ลิ้มเจริญรัตน์" ก่อนจะโอนหุ้นทั้งหมดให้ "ภาษิณ ลิ้มเจริญรัตน์" น้องชาย เพื่อตัดปัญหาข้อกฎหมายที่จ้องจับผิดจากฝั่งตรงข้าม
ซึ่งตาม รธน. มาตรา 98 (3) กรณี "พิธา" ถือหุ้น ITV มีคุณสมบัติหรือลักษณะต้องห้ามไม่ให้ลงสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. ทำให้เกิดคำถามว่าปัจจุบันสถานะของ ไอทีวี นั้นเป็นอย่างไร?
จากรายงานประจำปี 2565 บริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) ระบุว่า เคยประกอบธุรกิจสถานีวิทยุโทรทัศน์ระบบยูเอชเอฟ (UFH) ภายใต้สัญญา กับ สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (สปน.) ตั้งแต่ 3 ก.ค. 2538 เป็นเวลา 30 ปี สิ้นสุดสัญญา 3 ก.ค. 2568
แต่สถานะปัจจุบัน เมื่อ 7 มี.ค. 2550 ไอทีวี ได้หยุดการประกอบธุรกิจแล้ว จากการบอกเลิกสัญญาของ สปน. และคณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย มีมติให้เพิกถอนหุ้นสามัญของไอทีวีจากการเป็นหลักทรัพย์จดทะเบียน โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 24 ก.ค. 2557
ดังนั้น กรณีนี้ "พิธา" ไม่เข้าข่าย มีคุณลักษณะต้องห้ามการเป็นนายกฯ ว่าด้วย "การถือหุ้นสื่อ" และ กกต. ได้ยกคำร้องของ "เรืองไกร ลีกิจวัฒนะ" รวมทั้งกรณี กกต. จะเอาผิดตาม มาตรา 151 ที่ลงสมัคร ส.ส. ทั้งๆ ที่รู้ว่าตนเอง มีคุณสมบัติไม่ครบถ้วนไปแล้ว !
ประเด็นถัดมา กรณีที่ดิน 14 ไร่ ต.วังก์พงษ์ อ.ปราณบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์ มูลค่า 18 ล้านของ "พิธา" อันเป็นมรดกที่รับจากบิดา ซึ่งล่าสุดได้ขายให้บุคคลอื่นไปแล้วในราคา 6.5 ล้านบาท ทำให้เกิดคำถามตามมาว่า ทำไมต้องขายต่ำกว่าราคาประเมินของกรมที่ดิน และยังย้อนแย้งกับกรณี "หุ้นไอทีวี" ที่ระบุว่า ได้รับมาในฐานะ "ผู้จัดการมรดก" ต่างจากที่ดินวังก์พงษ์ ที่แจ้งว่าเป็น "ที่ดินมรดก"
อย่างไรก็ตาม ประเด็นการขายที่ดินต่ำกว่าราคาประเมิน ผู้สันทัดกรณีจากกรมที่ดินยืนยันว่า ไม่มีความผิดในแง่ของข้อกฎหมาย เพราะเป็นการขายด้วยความสมัครใจ "ก็เขาจะขายต่ำกว่าราคาประเมิน ก็เป็นสิทธิของเจ้าของทรัพย์สิน ไม่มีใครว่า ไม่มีความผิด แต่ถ้าถามว่า น่าสงสัยหรือไม่ อันนี้แล้วแต่คนจะมอง"
ทั้งนี้ มีหลักฐานยืนยัน โดย ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธานศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส ระบุถึงที่ดินของนาย พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ที่ยื่นต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ว่า ตอนรับตำแหน่ง ส.ส. ปี 2562 มี รายการทรัพย์สิน โฉนดที่ดิน หมายเลข 13543 ต.วังก์พง อ.ปราณบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์ เนื้อที่ 14 ไร่ 0 งาน 62.7 ตารางวา
จากการตรวจสอบ ณ สำนักงานที่ดินจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ สาขาปราณบุรี ในหนังสือสัญญาซื้อขายที่ดิน (ท.ด.13) ฉบับลงวันที่ 27 มี.ค. 2566 ระบุราคาซื้อขายเป็นเงิน 6,500,000 บาท หรือตารางวาละ 1,148 บาทต่อตารางวา
กรณีนี้ จึงเป็นเรื่องที่สังคมยังคาใจว่า มีเบื้องหลังอย่างไร ???
ทั้งสองกรณี แม้ กกต. จะยกคำร้องไปแล้ว แต่ในอนาคต ส.ส.ฝั่งซีกตรงข้าม สามารถเข้าชื่อร้องเรียน ต่อองค์กรอิสระ ที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งศาลรัฐธรรมนูญ ให้ตรวจสอบได้ตลอดเวลา อยู่ที่ว่าจะเกิดขึ้นเมื่อไร และอย่างไร แต่ฟันธงได้เลยว่า ต้องมีคนจุดประเด็นนี้ ขึ้นมา "ไล่บี้" อีกแน่นอน ซึ่งอาจเกิดขึ้นหลัง "พิธา ลิ้มเจริญรัตน์" ได้รับการนำชื่อทูลเกล้าฯ ให้ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี !
โดยก่อนจะถึงกระบวนการ ขั้นตอน โหวตนายกฯ ในวันที่ 13 ก.ค.นี้ มีความเห็นสำคัญจากนักวิชาการ ที่น่าสนใจ มาถ่ายทอด ถอดรหัส อุ่นเครื่องกันดังนี้ เริ่มจาก..
รศ.ดร.ฐิติวุฒิ บุญยวงศ์วิวัชร คณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสน์ศาสตร์ ม.เชียงใหม่
13 กรกฎาคมนี้ อย่างแรก บรรยากาศการประชุมวันนั้นจะตึงเครียด ทั้งฝ่ายพันธมิตรกลุ่มการเมืองเดียวกัน 8 พรรค หรือ แม้กระทั่งฝ่ายตรงข้าม ถามว่ามีใคร ไว้ใจใคร 100 เปอร์เซ็นต์หรือไม่ คิดว่าค่อนข้างยาก สิ่งสำคัญคือในวันนั้น จริงๆ แล้วถ้ามองว่าการเจรจากับกลุ่มสมาชิกวุฒิสภา เพื่อยกมือโหวตให้ฝ่ายพรรคก้าวไกล หรือแม้กระทั่งความพยายาม ที่จะสร้างกระแสในเรื่องของการเคลื่อนไหวตั้งรัฐบาลเสียงข้างน้อย คงยังมีต่อไป ตอนนี้กระแสที่ไม่ชัดเจนคือ
“....บางกระแส อย่าง วันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร บอกว่า โหวตได้ ไม่มีจำกัด บ้างก็บอกว่าโหวตได้ 3 ครั้ง จำนวนโหวตมีผลต่อฉากทัศน์ การเลือกนายกรัฐมนตรี โดยจำนวนโหวตหมายถึงการเปิดและปิดล็อกการเมืองต่อเนื่องด้วย เพราะถ้ามีการจำกัดจำนวนโหวต เช่น 2 หรือ 3 ครั้ง แน่นอนว่าถ้าไม่สามารถที่จะผ่านด่าน ส.ว. ไปได้ หรือเสียงไม่สามารถเกิน 376 ได้ ความชอบธรรมจะถูกย้ายจากพรรคก้าวไกล ไปยังพรรคเพื่อไทย หรือพรรคอื่นทันที แต่สมมุติถ้าโหวตได้ไม่จำกัดจำนวนครั้ง หมายความว่าการเมืองไทยจะเคลื่อนเข้าไปสู่สุญญากาศอีกครั้ง..."
ชัยธวัช เสาวพนธ์ นักวิชาการอิสระ จ.เชียงใหม่
เชื่อว่าการโหวตนายพิธาเป็นนายกฯคนใหม่ ไม่น่ามีปัญหา มีเสียงสนับสนุนจาก 8 พรรคจัดตั้งรัฐบาล 312 เสียง หากดึงเสียงจากพรรคร่วมรัฐบาลเดิม 40 เสียงและสมาชิกวุฒิสภา อีก 25 เสียงรวม 377 เสียง เกินครึ่ง 376 เสียงจาก 750 เสียง โหวตให้นายพิธา เพื่อเดินหน้าจัดตั้งรัฐบาล มีคณะรัฐมนตรี บริหารประเทศ เพื่อขับเคลื่อนประเทศไปข้างหน้าได้
โอกาสโหวตนายพิธาเป็นนายกรัฐมนตรีครั้งแรกเป็นไปได้สูง เนื่องจากผลเลือกตั้ง ที่ผ่านมาพรรคก้าวไกล และ เพื่อไทย ชนะเลือกตั้ง ได้รับเสียงสนับสนุนรวมกันกว่า 24 ล้านเสียง ถือเป็นฉันทามติให้นายพิธา เป็นนายกฯ ประกอบกับประชาชนเบื่อหน่าย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่บริหารประเทศมากว่า 9 ปีแล้ว อีกทั้งคนช่วงอายุ 50-65 ปี เริ่มชอบนโยบายก้าวไกล และคล้อยตามคนรุ่นใหม่มากขึ้น อยากเปลี่ยนแปลงการเมืองให้เป็นของประชาชน สร้างอนาคตที่ดีแก่ลูกหลานในวันข้างหน้า ไม่ใช่การสืบทอดอำนาจให้คนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเท่านั้น
“....การโหวตนายพิธาเป็นนายกฯ พรรคร่วมรัฐบาล อาทิ พรรคภูมิใจไทย ประชาธิปัตย์ อาจโหวตให้นายพิธา เนื่องจากยึดมั่นระบอบประชาธิปไตย ต้องการลบภาพเป็นเผด็จการ เพราะเป็น ส.ส. เหมือนกันที่สำคัญดีกว่าให้ ส.ว. 250 คน โหวตนายกฯเพราะไม่ได้มาจากประชาชนโดยตรงเหมือน ส.ส.เชื่อว่า นายพิธาได้รับการโหวตเป็นนายกฯตั้งแต่ครั้งแรก ไม่ต้องรอโหวตถึง 3 ครั้ง ตามที่สภากำหนดดังกล่าว ดังนั้นการโหวตนายกฯและมี ครม.ควรเสร็จสิ้นภายในกรกฎาคมนี้ ก่อนรัฐบาลใหม่ได้แถลงนโยบายต่อสภาในช่วงสิงหาคมตามลำดับ...”
รศ.ดร.โอฬาร ถิ่นบางเตียว อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ ม.บูรพา
การโหวตนายกฯ โดยหลักการจะต้องเจรจาพูดคุยกันระหว่าง ประธานสภาผู้แทนราษฎร ว่าจะวางกฎกติกากันอย่างไร เพื่อให้เป็นธรรม และไม่ติดใจหรือค้างค้าใจกัน เนื่องจากสถานการณ์ทางการเมืองเริ่มรู้สึกว่า หากมีการโหวตนายพิธาเป็นนายกฯ จะมีมวลชนจำนวนมากให้ความสนใจ เพราะฉะนั้นสภาจะต้องวางกติกาให้ชัดเจน หากมองไปที่ 8 พรรคการเมืองที่จะจัดตั้งรัฐบาล มีความชัดเจนในเรื่องของเอกภาพ หากดูจากการโหวตรองประธานสภาคนที่ 1 จาก 312 เสียง และมีความมั่นใจหากพรรค ภท. ที่มีคะแนนประมาณ 70 ที่นั่ง ที่ไม่ยอมยกมือโหวตรองประธานสภาคนที่ 1 ในปีกของเขาเอง ทำให้ 8 พรรคการเมืองมีความหวังว่าน่าจะมีการแปรเปลี่ยนของพรรค ภท. หรือ ถ้าพรรค ปชป. มีว่าที่แคนดิเดตหัวหน้าพรรค หลายคนมองว่า จะสนับสนุนพรรค ก.ก.เหมือนกัน หลังโหวตนายกฯ แล้วจะไปทำหน้าที่ฝ่ายค้าน
“....บวกกับกระแสสังคมที่พยายามกดดัน ส.ว.ค่อนข้างหนัก กระบวนเหล่านี้ทำให้พรรค ก.ก.คิดว่าตัวเองน่าจะมีโอกาส ได้นั่งตำแหน่งนายกฯ เพราะทั้งพรรคฝ่ายค้าน หรือ ส.ว.ไม่กล้าฝืนกระแสของสังคม และปัจจุบันทุกคนยอมรับแล้วว่ารัฐบาลเสียงข้างน้อยเป็นไปไม่ได้ จึงทำให้พรรค ก.ก.มีความมั่นใจมากยิ่งขึ้น ในเมื่อรัฐบาลเสียงข้างน้อยจัดตั้งไม่ได้ จึงต้องมาวัดใจที่ ส.ว. สุดท้ายแล้วต้องมาดูว่า ส.ว.จะโหวตตามมติความต้องการของประชาชนหรือไม่ หากเลือกนายกฯ 2-3 ครั้งแล้ว ส.ว.ยังไม่ยกมือโหวตนายพิธา เป็นนายกฯ จะเป็นโอกาสของพรรคอันดับ 2-3 ขึ้นมาทันที เพื่อหาหลักอิงในความชอบธรรมทางการเมืองในปีกของตัวเอง คงต้องปล่อยให้มีการโหวตนายพิธาไปก่อนเพียงคนเดียว จนนายพิธายอมรับเงื่อนไขว่า เลือก 2-3 ครั้งแต่ ส.ว.ไม่โหวตคะแนนให้ก็จะเป็นความชอบธรรมของพรรคอันดับ 2-3 ทันที....”
ส่วนการจะโหวตนายกฯ 2 คน โดยมี นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค แคนดิเดตนายกฯ พรรค รทสช. ลงแข่งขัน หากมองไปแล้ว นายพีระพันธุ์คงยาก จะต้องเกิดงูเห่าขึ้นจริงๆ หากดูไปแล้ว 312 เสียงของ 8 พรรคการเมือง เชื่อว่าคงไม่มีงูเห่า ถึงแม้ว่าจะทำได้ แต่มาทำตอนนี้ราคาต้นทุนของพรรค พท. จะเสียมากยิ่งขึ้น หากจะเสนอนายพีระพันธุ์ จะกลายเป็นรัฐบาลเสียงข้างน้อยและบริหารงานไม่ได้ รวมทั้งไม่มีความชอบธรรมด้วย
ทั้งหมดเป็นกระเด็นร้อนทางการเมือง ซึ่งต้องติดตามกันอย่างใกล้ชิด !!!