กระจ่างชัด เบื้องหลังคำสั่งปลด "หมอลี่" พ้นที่ปรึกษาประธาน กสทช. ไม่ใช่ใครที่ไหน ที่แท้ได้ไฟเขียวจาก ประธาน กสทช. เชือดเอง เหตุไม่พอใจคำสั่งสอบว่าที่เลขาในคาถา กรณีอนุมัติงบจัดซื้อลิขสิทธิ์บอลโลกที่ทำเอาจอด
จากกรณีที่รักษาการเลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) มีคำสั่งฟ้าฝ่าที่ 683/2566 ให้ "หมอลี่-นพ.ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา" พ้นจากที่ปรึกษาประจำประธาน กสทช. โดยให้มีผลทันที จนก่อให้เกิดกระแสวิพากษ์และคัดค้านอย่างหนัก โดยเฉพาะจากเครือข่ายสภาองค์กรของผู้บริโภคที่ออกโรงประณามรักษาการเลขาธิการ กสทช. ต่อการออกคำสั่งดังกล่าว โดยเห็นว่า รักษาการเลาธิการ กสทช. ไม่น่าจะมีอำนาจทำได้ เพราะตำแหน่งที่ปรึกษาประธาน กสทช. ได้รับการแต่งตั้งโดยตรงจากประธาน กสทช. โดยตรง
ทั้งนี้ จากการตรวจสอบเบื้องหลังคำสั่งปลด “หมอลี่” พ้นที่ปรึกษาประธาน กสทช. ในครั้งนี้ พบว่า ส่วนหนึ่งเป็นเพราะ นพ.ประวิทย์ เคยเป็นกรรมการ กสทช. ด้านคุ้มครองผู้บริโภค และมีบทบาทสำคัญต่อการดูแลสิทธิประโยชน์ของผู้ใช้บริการอย่างยาวนาน จนมีการโยงใยว่ามีส่วนเกี่ยวข้องในการชี้นำการสอบสวนรักษาการเลขาธิการ กสทช. กรณีปล่อยให้การกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) ละเมิดข้อตกลงการรับเงินสนับสนุนจาก กสทช. ในการจัดซื้อลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดบอลโลก 2022 ที่ไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ “มัสต์แคร์รี่” Must Carry ที่ต้องแพร่ภาพได้ในทุกแพลตฟอร์ม
อย่างไรก็ตาม แหล่งข่าวระดับสูงในสำนักงาน กสทช. ได้ตั้งข้อสังเกตต่อเบื้องหน้าเบื้องหลังคำสั่งปลด “หมอลี่” พ้นที่ปรึกษาประธาน กสทช. ในครั้งนี้ว่า แม้รักษาการเลขาธิการ กสทช. จะเป็นผู้ลงนามในคำสั่งปลดโดยตรง แต่การดำเนินการดังกล่าว น่าจะเป็นการรับ “ใบสั่ง” มาจากประธาน กสทช. โดยตรง ตัวรักษาการเลขาธิการคงไม่กล้าดำเนินการโดยพลการอย่างแน่นอน
เพราะตามระเบียบ กทช. (คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ) ว่าด้วยการจ้างที่ปรึกษา ผู้ปฏิบัติงาน เลขานุการ และผู้ช่วยเลขานุการประจำคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ พ.ศ. 2553 นั้น ที่ปรึกษาประธาน กสทช. หรือที่ปรึกษากรรมการ กสทช. ล้วนมาจากการเสนอรายชื่อของประธาน กสทช. และกรรมการโดยตรง ก่อนส่งรายชื่อให้สำนักงานเลขาธิการ กสทช. ตรวจสอบว่ามีคุณสมบัติครบถ้วนหรือไม่ หากครบถ้วนก็ให้เลขาธิการ กสทช. ในฐานะหน่วยงานธุรกิจ กสทช. เป็นผู้ลงนามแต่งตั้ง โดยประธาน กสทช. มีที่ปรึกษาได้ไม่เกิน 4 คน ส่วนกรรมการมีได้ไม่เกิน 3 คน
ทั้งนี้ ตามระเบียบว่าด้วยการจ้างที่ปรึกษา หรือผู้ปฏิบัติงานเลขานุการประจำสำนักงานประธาน กสทช. และ กสทช.นั้น กำหนดเอาไว้ชัดเจนในข้อ 9 ที่ปรึกษาจะพ้นจากตำแหน่ง นอกเหนือจากการตาย ลาออก ติดคุก มีส่วนได้เสีย หรือขาดคุณสมบัติ ดังนั้นผู้ที่มีอำนาจเลิกจ้าง หรือปลดที่ปรึกษา แม้เลขาธิการ กสทช. จะเป็นผู้ลงนามในคำสั่ง แต่ก็เป็นการทำหน้าที่ทางธุรการเท่านั้น ผู้ที่มีอำนาจสั่งปลดจริงๆ ก็คือ ประธาน กสทช. หรือกรรมการ กสทช. ที่เสนอแต่งตั้งโดยตรงเท่านั้น
ดังนั้น กรณีการปลด นพ.ประวิทย์ฯ พ้นที่ปรึกษาประธาน กสทช. ในครั้งนี้ หากไม่ได้รับคำสั่งโดยตรงจากประธาน หรือกรรมการผู้เสนอชื่อแต่งตั้งโดยตรง ตัวเลขาธิการ กสทช. คงไม่กล้าดำเนินการตามลำพังแน่ เลขาธิการ กสทช. ต่อให้กินดีหมีดีเสือมาจากไหนก็คงไม่กล้าออกคำสั่งปลดที่ปรึกษาประธาน กสทช. หรือที่ปรึกษาประจำ กสทช. รายใด ๆ ได้ หากตัวประธาน หรือกรรมการ กสทช. ผู้เสนอแต่งตั้งไม่ให้ไฟเขียวมาโดยตรง ส่วนเหตุที่รักษาการเลขาธิการ กสทช. ก้มหน้ารับกรรมและยอมให้ถูกประณามโดยไม่ปริปากใด ๆ นั้น ก็เพื่อปกป้องตัวประธาน กสทช. อยู่เบื้องหลังคำสั่งปลดในครั้งนี้!
แก่งหิน เพิง