วินาทีนี้ปฏิเสธไม่ได้ว่า ชะตากรรมของประเทศและเศรษฐกิจไทย ถูกส่งไม้ต่อมายังพรรคเพื่อไทย (พท.)แล้ว หลังจาก นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ "แคนดิเดท"นายกฯที่แม้จะนำพรรคก้าวไกล (กก.) ชนะเลือกตั้งมาได้อย่างพลิกความคาดหมาย แต่ก็กลับไม่สามารถ "หักด่าน" ปราการเหล็ก(ขึ้น)สนิมเขรอะของสมาชิกวุฒิสภา(สว.) ได้
…
มิหนำซ้ำเจ้าตัวยังถูก" รุมสกรัม " แบบ 10 :1 ทั้งจากองค์กรอิสระอย่างคณะกรรมการเลือกตั้ง( กกต.) และศาลรัฐธรรมนูญที่มีคำสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ ส.ส. ด้วยข้อหารุนแรงที่อาจทำให้อนาคตทางการเมืองของนายพิธาและพรรคก้าวไกลจ่อเจริญรอยตาม "นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ" และพรรคอนาคตใหม่ อนค. ในอดีตอีกด้วย
ทุกฝ่ายต่างคาดการณ์กันไปต่างไปต่างๆ นานา หนทางในอันที่พรรคเพื่อไทยจะส่ง “แคนดิเดท” นายกฯ ที่ชื่อ “เศรษฐา ทวีสิน” เข้าวินแบบม้วนเดียวจบได้ ต้องดึงเอาอดีตพรรคร่วมรัฐบาลเดิมอย่าง ภูมิใจไทย (ภท.) และพลังประชารัฐ (พปชร.) หรือถึงขั้นไปดึงเอารวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) เข้ามาร่วมด้วย และเตะพรรคก้าวไกลไปเป็นฝ่ายค้านเท่านั้น จึงจะได้รับเสียงสนับสนุนจาก สว.เพียงพอ
หาไม่แล้ว หากยังคง “ดั้นเมฆ” ส่งชื่อนายเศรษฐา โดยไม่ปรับเปลี่ยนพรรคร่วมรัฐบาลและยังคงยึดมั่นในสัตยาบันที่ให้กันไว้อย่างเหนียวแน่น ก็คงยากที่จะหักด่านฝ่าปราการเหล็กสนิมเขรอะของ ส.ว.ไปได้ กลายเป็นเงื่อนไขหินและ “เดทล็อค” ที่ทำเอาทั้งพรรคเพื่อไทยและก้าวไกลกลืนไม่เข้า คายไม่ออก เพราะนั่นหมายถึงการสลายขั้วอำนาจ 8 พรรคที่ลงนามในสัตยาบันกันเอาไว้ก่อนหน้า และต่างคนต่างไปโดยสิ้นเชิง!
ทุกฝ่ายจึงได้เห็นความพยายามของพรรคเพื่อไทย (พท.) ที่กำลัง "ส่งสัญญาณ" จะสลายสัตยาบันของ 8 พรรคร่วมเพื่อหันไปจับมือกับพรรคร่วมรัฐบาลเดิม ด้วยข้ออ้างเพื่อ "ผ่าทางตัน" การจัดตั้งรัฐบาล และผ่าทางตันของประเทศที่ไม่อาจปล่อยให้เกิด "สุญญากาศ" ทางการเมืองได้
แน่นอน! การตัดสินใจเลือกหนทางดังกล่าว ย่อมทำให้พรรคเพื่อไทยสามารถจะรวบรวมเสียงฝ่าด่าน ส.ว.จนจัดตั้งรัฐบาล “ผ่าทางตัน” ให้กับประเทศได้แน่ แต่ก็ต้องแลกกับการเผชิญกับแรงกดดันรอบด้าน ต้องถูก "ตราหน้า" ว่าเป็นรัฐบาลตระบัตสัตย์มองไม่เห็นหัวประชาชนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยเฉพาะจากกลุ่มคนรุ่นใหม่ ที่ไม่อาจยอมรับรัฐนาวาพันธุ์ผสมที่ “เกลือกกลั้ว” ไปด้วยอำนาจมืด และผลประโยชน์อันคละคลุ้งเหล่านี้
เพราะเป็นรัฐบาลที่กล่าวได้ว่า จัดตั้งขึ้นตามใบสั่งจากกลุ่มอำนาจเก่าล้านเปอร์เซ็นต์
ต่อให้ว่าที่นายกฯ อย่าง “นายเศรษฐา” มี 3 เศียร 8 กร ก็คงอยากจะบริหารประเทศท่ามกลางกระแสกดดันทั้งจากฝ่ายค้านที่ได้รับฉันทามติจากประชาชนให้เข้ามากอบกู้วิกฤตประเทศ และจากแรงกดดันจากพรรคร่วมรัฐบาลด้วยกันเองที่คงจะ “ขี่คอ” แกนนำพรรคร่วมรัฐบาล และแทบจะชี้เอากระทรวงเศรษฐกิจระดับเกรดเอ ไปครองเสียด้วยซ้ำ
อย่างไรก็ตาม หนทางในอันที่จะ “แก้ลำ” อำนาจมืดที่กดดัน ส.ว. ให้ปิดสวิตช์รัฐบาลที่ได้รับฉันทามติจากประชาชนอย่างก้าวไกลและเพื่อไทยนั้น ใช่ว่าจะไม่มีเอาเสียเลย หากทั้งเพื่อไทยและก้าวไกลยึดมั่นในสัตยาบัน 8 พรรคร่วมรัฐบาล โดยยังคงยืนกรานที่จะส่งชื่อ “นายเศรษฐา” เป็น “แคนดิเดต” นายกฯ เพียงคนเดียวต่อไป โดยยืนยันที่จะไม่ปรับเปลี่ยนดึงเอาผสมพันธุ์ข้ามพรรคกลับมาร่วมสังฆกรรมด้วยแล้ว
แม้จะเผชิญแรงกดดันที่อาจไม่ได้รับเสียงสนับสนุนจาก ส.ว. อย่างพียงพอ แต่หาก 8 พรรคร่วมยังคงยืนกรานที่จะเดินหน้าตามวิถีทางนี้ โดยประกาศกร้าวยอมที่จะร่วมกันไปเป็นฝ่ายค้านทั้งหมด หนทางในการผ่าทางตันวิกฤตประเทศครั้งนี้ก็ "ย้อนศร" กลับไปอยู่ในเงื้อมมือของ ส.ว. ทั้งผองเอง
แต่ก่อนจะเดินไปถึงจุดนั้น วันที่ 27 ก.ค.นี้ ที่เป็นคิวที่พรรคเพื่อไทยต้องเสนอ "แคนดิเดทนายกฯ" ให้ที่ประชุมร่วมรัฐสภาลงมตินั้น หากทั้งเพื่อไทยและก้าวไกลยึดมั่นในสัตยาบัน 8 พรรคร่วมรัฐบาล โดยยังคงยืนกรานที่จะส่งชื่อ “นายเศรษฐา” เป็น “แคนดิเดต” นายกเพียงคนเดียวต่อไป
ก็ควรถือโอกาสนี้ชิงเสนอชื่อ "พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ" แห่งพลังประชารัฐ (พปชร.) เป็น “แคนดิเดทนายกฯ” เสีย พร้อมดำเนินการรับรอง
เพื่อให้เป็น “วาระ” และ “ญัตติ” ที่ไม่อาจถอนหรือลบล้างได้ นอกจากเดินหน้าลงมติเท่านั้น!
ก็ในเมื่อทั้ง ส.ว. และพรรคฝ่ายค้าน (บางพรรค) ถนัดที่จะเล่มเกมสุดทุเรศแบบนี้ ก็สมควรจะ “ย้อนศร” ด้วยวิธีเด็ก (เหลือขอ) นี้ แม้ที่ประชุมจะถกเถียงอภิปรายเห็นด้วย -ไม่เห็นด้วยอย่างไร เป็นการมัดมือชก ไม่ได้มีการหารือกันมาก่อนอย่างไร แต่เมื่อมีการเสนอชื่อไปแล้ว และมีการรับรองเป็นญัตติไปแล้ว ก็ต้องลงมติเห็นชอบ-ไม่เห็นชอบได้เท่านั้น
และเมื่อประธานนัดโหวตแคนดิเดทนายกฯ ในสัปดาห์ต่อไป ก็ประกาศเลยว่า นัดต่อไปจะเสนอชื่อ “เสี่ยหนู-นายอนุทิน ชาญวีระกุล” แห่งภูมิใจไทย (ภท.) เป็นลำดับต่อไป ซึ่งแต่ละคนที่ถูกเสนอชื่อขึ้นมานั้น ทุกฝ่ายต่างก็ทราบดีว่า หนทางในอันที่จะรวบรวมเสียงให้ได้ถึง 375-3766 เสียงนั้นเป็นไปไม่ได้อยู่แล้ว หรือต่อให้รวบรวมเสียงฝ่ายค้านให้ได้ถึง 188 เสียง ก็คงยากจะหักด่านเป็นรัฐบาลได้
ก็คงมีแต่วิธีนี้เท่านั้น ที่จะแก้ลำการบิดเบือนเจตนารมย์แห่งรัฐธรรมนูญฉบับหลุดโลกนี้ และดึงสติ ส.ว. รวมทั้งนักการเมืองเหลือขอทั้งหลายให้กลับเข้าสู่หนทางประชาธิปไตยได้
เว้นเสียแต่ “เพื่อไทย” มี “วาระซ่อนเร้น” อยู่ในใจมาตั้งแต่แรกเท่านั้น จริงไม่จริง!!!
แก่งหิน เพิง