องค์กรปราบโกงของรัฐ อย่าง ป.ป.ช. ถูกจับตาอีกครั้ง กรณี “การประเมิน ITA ของ ป.ป.ช. ไม่น่าเชื่อถือในสายตาประชาชนหรือไม่?”ล่าสุด “ดร. มานะ นิมิตรมงคล” เลขาธิการ องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) ออกมาตีแผ่ผ่านบทความในหัวข้อ “ล็อค – ลอก – บัง” (1)” โดยมีสาระสำคัญที่น่าสนใจ..“การประเมิน ITA ของ ป.ป.ช. ไม่น่าเชื่อถือในสายตาประชาชน ข้าราชการต่างมองเป็นภาระมากกว่าประโยชน์” เป็นเพราะผลคะแนนประเมิน ITA สูงขึ้นทุกปี แต่สวนทางความจริงที่ทุกคนเห็น คือ ค่าดัชนีคอร์รัปชัน (CPI) ของไทยยังต่ำอยู่ คอร์รัปชันปรากฏให้เห็นมากมาย โดยเฉพาะเมื่อเกิดกรณีอื้อฉาวของอดีตอธิบดีกรมอุทยานฯ และสารพัดส่วยตำรวจพฤติกรรม ล็อค - ลอก - บัง ของหน่วยงานรัฐ “ส่วนใหญ่” ที่คิดแต่จะให้ได้คะแนนสูงๆ คือต้นตอที่ทำให้การประเมินคุณธรรมและความโปร่งใส (Integrity and Transparency Assessment: ITA) ที่พัฒนามาตลอด 10 ปี ถูกบิดเบือนจนเสียประโยชน์ไปอย่างน่าเสียดาย “ล็อค” คือ การวางแผนล็อคคำตอบเพื่อกำหนดผลการประเมิน เช่น การกำหนดตัวบุคคลที่จะตอบแบบประเมิน การโน้มน้าวหรือซักซ้อมให้เกิดคำตอบไปในทางที่ต้องการ การทำแทนกันโดยเก็บเลขที่บัตรประชาชนหรือบัตรข้าราชการของผู้อื่นเพื่อนำมาตอบแบบประเมินเอง “ลอก” คือ การจงใจลอกเลียนข้อมูล/ผลงาน/หรือลอกคำตอบในการประเมินจากหน่วยงานอื่น อาจเป็นข้อมูลที่ล่วงรู้มาจากผลงานปีก่อนๆ หรือการร่วมการประชุมแลกเปลี่ยนระหว่างหน่วยงาน การสอบถามแลกเปลี่ยนข้อมูลในกลุ่มไลน์ผู้แทนหน่วยงานระหว่างเตรียมรับการประเมินฯ เป็นต้น“บัง” คือ การปิดบังข้อมูลภายใน การดำเนินงาน และสิ่งที่ถูกค้นพบ มีทั้งที่ปิดบังโดยตั้งใจ ไม่ตั้งใจหรือเกิดจากความไม่ใส่ใจ รวมถึงเก็บขึ้นหิ้งไม่ใช้ประโยชน์ เช่น1. แต่ละหน่วยงานสามารถออกระเบียบเพื่อกำหนดว่า ข้อมูลประเภทใดให้ปกปิดเป็นความลับ ส่งผลให้ไม่ถูกประเมินตามกติกาของ ป.ป.ช. จึงไม่น่าแปลกใจที่หน่วยทหาร ตำรวจและอีกหลายแห่งที่น่ากังขาในสายตาประชาชนกลับได้คะแนนสูงๆ2. เมื่อเสร็จสิ้นการประเมินเรามักทราบเพียงว่า หน่วยงานนี้ได้เกรดอะไร คะแนนเท่าไหร่ แล้วจบกัน ไว้ปีหน้าค่อยว่ากันใหม่ โดยไม่มีใคร (นอกจาก ป.ป.ช.) รู้ว่า ก. การประเมินทั้ง 88 ข้อในปีนี้ หน่วยงานมีอะไรดีขึ้นหรือแย่ลง อะไรต้องปรับปรุง ข. หน่วยงานใดกำลังมีปัญหาอะไรที่รัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรใส่ใจเป็นพิเศษ ต้องแก้ไขโดยด่วนหรือลงโทษกันบ้างถ้าจำเป็น ค. หน่วยงานไหนมีผลงานอะไรโดดเด่นเป็นแบบอย่างควรยกย่องข้อมูลที่พบจากการประเมินเหล่านี้ นอกจากประชาชนไม่ได้รับรู้ ยังเชื่อว่า แม้แต่ปลัดกระทรวง รัฐมนตรี นายกรัฐมนตรี รวมถึง ครม. ก็มิได้ล่วงรู้เช่นกัน และไม่แน่ว่าหน่วยงานตรวจสอบอย่าง สตง. ปปท. ปปง. จะล่วงรู้ด้วยหรือไม่กรณีกรมอุทยานฯ คือตัวอย่างที่ชัดเจนเพราะหน่วยงานนี้ติดอันดับต้นๆ ว่าเป็นหน่วยงานที่ถูกประเมินจากบุคคลภายนอก (EIT) และบุคคลภายใน (IIT) ตั้งแต่ปี 2562 ว่ามีหลายอย่างที่เสี่ยงต่อการเกิดคอร์รัปชัน แต่ไม่มีใครพูดถึง จนเกิดเรื่องอื้อฉาวขึ้นแล้วข้อมูลสำคัญที่ ITA ค้นพบและประชาชนควรได้รู้ ตัวอย่างเช่น เว็บไซต์ของหน่วยงานรัฐกว่า 70% ไม่อัพเดทข้อมูลให้ถูกต้องเป็นปัจจุบัน (รอทำเมื่อใกล้ประเมิน ITA) และบริการทางอิเลกทรอนิกส์ของหน่วยงานรัฐส่วนใหญ่ทำได้เพียงแค่การจองคิว – จัดคิว ปัจจุบัน ITA ประเมินเพียงหน่วยธุรการและปฏิบัติการ แต่ในอดีตตัวบุคคลที่เป็น “องค์อำนาจ” ของหน่วยงานถูกประเมินด้วยเพราะเป็นศูนย์กลางขับเคลื่อนภารกิจและใช้อำนาจ เช่น ผู้บังคับบัญชา อธิบดี คณะกรรมการ นักการเมือง รัฐมนตรี ฯลฯ หน่วยงานแต่ละแห่งมักกำหนดให้เจ้าหน้าที่ 1 - 3 คน ดูแลการประเมิน โดยผู้บังคับบัญชาระดับสูงและเจ้าหน้าที่อื่นไม่เกี่ยวข้องด้วย ดังนั้นการนำเสนอปัญหาและมีส่วนร่วมดูแลองค์กรย่อมขาดหายไป บทส่งท้ายไม่มีการการันตีว่าหน่วยงานที่ผ่านการประเมิน ITA จะไม่มีคอร์รัปชัน แต่หน่วยงานที่ปฏิบัติจริงจังตามเกณฑ์ ITA ย่อมสามารถควบคุมคอร์รัปชันของบุคลากรได้ดีขึ้นตามเป้าหมายของ ป.ป.ช.มีข้อสังเกตว่า ในปี 2564 และ 2565 มีประชาชนร่วมตอบแบบสอบถาม ITA กว่า 8 แสนคนต่อปี แต่ปี 2566 ที่เพิ่งเสร็จไปเหลือเพียง 5.8 แสนคน การที่ประชาชนหายไปถึง 30% เช่นนี้เป็นเพราะไม่อยากเสียเวลากับพิธีกรรมที่ไม่น่าเชื่อถือ...ใช่หรือไม่? หนทางแก้ให้ดีขึ้นมีไหม?...โปรดติดตามโพสต์ต่อไปครับ