ผู้สื่อข่าวรายงานว่า รองศาสตราจารย์ ดร.อัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ได้เผื่อบทวิเคราะห์ “10 ปี ชาวนาไทย: จนเพิ่ม หนี้ท่วม!” มีสาระสำคัญที่น่าสนใจ..
การผลิตข้าวของโลก
ปี 2565 ประเทศผู้ผลิตข้าวมากที่สุดของโลก คือ ประเทศจีน โดยผลิตข้าวสารได้ 145,946 พันตัน คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 28.5 ของการผลิตข้าวสารโลก อย่างไรก็ตาม การผลิตข้าวสารของจีนลดลงร้อยละ 2 เมื่อเทียบกับปี 2564 และมีอัตราการขยายตัวเฉลี่ยปี 2561-2565 ลดลงร้อยละ 0.4
อินเดีย ผลิตข้าวสารได้มากเป็นอันดับสองของโลก โดยผลิตข้าวสารได้ 136,000 พันตัน คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 26.5 ของการผลิตข้าวสารโลก ซึ่งการผลิตข้าวสารของอินเดียเพิ่มขึ้นร้อยละ 5 เมื่อเทียบกับปี 2564 และมีอัตราการขยายตัวเฉลี่ยปี 2561-2565 ร้อยละ 3.8
เวียดนาม ผลิตข้าวสารเป็นอันดับห้าของโลก ผลิตข้าวสารได้ 27,000 พันตัน คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 5.3 ของการผลิตข้าวสารโลก เวียดนามผลิตข้าวสารเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.9 เมื่อเทียบกับปี 2564 แต่มีอัตราการขยายตัวเฉลี่ยปี 2561-2565 ลดลงร้อยละ 0.5
ไทย ผลิตข้าวสารเป็นอันดับหกของโลก โดยผลิตข้าวสารได้ 20,200 พันตัน คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 3.9 ของการผลิตข้าวสารโลก ซึ่งไทยผลิตข้าวสารเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.6 เมื่อเทียบกับปี 2564 แต่มีอัตราการขยายตัวเฉลี่ยปี 2561-2565 ลดลงร้อยละ 0.1
การส่งออกข้าวของโลก
ประเทศผู้ส่งออกข้าวมากที่สุดของโลกในปี 2565 คือ อินเดีย ไทย และเวียดนาม ตามลำดับ ประเทศคู่ค้าข้าวที่สำคัญของอินเดีย คือ บังกลาเทศ ซาอุดิอาระเบีย และอิหร่าน ส่วนประเทศคู่ค้าข้าวที่สำคัญของไทยในปี 2565 คือ อิรัก สหรัฐฯ แอฟริกาใต้ และจีน ขณะที่เวียดนาม มีคู่ค้าที่สำคัญ คือ ฟิลิปปินส์ กานา และจีน
ประเทศอาเซียนที่ส่งออกข้าวไปโลกมากที่สุดในปี 2565 ได้แก่ ไทย เวียดนาม กัมพูชา และเมียนมา โดยส่งออกเป็นมูลค่า 3,548 ล้านดอลลาร์สหรัฐ 2,186 ล้านดอลลาร์สหรัฐ 406 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และ 394 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ตามลำดับ ทั้งนี้ประเทศจีนเป็นประเทศคู่ค้าข้าวที่สำคัญทั้งกับไทยและเวียดนาม รวมไปถึงเมียนมาและกัมพูชาด้วย
เปรียบเทียบชาวนาไทยกับอินเดีย เวียดนาม และเมียนมา
ในช่วง 10 ปี (ปี 2555 กับ 2565) พบว่า ผลผลิตข้าวไทยลดลง รายได้และเงินคงเหลือของไทยน้อยกว่าคู่แข่ง และต้นทุนการผลิตของไทยเพิ่มขึ้นรองจากอินเดีย
ต้นทุนการผลิตของชาวนาไทย ในปี 2565 มีต้นทุนการผลิต 5,898.5 บาท/ไร่ เพิ่มขึ้น 2,058.8 บาท/ไร่ จากปี 2555 (ปี 2555 มีต้นทุนการผลิต 3,839.7 บาท/ไร่) ขณะที่รายได้ลดลง 777.7 บาท/ไร่ โดยในปี 2565 ชาวนามีรายได้ 3,900.3 บาท/ไร่ น้อยกว่าในปี 2555 ที่มีรายได้ 4,678.0 บาท/ไร่ ทั้งนี้ ในปี 2555 ชาวนามีเงินคงเหลือ 838.3 บาท/ไร่ แต่ปี 2565 ชาวนามีเงินขาดทุน 1,998.2 บาท/ไร่
ในปี 2565 ชาวนาอินเดียมีต้นทุนการผลิต 6,993.7 บาท/ไร่ เพิ่มขึ้น 2,581.8 บาท/ไร่ จากปี 2555 (ปี 2555 มีต้นทุนการผลิต 4,411.9 บาท/ไร่) อย่างไรก็ตาม แม้จะมีต้นทุนเพิ่มแต่ชาวนาอินเดียก็มีรายได้เพิ่มขึ้น 1,817.4 บาท/ไร่ โดยในปี 2565 ชาวนามีรายได้ 11,115.6 บาท/ไร่ เพิ่มจากปี 2555 ที่มีรายได้ 9,298.2 บาท/ไร่ ทำให้ในปี 2555 ชาวนาอินเดียมีเงินคงเหลือ 4,886.3 บาท/ไร่ และปี 2565 มีเงินคงเหลือ 4,121.9บาท/ไร่
ในปี 2565 ชาวนาเวียดนามมีต้นทุนการผลิต 5,098.1 บาท/ไร่ เพิ่มขึ้น 1,027.3 บาท/ไร่ จากปี 2555 (ปี 2555 มีต้นทุนการผลิต 4,070.8 บาท/ไร่) ซึ่งชาวนาเวียดนามมีรายได้เพิ่มขึ้น 69.1 บาท/ไร่ โดยในปี 2565 ชาวนามีรายได้ 8,320.6 บาท/ไร่ เพิ่มจากปี 2555 ที่มีรายได้ 8,251.5 บาท/ไร่ ทำให้ในปี 2555 ชาวนาเวียดนามมีเงินคงเหลือ 4,180.7 บาท/ไร่ และปี 2565 มีเงินคงเหลือ 3,222.5 บาท/ไร่
ในปี 2565 ชาวนาเมียนมามีต้นทุนการผลิต 4,574.2 บาท/ไร่ เพิ่มขึ้น 1,420 บาท/ไร่ จากปี 2555 (ปี 2555 มีต้นทุนการผลิต 3,154.2 บาท/ไร่) ทั้งนี้ ชาวนาเมียนมามีรายได้เพิ่มขึ้น 1,421.3 บาท/ไร่ โดยในปี 2565 ชาวนามีรายได้ 5,953.1 บาท/ไร่ เพิ่มจากปี 2555 ที่มีรายได้ 4,532 บาท/ไร่ ทำให้ในปี 2555 ชาวนาเมียนมามีเงินคงเหลือ 1,377.8 บาท/ไร่ และปี 2565 มีเงินคงเหลือ 1,379.1 บาท/ไร่
10 ปี ข้าวไทย 10 ปี จุดอับ : บทเรียนที่สิ้นหวัง
1. ผลผลิตข้าวต่อไร่ของไทยต่ำ ไทยต่ำกว่าเวียดนาม 3 เท่า (ไทยเฉลี่ย 450 กก.ต่อไร่ เวียดนามมากกว่า 1,000 กก. หรือมากกว่า 1 ตันต่อไร่)
2. ชาวนาไทยมีอาชีพทำนา แต่ส่วนใหญ่ไม่ใช่ชาวนามืออาชีพ ขณะที่เวียดนามคือชาวนาอาชีพ จากชาวนาไทยส่วนใหญ่คิดแค่ 2 เรื่องคือ ราคากับผลผลิต ไม่ค่อยคิดเรื่องการปรับลดต้นทุน แต่ชาวนาเวียดนามคิดในเรื่อง “3 ลด 3 เพิ่ม”
3. ปลดหนี้โดยขายที่นา ชาวนาขาดทุนสะสมจากการทำนาต้องขายที่นา และเช่าที่นาตัวเองเพื่อทำการเกษตรต่อ นโยบายของรัฐบาลที่ผ่านมาไม่สามารถปลดหนี้ให้กับชาวนาได้
4. แหล่งน้ำไม่พร้อม และปัญหาโลกร้อน เวียดนามทำนาได้ 3 ครั้งต่อปี ไทยทำได้ 1-2 ครั้ง
5. เงินวิจัยน้อย ไทยใส่เงิน 200 ล้านบาทในการวิจัย แต่เวียดนามใส่เงิน 3 พันล้านบาท ส่วนอินเดีย จีน และญี่ปุ่นใส่เงินวิจัยข้าวมากกว่า 1 พันล้านเหรียญต่อปี
6. นโยบายการแทรกแซงตลาด ทำลายศักยภาพการแข่งข้น ไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาข้าวอย่างแท้จริง
7. ยิ่งทำนา หนี้ยิ่งเพิ่ม ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น ผลผลิตต่อไร่ลดลง ราคาขายลดลง
8. ข้าวไทยไม่ตอบโจทย์ผู้บริโภคสมัยใหม่ พฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปหันไปรักสุขภาพมากขึ้นและข้าวหอม และนุ่ม
9. เอกลักษณ์ข้าวไทยลดน้อยถอยลง (ความหอม ความนุ่ม) มีการปลอมปน และเร่งการผลิตบนที่ดินที่ขาดคุณภาพ
10. การควบคุมการกระจายพันธุ์ข้าว การกระจายพันธุ์ข้าวเพื่อควบคุมคุณภาพข้าวเวียดนามทำได้ดีกว่าไทย