ขณะที่ถนนทุกสายยังคงลุ้นสุดขั้วกับโฉมหน้าของรัฐบาลใหม่ที่ยังเต็มไปด้วยความโกลาหล เลือกตั้งเสร็จสรรพกันไปตั้งแต่ปีมะโว้ 14 พ.ค. 2566 จวบจนวันนี้กว่า 3 เดือนเข้าไปแล้ว ยังไม่รู้โฉมหน้าของรัฐบาลใหม่จะออกมาอย่างไร จะเป็นความหวังให้กับประชาชนคนไทยได้มากน้อยแค่ไหน
….
ต่างกับประเทศเพื่อนบ้านอย่างกัมพูชาที่เพิ่งจัดเลือกตั้งกันไปไม่ถึง 2 สัปดาห์ เขากลับสามารถจัดตั้งรัฐบาลใหม่ส่งผ่านการบริหารประเทศกันไปเสร็จสรรพแล้ว ส่วนประเทศไทยเราหลัง จาก “นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ แคนดิเดทนายกฯ” จากพรรคก้าวไกล (ก.ก.) ที่แม้จะพลิกล็อคชนะเลือกตั้งมาเป็นพรรคอันดับ 1 แต่ก็กลับไม่สามารถจะฝ่าปราการเหล็กของ สว.ไปได้
มาถึงคิวของพรรคเพื่อไทย (พท.) ที่แม้จะยอมกลืนเลือดสลายขั้ว 8 พรรคร่วมเดิม และถีบส่งมหามิตรอย่างพรรคก้าวไกลเพื่อหวัง “ผสมข้ามพันธ์ุ” ดึงเอาพรรคร่วมรัฐบาลเดิมอย่างพลังประชารัฐ (พปชร.) และรวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) “พรรค 2 ลุง” ที่เคยประกาศจะไม่ร่วมสังฆกรรมด้วย จนถูกผู้คนสัพยอกว่าเป็นรัฐบาลไฮบริด เป็นรัฐบาลมิจฉาชีพไปแล้ว
ไม่ต่างอะไรจากองค์กร กสทช. หรือ “คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ” ที่ในวันนี้ก็ฟอนเฟะไม่แพ้กัน หลังเกิดปมปัญหาใหญ่จากปัญหาการสรรหาและแต่งตั้ง “เลขาธิการ กสทช.คนใหม่” ที่หลายฝ่ายสัพยอกว่า น่าจะเป็น“เลขาพิการ” เสียมากกว่า
เมื่อจู่ๆ ประธาน กสทช. ก็ลุกขึ้นมา “รวบอำนาจ” การสรรหาและแต่งตั้งตัวเลขาธิการ กสทช. คนใหม่ด้วยข้ออ้าง เป็นอำนาจสิทธิ์ขาดของประธาน กสทช. ที่จำเป็นต้องได้ตัวเลขาธิการที่ต้องทำงานเข้าขากันได้เท่านั้น จึงจำเป็นต้อง เป็นผู้ดำเนินการคัดสรรและแต่งตั้งด้วยตนเอง
แม้จะถูก กสทช. ด้วยกันทักท้วงกันอย่างไร ประธาน กสทช. ยังคงดั้นเมฆจะดำเนินการคัดสรร “ว่าที่เลขาธิการ กสทช.” คนใหม่นี้ใหม่ด้วยตนเอง ทำราวกับการเลือกสรรและตั้งเลขานุการหน้าห้องยังไงยังงั้น ก่อนที่ประธาน กสทช. จะออกประกาศประธานกสทช. เปิดรับสมัครบุคคลเข้ารับการสรรหาเป็นเลขาธิการ กสทช. ที่ว่านี้
แม้ในรอบแรกที่ใช้วิธีการสกิดบุคคลที่มีความเหมาะสมเข้ามาสมัครนั้น มีเพียงรักษาการเลขาธิการ กสทช. ที่ทุกฝ่ายต่างก็รับรู้กันดีว่า เป็น “แคนดิเดท” ที่ทั่นประธานหมายมั่นปั้นมือมาแต่ไหนแต่ไรนั่นแหละสมัครเพียงคนเดียว ก่อนจะมีการขยายเวลารับสมัครมาอีกร่วมเดือน ซึ่งแม้จะมีผู้สนใจตบเท้าเข้ามาสมัครเป็นเลขาธิการฯที่ว่านี้กันถึง 9 ราย แต่ก็เป็นที่รับรู้กันดี ยังไงเสียว่าที่เลขาธิการ กสทช.ก็ต้องเป็น “เขาคนนั้น”เท่านั้นแหล่ะ
เอาเป็นว่า แม้ภูมิหลังของว่าที่เลขาธิการ กสทช. คนนี้จะ “อื้อฉาว” จนถึงขั้นที่บอร์ด กสทช. มีมติให้ยุติการทำหน้าที่รักษาการเลขาธิการ กสทช. พร้อมให้ตั้งคณะกรรมการขึ้นสอบวินัย กรณีบริหารงบสนับสนุนการจัดซื้อลิขสิทธิ์บอลโลก 2022 ที่ไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์และประกาศ “มัสต์แคร์รี่” ของ กสทช.เอง
แต่มติบอร์ด กสทช. ดังกล่าว กลับถูกประธาน กสทช. เก็บงำซุกไว้ใต้พรม ไม่ยอมออกคำสั่งทางปกครองให้เป็นไปตามมติบอร์ด(ที่ตนเองเป็นประธาน) โดยยังคงแอ่นอกปกป้อง แถมยังไฟเขียวให้เจ้าตัวยังคงอยู่ทำหน้าที่รักษาการเลขาธิการ กสทช. ต่อไป ทั้งที่บอร์ด กสทช. มีมติแต่งตั้งรักษาการเลขาธิการคนใหม่ไปแล้ว จนทำเอาบุคลากร เจ้าหน้าที่สำนักงาน กสทช.ได้แต่เหวอ ไม่รู้จะต้องฟังคำสั่งใครเป็นหลักไปแล้วเวลานี้
ล่าสุด ประเด็นการแต่งตั้งเลขาธิการ กสทช. ดังกล่าวระอุแดดขึ้นมาอีกระลอก ในการประชุมบอร์ด กสทช. เมื่อ 9 ส.ค.ที่ผ่านมา หลังมีกระแสว่า ประธาน กสทช.จะรวบรัดให้ที่ประชุมบอร์ดเห็นชอบการแต่งตั้ง นายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล ขึ้นเป็นเลขาธิการ กสทช. ให้สมใจอยาก แต่ถูก กสทช. เสียงส่วนใหญ่ทักท้วง เพราะยังมีเรื่องของมติบอร์ด กสทช.ที่คั่งค้างมาจากครั้งก่อน กรณีที่บอร์ด กสทช. มีมติให้เปลี่ยนตัวรักษาการเลขาธิการ กสทช. และตั้งคณะกรรมการสอบวินัยนายไตรรัตน์ รวมทั้งยังเห็นชอบให้ “นายภูมิศิษฐ์ มหาเวศน์ศิริ” ขึ้นปฏิบัติหน้าที่รักษาการแทนไปแล้ว แต่ประธาน กสทช.ก็ยังไม่มีการลงนามในคำสั่งให้เป็นไปตามมติบอร์ดดังกล่าว
กลายเป็นประเด็นปัญหาที่ทำให้บอร์ด กสทช.วงแตกอีกหน หลัง กสทช. เสียงส่วนใหญ่ ต้องการให้ที่ประชุมได้พิจารณาเรื่องนี้ให้มีข้อยุติ แต่ทั่นประธาน กสทช. ยังคงยืนยันนั่งยัน จะไม่ใช้อำนาจออกคำสั่งตามมติ กสทช. ที่ว่านี้ เพราะการแต่งตั้งและเปลี่ยนแปลงตัวเลขาธิการ กสทช. นั้น เป็นอำนาจสิทธิ์ขาดของตนเพียงคนเดียว และหากบอร์ด กสทช.ไม่เห็นชอบรายชื่อว่าที่เลขาธิการ กสทช. ที่นำเสนอก็จะไม่มีการนำเสนอรายชื่อบุคคลอื่นให้บอร์ดพิจารณาใด ๆ ทั้งสิ้น
เป็นการ “มัดมือชก” นำเสนอรายชื่อบุคคลให้บอร์ด กสทช. ที่แค่ ”รับเบอร์แสตมป์” Rubber Stamp เท่านั้น! จนหลายฝ่ายสัพยอกหากเป็นดังนั้น ทั่นประธานบอร์ด กสทช. จะมันเสียเวลาเสนอชื่อว่าที่เลขาธิการ กสทช. ให้บอร์ดพิจารณาเห็นชอบให้เมื่อยตุ้มไปทำไม ก็ “ชงเอง- ตั้งเอง” ไปเสียก็หมดเรื่อง!!!
ผลพวงจากกรณีแต่งตั้งรักษาการเลขาธิการ กสทช. คนใหม่ดังกล่าว ยังลามเลียทำให้การปรับโครงสร้างองค์กร กสทช. ใหม่พลอยได้รับผลกระทบไปด้วย แม้การดำเนินการดังกล่าวจะเป็นไปตามมติบอร์ด กสทช. เองที่เห็นชอบให้มีการปรับโครงสร้างองค์กรเพื่อรองรับการหลอมรวมทางเทคโนโลยีให้เป็นไปตามกฎหมายที่เปลี่ยนไป และมุ่งส่งเสริมผู้ประกอบการ รวมทั้งคุ้มครองผู้บริโภคให้ได้รับบริการที่ดีขึ้น
แม้คณะทำงานปรับโครงสร้างจะยืนยันนั่งยันว่า การปรับโครงสร้างองค์กรใหม่ดังกล่าวได้ดำเนินการภายใต้กรอบวงเงินงบประมาณ และจำนวนบุคลากรเท่าเดิมคือ 2,150 คน และขั้นตอนการดำเนินการต่างๆ ล้วนได้รับความเห็นชอบจากที่ประชุมบอร์ดกสทช.ชุดปัจจุบันมาตามลำดับตั้งแต่ต้น รวมทั้งได้รับฟังความคิดเห็นเพิ่มเติมทั้งจาก กสทช.และผู้บริหารในสำนักงานฯ มาอย่างรอบด้านแล้วก็ตาม
แต่เมื่อประธาน กสทช. ยังคงตั้งแง่สอบถามถึงเหตุผลในการปรับโครงสร้างองค์กรที่ว่านี้ และตั้งคำถามถึงคณะทำงานปรับโครงสร้างร่วม 22 ข้อ ให้คณะทำงานกลับไปทบทวนและหาคำตอบมาให้ได้เสียก่อน จึงทำให้เส้นทางปรับโครงสร้างองค์กร กสทช.ใหม่ พลอยค้างเติ่งคาราซังไปด้วย
จึงอย่าแปลกใจหากกลไกพิกลพิการของ กสทช.วันนี้ จะถูกสังคมสัพยอกเอาว่า “มีก็เหมือนไม่มี” เพราะไม่รู้ว่าต้องฟังคำสั่งใคร ประธาน กสทช. หรือมติบอร์ด กสทช. หรือรักษาการเลขาธิการ(คนไหน) เพราะทุกอย่างฟอนเฟะมั่วตุ้มกันไปหมด!!!
แก่งหิน เพิง