เครือข่ายสื่อมวลชน ยื่นจดหมายเปิดผนึกถึงนายกรัฐมนตรี ทวงถามนโยบายสังคมและสุขภาพที่เคยจัดเวทีพรรคร่วมรัฐบาลก่อนเลือกตั้ง ควรเพิ่มเติมปัญหาเด็กถดถอยด้านการเรียนรู้ จุดยืนห้ามนำเข้าและขายบุหรี่ไฟฟ้า แก้ปัญหาพนันออนไลน์และการหลอกลวงออนไลน์ ป้องกันการใช้กัญชาสันทนาการและผสมอาหาร ทำลายยาเสพติดของกลางให้เร็วป้องกันนำมาขายใหม่ ดูแลผู้สูงวัยอยู่ในแผน สปสช. และเพิ่มเรื่องสมุนไพรกับแพทย์ทางเลือก
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 11 กันยายน 2566 ที่ผ่านมา เครือข่ายสื่อมวลชนขับเคลื่อนสุขภาวะเพื่อสังคมไทยยั่งยืน ซึ่งเป็นการรวมตัวกันของสื่อมวลชนจากหนังสือพิมพ์ โทรทัศน์ วิทยุและสื่อออนไลน์ ได้ลงนามส่งจดหมายเปิดผนึกผ่านสื่อมวลชนถึงนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรี ในโอกาสที่รัฐบาลแถลงนโยบายในการบริหารประเทศต่อสภาผู้แทนราษฎร เพื่อเสนอความคิดเห็นให้รัฐบาลนำไปประกอบการพิจารณาเพิ่มเติมนโยบายด้านสังคมและผลกระทบทางสุขภาพ โดยระบุว่า เครือข่ายสื่อมวลชนขับเคลื่อนสุขภาวะเพื่อสังคมไทยยั่งยืนได้จัดประชุมเรื่อง “สื่อมวลชนพบพรรคการเมือง : ถามหา นโยบายสร้างเสริมสุขภาพคนไทย” เมื่อวันที่ 25 เมษายน 2566 ณ ห้องฟอร์จูน ชั้น 3 โรงแรมแกรนด์ฟอร์จูน กรุงเทพฯ มีตัวแทนพรรคการเมืองซึ่งเป็นพรรคร่วมรัฐบาลในขณะนี้ คือ พรรคเพื่อไทย พรรคพลังประชารัฐ พรรครวมไทยสร้างชาติ และพรรคชาติไทยพัฒนา เข้าร่วมนำเสนอนโยบายด้วย ในวันดังกล่าวมีการนำเสนอ นโยบายด้านสังคมและการสร้างเสริมสุขภาพหลายเรื่องที่พรรคร่วมรัฐบาลเห็นตรงกันที่จะผลักดันให้เป็นนโยบายรัฐบาลในการบริหารประเทศ และจากเอกสารประกอบการแถลงนโยบายรัฐบาลที่มีการเผยแพร่ผ่านสื่อมวลชนทั่วไปนั้น มีนโยบายระยะกลางเรื่องการสร้างคุณภาพชีวิตที่ดี นำความปลอดภัย สร้างศักดิ์ศรีและนำความภาคภูมิใจมาสู่ประชาชนไทยทุกคนบรรจุอยู่ด้วย อย่างไรก็ตาม หลายประเด็นกลับไม่มีอยู่นโยบายหรือมีนโยบายแต่ไม่มีความชัดเจนเพียงพอที่จะสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนได้ ทางเครือข่ายฯจึงมีมติร่วมกันยื่นข้อเสนอเพื่อนำไปเพิ่มเติมในการปรับปรุงการจัดทำนโยบายด้านสังคมและผลกระทบทางสุขภาพ 8 ประเด็น คือ
ด้านการศึกษา นอกจากการพัฒนาคุณภาพคนที่จบการศึกษาให้ความต้องการของเศรษฐกิจแบบใหม่ และการปฏิรูปการศึกษาสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิต รัฐบาลควรจะเพิ่มเติมในเรื่องโอกาสทางการศึกษาของเด็กในครอบครัวยากจน ที่ได้รับผลกระทบจากจากปัญหาเศรษฐกิจให้ได้รับการศึกษาอย่างทั่วถึง รวมทั้งการแก้ปัญหาการถดถอยทางการเรียนรู้ของเด็กไทยจากสถานการณ์โควิด 19 ที่มีเด็กยากจนเพิ่มขึ้นถึง 3 แสนคนด้วย
ด้านปัญหายาเสพติด นอกจากการปราบปรามผู้มีอิทธิพลและยาเสพติดให้หมดไปจากสังคมไทยโดยยึดหลักเปลี่ยนผู้เสพเป็นผู้ป่วย จะมีการยึดทรัพย์ผู้ค้ายาเสพติดและร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้านในการแก้ไขปัญหาการลักลอบนำเข้ายาเสพติดตามแนวชายแดนแล้ว รัฐบาลควรเพิ่มมาตรการเชิงป้องกันให้มากขึ้นทั้งการรณรงค์ สื่อสาร ให้ความรู้กับประชาชนเพื่อไม่ให้เด็กและเยาวชนตกเป็นเหยื่อของขบวนการค้ายาเสพติด นอกจากนั้นควรจะมีนโยบายการที่ชัดเจนในการทำลายยาเสพติดของกลางโดยเร็วเพื่อป้องกันการยักยอกหรือการเล็ดลอดของยาเสพติดนำกลับมาขายใหม่
ด้านนโยบายที่เกี่ยวกับกัญชา มีการระบุถึงการใช้ประโยชน์จากกัญชาทางการแพทย์และสุขภาพ เพื่อสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจแต่ไม่มีการพูดถึงการให้ความรู้ รณรงค์ ป้องกันและปราบปรามการนำกัญชาไปใช้เพื่อสันทนาการ และการประกอบอาหาร เครื่องดื่ม ขนม รวมทั้งผลกระทบต่อสุขภาพของเด็กและเยาวชนและสังคมโดยรวม
ด้านนโยบายที่เกี่ยวกับสุขภาพจิต ขณะนี้คนไทยมีปัญหาความเครียดจากปัญหาเศรษฐกิจ รายได้มากกว่ารายจ่าย รวมทั้งผลกระทบจากโควิด 19 ที่ต่อเนื่องมากถึงปัจจุบัน ทำให้คนไทยเกิดปัญหาซึมเศร้าทั้งในผู้ใหญ่ เด็กและเยาวชน หลายตัดสินใจจบชีวิตตัวเองและครอบครัวเพราะไม่มีทางออกของชีวิตปรึกษาใครไม่ได้ เรื่องเหล่านี้ควรจะเป็นวาระสำคัญของรัฐบาลในการให้ความรู้และสร้างภูมิคุ้มกันกับประชาชน
ด้านนโยบายที่เกี่ยวกับการบริโภคยาสูบ โดยเฉพาะเรื่องบุหรี่ไฟฟ้าที่กำลังแพร่หลายในเด็กและเยาวชน นอกจากการให้ความรู้ สร้างความเข้าใจกับประชาชนแล้ว รัฐบาลควรมีจุดยืนที่มั่นคงว่าว่าบุหรี่ไฟฟ้ายังเป็นสิ่งที่ผิดกฎหมาย ทั้งการนำเข้าและการจำหน่าย รวมทั้งการบังคับใช้กฎหมายจับกุมอย่างจริงจัง มีการทำลายของกลางที่ยึดได้ทันที เพื่อป้องกันปัญหาการวิ่งเต้นจากพ่อค้าแล้วนำกลับมาขายใหม่
ด้านนโยบายที่เกี่ยวข้องกับการพนันออนไลน์และการหลอกลวงออนไลน์ มีข้อมูลจากศูนย์ศึกษาปัญหาการพนัน คณะเศรษฐศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเปิดเผยพฤติกรรมการเล่นพนันออนไลน์ปี 2566 ในรอบ 12 เดือนพบว่าคนรุ่นใหม่เล่นพนันออนไลน์ 32.3% หรือเกือบ 3 ล้าน คน และปัญหาการหลอกลวงทางออนไลน์นับตั้งแต่ 17 มีนาคม 2566 ถึงปัจจุบันมีกว่า 3,000 เรื่อง ความเสียหายกว่า 2,700 ล้านบาท เรื่องนี้เป็นปัญหาสำคัญที่สร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจและส่งผลกระทบทางสังคมกับประชาชน เด็กและเยาวชนอย่างมาก และควรจะเป็นนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล
ด้านนโยบายผู้สูงอายุ สื่อมวลชนเห็นด้วยที่รัฐบาลมีการจัดสวัสดิการแห่งรัฐให้ความสำคัญกับความเท่าเทียม ของคนทุกกลุ่มซึ่งรวมถึงผู้สูงอายุ แต่ขอให้มีการบรรจุเรื่องการดูแลผู้สูงอายุหรือผู้มีภาวะพึ่งพิงเข้าไปอยู่ในแผนงานของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ การสนับสนุนบุคลากร พยาบาล ผู้บริบาลรวมทั้งจิตอาสาไปดูแลผู้สูงอายุ ถึงบ้านโดยร่วมมือกับหน่วยงานภาคเอกชนหรือหน่วยงานที่ สปสช.กำหนด
และ ด้านนโยบายสุขภาพมีการยกระดับนโยบาย 30 บาท รักษาทุกโรค ให้มีคุณภาพและทั่วถึงมากขึ้น นั้นเป็นสิ่งที่ดี แต่ขณะเดียวกันหากรัฐบาลบรรจุเรื่องการส่งเสริมและพัฒนาการใช้สมุนไพร การแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก เพื่อให้ประชาชนมีทางเลือก หลากหลายในการดูแลสุขภาพจะส่งผลต่อสุขภาวะอนามัยที่ดีของประชาชนมากขึ้น
ในตอนท้ายของจดหมายเปิดผนึก ทางเครือข่ายสื่อมวลชนขับเคลื่อนสุขภาวะเพื่อสังคมไทยยั่งยืนระบุว่า หวังเป็นอย่างยิ่งว่านายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีจะได้นำข้อเสนอนี้ร่วมกับข้อเสนออื่นๆ ทั้งจากภาคการเมือง ภาคธุรกิจ ภาคประชาสังคม และพี่น้องประชาชนไปปรับปรุงเพิ่มเติมนโยบาย เพื่อยังประโยชน์สุขแก่ประชาชนโดยส่วนรวมอย่างยั่งยืนต่อไป พร้อมกันนั้นได้มีการลงนามรายชื่อและบทบาทหน้าที่แนบท้ายจดหมายด้วย เช่น นายณรงค์ ปานนอก ประธานชมรมคอลัมนิสต์นักจัดรายการวิทยุและโทรทัศน์ไทย นายศักดา เอียว หรือ เซีย การ์ตูนนิสต์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ นายจิระ ห้องสำเริง ผู้ก่อตั้ง smemedia.com ผู้ดำเนินรายการสถานีวิทยุ ZaabNews FM 96.0 MHz นายถวัลย์ ไชยรัตน์ ผอ.คลื่น FM 96.5 MHz นางสาวแวววยุลี ลุ่มร้อย บก.ข่าวเศรษฐกิจ ไทยรัฐทีวี นายจิระพงค์ เต็มเปี่ยม หัวหน้าข่าวหน้า 1 นสพ.แนวหน้า และนายวิเชษฐ์ พิชัยรัตน์ ผู้ดำเนินรายการวิทยุ เป็นต้น