เรื่องที่ “นายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล” รองเลขาธิการ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) รักษาการแทนเลขาธิการ กสทช. ดอดไปยื่นฟ้อง 4 กสทช. ที่ประกอบด้วย พล.อ.ท.ธนพันธุ์ หร่ายเจริญ ,ศ.ดร.พิรงรอง รามสูต , รศ.ดร.ศุภัช ศุภชลาศัย และ รศ.ดร.สมภพ ภูริวิกรัยพงศ์
ทั้งยังพ่วงเอา ผศ.ดร. ภูมิศิษฐ์ มหาเวสน์ศิริ รองเลขาธิการ กสทช. ไปด้วยอีกคนฐานเป็นเจ้าพนักงานร่วมกันปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบฯ โดยระบุว่า กสทช. ทั้ง 4 คน ได้ร่วมผลักดันให้บอร์ด กสทช. ตั้งอนุกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงการดำเนินงานของสำนักงาน กสทช. เกี่ยวกับการสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการซื้อลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดฟุตบอลโลกรอบสุดท้าย 2022 ทำให้ตนซึ่งเป็นผู้รักษาการแทนเลขาธิการ กสทช. ได้รับความเสียหาย ต้องถูกตั้งกรรมการสอบสวน เสื่อมเสียชื่อเสียง และได้รับผลกระทบจากการพิจารณาคัดเลือกแต่งตั้งให้ดำรงตาแหน่งเลขาธิการ กสทช.
ในรายละเอียดคำฟ้องนั้น ระบุถึงพฤติการณ์ของ กสทช. ทั้ง 4 คนที่ร่วมกันผลักดันการตั้งอนุกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีดังกล่าว ก่อนที่อนุกรรมการตรวจสอบชุดดังกล่าวจะจัดทำบันทึกลับระบุว่า การดำเนินการสำนักงาน กสทช. เกี่ยวกับการสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการซื้อลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดฟุตบอลโลกรอบสุดท้าย มีการกระทำที่เข้าข่ายฝ่าฝืน ไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ประกาศที่เกี่ยวข้องของ กสทช. และได้นำเสนอต่อที่ประชุมบอร์ด กสทช.เมื่อวันที่ 9 มิ.ย. 66
ก่อนที่บอร์ด กสทช. มีมติเสียงข้างมาก ให้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยรักษาการเลขาธิการ กสทช. และลงมติให้มีการเปลี่ยนรักษาการแทนเลขาธิการ กสทช. โดยแต่งตั้ง รศ.ภูมิศิษฐ์ ขึ้นทำหน้าที่รักษาการ รวมทั้งออกคำสั่งตั้งกรรมการสอบสวนทางวินัยตนเองด้วย
“การกระทำของ 4 กสทช. ที่ลงมติให้ปลดรักษาการเลขาธิการ กสทช. และตั้งกรรมการสอบสวนทางวินัยนั้น เป็นการร่วมกันวางแผนและดำเนินการโดยแบ่งหน้าที่กันทำงานอย่างชัดเจน เป็นการกระทำผิดกฎหมาย ระเบียบ และเป็นการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบหรือโดยทุจริต ถือเป็นการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบด้วยกฎหมาย ทำให้ตนซึ่งเป็นผู้รักษาการแทนเลขาธิการ กสทช. ได้รับความเสียหาย ต้องถูกตั้งกรรมการสอบสวน เสื่อมเสียชื่อเสียง และได้รับผลกระทบจากการพิจารณาคัดเลือกแต่งตั้งให้ดำรงตาแหน่งเลขาธิการ กสทช. ซึ่งกำลังจะมีขึ้นด้วย”
เรื่องการฟ้องบอร์ด กสทช. ทั้ง 4 ราย รักษาการเลขาธิการ กสทช. คงปล่อยให้เป็นไปตามกระบวนการยุติธรรมกันไป แต่การดำเนินการดังกล่าวได้สะท้อนให้เห็นความขัดแย้งและไม่ลงรอยกันอย่างหนักภายในองค์กร กสทช. แห่งนี้ ทั้งความขัดแย้ง-ไม่ลงรอยของบอร์ด กสทช. และระหว่างบอร์ดและฝ่ายบริหาร กสทช.
อีกทั้งผลพวงจากการที่นายไตรรัตน์ลุกขึ้นมาฟ้อนเงี้ยว ฟ้อง 4 กสทช. ข้างต้นแบบไม่ไว้หน้า แม้จะอ้างเพื่อกอบกู้ศักดิ์ศรี กอบกู้ชื่อเสียงอย่างไร ส่วนหนึ่งที่ทุกฝ่ายต่างรู้อยู่เต็มอกก็เพื่อที่จะสกัดกั้นไม่ให้บอร์ด กสทช. ทั้ง 4 ร่วมลงมติในการคัดเลือกว่าที่เลขาธิการ กสทช. คนใหม่นั่นแหล่ะ ในเมื่อเป็นคู่ขัดแย้ง เป็น “ไม้เบื่อไม้เมา” แบบนี้ บอร์ดทั้ง 4 คงถูกตั้งแง่ว่าไม่มีสิทธิ์ร่วมลงมติเห็นชอบ-ไม่เห็นชอบไปโดยปริยาย
ทำให้เส้นทางการให้บอร์ด กสทช. ร่วมเห็นชอบก็จะเหลือบอร์ดเพียง 3 รายเท่านั้นที่มีสิทธิ์จะให้ความเห็นชอบได้ และคงเปิดโอกาสให้ท่านประธานใช้สิทธิ์แต่งตั้งเลขาธิการคนใหม่โดยสะดวกโยธินอยู่ดี แม้จะมี กสทช. เห็นชอบเพียง 3 ราย แต่ก็สามารถอ้างได้ว่าอีก 4 ราย เป็นคู่ขัดแย้ง จึงไม่มีสิทธิ์ร่วมลงมติ
หากดำเนินไปตามครรลองนี้ ก็คงหนีไม่พ้นที่เส้นทางการสรรหาและแต่งตั้งเลขาธิการ กสทช. คนใหม่หนีไม่พ้นจะ “ยุ่งขิงเป็นยุงตีกัน” ไม่รู้จะมีการฟ้องร้องขึ้นโรงขึ้นศาลกันอีกกี่สิบคดีตามมาแน่ และต่อให้ประธาน กสทช. “ดั้นเมฆ” ผลักดันให้รองไตรรัตน์ “ขึ้นแท่น” เป็นเลขาธิการ กสทช. คนใหม่ได้สมใจอยาก
แต่ในเมื่อเส้นทางการก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งสุดแสนจะพิสดารพันลึก เต็มไปด้วยความขัดแย้งขนาดนี้ ลองได้ “หักดิบ” กันถึงพริกถึงขิงขนาดนี้ ก็ไม่รู้ว่า แล้วจะนั่งประชุมกันอย่างไร จะมองหน้ากันอย่างไร หาก กสทช. มีประเด็นมอบหมายงานหรือสั่งให้สำนักงาน กสทช. ปฏิบัติด้วยเรื่องใด ๆ จะได้รับการสนองตอบและปฏิบัติตามหรือไม่อย่างไร คงเป็นสิ่งที่ทุกฝ่ายใคร่รู้แน่
ทั้งหลายทั้งปวงที่เกิดขึ้น ปฏิเสธไม่ได้ว่า ล้วนมาจากการทำหน้าที่ของประธาน กสทช. ที่ “ดั้นเมฆ” จะอุ้มสมคนที่ตนเองหมายมั่นปั้นมือจะให้เป็น “เลขาธิการ กสทช.” ให้สมใจอยาก โดยไม่สนโลกว่า จะคิดอ่านอย่างไร ด้วยข้ออ้างจำเป็นต้องทำงานเข้าขากับประธาน กสทช. ในฐานะผู้ที่ต้องกำกับดูแลสำนักงาน กสทช. โดยตรง จนทำให้การสรรหาเลขาธิการ กสทช. หน่วยงานของรัฐที่เป็นอิสระ แทบจะแปรสภาพเป็น “เลขานุการส่วนตัว” ไปซะฉิบ
แนวทางการสรรหาและแต่งตั้งเลขาธิการที่ท่านประธาน กสทช. ดำเนินการ “หักดิบ” บอร์ด กสทช. ทั้งคณะ ด้วยข้ออ้างเป็นอำนาจของประธาน กสทช. ตามกฎหมายเท่านั้น แม้ กสทช. อย่างน้อย 3 ราย จะจัดทำรายงานทักท้วงและป้องปากฟ้องสังคมว่า เป็นการดำเนินการที่ขัดกฎหมาย แต่ประธาน กสทช. ก็ยังคงยืนยันนั่งยัน เป็นอำนาจของประธานที่เลือกใช้วิธีการนี้ ตามบทบัญญัติที่กำหนดไว้ใน พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ ปี 2553 ก่อนจะลุกลามบานปลายกลายเป็นศึกใน ศึกน้อย เป็นไม้เบื่อไม้เมาที่ทำเอาคน กสทช. ผู้ปฏิบัติงานทั้งหลาย ไม่รู้จะต้องฟังคำสั่งใครกัน
แม้ใจอย่างจะเสนอให้ท่านประธาน กสทช. “ล้างไพ่ใหม่” แต่ก็เชื่อขนมกินได้ว่า จุดยืนของท่านประธาน กสทช. นั้น ต่อให้โลกถล่ม ดินทลาย รัฐบาลถูกทหารปฏิบัติซ้ำซากกันยังไง ท่านประธาน กสทช. ก็คงยืนยันนั่งยัน จะยังคงดำเนินการตามครรลองที่ว่านี้ (ใครจะทำไม) เพราะนี่เป็นอำนาจสิทธิ์ขาดของประธาน กสทช. จริงไม่จริง !!!
สมแล้วที่ใครต่อใครพากันสัพยอก “กสทช. ... มีก็เหมือนไม่มี” แถมมีแล้วยังแตกดังโพล๊ะแบบนี้ แล้วจะไปคาดหวังว่า จะกอบกู้เครดิต ชื่อเสียงขององค์กร ยกระดับและพัฒนาองค์กรให้ทันโลกกันได้อย่างไร เพราะแค่ความขัดแย้งภายในก็ยัง “พายเรือกันคนละทาง” แบบนี้ จริงไม่จริง !!!
แก่งหิน เพิง