พลันที่ นาย ตรีรัตน์ ศิริจันทโรภาส รองเลขาธิการพรรคไทยสร้างไทย โพสต์เฟซบุ๊กถึง การแบ่งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ผ่านเฟซบุ๊ก “ตรีรัตน์ ศิริจันทโรภาส - Treerat Sirichantaropas” ว่า ปากบอกพร้อมให้ตรวจสอบ แต่ใจอยากกินรวบทั้งกระดาน
“กรรมาธิการ” คือ ด่านสุดท้ายในการตรวจสอบการทำงานของรัฐบาล โดยสมาชิกสภาผู้แทนราษฏร
ตำแหน่ง “ประธานกรรมาธิการ” จึงมีความสำคัญยิ่งนัก ในการบรรจุวาระ และเรื่องที่จะตรวจสอบโดยพรรคฝ่ายค้าน ที่มีหน้าที่ตรวจสอบ ก็พยายามอย่างเต็มที่เพื่อจับจองเก้าอี้ “ประธานกรรมาธิการ” เพื่อตรวจสอบการทำงานทุกด้านของรัฐ แต่ก็ได้เพียงฝัน เมื่อเจอเกมตั้งรับสุดโหดโดยฝั่งรัฐบาล ที่เล่นเกมจับคู่ ประธานกรรมาธิการ กับ เจ้ากระทรวงที่พรรคตัวเองได้ เช่น
1. กระทรวงคมนาคม > เพื่อไทยได้ รมต. > เพื่อไทยได้ประธาน กมธ.คมนาคม
2. กระทรวงสาธารณสุข > เพื่อไทยได้ รมต. > เพื่อไทยได้ประธาน กมธ.สาธารณสุข
3. กระทรวงพลังงาน > รทสช.ได้ รมต. > รทสช.ได้ประธาน กมธ.พลังงาน
4. กระทรวงยุติธรรม > ประชาชาติได้ รมต. > ประชาชาติได้ประธาน กมธ.ยุติธรรม
5. กระทรวงมหาดไทย > ภูมิใจไทยได้ รมต. > ภูมิใจไทยได้ประธาน กมธ.ปกครอง
และจุกที่สุดคงเป็นตำแหน่ง “ประธานกรรมาธิการ ปปช.” ที่มีอำนาจตรวจสอบการทำงานของรัฐบาลโดยตรง ซึ่งพรรคเพื่อไทย ได้เก้าอี้ประธาน กมธ.นี้ไป
โดยด่านสุดท้ายของพรรคฝ่ายค้าน ที่จะใช้กรรมาธิการเพื่อเป็นกลไก “ตรวจสอบ ถ่วงดุล” ก็คงไร้ความหวัง และคนที่แพ้ ไม่ใช่ใครคนอื่นไกล นอกจากผลประโยชน์ของคนไทยทุกคน
คล้อยหลังมหกรรมปาหี่ชิงดำตำแหน่งประธานกรรมาธิการชุดต่างๆ ข้างต้น 21 กันยายน 2566 ที่ผ่านมา ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่มี นายกฯ เศรษฐา ทวีสิน เป็นประธานการประชุม ยังคลอด “กฎเหล็ก” แนวทางการรักษาความลับของทางราชการที่เกี่ยวข้องกับการประชุม ครม. และการให้ข่าวสารแก่สื่อมวลชน
ที่มีสาระสำคัญคือ ไม่เผยแพร่ข้อมูลใดๆ ในที่ประชุม ครม. เพราะเรื่องที่อยู่ระหว่างการพิจารณาอาจมีความอ่อนไหว และมีผลกระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ หรือผลประโยชน์แห่งชาติ แต่หากเรื่องที่เป็นมติเห็นชอบหรืออนุมัติแล้ว สามารถเผยแพร่สื่อสารได้ตามเหมาะสม โดยให้ยกเลิกมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2542 (เรื่อง การปรับปรุงแก้ไขมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวกับการรักษาความลับของทางราชการ และการให้สัมภาษณ์หรือให้ข่าวสารแก่สื่อมวลชน) วันที่ 11 พฤษภาคม 2547 (เรื่อง การรักษาความลับของทางราชการ) และวันที่ 22 พฤศจิกายน 2554 (เรื่อง การรักษาความลับในการประชุมคณะรัฐมนตรี) กับกำหนดแนวทางปฏิบัติในการรักษาความลับของทางราชการที่เกี่ยวข้องกับการประชุมคณะรัฐมนตรีและการให้ข่าวสารแก่สื่อมวลชน โดยให้รัฐมนตรี เจ้าหน้าที่ซึ่งเข้าร่วมการประชุมคณะรัฐมนตรี และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการประชุมคณะรัฐมนตรีถือปฏิบัติอย่างเคร่งครัด ดังนี้..
ให้รักษาความลับหรือเอกสารของทางราชการที่เกี่ยวข้องกับการประชุมคณะรัฐมนตรี โดยแบ่งออกเป็น 3 ชั้น คือ ลับที่สุด ลับมาก และลับ ตามชั้นความลับที่ได้กำหนดไว้ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการรักษาความปลอดภัยแห่งชาติ พ.ศ.2552 หากความลับดังกล่าวทั้งหมดหรือเพียงบางส่วนรั่วไหลไปถึงบุคคลผู้ไม่มีหน้าที่ได้ทราบ จะทำให้เกิดความเสียหายต่อความมั่นคงและประโยชน์แห่งรัฐ
ทั้งนี้ กรณีการเปิดเผยข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการประชุมคณะรัฐมนตรี เลขาธิการคณะรัฐมนตรีหรือรองเลขาธิการคณะรัฐมนตรีที่ได้รับมอบหมายเป็นผู้มีอำนาจสั่งให้เปิดเผยข้อมูลดังกล่าว ตามเงื่อนไขที่สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีกำหนดตามในมาตรา 20 (1) แห่งพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ.2540
การพิจารณาหารือหรืออภิปรายของคณะรัฐมนตรีในการประชุมคณะรัฐมนตรีไปถือเป็นความลับของทางราชการ ดังนั้น รัฐมนตรี ผู้เข้าร่วมการประชุม และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการประชุมคณะรัฐมนตรี พึงระมัดระวังและไม่เปิดเผยข้อมูลใดๆ เกี่ยวกับเรื่องที่พิจารณาในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี
กรณีมีผู้นำเอกสารหรือข้อความซึ่งเป็นความลับของทางราชการไปเผยแพร่ จนก่อให้เกิดความเสียหายแก่ทางราชการ หรือเกิดผลกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ ให้หน่วยงานเจ้าของเรื่องที่ได้รับความเสียหายพิจารณาดำเนินการตามกฎหมาย เช่น กรณีข้าราชการพลเรือนฝ่าฝืนข้อปฏิบัติตามมาตรา 82 (6) แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ.2551 ซึ่งบัญญัติให้ข้าราชการพลเรือนสามัญต้องรักษาความลับของทางราชการ
โดยหากฝ่าฝืน ข้าราชการพลเรือนผู้นั้นถือเป็นผู้กระทำผิดวินัยตามมาตรา 84 และหากการกระทำดังกล่าวเป็นเหตุให้เสียหายแก่ราชการอย่างร้ายแรงกรณีจะถือว่าข้าราชการพลเรือนผู้นั้นกระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรงตามมาตรา 85 (7) ทั้งนี้ จะต้องถูกดำเนินการทางวินัยตามมาตรา 97 กล่าวคือ ให้ลงโทษปลดออก หรือไล่ออก ตามความร้ายแรงแห่งกรณี
เห็นแล้ว ก็ให้นึกถึงแต่ 2-3 เมกะโปรเจ็กต์ใหญ่ที่หน่วยงานต่างๆ กำลัง “ตั้งแท่น” ให้ คณะรัฐมนตรี (ครม.) “ปิดจ๊อบ” จากที่ต้องคาราคาซังมานาน บางโครงการค้างเติ่งคาราคาซังมากว่า 2-3 ปี ทั้งกรณีจัดซื้อเรือดำน้ำ 3 ลำจากจีน มูลค่า 13,500 ล้าน ของกองทัพเรือ ที่มีปัญหาเรื่องของการจัดหาเครื่องยนต์ที่จะใช้กับเรือดำน้ำ เพราะตามเงื่อนไขประกวดราคากำหนดให้ใช้เครื่องยนต์จากเยอรมนี แต่รัฐบาลเยอรมนีไม่ยอมขายเครื่องยนต์ให้ กองทัพเรือจึงเสนอใช้เครื่องยนต์ดีเซลรุ่น CHD260 ที่จีนได้พัฒนาขึ้นมาใช้งานภายในเป็นการเฉพาะและยินยอมที่จะติดตั้งในเรือดำน้ำที่จะส่งมอบให้ไทยได้ โดยยืนยันในประสิทธิภาพ ความสามารถและเทคโนโลยีที่ทัดเทียมกับเครื่องยนต์ของฝั่งตะวันตกและเยอรมนี
แต่การเปลี่ยนมาใช้เครื่องยนต์จากจีนนั้น ก็ทำให้เกิดปัญหา เพราะไม่เป็นไปตามเงื่อนไขประกวดราคาและข้อกำหนดในสัญญาอาจทำให้รัฐเสียหาย ทั้งยังถูกตั้งคำถามจากสังคมถึงคุณภาพของเครื่องยนต์จากจีนที่เพิ่งพัฒนาขึ้นมา จนทำให้กรณีดังกล่าวคาราคาซังมากว่า 3 ปี แม้กระทั่งรัฐบาล คสช. ของ พลเอกประยุทธ์ จันทรโอชา นายกฯ ที่มีจากสายทหารโดยตรงก็ยังไม่กล้าไฟเขียวอนุมัติโครงการดังกล่าว
ยังมีโครงการประมูลหาเอกชนเข้าร่วมลงทุนก่อสร้างและบริหารโครงการรถไฟฟ้า สายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี ระยะทาง 35.9 กม. วงเงินลงทุนรวมกว่า 1.427 แสนล้านบาท ซึ่งก่อนหน้าการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เจ้าของโครงการได้ “ตั้งแท่น” เสนอให้กระทรวงคมนาคมอนุมัติให้ความเห็นชอบผลการประกวดราคาโครงการดังกล่าว ให้แก่บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM ที่มีข้อเสนอทางการเงินสุทธิ (ขอรับสนับสนุนการเงินจากรัฐ) ต่ำสุด 78,287.28 ล้านบาท ท่ามกลางกระแสวิพากษ์ถึงส่วนต่างกว่า 68,000 ล้าน เมื่อเทียบกับข้อเสนอทางการเงินของกลุ่ม BTS ที่เคยยื่นเสนอต่อ รฟม. เอาไว้ในการประกวดราคาครั้งแรกเมื่อปลายปี 2563 จำนวน 9,675 ล้านบาทเท่านั้น ทั้งที่เนื้องานและรูปแบบการก่อสร้างโครงการได้ม่มีการปรับเปลี่ยนใดๆ แม้แต่น้อย ยังคงเป็นไปตามข้อกำหนดเดิมทุกกระเบียดนิ้ว แม้แต่ราคากลางในการประมูลและวงเงินชดเชยสนังบนุนการก่อสร้างตามมติ ครม.ที่กำหนดไว้ 91,983 ล้านบาท
นอกจากนี้ ยังมีโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) มูลค่ากว่า 2.24 แสนล้านบาท ที่รัฐบาลโดยการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) และสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) ให้สัมปทานแก่บริษัท เอเชีย เอราวัน จำกัด ในเครือเจริญโภคภัณฑ์ โฮลดิ้ง (ซี.พี.) โดยลงนามในสัญญากันไปตั้งแต่ปีมะโว้ 24 ต.ค.2562 ที่แม้จะผ่านร้อนผ่านหนาวมากจะครบ 4 ปีในอีกไม่ถึงขวบเดือน
แต่ความคืบหน้าโครงการกลับยังคง “ย่ำอยู่กับที่” ยังไม่มีการเปิดหวูดอกเสาเข็มเริ่มเดินหน้าโครงการไปแม้ต้นเดียว สิ่งที่สื่อมวลชนและสังคมได้รับรู้ ก็มีแต่การเจรจาเพื่อขอแก้สัญญาสัมปทานกันมาเป็นระยะ ๆ ไล่ดะมาตั้งแต่ขวบปีแรกหลังการลงนามในสัญญา ทั้งการที่บริษัทขอเลื่อนการจ่ายค่าสิทธิ์รับโอนรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงค์จำนวน 10,671 ล้านบาท จากที่ต้องจ่ายก้อนเดียวตั้งแต่ 24 ต.ค. 64 แต่ได้ขอขยายออกไปเป็น 7 งวด 7 ปี ก่อนจะลามเลียมาถึงการขอให้รัฐร่นเวลาจ่ายเงินอุดหนุนโครงการจำนวนกว่า 120,000 ล้านบาท จากเงื่อนไขประมูลและข้อกำหนดในสัญญาที่กำหนดว่ารัฐจะจ่ายเงินอุดหนุนโครงการเมื่อก่อสร้างแล้วเสร็จและเปิดให้บริการแล้ว (ปีที่ 6 ของสัญญา) มาเป็นปีที่ 2 เพื่อแลกกับการให้เอกชนแบกรับภาระค่าก่อสร้าง “โครงสร้างซูเปอร์สตรัคเจอร์” ที่ซ้ำซ้อนกับโครงการรถไฟไทย-จีน รวมทั้งยังมีประเด็นอื่น ๆ ที่อยู่ระหว่างเจรจาด้วย
สรุปให้ง่ายก็คือ การร้องขอให้รัฐร่นเวลาจ่ายเงินสนับสนุนการก่อสร้างตามมติ ครม. จำนวน 120,000 ล้านบาท ออกมาใช้ก่อน แทนที่เอกชนจะดำเนินการระดมทุนเพื่อก่อสร้างโครงการเอง จึงทำให้แม้จะได้ชื่อว่าเป็นโครงการของ “เจ้าสัว ซีพี.” แต่เส้นทางการแก้ไขสัญญาสัมปทานโครงการนี้ ก็ยังคงค้างเติ่งคาราคาซังมากว่า 2 ปี เพราะแม้แต่รัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่นัยว่ามีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดอยู่ในมือก็ยังไม่กล้าไฟเขียวให้
ก่อนตกมาถึงมือรัฐบาลผสมข้ามสายพันธุ์ของ “นายกฯ เศรษฐา ทวีสิน” ที่ประกาศจะขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้พ้นวิกฤติที่จมปรักมากว่า 9 ปีนี้ แต่ยังติดอยู่ที่จะ "กระเตง" โครงการเหล่านี้ฝ่ากระแสต้านของสังคมไปได้อย่างไรเท่านั้น โดยไม่ทำให้ผู้คนในสังคมกระโตกกระเตกโวยวายมหกรรมทิ้งทวนขึ้นมา ....
ดูเหมือนใบสั่ง “ลั่นดาน” การตรวจสอบ และปิดปาก (ปกปิด) เรื่องและโครงการที่จะนำเสนอที่ประชุม ครม. น่าจะเป็นเครื่องสะท้อนให้เห็นได้ว่า รัฐบาลกำลัง ”ตั่งแท่น” จะทำอะไร??? จะกระตุ้นเศรษฐกิจ หรืองุบงิบ ๆ ลักไก่ทิ้งทวนกันแน่!!!