จ่อลุกลามบานปลาย กลายเป็นประเด็นสุดร้อนที่สะท้อน “ความแตกแยก” ภายในองค์กร!
กรณีการสรรหาและแต่งตั้งเลขาธิการ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) คนใหม่ที่ ศ.คลินิก นพ.สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ประธาน กสทช. ตัดสินใจที่จะดำเนินการโม่แป้งด้วยตนเอง
ด้วยข้ออ้างเป็นอำนาจของประธาน กสทช.ตามมาตรา 61 แห่ง พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ 2553 และที่แก้ไขเพิ่มเติม อีกทั้งประธาน กสทช. ยังเป็นผู้กำกับดูแลสำนักงาน กสทช. โดยตรง จำเป็นต้องเลือกบุคคลที่สามารถทำงานร่วมกับประธาน กสทช. ได้ ตั้งแต่การออกประกาศรับสมัคร การแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบคุณสมบัติ การประกาศรายชื่อผู้มีสิทธิเข้ารับการคัดเลือก การดำเนินการคัดเลือก การเสนอชื่อผู้ที่ได้รับการคัดเลือกต่อ กสทช.
แม้ 4 กสทช. ที่ประกอบด้วย พล.อ.ท.ธนพันธุ์ หร่ายเจริญ , ศ.ดร.พิรงรอง รามสูต , รศ.ดร.ศุภัช ศุภชลาศัย และ รศ.ดร.สมภพ ภูริวิกรัยพงศ์ จะทำหนังสือทักท้วงและคัดค้านการดำเนินการดังกล่าว ด้วยเห็นว่าเป็นการดำเนินการที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายและไม่โปร่งใส
ล่าสุด เมื่อประธาน กสทช. บรรจุวาระการแต่งตั้งเลขาธิการคนใหม่เข้าสู่ที่ประชุม กสทช. เมื่อวันที่ 21 ก.ย. ที่ผ่านมา หลังจากหาทางแก้ลำปัญหา “บล็อกโหวต” จาก กสทช. เสียงส่วนใหญ่ได้ จากการที่รักษาการเลขาธิการ กสทช. ที่ได้ชื่อว่าเป็น “เต็งหาม” ในตำแหน่งนี้ ได้ยื่นฟ้อง 4 กสทช. ต่อศาลอาญาคดีทุจริตฯ ในข้อหาปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ กลั่นแกล้งให้ว่าที่เลขาธิการ กสทช. ถูกตั้งกรรมการสอบวินัย ทำให้ 4 กสทช. ถูกตั้งแง่ว่าเป็นคู่ขัดแย้งที่ไม่มีสิทธิ์เข้าร่วมโหวต
แต่เส้นทางในการกระเตงว่าที่เลขาธิการ กสทช. เข้าสู่ที่ประชุม กสทช. เพื่อให้ความเห็นชอบ “รับเบอร์แสตมป์” ก็ไม่สามารถจะฝ่าด่านอรหันต์ไปได้ หลัง 4 กสทช. ที่รู้ตื้นลึกหนาบางของเกมส์อำมหิตนี้ ได้พลิกช่องทำหนังสือทักท้วงการแต่งตั้งเลขาธิการ กสทช. ในครั้งนี้ไปยังประธานอย่างถึงพริกถึงขิง โดยยืนยัน นั่งยันว่า เส้นทางการคัดเลือกและและแต่งตั้งไม่ชอบด้วยกฎหมาย และระเบียบหลักเกณฑ์ทั้งมวล
จึงเป็นอันว่า เส้นทางการสรรหาและแต่งตั้งเลขาธิการ กสทช. กลายเป็น “เลขาพิการ” ที่ต้องล้มลุกคลุกคลานไม่รู้จะร้องเพลงรอไป พ.ศ.ไหน แถมยังสร้างความแตกแยก ทำให้องค์กร กสทช. แตกเป็นเสี่ยง กสทช. เปิดศึกฟัดกันนัวเนีย ขณะที่ฝ่ายบริหารและ กสทช. ก็เปิดศึกตะลุมบอนกันไม่รู้ใครเป็นใคร
จนหลายฝ่ายตั้งข้อสงสัยแล้วหน่วยงานของรัฐที่เป็นอิสระ (แต่เปลือก) แห่งนี้จะไปยังไงต่อ....
หากทุกฝ่ายจะย้อนรอยความขัดแย้งภายในองค์กร กสทช. ชุดนี้ ที่ได้รับการแต่งตั้งจากที่ประชุมวุฒิสภาให้เข้าทำหน้าที่เมื่อ 20 เม.ย.2565 เป็นต้นมา ที่มาที่ไปของ กสทช. ชุดนี้ ที่มี ศ.คลินิก สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ เป็นประธานและกรรมการ รวมจำนวน 5 คน ที่ได้รับการโหวตจากที่ประชุมวุฒิสภา ที่ประกอบด้วย พล.อ.ท.ธนพันธุ์ หร่ายเจริญ , ศ.พิรงรอง รามสูต , นายต่อพงศ์ เสลานนท์ และ รองศาสตราจารย์ ศุภัช ศุภชลาศัย
ก่อนที่ในอีก 1 ปีต่อมาจะมีการสรรหาและแต่งตั้ง กสทช. เพิ่มขึ้นมาอีก 2 คน คือ พล.ต.อ.ณัฐธร เพราะสุนทร และ รศ.สมภพ ภูริวิกรัยพงศ์ นั้น เส้นทางกระบวนการสรรหาและแต่งตั้ง กสทช. ชุดนี้ ที่สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา เป็นผู้ดำเนินการนั้น ปฏิเสธไม่ได้ว่า เต็มไปด้วยความโกลาหลและล็อบบี้กันตีนพลิก มีกลุ่มทุนทางการเมืองและกลุ่มผลประโยชน์ชักใยอยู่เบื้องหลังเข้ามาแทรกแซงกระบวนการสรรหาและโหวตลงมติ ชนิดที่ทำเอาเส้นทางการสรรหาและแต่งตั้ง กสทช. ล้มลุกคลุกคลานนับสิบปี
ขณะที่ กสทช. ที่ได้รับการโหวตจากที่ประชุมวุฒิสภาให้เข้ามาทำหน้าที่ ซึ่งควรจะได้ผู้ที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญเป็น “เบอร์ 1” ในแต่ละสาขาแต่ละด้านตามที่กำหนดใน พ.ร.บ. องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ ปี 2553 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ก็กลับปรากฏว่าบุคคลที่ประชุมวุฒิสภาโหวตเข้ามากลับเป็น “มือรอง” หรือ “ตุ๊กตาหุ่นเชิด” ที่เกิดจากการล็อบบี้ เจรจาเกี้ยวเซี้ยะกันกันเสียเป็นส่วนใหญ่ เข้ามาแล้วต้องมาตั้งที่ปรึกษากันอีกพะเรอเกวียนเข้าไปอีกหรือไม่?
ระยะเวลากว่า 1 ปี 6 เดือนหลัง กสทช.ชุดนี้เข้ามาทำหน้าที่ จึงกลายเป็นเกมส์ต่อรองผลประโยชน์ เต็มไปด้วยร่องรอยความขัดแย้ง มีคดีฟ้องร้องกันอิรุงตุงนังชนิดที่เรียกได้ว่า “ฟาดกันเลือดสาด” ทั้งกรณี กสทช. ฟ้องประธาน กสทช. รักษาการเลขาธิการ ฟ้อง กสทช. เพราะแต่ละคนต่างก็รู้เช่นเห็นชาติว่า แต่ละคนที่ถูกส่งเข้ามานั้นมีที่มาที่ไปอย่างไร จนทำให้องค์กร กสทช. ที่ได้ชื่อว่าเป็นขุมทรัพย์ แต่ละปีมีรายได้จากค่าธรรมเนียม และประมูลคลื่นความถี่ ปีละกว่า 2-30,000 ล้านบาทนั้นกลายเป็น “แดนสนธยา” ที่เต็มไปด้วยปัญหา
การพิจารณาโครงการต่าง ๆ กลายเป็นเกมส์ต่อรองผลประโยชน์ บางเรื่องบางโครงการพิจารณากันจะข้ามปี ก็ยังไม่มีอะไรคืบหน้า เพราะตั้งแท่นเอาแต่ปัดแข้งปัดขากันเอง มาตรการที่จะออกมากำกับดูแลการปฏิรูปองค์กร กสทช. ให้ทันสมัย ตามให้ทันโลกสื่อสารที่เปลี่ยนไปวันนี้ ก็ยักแย่ยักยันกันไม่ไปไหน เพราะความขัดแย้งภายในองค์กรที่สุกงอม ไม่ใช่เรื่องของฉัน ก็ตั้งป้อมขวางไว้ก่อน
ไล่มาตั้งแต่ กรณีที่ กสทช. ไฟเขียว “ดีลควบรวมกิจการทรู-ดีแทค” ด้วยข้ออ้างไม่มีอำนาจพิจารณาอนุมัติ-ไม่อนุมัติรายงานการควบรวมกิจการที่ว่า กสทช. ทำได้เพียงการนำมาตรการเฉพาะเพื่อบรรเทาปัญหาออกมาใช้เท่านั้น ทั้งที่ผลาญงบประมาณไปไม่รู้กี่สิบกี่ร้อยล้านในการตั้งอนุกรรมการศึกษาชุดต่าง ๆ กันเป็นกุรุด จัดเวทีรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ และว่าจ้างที่ปรึกษาทั้งในและต่างประเทศ แต่กลับไม่ได้ใช้ประโยชน์อันใดเลยกับข้อมูลเหล่านั้น
มาถึงกรณี “การสรรหาและแต่งตั้งเลขาธิการ กสทช.คนใหม่” ที่ถือเป็นผู้บริหารสูงสุดของหน่วยงาน และผู้ที่ต้องประสานรับนโยบายการทำงานจาก กสทช. ไปสู่การปฏิบัตินั้นก็กลับกลายเป็นว่า ระยะเวลากว่า 3 ปี ที่ตำแหน่งดังกล่าวว่างเว้น และกว่าขวบปีที่ กสทช. ชุดนี้เข้าปฏิบัติหน้าที่ แม้จะมีการหยิบยกเรื่องนี้ขึ้นหารือในที่ประชุม กสทช. มาแล้ว แต่ก็กลับไม่มีการดำเนินการใด ๆ
วันดีคืนดี ประธาน กสทช. กลับลุกขึ้นมาเร่งเครื่องกระบวนการสรรหาและแต่งตั้งเลขาธิการ กสทช. คนใหม่ แถมยังรวบรัดอำนาจในการดำเนินการคัดเลือกว่าที่เลขาธิการ และเร่งรัดดำเนินการราวกับองค์กรนี้จะขาดผู้นำองค์กรสักวันไปไม่ได้ จนกลายมาเป็นประเด็นขัดแย้งชนิดที่ทำให้องค์กร กสทช. ปริแตกดังโพล๊ะหนักเข้าไปอีก
ขณะที่ตัวประธาน กสทช.เอง ก็ได้สร้างประวัติศาสตร์ กลายเป็นผู้ที่ใช้เวลาเดินทางไปดูงานในต่างประเทศ รวมระยะเวลาที่ดูงานและใช้ชีวิตในต่างประเทศมากกว่า 1 ใน 3 ของระยะเวลาในการทำหน้าที่เสียอีก ผลการดูแลเหล่านั้น สามารถนำมาเป็นแนวทางในการประยุกต์และปรับปรุงกระบวนการทำงานขององค์กร กสทช. ได้มากแค่ไหน ทุกฝ่ายต่างรู้สาแก่ใจกันดี
ความแตกแยกที่เกิดขึ้นกับ กสทช. หน่วยงานของรัฐที่เป็นอิสระแห่งนี้ ปฏิเสธไม่ได้ว่าจะบั่นทอนองค์กรและผู้ปฏิบัติงานขนาดไหน จะทำให้องค์กร กสทช. ที่ผู้คนสัพยอกว่า “มีก็เหมือนไม่มี” เป็นทุนเดิมอยู่แล้วตกต่ำลงไปจากที่เป็นอยู่อย่างไร ทุกฝ่ายต่างรู้แก่ใจกันดี
จะตั้งที่ปรึกษา ตั้งโฆษกกันมาอีกพะเรอเกวียนยังไง ก็ไม่อาจจะฟอกขาวทำให้องค์กรมีภาพลักษณ์ที่ขึ้น หากปมปัญหาที่เป็นรากเหง้ายังคงไม่ได้รับการแก้ไข และคงโทษใครไปไม่ได้ นอกจาก “มรดกบาป” ของวุฒิสภาที่เป็นผู้ทำคลอด กสทช. ชุดนี้ เมื่อพ่อได้ชื่อว่าเป็น “สว.ตรา ป.”
ลูกที่คลอดออกมาจะ “ผ่าเหล่าผ่ากอ” ไปไหนได้ จริงไม่จริง ท่านประธาน กสทช. ที่เคารพ!!!
แก่งหิน เพิง