หืดจับ หายใจไม่ทั่วท้องกันไปถ้วนหน้า.. หลังธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) โดย "คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.)" เมื่อวันที่ 27 กันยายน 2566 มีมติเอกฉันท์ให้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% ต่อปี จาก 2.25% ต่อปีเป็น 2.50% ต่อปีโดยให้มีผลทันที พร้อมปรับลดคาดการณ์ GDP ไทยปีนี้มีแนวโน้มขยายตัว 2.8% ลดลงจากเดิมที่คาดไว้ 3.6% และ 4.4% ในปี 2567 (เพิ่มขึ้นจากเดิมที่คาดไว้ 3.8%) ซึ่งนับเป็นการปรับเพิ่มดอกเบี้ยนโยบายครั้งที่ 8 ในรอบปี ดันดอกเบี้ยเงินฝากและกู้ทะยานขึ้นไปอยู่ในระดับสูงสุดในรอบ 9 ปี
…
ทำเอาลูกหนี้เงินกู้ทั้งหลายหืดจับหายใจไม่ทั่วท้องกันไปถ้วนหน้า เพราะในทันทีที่แบงก์ชาติประกาศปรับดอกเบี้ยนโยบายไม่ทันข้ามวัน ธนาคารพาณิชย์ทั้งระบบก็ “ตบเท้า” ปรับขึ้นดอกเบี้ยเงินฝากและเงินกู้ตามก้นทันที อย่างธนาคารกรุงเทพ ที่ปรับขึ้นดอกเบี้ยเงินฝากและเงินกู้เพิ่มขึ้น โดยอัตราดอกเบี้ยเงินฝากปรับขึ้น 0.10 - 0.25% สำหรับบุคคลธรรมดา อัตราดอกเบี้ยเงินฝากสะสมทรัพย์สูงสุด 0.55% ต่อปี เงินฝากประจำ 3 เดือนเป็น 1.20% ต่อปี 6 เดือน เป็น 1.25% ต่อปี 12 เดือน 1.60% ต่อปี 24 เดือน เป็น 2.00% ต่อปี
ส่วนอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ปรับขึ้น 0.25% โดยอัตราดอกเบี้ยเอ็มแอลอาร์ (MLR) ปรับขึ้นเป็น 7.10% ต่อปี เอ็มโออาร์ (MOR) เป็น 7.55% ต่อปี และเอ็มอาร์อาร์ (MRR) หรืออัตราดอกเบี้ยลูกค้ารายย่อยชั้นดี (Minimum Retail Rate) เป็น 7.30% ต่อปี ธนาคารพาณิชย์อื่น ๆ ก็ปรับดอกเบี้ยขึ้นมาอยู่ในระดับเดียวกัน
โชคดีอยู่บ้างที่ 2 สถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ คือ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) และ ธนาคารออมสิน ยังคงประกาศ ตรึงอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ให้กับลูกค้าต่อไป โดยในส่วนของ ธอส.นั้น นายกฤษณ์ เสสะเวช กรรมการธนาคารและรักษาการกรรมการผู้จัดการ ธอส. เผยว่า ธอส. ธอส.จะยังคงตรึงอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ในระดับปัจจุบันต่อไปจนถึงสิ้นปี 2566 ซึ่งจะช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายในการชำระเงินงวดให้กับลูกค้าเงินกู้ในปัจจุบันของธนาคารที่มีอยู่ 1.79 ล้านบัญชี
ขณะที่ นายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน ได้ประกาศตรึงดอกเบี้ยเงินกู้ทุกประเะภท ธนาคารออมสินจึงประกาศยังไม่ขึ้นอัตราดอกเบี้ยในรอบนี้ต่อไปให้นานที่สุดช่วยเหลือลูกค้าสินเชื่อธนาคารออมสินทุกประเภท จำนวนกว่า 5.6 ล้านบัญชี ทั้งที่เป็นลูกค้ารายย่อย กลุ่มฐานราก ผู้ประกอบการทั้ง SMEs และธุรกิจขนาดใหญ่ สำหรับอัตราดอกเบี้ยเงินฝากธนาคารจะพิจารณาปรับขึ้นตามสภาวการณ์ที่เหมาะสมและทิศทางของตลาดอีกครั้ง
ครั้งนี้ถือเป็นครั้งที่ 8 ในรอบปีเข้าไปแล้วที่แบงก์ชาติดำเนินการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายมาอย่างต่อเนื่อง จนทำให้อัตราดอกเบี้ย ณ ปัจจุบันนั้นสูงที่สุดในรอบ 9 ปีก็ว่าได้ แม้จะอ้างความจำเป็นที่ต้องสกัดกั้นอัตราเงินเฟ้อที่มีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว แต่เสียงสะท้อนของภาคเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมต่างโอดครวญไปในทำนองเดียวกัน
โดย นายอิศเรศ รัตนดิลก ณ ภูเก็ต รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ถึงกับตั้งข้อสังเกตว่า การตัดสินใจดังกล่าวถือว่าเร็วเกินไปในช่วงเวลานี้ที่ประชาชนยังมีปัญหารายรับไม่พอกับรายจ่าย กำลังซื้อลด ขณะที่ภาคธุรกิจโดยเฉพาะผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ประสบปัญหาขายสินค้าได้ลดลง ยอดขายยังไม่กระเตื้องมากนัก
ผลกระทบชัดเจน คือ ดอกเบี้ยบ้าน ประชาชนที่กำลังผ่อนบ้านเมื่อเจอดอกเบี้ยเข้าไป เงินผ่อนแต่ละเดือนแทบหมดไปกับดอกเบี้ย ยังไม่นับรวมหนี้ส่วนอื่นๆ ที่ดอกเบี้ยคงขยับตาม กลายเป็นวงจรจ่ายดอกเบี้ยไม่รู้จบ “การขึ้นดอกเบี้ยครั้งนี้เปรียบเหมือนการบังคับให้คนป่วยที่ยังไม่หายดีออกไปวิ่ง ไม่ใช่แค่เดิน ซึ่งคนป่วยคือประชาชน เพิ่งได้รับยาอัดฉีดจากรัฐบาลระยะเริ่มต้น คือ มาตรการลดค่าไฟ ลดดีเซล พักหนี้เกษตรกร เหล่านี้ยังไม่ได้ทำให้อาการดีขึ้นนัก จึงมองว่าการขึ้นดอกเบี้ยครั้งนี้เร็วไป”
ทุกครั้งที่ ธปท. และสถาบันการเงิน มีปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย กลุ่มลูกค้าสินเชื่อทั้งเก่า-ใหม่ ต่างก็หายใจไม่ทั่วท้อง เพราะถือเป็นกลุ่มที่ต้องถูก “มัดมือชก” มีค่าใช้จ่ายในการผ่อนชำระคืนเงินกู้ หรือเงินงวดเพิ่มขึ้นโดยอัตโนมัติ
ทั้งที่จะว่าไปแล้ว การเบิกจ่ายสินเชื่อของลูกหนี้ธนาคารนั้น โดยเฉพาะลูกหนี้เงินกู้ซื้อบ้านที่อยู่อาศัย เป็นการเบิกจ่ายเพียง “งวดเดียว” (หรือจะ 3-4-5 งวดสำหรับสินเชื่อบางประเภท) และต้นทุนการเงินที่ลูกหนี้เบิกจ่ายไปนั้น ก็เป็นอัตราดอกเบี้ยที่กำหนดในช่วงเวลานั้น เมื่อสินเชื่อหรือเงินกู้ที่สถาบันการเงินระดมมาปล่อยกู้ให้ลูกค้าถูกเบิกจ่ายและใช้ไปแล้วในห้วงเวลานั้น
เงินงวดหรือเงินผ่อนชำระสินเชื่อที่อยู่อาศัย เงินกู้ซื้อบ้านดังกล่าวแทนที่จะถูกกำหนดโดยอ้างอิงอัตราดอกเบี้ยที่ธนาคารหรือสถาบันการเงินระดมมาปล่อยกู้ให้ในช่วงเวลานั้น บวกดอกเบี้ยและค่าดำเนินการที่เหมาะสมแล้วกำหนดเป็นสัญญาระยะยาวจนกว่าจะผ่อนหมดไป แต่ในข้อเท็จจริงนั้น ลูกหนี้เงินกู้หรือลูกหนี้สินเชื่อเหล่านี้ทั้งระบบล้วนต้องถูกบังคับให้ทำสัญญาผูกมัด ให้ต้องชำระเงินกู้ หรือเงินงวดในลักษณะที่อัตราดอกเบี้ยต้อง “ผันแปร” ไปตามตลาด (เว้นแต่จะมีการทำสัญญาในลักษณะที่กำหนดอัตราดอกเบี้ยคงที่เอาไว้เท่านั้น)
เป็นต้นว่า แม้จะเบิกใช้เงินกู้ในช่วงที่ดอกเบี้ยในตลาดอยู่ที่ 4-5% ต่อปี แต่เมื่อผ่อนไประยะหนึ่งแล้ว จะ 1-2 ปี หรือ 3-5 ปี หรือจะ 5-10 ปีก็แล้วแต่ อัตราดอกเบี้ยในตลาดถูกปรับขึ้นไปตามสภาวะตลาด เช่นเคลื่อนไหวไปถึง 7-8% ลูกหนี้สินเชื่อที่ยังคงมีหนี้ค้างชำระอยู่กับสถาบันการเงินก็จะถูกปรับดอกเบี้ยเรียกเก็บที่ “ผันแปร” ไปตามอัตราดอกเบี้ยในตลาดโดยอัตโนมัติ
ทั้งที่ระยะเวลาที่ล่วงเลยมาเหล่านี้ ลูกหนี้สินเชื่อบ้านที่อยู่อาศัยเหล่านี้ ไม่ได้มีการทำนิติกรรมสัญญาใด ๆ กับธนาคารหรือสถาบันการเงินเพิ่มเติม ไม่ได้มีการทุ่มใช้เงินกู้ หรือสินเชื่อใด ๆ ที่ต้องให้สถาบันการเงินไประดมเงินฝากมาจ่ายให้เพิ่ม แต่ลูกหนี้ยังอยู่ในช่วงผ่อนชำระเงินงวด หรือสินเชื่อบ้านจากยอดหนี้คงค้างที่เหลืออยู่ตามที่กำหนดไว้ในสัญญาเงินกู้เท่านั้น ยอดหนี้เงินกู้ที่ปรากฏอยู่ในบัญชีนั้น เป็นยอดหนี้คงค้างที่ทบยอดมาจากสัญญาในอดีตเท่านั้น
มิน่าเล่า ผลประกอบการของธนาคารพาณิชย์ หรือสถาบันการเงิน ไม่ว่าจะยุคใดสมัยใด ถึงได้กำไรทะลักล้น
ไม่เคยมีหน่วยงานใดออกมาตั้งข้อสังเกตหรือออกโรงทักท้วงเลยว่า.. ”เหตุใดในการทำสัญญาเงินกู้สินเชื่อบ้าน สินเชื่อที่อยู่อาศัยของแบงก์พาณิชย์ หรือสถาบันการเงินต่างๆ ทั้งระบบ ที่มักจะอ้างว่า มีต้นทุนการเงิน ต้นทุนดอกเบี้ยที่ต้องระดมเข้ามานั้น เมื่อวงเงินสินเชื่อ หรือเงินกู้เหล่านั้น ถูกเบิกใช้ไปตั้งแต่มีการลงนามในสัญญากันไปแล้ว เหตุใด ในการคำนวณจ่ายคืนเงินกู้หรือสินเชื่อเหล่านั้นที่แม้จะผ่านมากี่ปีต่อกี่ปี กลับมีการกำหนดให้ต้องอ้างอิงอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ในตลาดที่ผันแปรไปทุกเวลา”
ทั้งที่ยอดหนี้ค้างชำระที่ว่านี้ เป็นเพียงตัวเลขทางบัญชี เป็นยอดสินเชื่อ "คงค้าง" ของลูกหนี้เท่านั้น ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการระดมเงินฝาก หรือเงินกู้ของสถาบันการเงินที่ระดมเงินเข้ามาในระยะหลังแต่อย่างใด การที่ธนาคาร หรือสถาบันการเงินจะไประดมเงินฝากมาเพื่อปล่อยกู้ หรือให้สินเชื่อใหม่ ก็ไม่ได้เกี่ยวข้องกับลูกหนี้เงินกู้ หรือผู้ที่เบิกใช้สินเชื่อที่ดำเนินการไปแล้วแม้แต่น้อย
แล้วเหตุใดจึงต้องมาร่วมแบกรับดอกเบี้ยเงินกู้ที่ถูกปรับขึ้น-ลง ในระยะหลังนั้นด้วย ไม่เคยมีใครตั้งคำถามเอากับธนาคารแห่งประเทศไทยและระบบสถาบันการเงินเลยว่า สัญญาทาสเช่นนี้คือเป็นความเป็นธรรมแล้วใช่ไหม ?
หรือทุกอย่างมันเป็นระบบที่ถูกกำหนดเอาไว้เป็นบรรทัดฐานของโลกไปแล้วจริงๆ