ทำเอาสำนักงานตำรวจแห่งชาติ(สตช.) ปั่นป่วนไปทั้งกรม..กับคำพิพากษาของศาลปกครองกลาง เมื่อวันที่ 27 กันยายน 2566 ที่ผ่านมา ที่มีคำพิพากษา คดีหมายเลขดำที่ 2443/2563 คดีหมายเลขแดงที่ 1855/2563 ลงวันที่ 27 ก.ย. 2566 กรณีผู้ได้รับใบสั่งรายหนึ่งได้ยื่นฟ้อง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ(สตช.)และผู้บัญชาการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) กรณีออกใบสั่งจราจรมิชอบด้วยกฎหมาย เพราะมีข้อความที่ระบุว่า ผู้รับใบสั่งมีความผิดทางอาญาไปแล้ว โดยไม่อาจโต้แย้ง และไม่มีช่องทางให้โต้แย้งได้
…
ทั้งนี้ ศาลปกครองกลางได้รับพิจารณาคดี โดยมีประเด็นที่ต้องวินิจฉัย 2 ประเด็น ดังนี้..
1. ประกาศสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เรื่อง กำหนดแบบใบสั่งเจ้าพนักงานจราจร พ.ศ.2563 ลงวันที่ 20 ก.ค.2563 เป็นกฎที่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ และประกาศสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เรื่อง การกำหนดจำนวนค่าปรับตามที่เปรียบสำหรับความผิดตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก .ศ.2522 พ.ศ.2563 ลงวันที่ 20 ก.ค.2563 เป็นกฎที่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่?
ก่อนที่ศาลปกครองกลาง จะมีคำพิพากษาประกาศการออกประกาศทั้งสองฉบับดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงนำคำพิพากษาให้ “เพิกถอน” ประกาศสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เรื่อง กำหนดแบบใบสั่งเจ้าพนักงานจราจร พ.ศ.2563 ลงวันที่ 20 ก.ค.2563 และ ประกาศสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เรื่อง การกำหนดจำนวนค่าปรับตามที่เปรียบสำหรับความผิดตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ. 2522 พ.ศ.2563 ลงวันที่ 20 ก.ค.2563 โดยให้มีผลย้อนหลังไปถึงวันที่ออกประกาศดังกล่าว
คำสั่งของศาลปกครองกลางข้างต้น ยังผลให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติโกลาหลและจ่องานเข้าทันที เพราะคำสั่งศาลดังกล่าวให้มีผลย้อนหลังไปถึงวันที่ออกประกาศ ซึ่งในช่วงที่ผ่านมาสำนักงานตำรวจแห่งชาติมีการออกใบสั่งค่าปรับจราจรไปปีละนับ 10 ล้านใบ หากพิจารณาเฉพาะในช่วง 3 ปีที่ผ่านมาก็ปาเข้าไปกว่า 40-50 ล้านใบขึ้นไป และมีการเรียกเงินค่าปรับเข้าหลวง หรือเข้ากระเป๋าเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ออกใบสั่งไปไม่รู้เท่าไหร่ต่อเท่าไหร่แล้ว
เมื่อใบสั่งจราจรดังกล่าวกลายเป็นใบสั่งที่ “ไม่ชอบด้วยกฎหมาย” และศาลสั่งให้เพิกถอนประกาศสำนักงานตำรวจแห่งชาติทั้งสองฉบับไป จึงยังผลให้ใบสั่งเหล่านั้นตกเป็นโมฆะไม่มีผลมาตั้งแต่ต้น ทำให้เกิดปัญหาตามมาทันทีว่าแล้วในส่วนของเงินค่าปรับที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติเรียกเก็บไปก่อนหน้า ก็ต้องหาทางคืนให้แก่ผู้เสียหายที่ได้รับใบสั่งให้ไปชำระค่าปรับที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายเหล่านั้น ตัวพนักงานเจ้าหน้าที่จราจรที่ได้ “รับส่วนแบ่ง” ค่าปรับจราจรกันไปในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา จะกี่บาทกี่สตางค์ ก็ต้องคายหรือ “คืนค่าปรับ” เหล่านั้นให้ผู้เสียหายทั้งหมด
ยัง..ยังไม่จบ บรรดาความร่วมมือในเรื่องของใบสั่งจราจรที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติไปขอความร่วมมือกรมการขนส่งทางบก ให้ระงับการต่อทะเบียนป้ายวงกลมจนกว่าผู้ได้รับใบสั่งจะดำเนินการชำระค่าปรับตามใบสั่งจราจรที่คั่งค้างให้เรียบร้อยแล้ว ก็กลายเป็นการดำเนินการโดยมิชอบไปด้วย
ถึงวินาทีนี้หากเจ้าหน้าที่จราจรตั้งด่าน แล้วยังคงออกใบสั่ง ทั้งที่มีคำสั่งศาลออกมาเช่นนี้ ก็มีสิทธิ์งานเข้าปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบกันทั้งกรม
ส่วนกรณีที่ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รอง ผบ.ตร. ได้ลงนามคำสั่งวิทยุในราชการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ต่อกรณีข้างต้น โดยระบุว่า สำนักงานตำรวจแห่งชาติ อยู่ระหว่างการดำเนินการอุทธรณ์คำพิพากษาศาลปกครองกลางดังกล่าว จึงให้ทุกหน่วยปฏิบัติหน้าที่ตามเดิม จนกว่าจะมีกฎ ระเบียบ คำสั่ง เปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่นดังกล่าว
ผู้เชี่ยวชาญกฎหมายระบุว่า เมื่อศาลปกครองมีคำสั่งให้ “เพิกถอน” ประกาศสำนักงานตำรวจแห่งชาติทั้ง 2 ฉบับ (ประกาศกำหนดแบบใบสั่งฯ และประกาศกำหนดจำนวนค่าปรับฯ) โดยให้มีผลย้อนหลังไปถึงวันที่ออกประกาศ....สิ่งที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติต้องดำเนินการนั้น นอกจากการอุทธรณ์คำพิพากษาไปยังศาลปกครองสูงสุดแล้ว...
ยังต้องระงับ และชะลอการออกใบสั่งและการชำระค่าปรับตามใบสั่งเดิมทั้งหมดไว้ก่อน เพราะศาลมีคำพิพากษาไปแล้วว่า "มิชอบด้วยกฎหมาย" ให้เพิกถอน จึงต้องระงับการดำเนินการไว้ก่อน....จนกว่าศาลปกครองสูงสุดจะมีคำสั่งใดๆ ลงมา
“มันใช่เรื่องที่จะไปออกคำสั่งเวียนให้ จนท.ยังคงดำเนินการออกใบสั่งและเปรียบเทียบปรับไปตามเดิมไปก่อนได้หรือ? ระวัง! เจ้าหน้าที่ตำรวจทั้งกรมที่ยังคงปฏิบัติตามคำสั่งดังกล่าวจะโดนเช็คบิล ม. 157 ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบยกกรมเอา”
ทั้งนี้ แหล่งข่าวเผยว่า หากพิจารณากรณีการประมูลสายสีส้ม เมื่อปี 2563 ที่ศาลปกครองกลางมีคำสั่งให้ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) "ทุเลา" การบังคับใช้เกณฑ์ประเมินและคัดเลือกใหม่ จนกว่าจะมีคำพิพากษา รฟม. ยังต้องระงับการดำเนินการพิจารณาและเปิดซองประมูล ก่อนที่ในท้ายที่สุดจะตัดสินใจ ออกประกาศยกเลิกประมูลไปเมื่อ 3 ก.พ. 2564
แต่กรณีประกาศสำนักงานตำรวจแห่งชาติทั้ง 2 ฉบับนั้น ศาลได้มีคำพิพากษาไปแล้วว่าเป็นการออกประกาศที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงมีคำสั่งให้ "เพิกถอน" ประกาศทั้ง 2 ฉบับดังกล่าว ซึ่งถือว่าเป็นคำสั่งที่ยิ่งกว่าคำสั่งทุเลาการบังคับใช้เสียอีก!
แก่งหิน เพิง