เห็นแถลงการณ์ของนักวิชาการและคณาจารย์เศรษฐศาสตร์กว่า 100 คน นำโดย 2 อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) คือ ดร.วิรไท สันติประภพ และนางธาริษา วัฒนเกส ที่คัดค้านนโยบายแจกเงินดิจิทัลคนละ 10,000 บาท ด้วยงบประมาณดำเนินการกว่า 5.6 แสนล้าน ด้วยเห็นว่า เป็นนโยบายที่ “ได้ไม่คุ้มเสีย” ไม่สามารถจะขับเคลื่อนผลักดันเศรษฐกิจให้เติบโตได้อย่างยั่งยืนตามที่คาดหวัง ทั้งยังจะสร้างภาระทิ้งไว้ให้ลูกหลาน
สาระหลักของแถลงการณ์คัดค้านและเรียกร้องให้รัฐบาลยกเลิกนโยบาย “แจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต” สรุปได้ว่า เศรษฐกิจกำลังอยู่ในภาวะฟื้นตัวจากการบริโภคส่วนบุคคลเป็นตัวจักรสำคัญ สำนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดว่า เศรษฐกิจไทยจะขยายตัว 2.8% ในปีนี้ และ 3.5% ในปี 2567 จึงไม่จำเป็นที่รัฐต้องใช้จ่ายเงินจำนวนมากเพื่อกระตุ้นการบริโภคในประเทศอีก ควรไปมุ่งเน้นการใช้จ่ายภาครัฐในการสร้างศักยภาพในการลงทุนและการส่งออกมากกว่า
นอกจากนี้ เม็ดเงินจำนวนมากถึง 560,000 ล้านบาท ที่จะนำมาละลายแม่น้ำครั้งนี้ ทำให้รัฐเสียโอกาสที่จะลงทุนโครงสร้างพื้นฐานพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ บริหารจัดการน้ำ เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งล้วนสร้างศักยภาพในการเจริญเติบโตในระยะยาวแทนการใช้เงินกระตุ้นการบริโภคระยะสั้นที่ไม่สมเหตุสมผลต่อการสร้างหนี้สาธารณะให้เป็นภาระแก่คนรุ่นต่อไป
อีกทั้งการกระตุ้นเศรษฐกิจให้รายได้ประชาชาติ (จีดีพี) ขยายตัว โดยรัฐแจกเงิน 560,000 ล้านบาท เข้าไปในระบบเป็นการคาดหวังเกินจริง นักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่เชื่อว่า ตัวทวีคูณทางการคลัง (fiscal mutiplier) ที่เกิดจากการใช้จ่ายของรัฐในลักษณะเงินโอนหรือการแจกเงิน มีค่าต่ำกว่า 1 และต่ำกว่าตัวทวีคูณทางการคลังสำหรับการใช้จ่ายโดยตรงและการลงทุนของรัฐ
มีการขยายความการลุกฮือกขึ้นมาคัดค้านนโยบายแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ตในครั้งนี้กันอย่างกว้างขวาง บ้างก็ว่าเป็นเส้นทางทำมาหากิน หาเศษ-หาเลยของ “นายกฯ เศรษฐา” จากการฟันค่าหัวคิวค่าธรรมเนียมซื้อ-ขายเหรียญดิจิทัลจากบริษัทเอกชนที่จะเช้ามาออกแบบเหรียญดิจิทัล หรือสร้างบล็อคเชนเหรียญดิจิทัลที่ว่านี้ ซึ่งก็นัยว่าเป็นบริษัทที่มีกลุ่มแสนสิริถือหุ้นอยู่ด้วย โดยตีโพยตีพายว่า เวลารัฐเอาเงินกู้ 5.6 แสนล้านไปซื้อเหรียญดิจิทัล คนขายหรือคนบริหารระบบก็คิดค่าบริการ 3% ถึงเวลาแลกกลับมาเป็นเงินบาทต้องจ่ายค่าแลกอีก 3%
สรุปยังไม่ทำอะไรเงิน 5.36 แสนล้าน ก็ถูก “ชักหัวคิว” ไปเหนาะๆ แล้ว 6% 30,000 กว่าล้านแล้ว ทำเอาใครต่อใครหูผึ่งดาหน้าออกมาขานรับกระแสคัดค้านและทักท้วงที่ว่านี้กันกระหึ่มเมือง แม้แต่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ยังออกโรงจัดตั้งคณะทำงานศึกษากรณีการแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ตที่ว่าเพื่อจัดทำข้อเสนอแนะเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) ด้วย
เหตุใดหรือทำไมจึงกล้า “ฟันธง” กันล่วงหน้า เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวแล้ว ไม่จำเป็นต้องเข็นนโยบายตำน้ำพริกละลายแม่น้ำนี้ออกมาใช้อีก เป็นนโยบายได้ไม่คุ้มเสีย ทำให้ประเทศสูญเสียโอกาสในการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานและพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ด้านอื่นๆ ไปหมด
หรือเหตุใดถึงต้องเอาเงินไปซื้อเหรียญดิจิทัลก่อนนำมาจับจ่าย แล้วก็ต้องเอาเหรียญดิจิทัลไปแลกคืนกลับมาอีก ทำเพื่ออะไรหรือ? โมเดลที่รัฐบาลและกระทรวงการคลังกำลังโม่แป้งอยู่นี้มันเป็นอย่างนั้นแน่หรือ? ไปถอดสูตรนี้มาจากไหนกันหรือถึงได้ตีโพยตีพายกันใหญ่โต ก็ในเมื่อที่เขาป่าวประกาศโต้งๆ อยู่ว่าเป็นการเอา “เงินดิจิทัล” ใส่เข้าไปในบัญชีส่วนตัวทุกคนในรูปของ “บัญชีเครดิต” มันก็เหมือนบัตรเครดิตปกติ (แต่เผอิญมันผูกโยงกับบัตรประชาชน) ที่สามารถโอนจ่ายซื้อสินค้าและบริการกันได้โดยตรงอยู่แล้ว จะไปแลกเงินกลับมาทำซาก?
ส่วนร้านรวงที่รับรูดเครดิตไปเขาก็มีหน้าที่เอาเงินเครดิตนี้ไปจับจ่ายซื้อสินค้าบริการต่อ หรือจะไปจ่ายหนี้แบงก์ จ่ายอะไรต่อมิอะไรของเขา ซึ่งแน่นอนในกรณีที่เขาผูกติดเครดิตอยู่กับแบงก์ เวลาซื้อขายสินค้าบริการยังไงมันก็มีค่าธรรมเนียมซื้อขายกับแบงก์ตามปกติที่เขาคิดกันอยู่แล้ว ถึงบอกว่างงกับตรรกะที่พวกเรากำลังคิดอ่านกัน นี่กำลังคิดว่าเขาแจกเครดิตให้ไปซื้อทองรูปพรรณกันหรือไงเวลาซื้อเข้า-ขายออก ต้องมีการคิดกำเหน็จทองกัน
ที่รัฐบาลต้องกังวลจริงๆ สำหรับโครงการนี้ ก็คือ บรรดาร้านรวง แม่ค้าพ่อค้าทั้งหลายที่เขาเคยร่วมโครงการเป๋าตัง โครงการคนละครึ่ง หรือจะอะไรก็ตามที่ต่าง “เข็ดหราบ” กับสรรพากรที่ไปไล่เบี้ยภาษีย้อนหลังเขาจนหน้ามืดต่างหาก เพราะข้อมูลซื้อขายจ่ายโอน เงินเข้า-ออกมันโชว์หมด จนหลายหมื่นหลายแสนรายปฏิเสธเข้าร่วมโครงการของรัฐ เพราะโดนสรรพากรตามเช็คบิลเรียกภาษีย้อนหลังจนหน้ามืด
ตรงนั้นต่างหากที่ต้องไป “ปลดล็อค” ทำอย่างไรถึงจะลบความหวาดกลัวเหล่านี้ จะให้มอไซด์ ร้านรวงเหล่านี้รับโอนเงินดิจิทัลรูปแบบเดียวกับเป๋าตังได้ก็ต้องทำให้เขารู้สึกว่า จะไม่ถูกสรรพากรตามไปกระซวกไส้ได้อีก ถ้าปลดล็อคจุดนี้ไม่ได้ต่างหากมันคือ จุดเสี่ยงที่อาจทำให้โครงการล้มเหลวเอาได้
ส่วนเรื่องของค่าธรรมเนียมอะไรที่ไปอิเมจิ้นกัน เขาจะเอาบริษัทลูกแสนสิริมาทำบ้าง ประเคนไปให้กลุ่มทุนการเมืองมาโม่แป้งบริหารโครงการบ้างหวังกินหัวคิวอะไรกันบ้าง คำถามก็คือ ทุกวันนี้การดำเนินโครงการของรัฐอย่างคนละครึ่ง เป๋าตัง หรือหวย 80 บาท ฯลฯ ที่ไปผูกอยู่กับแบงก์รัฐอย่างกรุงไทยเป็นหลักนั้น การซื้อ-ขายผ่านระบบดังกล่าว รัฐต้องเสียค่าธรรมเนียมไป-กลับอะไรหรือไม่? ตรงนี้ตอบให้ได้ก่อน
หากการทำธุรกรรมเหล่านั้นมีค่าใช้จ่าย ค่าบริหารจัดการอยู่แล้ว เมื่อรัฐผุด “บล็อกเชนดิจิทัลวอเล็ต” ขึ้นมาใหม่ ไม่ได้ผูกติดกับแบงก์กรุงไทย แต่เป็นระบบที่มัน Open ที่เชื่อมโยงกับแบงก์เดิม หรือ 3-5 แบงก์หรือทุกแบงก์ โดยไม่ได้ทำให้ต้องมีภาระค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น หากทุกอย่างอยู่บนพื้นฐานเดิมก็จบ ไม่มีอะไรแตกต่าง
ส่วนที่หลายคนเป็นห่วงและไปตีโพยตีพายว่า ก็เขากำหนดเอาไว้ต้องใช้แถวบ้าน ต่อให้ขยายรัศมีใช้ได้ทั้งอำเภอ หรือจังหวัด แต่ฉันไปทำงานข้ามห้วยข้ามภาค ไม่มีโอกาสจะได้กลับไปใช้เงินที่บ้านจะทำยังไง เพราะเงื่อนไขกำหนดให้ต้องกลับภูมิลำเนาไปใช้จ่ายจึงจะเป็นไปตามเงื่อนไข
เราคงลืมไปว่าเดียวนี้ระบบสื่อสารโทรคมนาคมนั้น มันครอบคลุมไป 95-99.99% ของพื้นที่ประชากรแล้ว ต่อให้เราไม่ได้เดินทางไปที่บ้าน ไม่ได้เดินทางไปร้านรวงแถวบ้าน หรือในอำเภอ ในจังหวัดมันก็จับจ่ายใช้สอยผ่านระบบออนไลน์ข้ามน้ำข้ามทะเลได้หมดแหล่ะ
เพราะระบบนี้ต่อให้คิดบล็อกเชนที่สามารถจะตรวจเช็คได้ว่า ผู้ซื้อ-ผู้ขาย อยู่ในพื้นที่เดียวกันหรือไม่? เข้าเงื่อนไขหรือไม่ มีการโอนจับจ่ายซื้อของกันถูกต้องถามเงื่อนไขหรือไม่? มันก็แค่การตรวจสอบว่าผู้ซื้อ-ผู้ขายเข้าเกณฑ์ตามเงื่อนไขหรือไม่เท่านั้น คือมีการซื้อขายอยู่ในพื้นที่ภูมิลำเนา ร้านรวงอยู่ในรัศมีตามเงื่อนไขที่กำหนดหรือไม่เท่านั้น
เพราะงั้น ต่อให้เราอยู่ภูเก็ตหรือหาดใหญ่ แต่มีภูมิลำเนาอยู่เชียงใหม่ ไม่มีโอกาสจะบินกลับไปใช้จ่าย มันก็มีหนทางจะจับจ่ายใช้สอยกันได้ตามปกติ ผ่านระบบออนไลน์ได้อยู่แล้ว จะฝากญาติพี่น้องไปที่ร้างรวง ไปเล็งดูสินค้าและบริการที่จะต้องซื้อหา ก็ส่งแค่บาร์โค้ด หรือรหัสรับเงินของผู้ขายมาให้ เราก็โอนจ่ายได้แล้ว ไม่เห็นจะต้องเสียค่าเครื่องบิน ค่ารถค่าราข้ามน้ำข้ามทะเลไปร้านค้าด้วยตนเองเลย
หรือจะทำการเซิร์จหาร้านรวงแถวบ้าน ที่ซื้อขายเฟอร์นิเจอร์เหล่านั้นแล้วเจรจาต้าอวยผ่านระบบอนไลน์ ซื้อขายสินค้าออนไลน์ มันก็ทำได้ทั้งนั้นแหล่ะ เพราะทั้งผู้ซื้อ-และผู้ขายก็เข้าเงื่อนไข ใช้จ่ายในพื้นที่แล้ว สมมติจะซื้อเฟอร์นิเจอร์ ซื้อเตียงไม้สักที่เชียงใหม่เข้าบ้านที่นั่น แต่ตัวเราทำงานอยู่หาดใหญ่หรือปาดังเบซาร์ ทั้งปีไม่มีโอกาสจะกลับบ้านเลย มันก็แค่เข้าไปดูชื่อผู้ขายเหอร์ในเชียงใหม่พูคคุยซื้อขายกันผ่านระบบออนไลน์ แล้วให้เขาส่งไปที่บ้าน หรือจะให้คนที่บ้านมาขนของไปมันก็จับแล้ว ไปคิดบ้าบออะไรว่ามันจะต้องเอาตัวไปยืนยันว่ามาซื้อด้วยตัวเองจริง ๆ
งั้นจะมีระบบค้าออนไลน์ไว้ทำไม ประหลาดเนอะ!
ส่วนกรณีที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ตั้งคณะทำงานศึกษากรณีแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาทนั้น ก็เป็นปกติที่หน่วยงานแห่งนี้ทำกับโครงการใหญ่ ๆ ของรัฐมาแล้ว อย่างกรณีจำนำข้าว หรือการศึกษากรณีการก่อสร้างอาคารผู้โดยสารเทอมินัล (ฉบับตัดแปะ) ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิของ AOT และล่าสุดกรณีการต่อสัญญาสัมปทานประปาปทุมธานี-รังสิต ระยะเวลา 20 ปี ของการประปาส่วนภูมิภาค (กปภ.) ก่อนจัดทำเป็นข้อเสนอแนะรายงานไปยังคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อเป็นแนวทางในการพิจารณาดำเนินโครงการ
ส่วนรัฐบาลเห็นรายงานแล้วจะทำหรือไม่อย่างไร ก็เป็นเรื่องของรัฐ เพราะอย่าง 2 กรณีศึกษาที่ ป.ป.ช. จัดทำข้อเสนอแนะเพื่อแก้ไขปัญหาคอร์รัปชันไปก่อนหน้านี้ คือ กรณีก่อสร้างเทอร์มินัล (ฉบับตัดแปะ) ของท่ากาศยานสุวรรณภูมิ และกรณีต่อขยายสัญญาผลิตประปาปทุมธานีนั้น ก็ปรากฏว่า รัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องก็ไม่เคยนำพาต่อ “รายงานไร้สาระของ ป.ป.ช.” ไปพิจารณาใด ๆ แม้แต่น้อย
บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ AOT ก็ไม่แคร์ไม่สนรายงานที่ว่าของ ป.ป.ช. ยังคงลุยกำถั่วโครงการตามแม่บทที่เพิ่งคิดขึ้นมาได้ จนกระทั่งมีการเลือกตั้งและเปลี่ยนรัฐบาลชุดใหม่นี้โครงการจึงถูกชะลอเอาไว้ก่อน ส่วนกรณีสัมปทานประปาปทุมธานีนั้น วันวาน 3 ต.ค. กปภ. ก็เพิ่งเซ็นสัญญาต่อขยายสัมปทานกับรายเดิมออกไป 10 ปี โดยอ้างว่าเป็นการ “จ้างเหมาเอกชนเข้ามาผลิตและจ่ายน้ำประปา” ที่ดีกว่าที่ กปภ. จะลงมือทำเอง
แล้ว ป.ป.ช.ทำอะไรบ้างกับ 2 โครงการที่ว่านี้หละ นอกจากนั่งเอามือ “ซุกหีบ” จริงไม่จริง!!!