หน่วยงานรัฐ-เอกชนไทย ทนไม่ไหว! ฟ้องโลก ประจาน “ยักษ์สื่อสังคมออนไลน์ – รัฐบาลชาติเพื่อนบ้าน” สร้างพฤติกรรมมิต่าง “พายเรือให้โจร(ออนไลน์)นั่ง?” ล่าสุด อ้างมั่ว แม้กระทั่ง “นายกฯเศรษฐา” ยันมหาเศรษฐีระดับ “เจ้าสัวซีพี” หลอกลวงคนไทย หวังดูดเงินเกลี้ยงบัญชี
...............
หนึ่งในเงื่อนไขสำคัญที่ “ผู้นำไทย” นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เลือกกัมพูชาเป็นประเทศแรกในกลุ่มประเทศอาเซียน เพื่อเดินทางไปเยือนตามธรรมเนียมปฏิบัติ เมื่อมีการเปลี่ยนตัว “ผู้นำประเทศ” ก็คือ...
การจับมือร่วมกันระหว่างรัฐบาล 2 ประเทศ เพื่อแก้ไขปัญหาการหลอกลวงต้มตุ๋นในโลกไซเบอร์ ซึ่งถือเป็นภัยคุกคามความมั่นคงชนิดใหม่ของโลกและของไทย ในทุกวันนี้
แต่ดูเหมือนสิ่งนี้...รัฐบาลของประเทศเพื่อนบ้านจะไม่ใส่ใจอะไรมากนัก เพราะทันทีที่ “ผู้นำไทย” เดินทางกลับบ้าน จากนั้น...ไม่นานข่าวที่เกี่ยวข้องกับการหลอกลวงต้มตุ๋นในโลกไซเบอร์จากประเทศเพื่อนบ้าน ก็เกิดขึ้นจนกลายเป็นเรื่องปกติกันไป
ข้อสงสัยที่กลายเป็นข้อกล่าวหาระหว่างประเทศ ซึ่ง “สื่อตะวันตก” ตั้งเป็นประเด็นคำถามตัวโต ก็คือ...
หรือเพราะมี “คนโต” ในรัฐบาลกัมพูชา และเครือข่ายของพวกเขา... เข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับขบวนการหลอกลวงต้มตุ๋นในโลกไซเบอร์ ร่วมกับทุนต่างชาติสีเทา?
พฤติกรรมของคนในขบวนการเหล่านี้...มีมากมายหลากหลายและแตกต่างกันไป แต่มีส่วนที่เหมือนกัน ก็คือ การใช้เครือข่ายโซเชียลมีเดียและโทรศัพท์มือถือเป็นตัวกลางในกลฉ้อฉลและหลอกลวง ด้วยการดึงเอาข้อมูลส่วนตัวของเหยื่อไปใช้เพื่อดูดเงินออกจากบัญชีเงินฝากผ่านระบบโซเชียลแบง์กิ้งจนหมดเกลี้ยงบัญชี ข่าวทำนองนี้...ก็มีให้ได้ยินอยู่บ่อยๆ
หรืออีกกรณี คือ หลอกแอบอ้างใช้ชื่อบริษัท ตราโลโก้ และชื่อเจ้าของหรือผู้บริหารระดับสูงขององค์กรสำคัญๆ ในไทย ทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อหวังให้เหยื่อหลงเชื่อเข้าร่วมลงทุนหรือทำกิจกรรมใดๆ ของมิจฉาชีพกลุ่มนี้ และส่วนใหญ่ของกลุ่มมิจฉาชีพ ก็มีฐานที่มั่นอยู่ในประเทศเพื่อนบ้านของไทยนั่นเอง
ล่าสุด ไม่เพียงหน่วยงานระดับประเทศ อย่าง...กระทรวงการคลังและส่วนราชการในสังกัด ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต) ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ฯลฯ ล้วนถูกแอบอ้างชื่อฯ เพื่อทำการหลอกลวงคนไทยเป็นจำนวนมาก
ถึงขนาดที่ สำนักงาน ก.ล.ต. ต้องออกหนังสือชี้แจงและเตือนนักลงทุนทั่วไป ดังความที่ว่า... “สำนักงาน ก.ล.ต. ได้ตรวจสอบข้อมูลและขอชี้แจงว่า ไลน์ดังกล่าวไม่ใช่ของหน่วยงาน ก.ล.ต. เป็นการชักชวนลงทุนโดยแอบอ้างใช้ชื่อ ภาพบุคคล และตำแหน่งของผู้บริหารของสำนักงาน ก.ล.ต. รวมทั้งมีการแอบอ้างใช้ชื่อของสำนักงาน ก.ล.ต. โดยไม่ได้รับอนุญาต”
บริษัทเอกชนขนาดใหญ่ของไทยหลายแห่ง ต่างก็โดนแก๊งมิจฉาชีพเหล่านี้อ้างชื่อฯ เพื่อหวังหลอกลวงเอาเงินจากประเป๋าของคนไทย หนึ่งในนั้น มีชื่อของ บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) ผู้บริหารร้านเซเว่นอีเลฟเว่นในประเทศไทย รวมถึงใน สปป.ลาว และกัมพูชา รวมอยู่ด้วย
โดนแอบอ้างหนัก! กระทั่ง บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) จำต้องออกประกาศเตือนประชาชนและนักลงทุนทั่วไป เมื่อวันที่ 27 ต.ค.2566 โดยได้ชี้แจงกรณีพบเพจปลอมบางเพจ ได้จัดทำข้อมูลอันเป็นเท็จเสนอในสื่อสังคมออไลน์ โดยระบุว่า เพจดังกล่าวได้มีการนำชื่อ บมจ.ซีพี ออลล์ (บริษัท) ตราสัญลักษณ์ (โลโก้) และภาพผู้บริหาร ไปใช้แอบอ้างและเผยแพร่ลงโฆษณาผ่านเว็บไซต์ หรือสื่อสังคมออนไลน์ อาทิ Facebook, Instagam, TikTok และอื่นๆ เพื่อชักชวนและหลอกลวงให้ลงทุนในหลายรูปแบบ
ทั้งนี้ จากการตรวจข้อมูลพบว่า เพจที่นำเสนอข้อมูลและชักชวนให้มีการลงทุนดังกล่าวเป็นเพจปลอมและเป็นการแอบอ้างชื่อบริษัทฯ เพื่อหลอกลวงให้ลงทุน ดังนั้น บริษัทฯจึงขอให้ประชาชนโปรดระมัดระวังอย่าหลงเชื่อกลุ่มมิจฉาชีพดังกล่าว พร้อมกันนี้ ยังได้ขอให้ทุกคนได้ติดตามข้อมูลประชาสัมพันธ์หรือข่าวสารจากเว็บไซต์ทางการ www.cpall.co.th ของบริษัทฯ เท่านั้น
ก่อนหน้านี้ ทางสำนักงาน ก.ล.ต. ธปท. กระทรวงการคลัง และอีกหลายๆ หน่วยงาน ต่างก็ขอความร่วมมือไปยังประชาชน อย่าได้หลงเชื่อการชักชวนที่มีแนวโน้มจะเป็น “เฟคนิวส์” รวมถึงการไม่แชร์และไม่ส่งต่อข้อความเหล่านี้ในสื่อสังคมออนไลน์ ด้วย เนื่องจากอาจติดร่างแหและกลายเป็นส่วนหนึ่งของเครือข่ายมิจฉาชีพได้
“สำนักข่าวเนตรทิพย์” สืบค้นข้อมูลการฉ้อฉลในโลกโซเชียลมีเดีย พบว่า มีการสร้างข่าวปลอม (Fake News) มากมาย และ สิ่งนี้...ได้สร้างความเสียหายต่อประชาคมโลก ทั้งในเชิงปริมาณ (ระบบเศษฐกิจ) และเชิงคุณภาพ (สภาพจิตใจ) ของผู้ตกเป็น “เหยื่อ” อย่างมิอาจจะประเมินมูลค่าความเสียหายได้ใกล้เคียงความเป็นจริงมากนัก
สื่อสังคมออนไลน์ยอดนิยม อันดับ 1 และ 2 อย่าง...facebook และ LINE ต่างถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือหากินของมิจฉาชีพกลุ่มนี้มากที่สุด
แม้ว่าทางฝั่งผู้บริหารของทั้ง Facebook และ LINE จะออกมาปฏิเสธว่า พวกเขาไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับขบวนการฉ้อฉลเหล่านี้ กระนั้น การซื้อพื้นที่โฆษณาที่กลุ่มมิจฉาชีพจ่ายเงินให้กับ 2 สื่อสังคมออนไลน์ ก็ไม่น่าจะทำให้พวกเขา...ปฏิเสธความรับผิดชอบนี้ไปได้ เพราะมันคือ “ต้นตอ” ของปัญหาการหลอกลวงต้มตุ๋นในโลกไซเบอร์นั่นเอง
จากข้อมูลตัวเลขสถิติ พบว่า ปัจจุบันประชากรไทยมีมากถึงกว่า 71.75 ล้านคน ในจำนวนนี้ มีผู้ใช้งาน Internet มากถึง 61.21 ล้านคน หรือ 85.3% ของประชากร ซึ่งถือว่าค่อนข้างครอบคลุมในประเทศไทย ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยธนาคารกรุงไทย (Krungthai Compass) ระบุเอาไว้เมื่อ 23 มิ.ย. 2566 ว่า...ในจำนวนคนไทยที่เข้าถึงอินเตอร์เน็ต 61.2 ล้านคนนั้น มีผู้ใช้ Social Media มากถึง 52.3 ล้านคน เพิ่มขึ้นต่อเนื่องในรอบ 5 ปีหลังสุด โดยมีแรงผลักดันทั้งจากการดำเนินงานของผู้ให้บริการและการส่งเสริมของภาครัฐ
สอดรับกับข้อมูลอีกด้านหนึ่ง ที่ระบุถึง Social media ซึ่งคนไทยนิยมมากที่สุด ยังคงเป็น Facebook ด้วยจำนวนผู้ใช้งาน 48.10 ล้านคน หรือราว 91% ของผู้ที่เข้าถึงการใช้งานอินเทอร์เน็ต รองลงมาก็คือ LINE และอันดับ 3 ก็ยังเป็น Facebook Messenger
ด้วยความที่ facebook กลายเป็น Social Media ยอดนิยมอันดับ 1 ในประเทศไทย ดังนั้น สื่อสังคมออนไลน์ค่ายนี้ จึงมักถูกนำมาใช้เป็นช่องทางการหลอกลวงของกลุ่มมิจฉาชีพ ทั้งในและนอกประเทศ เป็นจำนวนมาก...
จากพฤติกรรมในการสร้าง Fake News ของกลุ่มมิจฉาชีพที่เกิดขึ้นในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ได้ขยายผลความเสียหายจากโลกออนไลน์สู่โลกในชีวิตจริง กระทั่ง กลายเป็นความเดือดร้อนอย่างแสนสาหัสให้กับ...บางคน บางครอบครัว และบางธุรกิจ?
มีคำหลอกลวงจากกลุ่มมิจฉาชีพ ทั้งในและนอกประเทศ ผ่านการสร้าง Fake News ขึ้นมาหลอกลวงคนไทยและทั่วโลกอย่างมากมาย ประเทศไทยก็เป็นหนึ่งในเป้าหมายของคนพวกนี้
ตัวอย่างให้ได้เห็นพอเป็นสังเขป อ้างอิงจากหลายหน่วยงาน ไม่ว่าจะเป็น Anti- Fake news Thailand ในสังกัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) หรือ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ดังนี้...
Anti- Fake news Thailand (3 ต.ค.2566) อ้างถึงกรณี กลุ่มมิจฉาชีพที่ได้ทำการแอบอ้าง กลุ่ม ปตท. ว่า...ได้เปิดให้มีการลงทุนซื้อหุ้น เริ่มต้น 1,000 บาท สัญญาว่าจะให้ผลตอบแทนสูง ทั้งที่ความเป็นจริง! บมจ.ปตท. ได้ออกมาปฏิเสธแล้วว่า...กลุ่ม ปตท. ไม่มีการดำเนินการดังกล่าวและไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับเพจดังกล่าวแต่อย่างใด
หรือกรณีข่าวปลอมที่อ้างถึง “นายกฯ เศรษฐา ทวีสิน” ได้อนุมัติ “พนันออนไลน์” ให้เป็นสิ่งถูกกฎหมาย เรื่องนี้ ทาง “โฆษกกระทรวงดีอี - เวทางค์ พ่วงทรัพย์" ก็ออกมาแก้ข่าวตั้งแต่เมื่อ 28 ก.ย.2566 แล้วว่า...ข่าวดังกล่าวเป็นเท็จ!
ยังจะมีกรณี “ข่าวปลอม” ที่ระบุว่า บสย. (บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม) ชวนกู้เงินด่วนผ่านไลน์ ลดต้นลดดอก วงเงินกู้สูง 5,000 - 30,000 บาท ซึ่งก็ได้รับการยืนยันจาก ผู้บริหารของ บสย. สังกัดกระทรวงการคลัง ในเวลาต่อมาว่า ข่าวดังกล่าวไม่เป็นความจริง และเรื่องนี้...ก็เพิ่งเกิดสดๆ ร้อนๆ ไม่ถึง 24 ชม.นี้เอง
ล่าสุด สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) เพิ่งออกมาเตือนสติคนไทย เมื่อช่วงสายของ 9 ต.ค.2566 ให้ระหว่างแก๊งมิจฉาชีพต้มตุ๋น “หลอกลงทุนออมทอง” โดยอ้างชื่อร้านทองที่น่าเชื่อถือ ด้วยการหลอกเหยื่อให้สมัครตัวเป็น สร้าง “โปรออมทองราคาดี” เพื่อล่อใจกับผลตอบแทนที่จะได้รับเดือนละ 1 ครั้ง
โดยมีเงื่อนไขให้ต้องหาสมาชิกเพิ่มไปเรื่อยๆ ทั้งนี้ สตช. ระบุว่า...ช่วงแรกๆ มิจฉาชีพกลุ่มนี้...ก็ทำทีเป็นส่งมอบทองที่ได้ออมไว้และจ่ายผลตอบแทนให้จริง แต่หลังจากนั้น ก็เข้าอีหรอบเดิม...ไม่มีการส่งมอบทองและก็ไม่สามารถติดต่อปลายทางได้…
ทางฝั่งตลาดหลักทรัพย์ฯ เอง ก็ไม่น้อยหน้า ถูกแอบอ้างชื่อองค์กรเป็นเครื่องมือในการชักชวนนักลงทุนเข้าไปร่วมลงทุนในหลายๆ เคสท์ แถมบางเคสท์ยัง “เล่นใหญ่” อ้างอิงทั้ง...สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (กลต.) และ เจ้าสัวนักธุรกิจระดับชาติ อย่าง “ธนินท์ เจียรวนนท์” ประธานอาวุโสเครือเจริญโภคภัณฑ์ (เครือซีพี) อีกต่างหาก...
มาดูกัน...กับ Fake News เคสท์นี้...เกิดขึ้นเมื่อช่วง ส.ค.- ก.ย. 2566 นี้เอง โดยมีการอ้างอิงทั้ง ตลาดหลักทรัพย์ฯ กลต. และ บมจ.ซีพี ออลล์ (ในเครือซีพี) โดยเฉพาะใช้ทั้ง...ชื่อ โลโก้ (ซีพี ออลล์) และรูปภาพของ “ประธานฯ ธนินท์” ออกมาโชว์หรา...เพื่อเชิญชวน (หลอกลวง) ให้นักลงทุนและประชาชนทั่วไปได้ร่วมลงทุนกับ “กองทุนผู้สูงอายุ” (ดูภาพประกอบข่าว) โดยเริ่มต้นลงทุนเพียง 1,000 – 13,000 บาท (แล้วแต่กรณี) และสัญญาจะจ่ายผลตอบแทนจากการลงทุน 3-7% ต่อสัปดาห์ ย้ำว่า....ต่อสัปดาห์
ทำเอาตลาดหลักทรัพย์ฯ นั่งไม่ติด! ต้องรีบชี้แจงและส่งสัญญาณเตือนไปยังนักลงทุนและประชาชนทั่วไปเป็นการด่วน! โดยย้ำว่า.. “ตลาดหลักทรัพย์ฯ รวมทั้งผู้บริหาร และพนักงานของตลาดหลักทรัพย์ฯ ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องใดๆ กับเพจหรือโฆษณาชักชวนให้ลงทุนหรือรับข้อมูลลงทุนที่ปรากฏตามสื่อโซเชียลมีเดีย ดังนั้น หากเพจ Facebook หรือ LINE หรือ โซเชียลมีเดียใดๆ ที่มีการแอบอ้างชื่อ โลโก้ ของตลาดหลักทรัพย์ฯ หรือภาพผู้บริหารและพนักงานของตลาดหลักทรัพย์ฯ ชักชวนให้ลงทุน หรือรับข้อมูลลงทุน ขอให้สันนิฐานไว้ก่อนว่า...เป็นการหลอกลวงโดยมิจฉาชีพ”
ชัดเจนกับหน่วยงาน...อย่าง กระทรวงดีอี, บสย. ในสังกัดกระทรวงการคลัง, สตช. และตลาดหลักทรัพย์ รวมถึง อีกหลายๆ หน่วยงาน ที่ได้แสดงบทบาท “ต่อต้าน” พฤติการณ์โกหก...หลอกลวงของกลุ่มมิจฉาชีพ ผ่านการทำ Fake News และ “ห้ามปราม” มิให้นักลงทุนและประชาชนทั่วไป ต้องตกเป็น “เหยื่อ” ของขบวนการฉ้อฉลเหล่านี้ ได้อย่างเข้มแข็ง!
แม้ตัว facebook เอง จะไม่ใช่ “ต้นเรื่อง” ของสารพัดปัญหาการหลอกลวงในโลก Social Media แต่การปล่อยให้กลุ่มมิจฉาชีพเหล่านี้ ได้ใช้ “พื้นที่ – สื่อสังคมออนไลน์” ของตัวเอง ทำการหลอกลวงนักลงทุนและประชาชนทั่วไปอย่างนี้ มันคงไม่ต่างจากวลีการเมืองที่ว่า “พายเรือให้โจรนั่ง” สักเท่าใด?
กับข้อเท็จจริง! จำนวนผู้ใช้ facebook ในประเทศไทยที่มีมากถึงกว่า 48 ล้านคน ดังนั้น การจะ “ปิดกั้น - facebook” ก็ไม่ใช่เรื่องที่ทำกันได้ง่ายๆ กระนั้น กระทรวงดีอี ก็พยายามจะขอให้ Meta ได้แสดงความรับผิดชอบต่อสังคมไทยและความเสียหายที่เกิดขึ้นกันบ้าง
ปลายเดือน ส.ค.2566 เช่นกัน ที่ กระทรวงดีอี ได้ออกมาพูดถึงการเปิดบัญชีของมิจฉาชีพ เพื่อล่อลวงให้คนเข้าไปลงทุน และเรียกร้องให้ Facebook ได้วางมาตรการในการสกรีนบัญชีให้มากขึ้น เพราะบัญชีมิจฉาชีพเหล่านี้ได้ลงทุนโฆษณากับทาง Facebook เพื่อหลอกลวงประชาชน
แต่ Facebook กลับนิ่งเฉย และปล่อยให้มีการโฆษณาโดยไม่ปิดกั้น จนเกิดเป็นความเสียหายตามมานับพันล้านบาท!!!
การ “ปิดกั้น - Facebook” ของกระทรวงดีอี คงไม่ใช่เรื่องง่ายและไม่น่าจะเกิดขึ้นได้ แต่การเปิดทางให้ผู้เสียหายจากช่องทางเครือข่ายฯ ได้ทำการฟ้องร้องดำเนินคดีเรียกค่าเสียหายกับทาง Facebook ก็ไม่น่าจะเป็นเรื่องที่ไกลเกินฝัน
มีกรณีศึกษาในต่างประเทศ...เหตุเกิดเมื่อปี 2564 หลังเกิดเหตุ Facebook ทำข้อมูลส่วนบุคคลของประชากรยุโรป (ชื่อ, เบอร์โทร, ที่อยู่ และวันเกิด) หลุดครั้งใหญ่กว่า 533 ล้านบัญชี กระทั่ง ถูกองค์กรด้านสิทธิในข้อมูลส่วนบุคคลดิจิทัลของประเทศไอร์แลนด์ ดำเนินการฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายแทนประชากรยุโรป สูงสุดต่อรายคิดเป็นมูลค่า 12,000 ยูโรคิด หรือกว่า 450,000 บาทเลยทีเดียว
แม้ผู้บริหารระดับสูงของ Facebook จะออกมาปฏิเสธ อีกทั้งคดีความก็ยังไม่สิ้นสุด แต่ก็ต้องตามติดและรอดูกันต่อไปว่า...เรื่องนี้จะจบลงอย่างไร?
หากละครฉากสุดท้าย? ปรากฏผลที่ออกมา เป็นคุณ กับทางฝั่ง “ผู้เสียหาย” ล่ะก็...เคสท์ที่เกิดขึ้นในเมืองไทย ซึ่งเสียหายมากยิ่งกว่า เพราะถึงขั้นที่บางราย...ถูก “ดูดเงิน” ออกจากบัญชีธนาคารจนหมดเกลี้ยง
ถึงตอนนั้น...กระแสนี้ ยักษ์ใหญ่ในสื่อสังคมออนไลน์ระดับโลก ก็คงยากจะทานทนต่อแรงกดดันของผู้เสียหายในประเทศไทยได้อย่างแน่นอน!!!.