ผ่านไป 4 ปี รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ยังนิ่งสนิท ไร้วี่แววเปิดหวูดก่อสร้าง หลังรถไฟฯ รับจ่อเผชิญทางตัน เจรจาแก้ปัญหาพื้นที่ทับซ้อน 2 โครงการยังไร้ข้อสรุป จ่อล้มข้อตกลงกลับมาดำเนินการก่อสร้างเอง วงในชี้สัญญาณชัดเจ้าสัวจ่อทิ้งโครงการ หากรัฐตัดทิ้งเส้นทางร่นระยะจ่ายเงินอุดหนุนให้
หลังจากโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ยังคงไร้วี่แววการเปิดหวูดเริ่มต้นก่อสร้างและเดินหน้าโครงการ ทั้งที่มีการเซ็นสัญญาสัมปทานโครงการกันไปตั้งแต่ปลายปี 2562 หรือเมื่อกว่า 4 ปีมา จนทำให้หลายฝ่ายวิพากษ์กันอย่างกว้างขวางว่า มีแนวโน้มที่เจ้าสัวซีพีจะถอดใจทิ้งโครงการดังกล่าวนั้น
ล่าสุด นายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าโครงการรถไฟความเร็วสูง (ไฮสปีดเทรนเชื่อมสามสนามบิน ดอนเมือง สุวรรณภูมิ อู่ตะเภา) ว่า ปัจจุบันโครงการดังกล่าวยังอยู่ระหว่างเจรจากับเอกชนผู้ชนะการประมูลเกี่ยวกับปัญหาก่อสร้างพื้นที่ทับซ้อนระหว่างไฮสปีดเทรนเชื่อมสามสนามบิน และโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย - จีน สัญญา 4-1 ช่วงบางซื่อ-ดอนเมือง โดยคาดว่า จะได้ข้อสรุปภายในสิ้นปี 2566 นี้
อย่างไรก็ดี จากการประเมินสถานการณ์ล่าสุด มีแนวโน้มว่า ร.ฟ.ท. อาจต้องเข้ามาดำเนินการก่อสร้างพื้นที่ทับซ้อนเองเพื่อไม่ให้โครงการมีความล่าช้า โดยเฉพาะต่อโครงการไฮสปีดเทรนไทย – จีน ที่งานโยธาคืบหน้าต่อเนื่องแล้ว เบื้องต้น ร.ฟ.ท. ได้หารือกับเอกชนผู้รับสัมปทานโครงการไฮสปีดเทรนเชื่อมสามสนามบินแล้ว ดังนั้น ขั้นตอนหลังจากนี้ ร.ฟ.ท. จะต้องกลับมาประเมินวงเงินก่อสร้างให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน รวมทั้งประเมินว่าจะจัดหาเงินทุนจากแหล่งใดมาดำเนินการ และอาจต้องเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติกรอบวงเงินเพิ่มเติม โดยคาดว่าจะเสนอ ครม. ได้ภายในปีนี้
ก่อนหน้านี้ ร.ฟ.ท.ได้มองแนวทางแก้ไขปัญหาคู่ขนานกับการรอการเจรจากับบริษัทเอเชีย เอรา วัน นับตั้งแต่เดือน เม.ย. ที่ผ่านมา โดยได้เริ่มศึกษาแนวทางในการลงทุนงานโยธาในส่วนของพื้นที่ทับซ้อนเองทั้งหมด หากบริษัทเอเชีย เอรา วัน ไม่สามารถดำเนินการได้ แต่ยอมรับว่าไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะนอกจากจะต้องใช้งบประมาณก่อสร้างเพิ่มขึ้นกว่า 6,000 - 8,000 ล้านบาทแล้ว ยังกระทบไปถึงการประกวดราคาก่อสร้างสัญญางานโยธาในโครงการ ช่วง 4-1 ด้วยอีก อีกทั้งหาก ร.ฟ.ท. จะกลับมาดำเนินการเองในพื้นที่ทับซ้อนทั้ง 2 โครงการก็ยังต้องไปแก้สัญญาร่วมลงทุนไฮสปีดเทรนเชื่อม 3 สนามบินอยู่ดี ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย
ทั้งนี้ โครงการไฮสปีดเทรนเชื่อมสามสนามบิน ร.ฟ.ท. ได้ลงนามร่วมลงทุนกับ บริษัท เอเชีย เอรา วัน จำกัด ที่มีเครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ ลงนามไปเมื่อวันที่ 24 ต.ค.2562 โครงการดังกล่าวยังไม่เริ่มก่อสร้าง และยังอยู่ขั้นตอนแก้ไขสัญญาร่วมลงทุนใน 2 ประเด็น คือ ปัญหาพื้นที่ทับซ้อนโครงการไฮสปีดเทรนไทย-จีน โดยที่ผ่านมา ได้มีการเจรจาให้เอกชนคู่สัญญา คือ เอเชีย เอรา วัน ลงทุนสร้างงานโยธาช่วงทับซ้อนวงเงิน 9,207 ล้านบาท โดยรัฐจะปรับร่นระยะเวลาจ่ายเงินอุดหนุนการก่อสร้างระบบงานโยธาตามมติคณะรัฐมนตรีให้ แต่การเจรจายังไม่ได้ข้อสรุป
นอกจากนี้ ยังมีประเด็นค่าสิทธิบริหารแอร์พอร์ต เรลลิงก์ ซึ่งในสัญญาให้ชำระงวดเดียว 10,671 ล้านบาท แต่เนื่องจากผลกระทบโควิด-19 ทำให้ปริมาณผู้โดยสารไม่เป็นไปตามที่ศึกษาไว้ ประกอบกับ ครม. ได้มีมติให้เยียวยาผลกระทบที่เกิดขึ้นกับเอกชน ส่งผลให้มีการเจรจาแก้ไขสัญญาใหม่ โดยเอกชนสามารถแบ่งชำระเป็นงวด รวม 7 งวดด้วยกัน
แหล่งข่าวจากกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า การที่รถไฟฯ หวนกลับมาพิจารณาแนวทางการดำเนินการก่อสร้างโครงสร้าง “ซูเปอร์สตรัคเจอร์” ในพื้นที่ทับซ้อนโครงการดังกล่าว เป็นเครื่องสะท้อนให้เห็นว่า แนวทางในการเจรจาแก้ไขสัญญาก่อนหน้าที่จะให้บริษัทเอกชนคู่สัญญาสัมปทานรับผิดชอบก่อสร้างซูเปอร์สตรัคเจอร์ไปทั้งหมด เพื่อแลกกับการที่รัฐจะปรับร่นระยะเวลาจ่ายเงินอุดหนุนการก่อสร้างโครงการตามมติ ครม. จำนวนประมาณ 1.2 แสนล้านบาท จากกำหนดเดิมในปีที่ 6 ของสัญญามาเป็นปีที่ 2 ของสัญญานั้น จะทำให้โครงการเผชิญกับความเสี่ยงและความไม่แน่นอนมากยิ่งขึ้น เพราะเท่ากับบีบให้เอกชนจะต้องเป็นผู้ลงทุนเองทั้งหมดตามสัญญา ในขณะที่บริษัทเอกชนเองยังไม่เคยแสดงให้เห็นว่า ได้เจรจากับแหล่งเงินทุนที่จะให้การสนับสนุนโครงการเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
“เป็นการส่งสัญญาณให้เห็นว่า ทางเจ้าสัว ซีพี. อาจถอดใจที่จะไม่เดินหน้าโครงการนี้ต่อแล้ว เพราะหากไม่สามารถเจรจาดึงเงินอุดหนุนจากรัฐมาดำเนินการก่อนได้ ก็มีแนวโน้มที่โครงการนี้จะเผชิญทางตัน”
ทั้งนี้ มีรายงานข่าวจากกระทรวงคมนาคม ระบุว่า โครงสร้างร่วมรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน กับรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน (ช่วงบางซื่อ-ดอนเมือง) มีค่าก่อสร้างรวมประมาณ 20,000 ล้านบาท ซึ่งมีกระแสข่าวว่า ผู้รับสัมปทานรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (สนามบินดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) จะไม่ลงทุนในส่วนนี้ ทำให้เกิดข้อสงสัยตามมาว่า โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน มูลค่าลงทุนมหาศาลกว่า 200,000 บาท จะเดินต่ออย่างไร เห็นได้จากป่านมาหลายปี ยังไม่ลงมือก่อสร้างเลย