“รัฐบาลเศรษฐา” ทุ่มทุกสรรพกำลัง หวังกระตุ้นเศรษฐกิจไทยให้กลับมา “ฟู” ทั้งระบบ! กับเป้าหมาย “ดัน” จีดีพีของไทย เติบโตเฉลี่ยปีละ 5% ตลอดอายุรัฐบาล นั่นก็หมายความว่า...รัฐบาลจะต้องใส่เม็ดเงินเข้าในระบบเศรษฐกิจเป็นจำนวนมาก ทั้งการระดมเงินทุนในประเทศ และการดึงเอาเงินตราจากต่างประเทศเข้าไทย ความสำเร็จหรือล้มเหลวย่อมมีผลต่ออนาคตการเมืองอย่างมิอาจหลีกเลี่ยง!
…
5% คือเป้าหมายเฉลี่ยของอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ หรือในแต่ละปี ที่รัฐบาลเศรษฐาคาดหวังจะเห็นในช่วงเวลา 4 ปี ตามอายุขัยของรัฐบาล หากอยู่ครบเทอม
นโยบายหรือมาตรการต่างๆ ที่จะนำมาใช้เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ จึงถูกผลักดันและนำมาใช้ขับเคลื่อนด้วยความมุ่งหวัง อยากจะเห็นเป้าหมายทางเศรษฐกิจข้างต้น
จากข้อมูลที่ นายพรชัย ธีรเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ในฐานะ “โฆษกกระทรวงการคลัง” บอกกับผู้สื่อข่าวถึงตัวเลขจีดีพี ว่า หากรัฐบาลต้องการจะผลักดันให้จีดีพีเติบโตที่ระดับอัตราทุกๆ 1% นั้น จะต้องสร้างการใช้จ่ายขั้นต้น (Gross Spending) ในภาพรวมของประเทศให้ได้มากถึง 400,000 ล้านบาท และจากตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจในปี 2566 พบว่า จีดีพีของไทยเติบโตได้เพียง 2.7% ต่ำกว่าคาดการณ์เดิมที่กระทรวงการคลังเคยตั้งไว้ก่อนหน้านี้ และได้มีการปรับลดลงมาตลอดอย่างต่อเนื่อง
จากคาดการณ์เดิมที่ระดับ 3.5% เหลือ 3.3% และปรับจีดีพีล่าสุด มาเหลืออยู่ที่ระดับ 3.2%
แต่เอาเข้าจริง จีดีพีของไทยในปี 2566 นั้น ต่ำกว่าที่คาดการณ์เอาไว้เยอะ มันสะท้อนอะไรได้บ้าง? คงไม่ต้องพูดถึง
ขณะเดียวกัน คาดการณ์จีดีพีในปี 2567 กระทรวงการคลังเพิ่งแถลงถึงประมาณการตัวเลขดังกล่าวว่า น่าจะเติบโตที่ระดับ 3.2% ซึ่งตัวเลขข้างต้น ยังไม่นับรวมมาตรการและโครงการใหม่ๆ ของรัฐบาล ที่เตรียมจะผลักดันออกมาในปีนี้และปีต่อๆ ไป
ไม่ว่าจะเป็นแนวคิดในเชิงนโยบาย... การลดรายจ่ายและเพิ่มรายได้ของประชาชน ผ่านมาตรการและโครงการต่างๆ สิ่งที่ “รัฐบาลเศรษฐา” ได้เริ่มทำเอาไว้ไปบ้างแล้ว แต่ช่วง 2 เดือนของการเป็นรัฐบาล ซึ่งนายกฯ เศรษฐา ทวีสิน เพิ่งจะแถลงผลงานในรอบ 60 วันไปเมื่อไม่นานมานี้
ตั้งแต่...ผลงานการปรับลดราคาน้ำมันลงมาอย่างต่อเนื่อง ปรับลดค่าไฟ ค่าน้ำ แม้กระทั่ง ลดค่าโดยสารรถไฟฟ้าในบางสาย ถือเป็นการลดรายจ่ายให้กับภาคประชาชนได้ในส่วนหนึ่ง โดยเฉพาะราคาน้ำมันทุกประเภท จัดว่า “โดนใจ” คนไทยอย่างมาก
สอดรับกับการลดรายจ่ายในส่วนของการพักหนี้เกษตรกร และกำลังจะตามมาด้วย... แผนการแก้ไขปัญหาหนี้สินของประชาชน (หนี้สินภาคครัวเรือน) ที่กำลังจะทยอยออกตามมา ผ่านกระบวนการของการจัดตั้ง AMC หรือบริษัทบริหารสินทรัพย์ ภายใต้การดูแลของธนาคารออมสิน และ บมจ.บริหารสินทรัพย์กรุงเทพพาณิชย์ (BAM) ซึ่งถือเป็น “เบอร์ใหญ่” ของวงการอุตสาหกรรมการบริหารหนี้เสียอันดับหนึ่งของประเทศไทย
ด้วยความคาดหวังของรัฐบาลที่จะกดตัวเลขสัดส่วนหนี้สินภาคครัวเรือน ซึ่งปัจจุบันพุ่งทะลุเกินร้อยละ 91 ของจีดีพี และนับเป็นความเสี่ยงในระดับที่สูงมาก ลงให้เหลือไม่เกินร้อยละ 80 ให้เร็วที่สุด
ควบคู่ไปกับการเพิ่มรายได้ของประชาชน ด้วยการแจกเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเลต แล้วการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ภายใต้เป้าหมายอันเป็นความคาดหวังของคนไทยที่ระดับค่าแรงขั้นต่ำ วันละ 500 บาทภายใน 4 ปีเช่นกัน ขณะที่เงินเดือนระดับปริญญาตรีไม่น้อยกว่า 25,000 บาทในแต่ละเดือน
“รัฐบาลเศรษฐา” จะทำได้หรือไม่? ทำได้มากน้อยแค่ไหน? ยังไงก็ต้องทำ เพราะมันคือ “สัญญาประชาคม” ที่มีเรื่องพันธะสัญญาในทางการเมืองและฐานเสียงของประชาชนเป็นเดิมพัน แถมยังมีกฎหมายรัฐธรรมนูญและยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี เป็นตัวกำหนดและควบคุมอีกชั้นหนึ่ง
มาตรการและโครงการอันมีพื้นฐานมาจากนโยบายของรัฐบาลนั้น ทั้งหมดคือการใช้เงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีที่สูงมากๆ และเสี่ยงต่อการก่อภาระหนี้สาธารณะของประเทศเช่นกัน
ก่อนหน้านี้ หลายฝ่ายเป็นกังวลใจว่า... ที่สุดแล้ว รัฐบาลจะหาทางเพิ่มรายได้ได้อย่างไร? และจากแหล่งไหน? เพื่อนำมาใช้จ่ายในมาตรการและโครงการเหล่านั้น สุดท้าย...ก็เป็น นายกฯ เศรษฐา ที่เพิ่งประกาศเมื่อวันที่ 10 พ.ย.ที่ผ่านมา ว่า เฉพาะเงินที่ใช้ในโครงการแจกเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเลต รัฐบาลก็มีความจะเป็นจะต้องออกเป็น พ.ร.บ.กู้เงินแล้ว 500,000 ล้านบาท
มากกว่านั้น รัฐบาลยังพ่วงโครงการจัดตั้งกองทุนเพิ่มขีดความสามารถ พ่วงไปกับการจัดตั้งโครงการ e-Refund ให้คนไทยได้ลดหย่อนภาษีรวมกันอีก 100,000 ล้านบาท
แม้รัฐบาลจะใช้เงินเยอะแยะมากมายขนาดนี้ และมีเป้าหมายจะกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะสั้น แต่ทว่า นายกฯ เศรษฐา ก็ตอบคำถามของผู้สื่อข่าวไม่ได้ว่า... เงินงบประมาณจำนวนมหาศาลที่ว่านี้ จะผลักดันให้จีดีพีของไทย ซึ่งกระทรวงการคลังได้ออกมาคาดการณ์ในปี 2567 ว่า จะอยู่ที่ระดับ 3.2% และยังขาดอีกถึง 1.8% เพื่อเติมเต็มให้ครบตามที่รัฐบาลเคยประเทศจะทำให้จีดีพีของไทยเติบโตเฉลี่ยปีละ 5% ตลอดทั้ง 4 ปีของรัฐบาล
รัฐบาลบอกแต่เพียงว่า...คาดหวังจะเห็นการแจกเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเลต ถูกนำมาใช้และหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจไม่ต่ำกว่า 3 รอบ ซึ่งหากเป็นจริง เม็ดเงินในโครงการ 500,000 ล้านบาท หมุน 3 รอบ
เท่ากับจะมีเม็ดเงินหมุนเวียนอยูในระบบเศรษฐกิจ 500,000 ล้านบาท X 3 รอบ = 1.5 ล้านล้านบาท
และหากย้อนกลับไปดูข้อมูลข้างต้น ที่ “โฆษกกระทรวงการคลัง” ระบุไว้... จีดีพีไทยจะเติบโตทุกๆ 1% หากมีเม็ดเงินหมุนเวียนอยู่ในระบบเศรษฐกิจ ผ่านการใช้จ่าย Gross Spending ที่ระดับ 400,000 ล้านบาท
ดังนั้น เม็ดเงินหมุน 3 รอบ สร้างพายุหมุนทางเศรษฐกิจที่ระดับ 1.5 ล้านล้านบาท บวกกับเม็ดเงินในโครงการจัดตั้งกองทุนเพิ่มขีดความสามารถ และโครงการ e-Refund อีก 100,000 ล้านบาท (ยังไม่นับรวมว่าจะหมุนได้อีกสักกี่รอบ)
รัฐบาลและนายกฯ เศรษฐา เอง ก็คงแอบหวังใจลึกๆ ว่า...สิ่งนี้ (เม็ดเงินมากกว่า 1.5 ล้านล้านบาท) จะช่วยผลักดันให้จีดีพีไทย เพิ่มจากตัวเลขประมาณการพื้นฐานที่ระดับ 3.2% ได้อีกไม่ต่ำกว่า 3-4% (เพราะทุกๆ การใช้จ่ายของ Gross Spending ที่ 400,000 ล้านบาท จะสร้างจีดีพีได้ 1%)
หากสมมุติฐานเบื้องต้นเป็นเช่นที่รัฐบาลแอบคาดหวังไว้จริงแล้ว เป้าหมายที่จะผลักดันให้จีดีพีของไทยเติบโตเฉลี่ย 5% ตลอด 4 ปีตามอายุขัยของรัฐบาล ก็ไม่น่าจะเป็นหมันได้
ไม่เพียงแค่นั้น...ในทุกครั้งของการเดินทางออกนอกประเทศ นายกฯ เศรษฐา ก็มักจะใช้ความพยายามอย่างที่สุด เพื่อชักชวนให้รัฐบาลและภาคธุรกิจเอกชนของประเทศนั้นๆ มาลงทุนในไทย
การเดินทางไปประชุม “ผู้นำเอเปค” ที่เมืองซานฟานซิสโก สหรัฐอเมริกา รอบนี้ ก็มีเป้าหมายจะพบกับบรรดานักธุรกิจรายใหญ่ระดับโลก ทั้งจากสหรัฐอเมริกาและหลายประเทศในกลุ่มเอเปค ภายใต้เป้าหมาย...จะดึงกลุ่มทุนขนาดใหญ่ เข้ามาลงทุนในไทย
ความฝันจะสร้างความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจของ “รัฐบาลเศรษฐา” จะเป็นจริงหรือไม่? เวลาจะเป็นตัวพิสูจน์ อย่างไรก็ตาม จากความพยายามและความตั้งใจจริงของรัฐบาล ภายใต้การนำของ “นายกฯ เศรษฐา” ถือว่า...เดินทางมาถูกทางในระดับหนึ่ง
แต่จะสัมฤทธิ์ผลหรือไม่? อีกไม่นาน...คนไทยจะได้เห็นกัน
หากสำเร็จอย่างที่คาดหวัง...คะแนนเสียงที่เคยหดหายไปกับเส้นทางการได้มาซึ่ง “อำนาจรัฐ” ในรอบนี้ ก็จะพลิกกลับมา “ฟู” เหมือนเมื่อครั้งเป็น “รัฐบาลไทยไทยรัก” ทว่าในทางกลับกัน หากทุกอย่างเป็น “ลมปาก” ที่จับต้องไม่ได้จริง...
อนาคตของพรรคเพื่อไทย...คงมีชะตากรรมในทางการเมืองไม่ต่างจาก “พรรคการเมืองเก่าแก่” พรรคนั้นอย่างแน่นอน!