กรณี “นายสมชัย ศรีสุทธิยากร" อดีตกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้ออกมาฟันธง “ดิจิทัล วอลเลต” มีตั้งโต๊ะรับแลกเป็นเงินสดแน่ เหตุคนไม่อยากรอ-ถือไปช้อปต่างอำเภอได้ โดยนายสมชัยได้ออกมาเตือนรัฐถึงโครงการแจกเงิน “ดิจิทัล วอลเลต” ดังกล่าวว่า หากต้องการให้เงินหมุนในระบบหลายรอบจริงๆ คนจะต้องไม่รีบแลกเงินคืนจากรัฐ แต่หากถือเงินแล้วมีจังหวะแลกคืนได้ เนื่องจากเป็นร้านค้าในระบบภาษี ประชาชนจะไม่หมุนต่อ คำถามคือรัฐบาลได้คิดเรื่องนี้หรือไม่ หากสถานะของเงินดิจิทัลต่ำกว่าเงินปกติ คำถามคือจะถือไว้หมุนต่อเพื่ออะไร สู้ไปเอาเงินสดมาดีกว่า
“เรื่องนี้เคยเกิดขึ้นแล้ว คือกรณีของร้านธงฟ้า บางครั้งคนซื้อไม่ได้เอาสินค้าไปจริง แต่ทำทีเป็นซื้อแล้วก็เอาเงินสดไปแทน แม้จะได้น้อยกว่า เช่น 600 บาท แลกเงินสดได้ 400 บาท หรือสมมุติตนสั่งหมูปิ้ง 2,000 บาท ถามว่าจะมีใครรู้ว่าพ่อค้าขายหมูปิ้งให้ตนหรือไม่ ตนโอนเงินดิจิทัลให้พ่อค้า 2,000 บาท ส่วนพ่อค้าก็เอาเงินสดมาให้ตน 1,500 บาท เท่านี้ก็พอแล้ว”
เป็นการคาดการณ์ล่วงหน้า-ด้อยค่าเงินดิจิทัลได้เห็นภาพโดยแท้!
แต่นั่นคือ ภาพจำในอดีตที่ทุกฝ่ายรู้อยู่เต็มอกมันคือจุดบอดในระบบที่เคยเกิดขึ้น ขณะที่เงื่อนไข “ดิจิทัล วอลเลต” ที่พัฒนาจากของเดิมขึ้นมาอีกชั้น กำหนดให้ใช้ตามภูมิลำเนา กำหนดคนซื้อ-ขายต้องอยู่ในภูมิลำเนาเดียวกันนั้น ใครที่คิดจะผุดร้านทิพย์ รับแลกเงินดิจิทัลวอลเลตในแต่ละชุมชนแต่ละอำเภอ แม้ทำได้แต่จะต้องมีสาขามากน้อยแค่ไหนจึงจะครอบคลุมทุกอำเภอได้ 800-900 แห่ง
แต่หากอยากผุดร้านรับแลกเงินเพื่อหวังชักหัวคิว หวังรวบรวมเงินดิจิทัลไปขายต่อให้ร้านรวงในระบบภาษีที่เบิกเงินได้ โดยไม่มีสินค้าบริการจริง (หรือมีเป็นบางส่วน) ก็คงต้องเสี่ยงดวงเอาว่า ร้านค้าในระบบเหนือขึ้นไปจะเอาด้วยกับร้านทิพย์ที่ว่านี้ไหม จะยอมรับแลกเงินบาทให้ โดยยอมเสี่ยงนำไปเข้าระบบขึ้นเงินโดยไม่กลัวถูกตรวจสอบย้อนกลับหรือไม่ และยังต้องเสี่ยงดวง การตั้งโต๊ะแลกเงินดิจิทัลหรือร้านทิพย์ที่ว่า จะรอดพ้นสายตาชาวโซเชียล พ.ศ.นี้ไปได้ไหม
ก็ลองให้นายสมชัยหรือผู้ใกล้ชิด ลองตั้งร้านทิพย์รับแลกเงินสดดูว่า จะเอาเงินดิจิทัลที่ได้ ไปขึ้นเงินจากร้านออกมาได้อย่างไร เว้นเสียแต่ว่า ชาวบ้านที่ได้รับเงินดิจิทัลไปแล้วอยากแลกเงินสดไปใช้ข้ามอำเภออย่างที่ท่านว่าจริง โดยยอมขายของที่ซื้อมาในราคาส่วนลด
แต่นั่นสำหรับประชาชน แล้วเงินดิจิทัลมันก็หมุนแล้ว