ชี้ความล่าช้าโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน ฉุดโครงการลงทุนในอีอีซียกแผง หากโครงการไม่เกิด สนามบินนานาชาติแห่งที่ 3 -เมืองการบินตะวันออกจบเห่ไปด้วย วงในแนะรัฐบาลปรับรูปแบบลงทุนต่อขยายแอร์พอร์ตลิงค์ทดแทน ประหยัดงบลงทุนทำให้โครงการมีความเป็นไปได้มากกว่า
…
หลังจากโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน (ดอนเมือง-วุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) มูลค่าลงทุนกว่า 2.24 แสนล้าน ที่รัฐบาลโดยสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) และการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ลงนามให้สัมปทานแก่บริษัท เอเชีย เอราวัน จำกัด ในเครือเจ้าสัว ซี.พี. ไปตั้งแต่ 24 ตุลาคม 2562 หรือเมื่อกว่า 4 ปีมาแล้ว แต่จนถึงขณะนี้ โครงการดังกล่าวยังไม่มีความคืบหน้า บริษัทเอกชนผู้รับสัมปทานยังไม่มีการดำเนินการใด ๆ ขณะที่คู่สัญญาฝ่ายรัฐคือการรถไฟฯ ก็ยังไม่มีการส่งหนังสือเร่งรัดให้เอกชนเริ่มดำเนินโครงการ NTC แต่อย่างใดนั้น
หนึ่งในผู้บริหารบริษัทเอกชนที่มีโครงการลงทุนอยู่ในเขตเศรษฐกิจพิเศษอีอีซี เปิดเผยว่า ผลพวงจากความล่าช้าในการดำเนินโครงการไฮสปีดเทรนเชื่อม 3 สนามบิน ได้ทำให้โครงการลงทุนอื่น ๆ ในเขตอีอีซีพลอยชะงักงันไปด้วย เพราะการลงทุนในอีอีซีในภาพรวมจะเกิดขึ้นได้ยาก หากปราศจากโครงการพื้นฐานหลักด้านคมนาคมขนส่งที่จะให้การสนับสนุน โดยเฉพาะโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินตะวันออก โครงการศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน รวมทั้งการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะ 3 ท่าเรือมาบตาพุด ฯลฯ
“โครงการลงทุนเหล่านี้ โดยเฉพาะการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินตะวันออกนั้น ผูกติดอยู่กับรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินอย่างแนบแน่น หากโครงการรถไฟความเร็วสูงฯดังกล่าวล่าช้า หรือต้องล้มไปจะกระทบต่อการดำเนินโครงการอื่น ๆ ยกแผง เพราะปัจจัยที่จะทำให้เกิดสนามบินนานาชาติกรุงเทพ แห่งที่ 3 ได้นั้น จะต้องมีโครงข่ายรถไฟความเร็วสูงเป็นโครงข่ายเชื่อมโยงการเดินทาง หากไม่มีโครงการนี้การเชื่อมต่อการเดินทาง Connecting Flight กับสนามบินดอนเมืองและสุวรรณภูมิ จะไม่สามารถดำเนินการได้ภายในระยะเวลา 1 -1.30 ชม ดังนั้นโครงการรถไฟความเร็วสูงฯ จึงเป็นปัจจัยสำคัญสำหรับการลงทุนในเขตอีอีซี”
แหล่งข่าวเปิดเผยว่า การที่โครงการไฮสปีดเทรนเชื่อม 3 สนามบินล่าช้า สะท้อนให้เห็นถึงการพิจารณาคัดเลือกเอกชนเข้ารับสัมปทานโครงการดังกล่าว เป็นไปโดยปราศจากความรอบคอบและมีข้อบกพร่องมากมาย ทำให้หน่วยงานรัฐเจ้าของสัมปทานไม่สามารถจะดำเนินการไล่เบี้ยและเร่งรัดการดำเนินโครงการได้ และหากจะมีการยกเลิกสัญญาสัมปทานก็จะมีปัญหาฟ้องร้องนัวเนียตามมาอีก เพราะบริษัทเอกชนได้รับโอนรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงค์ไปบริหารก่อนหน้านั้นแล้ว โดยไม่ได้จ่ายค่าสิทธิ์รับโอนตามสัญญา และอาศัยค่าโดยสารที่จัดเก็บได้เป็นค่าจ้างเดินรถ ส่วนค่าจ้างที่เหลือคู่สัญญาฝ่ายรัฐ คือ การรถไฟฯ ติดค้างเอาไว้ “หากจะยกเลิกสัญญาสัมปทานโครงการนี้ เชื่อแน่ว่าจะทำให้เกิดการฟ้องร้องตามมาเป็นพรวน และกลายเป็นค่าโง่ตามรอยโครงการโฮปเวลล์อย่างแน่นอน”
อย่างไรก็ตาม แหล่งข่าวเปิดเผยว่า หากจะให้โครงการไฮสปีดเทรนเชื่อม 3 สนามบิน มีความเป็นไปได้ รัฐบาลอาจจำเป็นต้องทบทวนและปรับรูปแบบการลงทุนจากโครงการเดิมที่เป็นรถไฟความเร็วสูง ที่ต้องใช้เงินลงทุนสูงกว่า 2.24 แสนล้านบาท เกินศักยภาพที่จะลงทุนได้ โดยอาจปรับรูปแบบโครงการมาเป็นการต่อขยายรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงค์ ใช้ความเร็วในการเดินทาง 180-200 กม. ซึ่งช้ากว่าโครงการเดิมไปราว 15-30 นาที แต่สามารถจะให้บริการเดินรถได้ ทั้งในส่วนของ “รถไฟฟ้าซิตี้ไลน์” ที่จอดทุกสถานี และ “รถไฟด่วน Express Line” ที่จอดแค่ 3-4 สถานีเท่านั้น ซึ่งจะทำให้โครงการมีความเป็นไปได้มากขึ้น สามารถลดงบลงทุนได้กว่า 30-40% ทำให้โครงการศักยภาพที่เอกชนลงทุนได้
“รัฐบาลจำเป็นต้องเร่งตัดสินใจอนาคตของโครงการนี้ เพราะหากยังคงปล่อยให้ล่าช้าออกไป ไม่เพียงกระทบการลงทุนในเขตอีอีซี ยังส่งผลต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนอีกด้วย จะไปโรดโชว์ดึงเอกชนมาลงทุนอย่างไรก็ไม่เป็นผล หากโครงการหลักที่เป็นแม่เหล็กของการลงทุนไม่ขยับแบบนี้”