ระอุแดด สวนลมหนาวขึ้นมาอีก!
กับเรื่องที่สภาองค์กรผู้บริโภคขู่จะยื่นถอดถอน “คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.)” ต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เนื่องจากการปฏิบัติหน้าที่เข้าข่ายบกพร่อง และไม่กำกับดูแลสร้างผลกระทบร้ายแรงต่อผู้บริโภค กรณี “ไฟเขียว” ดีลควบรวมธุรกิจสื่อสารโทรคมนาคม 2 กรณีสุดบิ๊กบึ้มที่ไม่คิดว่าจะเกิดขึ้นในเมืองไทย
กรณีแรก คือ กรณี กสทช. มีมติ “รับทราบ” การควบรวมระหว่าง บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น (TRUE) และ บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (DTAC) ด้วยข้ออ้างไม่มีอำนาจพิจารณา-ไม่พิจารณาดีลควบรวมธุรกิจดังกล่าว กสทช. ทำได้เพียงการนำมาตรการบรรเทาผลกระทบมาบังคับใช้เท่านั้น ส่วนอีกกรณีนั้นเป็นการ “อนุญาต” ดีลควบรวมธุรกิจระหว่างบริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด (AWN) และ บมจ. ทริปเปิลบี บรอดแบนด์ (3BB) ที่ส่งผลให้ผู้บริโภคอาจแบกรับจากราคาค่าบริการเพิ่มมากขึ้น
แม้ทั้งสองกรณีจะเป็นการไฟเขียวดีลควบรวมธุรกิจที่เหมือนๆ กัน แต่ กสทช. กลับใช้เกณฑ์การพิจารณาอนุมัติบนฐานความแตกต่างกันชนิดหนังคนละม้วน โดยเคสแรกที่เป็นกรณีการควบรวมกิจการที่จะยังผลให้เกิดการผูกขาดเหลือผู้ให้บริการโทรคมนาคมในตลาดเพียง 2 รายใหญ่ แต่ กสทช. กลับมีมติแค่ “รับทราบ” รายงานการควบรวมธุรกิจที่อ้างว่าตนเองไม่มีอำนาจพิจารณาข้อเสนอควบรวมกิจการใด ๆ
แต่อีกกรณีที่แม้จะเป็นการควบรวมธุรกิจเหมือนกัน แต่ไม่ได้ส่งผลให้ตลาดเกิดการผูกขาดจนถึงขั้นที่จะทำให้ผู้บริโภค หรือผู้ใช้บริการอินเทอร์เน็ตถูกมัดมือชก โขกค่าบริการเอาได้ กสทช. กลับมีการพิจารณาสแกนดีลควบรวมสุดเข้มข้นก่อนไฟเขียวดีลควบรวม พร้อมกำหนดมาตรการลดผลกระทบ กลายเป็นมหกรรม “ดับเบิ้ลสแตคนดาร์ด” ไปซะงั้น
งานนี้วงการสื่อสารเลยวางเดิมพันต้องมีเคสใดเคสหนึ่งผิดครรลองกฎหมายอย่างแน่นอน!
นางสาวสุภิญญา กลางณรงค์ อดีต กสทช. และประธานคณะอนุกรรมการด้านการสื่อสาร โทรคมนาคม และเทคโนโลยีสารสนเทศ สภาผู้บริโภค กล่าวว่า การทำงานของ กสทช. ชุดปัจจุบัน หากสะท้อนจากมุมมองของคนนอกจะเหมือนเป็นสงครามตัวแทน (proxy war) ระหว่างสองรายใหญ่ เพราะคนที่ได้ประโยชน์ชัดเจน คือ ผู้ประกอบการทั้งสองราย ในทางกลับกันกลับไม่เห็นความพยายามในการปกป้องผลประโยชน์ของผู้บริโภคใน กสทช. ที่ชัดเจนแม้แต่กรรมการ กทสช. ด้านการคุ้มครองผู้บริโภค
"สิ่งที่น่าเสียใจ คือ การปฏิรูปกิจการคลื่นความถี่โทรคมนาคมในประเทศไทยดูเหมือนจะมีความคืบหน้า แต่ในความเป็นจริงกลับถอยหลัง และเป็นการถอยหลังที่มองไม่เห็นอนาคตว่าจะไปอย่างไรกันต่อ โดยเฉพาะเรื่องการคุ้มครองผู้บริโภคที่เหมือนจะไม่มีความหวัง ไม่มีพื้นที่เหลือสำหรับการเป็นปากเสียงให้ผู้บริโภคในองค์กรอิสระที่มีศักดิ์ศรีและได้รับการคุ้มครองความอิสระตามเจตนารมณ์ในรัฐธรรมนูญ" นางสาวสุภิญญา ระบุ
สิ่งสำคัญที่สุด คือ ภาวะความขัดแย้งและความเห็นต่างในองค์กรอิสระเป็นเรื่องปกติ เนื่องจากกรรมการแต่ละท่านต่างมีจุดยืนของตัวเอง อย่างไรก็ตาม ความขัดแย้งของ กสทช.ชุดนี้ กลับมองไม่เห็นว่าเชื่อมโยงกับประโยชน์สาธารณะอย่างไร และมีผลประโยชน์ต่อผู้บริโภคอย่างไร
"ปัญหาต่าง ๆ ที่รุมเร้าผู้บริโภคในยุค 5G และ 6G และขณะนี้กำลังจะเข้าสู่ยุค AI และ Internet of Things ปัญหารุมเร้าทั้งในเรื่องการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล มิจฉาชีพที่มาจากแก๊งคอลล์เซ็นเตอร์ สแกมเมอร์ และสแปมต่าง ๆ รวมไปถึงคุณภาพในการให้บริการ ผู้บริโภคถึงกับมืดมนว่าจะพึ่งใคร ถ้าองค์กรที่ควรจะเป็นที่พึ่งอย่าง กสทช. กลายเป็นทไวไลท์โซนหรือแดนสนธยาที่แสงอาทิตย์ส่องเข้าไปไม่ถึง เราก็ไม่รู้เหมือนกันว่าจะเป็นความหวังให้กับเราได้อย่างไร นี่เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในรอบ 2 ปีที่ผ่านมา" นางสาวสุภิญญา กล่าว
เห็นแล้วก็ให้นึกย้อนไปถึงกรณีที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) ล่าสุดเมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา ที่เพิ่งเห็นชอบให้เด้ง พ.ต.ต.สุริยะ สิงหกมล อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ไปเป็นรองปลัดกระทรวงยุติธรรม หลังจากที่ก่อนหน้านี้ไม่ถึงขวบเดือนเพิ่งจะถูกนายกฯ เรียกไปต่อว่า กรณีที่ดีไอเอสที่รับสำนวนคดี “หมูเถื่อน” จากกรมศุลกากรเพื่อดำเนินการสอบขยายผลหาตัวการนำเข้าหมูเถื่อนที่ทำลายตลาดสุกรของไทยจนพินาศย่อยยับในช่วงระยะเวลาไม่ถึง 3 ปีที่ผ่านมานี้
แต่ไม่รู้ว่าไปเจอตอ หรือเพราะไปเจอขาใหญ่อะไรที่ไหนเรื่องถึงได้ “หายเข้ากลีบเมฆ” เพราะรับคดีมาตั้งแต่ต้นเดือนกรกฎาคมแล้ว ผ่านมา 3 เดือนยังควานหาตัวการไม่ได้สักตน จนกระทั่งนายกฯ เศรษฐา ทวีสิน ฟิวส์ขาด เรียกตัวอธิบดีดีเอสไอ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปเพ่นกบาลเอาเมื่อ 12 พฤศจิกายน 66 ที่ผ่านมา นั่นแหละ
ดีเอสไอถึงได้ขยับตัวไล่กวดขับ ไล่ “เช็คบิล” ขบวนการหมูเถื่อนที่ว่านี้จนสะเทือนเลือนลั่น เพราะนัยว่า ขบวนการหมูเถื่อนที่ว่านี้ ก่อนจะสร้างความฮือฮาล่าสุดวันวานด้วยการที่เจ้าตัวได้นำหมายศาลเข้าตรวจค้นบริษัทสยามแม็คโครในเครือ “เจ้าสัวซีพี.” เพื่อหาความเชื่อมโยงในการที่บริษัทสั่งเนื้อหมูและเครื่องใน (ตับหมู) จาก 1 ในบริษัทนำเข้าหมูเถื่อนที่ถูกดีเอสไอสั่งดำเนินคดีไปก่อนหน้า
เห็นกรณีดีเอสไอข้างต้นแล้ว ก็ให้นึกย้อนมาถึงผลงานสุดระอาของ กสทช. แห่งนี้ ที่ทำเอาผู้คนและแวดวงสื่อสารโทรคมนาคมไทยสุด “เอือมระอา” จนไม่รู้จะสรรหาคำใดมาเปรียบมา “อวย” ให้แก่บอร์ดองค์กรของรัฐที่เป็นอิสระ(แต่เปลือก)แห่งนี้ได้
ขนาดเรื่องง่ายๆ ในการกำกับดูแลซิมมือถือของผู้ให้บริการที่ กสทช. ออกกฎระเบียบให้ผู้ซื้อต้องยืนยันตัวตนมาตั้งแต่ปีมะโว้ พ.ศ.ไหนก็ไม่รู้ จนป่านนี้เรายังได้ยินว่า ยังมีผู้ที่ถือซิมการ์ดกันเป็น 100 เป็น 1,000 ซิม อยู่ในมือปรากฎให้เห็นเป็นหมื่นราย ซึ่งก็ไม่รู้ว่าคนเหล่านั้นขนเอาซิมไปทำอะไรกันถึงได้มากมายก่ายกองซะขนาดนี้
จึงไม่แปลกที่ขนาดนายกฯ เศรษฐาเองยังถูกแก๊งคอลเซ็นเตอร์ส่ง SMS และโทรสายตรงเข้าไปรบกวน จนทำเอานายกฯ ถึงกับนั่งไม่ติด ต้องสะกิด รมต.ดีอีเอส ขยับลงมาดูขบวนการเหล่านี้โดยเร่งด่วน เพราะคงเห็นแล้วว่าจะหวังพึ่ง กสทช.นั้นชาตินี้คงไม่ได้แน่
รึว่าคนโทรจะอยู่ใน กสทช.เอง(หว่า)
แก่งหิน เพิง