“สุรพงษ์” ประชุมคณะกรรมการบริหารการพัฒนาโครงการความร่วมมือด้านรถไฟระหว่างไทย - จีน ครั้งที่ 1/2566 คาดรถไฟความเร็วสูงกรุงเทพฯ - หนองคาย ระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพฯ - นครราชสีมา พร้อมเปิดใช้ภายในปี 71 ขณะที่ความจริงที่ผ่านมาโครงการก่อสร้างล่าช้าถึงก็ช่างไม่ถึงก็ช่าง!
นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการบริหารการพัฒนาโครงการความร่วมมือด้านรถไฟระหว่างไทย - จีน ครั้งที่ 1/2566 เพื่อติดตามความคืบหน้าการดำเนินโครงการรถไฟความเร็วสูง กรุงเทพฯ - หนองคาย ระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพฯ - นครราชสีมา พร้อมเร่งรัดการดำเนินการระยะที่ 2 ช่วงนครราชสีมา - หนองคาย โดยมี นางสาวณภัทรา กมลรักษา ผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม นายชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคม คณะผู้บริหาร หน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมการประชุม ในวันที่ 13 ธันวาคม 2566 ณ ห้องประชุมกระทรวงคมนาคม
นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ กล่าวว่า การประชุมคณะกรรมการบริหารการพัฒนาโครงการความร่วมมือด้านรถไฟระหว่างไทย - จีน เพื่อติดตามเร่งรัดการดำเนินการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูงเชื่อมโยงภูมิภาคและ พลักดันโครงการรถไฟความเร็วสูงกรุงเทพฯ - หนองคาย ระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพฯ - นครราชสีมา ให้ดำเนินการแล้วเสร็จตามแผนงานและสามารถเปิดใช้ได้ในระยะเวลาที่กำหนดไว้ พร้อมเร่งรัดการก่อสร้างในระยะที่ 2 ช่วงนครราชสีมา - หนองคาย ให้เกิดขึ้นโดยเร็วที่สุด โดยมีเป้าหมายเพื่อเสริมสร้างศักยภาพระบบราง พัฒนาโครงข่ายเส้นทางการคมนาคมของประเทศไทยเชื่อมโยงสู่เมืองหลักเป็นศูนย์กลางการขนส่งสินค้า และการเดินทางของภูมิภาคอย่างไร้รอยต่อ และรองรับการขยายตัวของจังหวัดต่าง ๆ รวมถึงปริมาณผู้ใช้บริการที่จะเพิ่มมากขึ้นในอนาคต
นายสุรพงษ์ กล่าวต่อว่า ที่ประชุมได้มีการหารือติดตามความคืบหน้าการดำเนินโครงการรถไฟความเร็วสูงและโครงการในสัญญาที่อยู่ระหว่างรอลงนาม รวมถึงเร่งรัดให้การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) พิจารณาแนวทางแก้ไขปัญหาข้อร้องเรียนของประชาชนที่ได้รับผลกระทบในสัญญาที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างด้วยความละเอียดรอบคอบ โดยมีความคืบหน้า ดังนี้
1. โครงการรถไฟความเร็วสูง ระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพฯ - นครราชสีมา ระยะทาง 253 กิโลเมตร งานโยธาจาก 14 สัญญา ก่อสร้างแล้วเสร็จ 2 สัญญา อยู่ระหว่างก่อสร้าง 10 สัญญา และอยู่ระหว่างจัดซื้อจัดจ้าง 2 สัญญา คาดว่าจะสามารถลงนามในสัญญาเพื่อเริ่มดำเนินการก่อสร้างงานโยธาได้ทั้งหมด 14 สัญญา ภายในปี 2567 ปัจจุบันความก้าวหน้าโดยรวมร้อยละ 28.61 คาดว่าจะแล้วเสร็จและเปิดให้บริการในปี 2571
2. โครงการรถไฟความเร็วสูง ระยะที่ 2 ช่วงนครราชสีมา - หนองคาย ระยะทาง 356 กิโลเมตร ปัจจุบันได้ออกแบบงานโยธาแล้วเสร็จ โดยที่ประชุมได้เร่งรัดให้ รฟท. นำส่งรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมให้สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และเสนอคณะกรรมการ รฟท. อนุมัติก่อนเสนอคณะรัฐมนตรีตามขั้นตอนต่อไป
สำหรับ การเตรียมการประชุมคณะกรรมการร่วมเพื่อความร่วมมือด้านการรถไฟระหว่างไทย - จีน ครั้งที่ 31 อยู่ระหว่างการพิจารณากำหนดวัน เวลา และสถานที่การประชุม โดยกระทรวงคมนาคมจะได้หารือร่วมกับฝ่ายจีนอย่างใกล้ชิด เพื่อหาข้อสรุปการจัดทำรายงานผลดำเนินงานความคืบหน้าของโครงการ และแนวทางการขับเคลื่อนการปฏิบัติงาน เพื่อให้โครงการรถไฟความเร็วสูงแล้วเสร็จโดยเร็ว สามารถรองรับการใช้งานของประชาชนได้อย่างสมบูรณ์และมีประสิทธิภาพต่อไป
อนึ่ง เป็นที่น่าสังเกตุว่า โครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน มีการก่อสร้างล่าช้าอย่างมาก ผ่านมาแล้ว 6 ปี มีความคืบหน้าเพียง 25% และที่ รมช.คมนาคม ขีดเส้นจะเปิดบริการในอีก 3 ปี หรือในปี 2571 นั้น จะเป็นไปได้อย่างไร ซึ่งต้องจับตากันดูต่อไป