“สะใจอิแม่นัก”
กับเรื่องที่ “หมอลี่ - นพ.ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา” ประธานอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคด้านกิจการโทรคมนาคม สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) และอดีต กสทช. ที่ตั้งโต๊ะแถลงผลสำรวจความคิดเห็นของผู้ใช้บริการมือถือที่มีต่อคุณภาพการให้บริการ
หลังจากที่คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ไฟเขียวดีลควบรวม “ทรู-ดีแทค” ไปตั้งแต่ 20 ตุลาคม 2565 หรือเมื่อกว่าขวบปีที่แล้ว ท่ามกลางกระแสคัดค้านจากทุกภาคส่วนที่หวั่นจะก่อให้เกิดการผูกขาด ทำให้ผู้บริโภคถูกมัดมือชกโขกค่าบริการจากการที่เหลือผู้ให้บริการในตลาดอยู่เพียง 2 เจ้าเท่านั้น
เพราะธรรมชาติของ “เสือยังไงก็ต้องกินเนื้อ” เมื่อมีโอกาสมีหรือจะอดใจได้
แต่ไม่ว่าจะทัดทานคัดค้านกันท่วมโซเชียลยังไง ก็ไม่อาจทัดทาน กสทช. เสียงข้างมาก (แบบข้างๆ คูๆ) ที่ถูลู่ถูกกังไฟเขียวดีลควบรวมครั้งประวัติศาสตร์นี้ไปจนได้ ด้วยข้ออ้าง กสทช. ไม่มีอำนาจพิจารณาว่าจะ “อนุมัติ-หรือไม่อนุมัติ” การควบรวมกิจการสื่อสารโทรคมนาคมที่ว่านี้ ทำได้เพียงการ “รับทราบ” รายงานการควบรวม และกำหนดมาตรการเฉพาะเพื่อบรรเทาผลกระทบที่จะมีต่อผู้บริโภคเท่านั้น
แม้มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและสำนักงาน กสทช. จะร้องเรียนถึงคุณภาพบริการภายหลังการควบรวมกิจการทรู-ดีแทค ที่มีการหลอมรวมกันเบ็ดเสร็จนับตั้งแต่ 1 มีนาคม 2566 เป็นต้นมา โดยเฉพาะประเด็นในเรื่องสัญญานอ่อน-อินเทอร์เน็ตอืด รวมทั้งการฮั้วปรับขึ้นค่าบริการของผู้ให้บริการในตลาดด้วยกันทำให้ผู้บริโภคไม่มีทางเลือก แต่ กสทช. ดูจะไม่อินังขังขอบอะไรกับข้อร้องเรียนเหล่านี้ แถมยังถามหาหลักฐานเชิงประจักษ์ด้วยอีก
วันวาน “หมอลี่” จึงได้ตั้งโต๊ะแถลงผลสำรวจผลกระทบของผู้บริโภคหลังการควบรวมธุรกิจโทรคมนาคม ที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และหน่วยงานประจำจังหวัดกรุงเทพมหานคร สภาองค์กรของผู้บริโภคร่วมกันจัดทำแบบสำรวจผ่าน GOOGLE FORM ระหว่างวันที่ 9-23 พ.ย. 2566 ที่ผ่านมา ซึ่งพบ 5 ปัญหาใหญ่ที่สุดถึงร้อยละ 81 คือ สัญญาณอินเทอร์เน็ตช้า , สัญญาณหลุดบ่อย , ถูกบังคับให้ใช้โปรโมชันในราคาที่แพงขึ้น , ค่ายมือถือมีการฮั้วค่าแพ็กเกจจนทำให้ผู้บริโภคไม่มีทางเลือก
ในทันทีที่ “หมอลี่” และมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคออกโรงสับคุณภาพบริการตลาดโทรศัพท์เคลื่อนที่และอินเตอร์เน็ตภายหลังการควบรวมกิจการครั้งประวัติศาสตร์ ที่ทำให้เหลือผู้เล่นในตลาดอยู่เพียง 2 รายจากที่เคยมี 3 ราย ก่อนหน้า 4 กสทช. เสียงข้างมาก ที่ประกอบด้วย รศ.ศุภัช ศุภชลาศัย, พล.อ.ท.ธนพันธุ์ หร่ายเจริญ , ศ.ดร.พิรงรอง รามสูต และ รศ.ดร.สมภพ ภูริวิกรัยพงศ์ ได้มีบันทึกข้อความด่วนที่สุด ที่ สทช 1003/ 353 ไปยังประธาน กสทช. เพื่อขอให้สั่งการให้สำนักงาน กสทช. รวบรวมข้อเท็จจริงเกี่ยวกับสถานการณ์และผลกระทบต่อผู้บริโภคอันเนื่องมาจากคุณภาพสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่เข้าสู่การพิจารณาในที่ประชุม กสทช. ครั้งที่ 23/2566 วันพุธที่ 20 ธันวาคมศกนี้
ในบันทึกดังกล่าวระบุว่า ข้อวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับคุณภาพการให้บริการในกิจการโทรคมนาคม โดยเฉพาะปัญหาสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่และอินเทอร์เน็ตมีคุณภาพต่ำ อัตราค่าบริการสูงขึ้น การเปลี่ยนแปลงแพคเกจการให้บริการโดยอัตโนมัติ ล้วนเป็นกรณีที่เกี่ยวข้องกับมติการประชุม กสทช. นัดพิเศษ ครั้งที่ 5/2565 เมื่อ 20 ต.ค. 2565 ที่ไฟเขียว “รับทราบ” การรวมธุรกิจระหว่าง “ทรูและดีแทค” สวนกระแสสังคม
เช่นเดียวกับ ศิริกัญญา ตันสกุล หัวหน้าทีมเศรษฐกิจพรรคก้าวไกล ที่ออกมาตั้งข้อสังเกตถึงเหตุที่ 4 กสทช. ต้องทำบันทึกส่งให้ประธานบอร์ด กสทช. ผ่านสื่อมวลชนเพื่อขอให้มอบหมายและสั่งการให้สำนักงาน กสทช. รวบรวมข้อเท็จจริงเกี่ยวกับสถานการณ์และผลกระทบต่อผู้บริโภคอันเนื่องมาจากคุณภาพสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่เข้าสู่การพิจารณาในบอร์ด กสทช.ในครั้งนี้
โดยระบุว่า สะท้อนให้เห็นว่าสำนักงาน กสทช. เกียร์ว่างในการบังคับใช้มาตรการเฉพาะต่างๆ หลายมาตรการ ที่ต้องทำเสร็จตั้งแต่ก่อนควบรวมก็ยังไม่ได้ทำ เช่น ให้ทรู-ดีแทค จัดให้มีหน่วยธุรกิจเพื่อให้บริการโครงข่ายแก่ผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่แบบโครงข่ายเสมือน หรือ MVNO (Mobile Virtual Network Operator) หรือมาตรการที่ต้องทำหลังควบรวมภายใน 30 วัน เช่นจ้างที่ปรึกษามาศึกษาโครงสร้างต้นทุนสำหรับคำนวณราคาตามต้นทุนเฉลี่ย (Average Cost Pricing) ก็ยังไม่ได้จ้าง หรือการคุมค่าบริการให้ถูกลงไม่ต่ำกว่า 12% ถึงแม้สำนักงานจะแจ้งว่าทรู-ดีแทค ได้ลดค่าบริการลงแล้ว โดยค่าโทรลด 15% ส่วนค่าอินเทอร์เน็ตลด 80% ที่สร้างความฉงนสงสัยแก่ผู้บริโภคว่าไปลดตอนไหน ทำไมประชาชนไม่รับรู้ เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นคือแพ็กเกจราคาถูกหายไป และมีการปรับราคาจนเท่ากันหมดทุกค่าย ถ้าสำนักงาน กสทช. จริงจัง คงต้องดำเนินการสอบหาข้อเท็จจริงไปแล้ว ไม่ใช่ต้องรอให้ทรู-ดีแทคออกมาชี้แจง
“สรุปง่ายๆ ก็คือ หลังจากที่บอร์ดมีมติรับทราบการควบรวม และเห็นชอบมาตรการคุ้มครองเยียวยาผู้บริโภคมาแล้วเป็นปี แต่เรามีสำนักงาน กสทช. ที่ใส่เกียร์ว่าง ไม่ยอมบังคับใช้มาตรการ มีประธานที่รวบอำนาจไว้กับตัวเอง และบล็อกวาระที่จะทำให้เกิดสุญญากาศ บอร์ดไร้อำนาจในการตรวจสอบ ปล่อยให้ผู้บริโภคต้องรับกรรม”
แม้ฝ่ายบริหารบริษัททรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) จะตบเท้าเข้าชี้แจงต่อสำนักงาน กสทช. ไปวันวาน โดยยืนยัน นั่งยันว่า คุณภาพสัญญาณภายหลังการควบรวมกิจการไม่ได้แย่ลงแต่อย่างใด ในทางกลับกันสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่ทั้ง 5G และ 4G ของลูกค้าทรูและดีแทคดีขึ้นทันทีจากการโรมมิ่งสัญญาณคลื่น 2600 MHz และ 700 MHz
ส่วนในเรื่องเสาสัญญาณทางทรูก็ยืนยันว่า บริษัทไม่มีการลดอุปกรณ์ส่งสัญญาณ (Cell Site) ลงแต่อย่างใด ตรงกันข้ามยังดำเนินการติดตั้ง cell sites เพิ่มขึ้นมากกว่าเดิมอีก 5,000 สถานีฐาน เพื่อขยายสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่ และทำให้ 5G ครอบคลุมพื้นที่และจำนวนประชากรได้ทั่วประเทศยิ่งขึ้นด้วย รวทั้งยังตอบโต้ในประเด็นการบังคับให้ต้องเปลี่ยนเป็นแพ็กเกจราคาสูงขึ้น โดยยืนยันเป็นการนำเสนอแพ็คเกจที่เหมาะสมให้ลูกค้าแต่ละรายที่สามารถจะเลือกได้ หรือหากยังพอใจกับแพ็คเกจเดิมก็สามารถเลือกได้
แต่คำชี้แจงของทรูต่อกรณีดังกล่าว ก็ยากจะ “หักล้าง” ข้อมูลที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและเครือข่ายนำเสนอต่อสำนักงาน กสทช. และตีฆ้องร้องป่าวอยู่ในขณะนี้ เพราะหากข้อมูลเหล่านี้คือเสียงสะท้อนที่ผู้บริโภคสะท้อนขึ้นไปยังองค์กรกำกับดูแลโดยตรง หากข้อมูลที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคนำเสนอเหล่านี้ไม่ใช้ข้อเท็จจริง ป่านนี้กลุ่มทรูคงใช้สิทธิ์ทางกฎหมายดำเนินการฟ้อง “หมอลี่” และมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กันกราวรูดไปแล้ว โทษฐานนำข้อมูลอันเป็นเท็จเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ไปแล้ว
ยิ่งกับจุดยืนของ “หมอลี่” และมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ที่ยืนยันว่า ข้อมูลและข้อเสนอแนะที่นำเสนอออกมาครั้งนี้ ก็เพื่อให้ กสทช. ได้ตระหนักถึงผลกระทบที่เกิดขึ้น เพราะปัญหาที่เกิดขึ้นได้สะท้อนความเป็นจริงถึงสภาพตลาดที่ก่อให้เกิดการผูกขาด ผู้ใช้บริการไม่ได้รับความเป็นธรรมจากสินค้าและบริการ อีกทั้ง กสทช. ต้องมองโลกในความเป็นจริงให้มากกว่านี้ ศึกษาผลกระทบการควบรวมเครือข่ายมือถือให้รอบคอบ ต้องนึกถึงประโยชน์เพื่อประชาชนเป็นที่ตั้ง “อย่าเป็นแค่เสือกระดาษ”
จุดนี้แหล่ะที่บอกว่า “ถูกใจอิแม่นัก”
เพราะปัญหาทั้งหลายทั้งปวงเหล่านี้ ล้วนแล้วแต่เป็นสิ่งที่นักวิชาการ และอนุกรรมการศึกษาผลกระทบดีลควบรวมฯชุดต่างๆ ที่ กสทช.เองนั่นแหล่ะ แต่งตั้งขึ้นมาศึกษาเพื่อประกอบการพิจารณาได้ประเมินผลกระทบเอาไว้ตั้งแต่ต้นแล้ว แต่ กสทช.เองกลับทำเป็นหูทวนลม และเมินข้อมูลเหล่านี้มาตั้งแต่ต้น
เหตุนี้แวดวงสื่อสารโทรคมนาคม จึงตั้งเดิมพันกันไว้ล่วงหน้า ความคาดหวังที่ 4 กสทช. เสียงข้างมากจะกดดันให้ประธานบอร์ด กสทช. สั่งการให้สำนักงาน กสทช. รวบรวมเอา “ชิ้นโบแดง” ของ กสทช.ข้างต้นออกมาประจานตัวเองเช่นนี้ คงเป็นเรื่องยากที่จะเป็นไปได้ ขืน กสทช. ออกมายอมรับว่า ผลกระทบที่เกิดขึ้นมาจากผลงานชิ้นโบแดงในครั้งนั้น ก็มีหวังได้เรียกแขกให้งานเข้า
หากจะโทษความฟอนเฟะทั้งหลายทั้งปวงที่เกิดขึ้นใน กสทช. ก็คงต้องโทษ “วุฒิสภา” ที่สุมหัวกันโหวตเลือก กรรมการ กสทช. ชุดนี้เข้ามานั่นแหล่ะ จะอ้างว่า กสทช.แต่ละคนที่เลือกเฟ้นมานั้นมีวุฒิภาวะ มีตำแหน่งทางวิชาการระดับ “ด๊อกเตอร์” ระดับศาสตราจารย์ที่หาใครเปรียบในปฐพี
แต่ผลงานที่ผ่านมาเป็นอย่างไร เป็นไปตามความคาดหวังที่ทุกฝ่ายเพรียกหาหรือไม่ ท่านสมาชิกวุฒิสภาผู้ทำคลอดออกมาคงประจักษ์กันแล้ว จริงไม่จริง!!!
แก่งหิน เพิง