ปม “นายกฯ เศรษฐา” เกิดอาการ “หัวร้อน” กับตัวเลขการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำปี 2567 ที่คณะกรรมการไตรภาคีเสนอมาที่ระดับ 2-16 บาทนั้น ที่สุด! ตัวเลขใหม่จะเกิดขึ้นหรือไม่? เวลาที่เหลืออีกไม่กี่วันของปีนี้ จะเป็นคำตอบสำคัญ แต่ที่หลายฝ่ายยังกังวลใจ ก็คือ คนไทย...แรงงานไทย จะได้ประโยชน์อะไรกับ “ตัวเลขใหม่” ที่ว่านี้ ในเมื่อกลุ่มคนที่ได้ประโยชน์ส่วนใหญ่จากท่าทีแข็งกร้าวของรัฐบาลไทย กลายเป็น...แรงงานต่างด้าว!
…
ช่างท้าทาย “อำนาจรัฐ” และ “อำนาจของผู้นำประเทศ” ยิ่งนัก!
ที่จริงหลายฝ่ายต่างรู้ดี โดยเฉพาะคนเป็น “นายกรัฐมนตรี” ต่อกรณีการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำนั้น จะปรับขึ้นเท่าไหร่? อย่างไร? นั้น ถือเป็นอำนาจเฉพาะของ “คณะกรรมการไตรภาคี” หรือ “คณะกรรมการค่าจ้าง ชุดที่ 22” หาใช่อำนาจของรัฐบาลแต่อย่างใด?
“คณะกรรมการไตรภาคี” ประกอบด้วย หนึ่ง...ตัวแทนฝ่ายนายจ้าง หนึ่ง...ตัวแทนฝ่ายลูกจ้าง และอีกหนึ่ง...ตัวแทนภาครัฐ ซึ่งก็คือ คนจากกระทรวงแรงงาน มีหน้าที่ร่วมกันกำหนดอัตราค่าจ้างแรงงานต่ำให้กับแรงงานทั่วประเทศ
โฟกัสเฉพาะประเด็น “ค่าแรงขั้นต่ำ” ที่ส่วนใหญ่...มักจะเป็น กลุ่มผู้ใช้แรงงาน “มือใหม่” ไร้ประสบการณ์...ไร้ฝีมือ ฉะนั้น การกำหนดอัตราค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำ จึงต้อง “ต่ำ” ไปด้วย ตามชื่อของมัน...
พูดง่ายๆ คือ คนกลุ่มนี้...ยังไม่เก่งพอจะเป็น “นายช่าง” ที่บางคน...กินอัตราค่าจ้างรายวันเกิน 500-700 บาท และอาจถึงขั้นต้องจ่ายกัน “วันละพัน” สำหรับ “นายช่าง” มีฝีมือและมากประสบการณ์
อาการฉุนเฉียว! ของ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เมื่อทราบถึงตัวเลขการปรับขึ้นของค่าแรงขั้นต่ำทั่วประเทศ ที่ผ่านมติของคณะกรรมการไตรภาคี เมื่อต้นเดือนธันวาคมที่ผ่านมา อยู่ในระดับ 2-16 บาท ขึ้นกับความสำคัญในเชิงเศรษฐกิจของแต่ละจังหวัด
สะท้อนชัด! ถึงความไม่พอใจของคนเป็นนายกรัฐมนตรี ถึงขั้นสบถออกมาผ่านโลกโซเชียล…
“...ค่าแรงต้องแฟร์กว่านี้” ต้องขอหารือร่วมกันกับคณะกรรมการไตรภาคีถึงความเหมาะสมให้กับภาคแรงงาน เราต้องดูภาพรวมเศรษฐกิจทั้งหมด
ผมไม่ได้จะมาขึ้นค่าใช้จ่ายให้ผู้ประกอบการหรือนายจ้างอย่างเดียว แต่ยังมีมาตรการเพิ่มรายได้ให้จากการเปิดตลาดที่มากขึ้น
ช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ผู้ประกอบการหรือนายจ้างก็ได้ประโยชน์กันไปบ้างแล้ว ก็ขอความเห็นใจให้กับกำลังสำคัญอย่างแรงงานในภาคการผลิตด้วย เพราะสุดท้ายหากภาคการผลิตมีกำลังซื้อ เศรษฐกิจภาพรวมก็จะดีขึ้นตามไปด้วยครับ”
ข้างต้นคือ สิ่งที่นายกรัฐมนตรีได้โพสต์ข้อความผ่าน X เมื่อวันที่ 9 ธันวาคมที่ผ่านมา หลังจากที่หนึ่งวันก่อนหน้านั้น คณะกรรมการไตรภาคี ได้ประชุมและสรุปตัวเลขการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำออกไปแล้ว
ถือว่า...แรงไม่แพ้กัน!
สารจากคณะกรรมการไตรภาคี ถือว่า “ไม่ถูกใจ” คนเป็น “หัวหน้ารัฐบาล” ดังนั้น สังคมไทยจึงได้เห็นอาการ “ชักเข้าชักออก” ของ นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ก่อนการประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม ก่อนหน้านี้
นั่นเพราะ...มีการถอนเรื่อง “การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ” ออกจากวาระการประชุมคณะรัฐมนตรีออกไปก่อนหน้าการประชุมฯ เพียงไม่กี่นาที!!!
ปมอันเป็นประเด็นของท่าทีดังกล่าว ก็เป็นผลมาจากกรณี ตัวเลขค่าแรงขั้นต่ำที่คณะกรรมการไตรภาคี เสนอมา...จะต้องนำกลับไปพิจารณาสูตรการคิดคำนวณกันใหม่
เบื้องต้นที่กระทรวงแรงงาน ทำงานร่วมกับคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้มีการหาและให้ “คำจำกัดความใหม่” เกี่ยวกับข้อมูลตัวเลขพื้นฐานทางด้านเศรษฐกิจ เพื่อใช้ฐานในการคำนวณหาค่าแรงขั้นต่ำที่เหมาะสมกับสภาพเศรษฐกิจและสังคมในปัจจุบัน
อาจต้องตัดทิ้ง “จีดีพี” หรืออัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจในปี 2563 และ 2564 ออกไป เนื่องจากจีดีพีมีอัตราการเติบโตที่ “ติดลบ” อันเป็นผลพวงจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้ตัวเลขพื้นฐานเพื่อการกำหนดค่าแรงขั้นต่ำถูกฉุดลงมา...ชนิดต่ำจนน่าใจหาย
หากทำได้จริง...ตัวเลขอัตราค่าจ้าง “ค่าแรงขั้นต่ำ” จะทะยานได้มากกว่าการปรับขึ้นเพียงวันละ 2-16 บาทอย่างแน่นอน
นายเศรษฐา เคยให้สัมภาษณ์ถึงปมการถอนเรื่องออกจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ทำนอง... รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน นำมาเสนอในที่ประชุม ครม. และสรุปเองว่า ต้องกลับไปตั้งข้อสังเกต และพิจารณาเรื่องสูตรการคิดค่าแรง “ท่านก็เอามาเสนอแล้วดึงกลับไปเอง”
เขาเชื่อว่า...ก่อนสิ้นปีนี้ ตัวเลขค่าแรงขั้นต่ำของปี 2567 “บนพื้นฐานคำจำกัดความใหม่” จะถูกนำเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี อย่างแน่นอน
ในมุมของรัฐบาล... การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ แม้จะเป็นภาระด้านต้นทุนของฝั่งนายจ้าง แต่รัฐบาลก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ และเป็น นายเศรษฐา ที่ออกมาบอกเองว่า... รัฐบาลได้ทำอะไรหลายๆ อย่าง เพื่อสร้างโอกาสที่ดีกว่าให้กับฝ่ายนายจ้าง เติบโตไปพร้อมกับภาคเศรษฐกิจและอุตสาหกรรม
ก่อนหน้าที่รัฐบาลจะเดินสายในต่างประเทศ เชิญชวนให้นักลงทุนต่างชาติ โดยเฉพะกลุ่มทุนขนาดใหญ่ ได้เข้ามาลงมาลงทุนในประเทศไทย ซึ่งก็มีเสียงตอบรับด้วยดี ทั้งจาก...สหรัฐอเมริกา ยุโรป จีน ญี่ปุ่น เกาหลี และอีกหลายๆ ชาติ รวมถึงฝั่งอาหรับ นำโดย ซาอุดิอาระเบีย
รัฐบาลก็ได้ลงทุนในโครงการโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญไปมากแล้ว ไม่ว่าจะเป็นโครงการก่อสร้างและขยายสนามบิน ท่าเรือน้ำลึก ฯลฯ รวมถึงการออกมาตรการส่งเสริมด้านภาษี การสร้างระบบสาธารณสุขที่ดี ปรับปรุงสถานศึกษารองรับภาคแรงงาน โดยเฉพาะการปรับลดค่าน้ำ ค่าไฟให้กับผู้ประกอบการ
เซฟเงินแต่ละปี...ได้ไม่น้อยกว่าเงินที่จะปรับขึ้นเป็นค่าแรงขั้นต่ำ!
ที่ เจ็บจี๊ด!!! คงไม่พ้นคำถามจากคณะกรรมการไตรภาคี โดยเฉพาะจากฝั่งตัวแทนฝ่ายลูกจ้าง ที่ถามตรงๆ เอากับรัฐบาล ประมาณว่า... รัฐบาลจะเอาอำนาจในมาตราไหนของกฎหมายแรงงาน (พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2551) มาบีบให้คณะกรรมการไตรภาคี ต้องปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำอย่างที่รัฐบาลต้องการ
สังคมไทยอาจมองพฤติการณ์ของตัวแทนฝ่ายลูกจ้างสมัยนี้ ที่มักยกอ้างข้อกฎหมาย เพียงเพื่อจะเหยียบย่ำฝ่ายลูกจ้าง ที่ตัวเองเป็นตัวแทนฯ และต้อง “ผูกไทด์ใส่สูท” มาร่วมประชุมในวงคณะกรรมการไตรภาคี
กดค่าแรงขั้นต่ำให้ต่ำมากที่สุด! เพื่อที่ “นายจ้าง” จะได้รับประโยชน์สูงสุด!
แต่หากมองอีกมุม? ก็มีประเด็นที่น่าสนใจ กล่าวคือ ตัวเลขอัตราค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำที่กำลังพูดกันอยู่นี้ ไม่เพียงเฉพาะใช้กับ กลุ่มผู้ใช้แรงงาน “มือใหม่” ไร้ประสบการณ์...ไร้ฝีมือ
หากแรงงานส่วนใหญ่ในประเทศไทย กลับไม่ใช่คนไทยที่จะได้ประโยชน์จากค่าแรงขั้นต่ำมากนัก นั่นเพราะความเป็นจริงในทุกวันนี้...แรงงานที่อยู่ในข่ายจะได้รับประโชน์จากมาตรการดังกล่าว ส่วนใหญ่เป็นแรงงานต่างด้าว ทั้งที่ถูกและไม่ถูกกฎหมายแทบทั้งสิ้น
แรงงานจากประเทศเพื่อนบ้าน...เมียนมา สปป.ลาว กัมพูชา เวียดนาม ฟิลิปปินส์ และบางกลุ่มจากนอกประเทศอาเซียน มัดรวมๆ กันที่ทำงานอยู่ในประเทศไทยวันนี้...มีมากกว่า 6-7 ล้านคน
เม็ดเงินทุกๆ บาทที่ได้จากการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำนั้น มีไม่น้อยที่จะตกอยู่กับแรงงานต่างด้าวกลุ่มนี้ จึงไม่น่าแปลกใจที่เหตุใด ประเทศไทยจึงกลายเป็น “สวรรค์” สำหรับแรงงานต่างด้าว!
ขณะที่คนไทยต่างหันไปประกอบอาชีพอิสระ... ไม่ต้องเป็น “ขี้ข้า” ให้กับนายจ้างคนใด เราจึงได้เห็นคนไทยยอมจะเป็นลูกจ้าง, พนักงานราชการ, เป็นพี่วิน, ขายสินค้าออนไลน์, เปิดร้านขายของเล็กๆ น้อยๆ ฯลฯ
พวกเขาจึงไม่ได้ประโยชน์อันใดจากมาตรการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ! ที่ร้ายกว่านั้น...ทุกครั้งของข่าวการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ราคาสินค้าและบริการต่างๆ ก็ทยอยปรับขึ้นไปดักรอหน้าไปก่อนแล้ว
สร้างปัญหาทางด้านค่าครองชีพให้กับคนไทยด้วยซ้ำไป
ถึงนาทีนี้ ไม่ว่าความพยายามของ “รัฐบาลเศรษฐา” ที่จะสัมฤทธิ์ผลต่อการกดดันให้มีการพิจารณา “ปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ” ทำได้หรือไม่? สัปดาห์หน้า...ทุกอย่างจะกระจ่างชัด!
แต่ภาพสะท้อนที่เกิดขึ้นในโลกความเป็นจริงนั้น การจะยกระดับรายได้และคุณภาพชีวิตของผู้ใช้แรงงานในทุกๆ มิตินั้น มีอะไรให้รัฐบาลต้องทำ...ได้มากกว่าการกดดัน คณะกรรมการไตรภาคี ให้ต้องปรับขึ้นตัวเลขค่าแรงขั้นต่ำอย่างที่ต้องการ...
บัตรประจำตัวประชาชนไทย หรือ “บัตรประชาชน” ที่มีเลขหลัก 13 ตัว ซึ่งทุกวันนี้...ล้วนเป็น “สมาร์ทการ์ด” เก็บข้อมูลสำคัญของคนไทย ทั้งกลุ่มใหญ่ที่มีอายุ 15 ปีขึ้นไป และกลุ่มเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 14 ปีลงมา รวมๆ กันเกือบ 70 ล้านใบ (คน) ทั่วประเทศนั้น
อาจเป็นอีกช่องทางสำคัญ ที่จะแยกออกจากมาตรการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ! ได้อย่างมีนัยสำคัญ นั่นเพราะไม่ว่า...รัฐบาลจะผลักดันมาตรการใดๆ ออกมา เพื่อที่จะยกระดับรายได้และคุณภาพชีวิตของผู้ใช้แรงงานแล้ว
สิ่งนั้น...จะตกอยู่กับคนไทย...แรงงานไทย มากกว่าจะเป็น...แรงงานต่างด้าว เหมือนเช่นในทุกวันนี้.