วงแตกอีกระลอก!
กับการประชุมคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เมื่อ 20 ธันวาคม ที่ผ่านมา ซึ่งได้มีการพิจารณาเรื่องเร่งด่วน กรณีปัญหาร้องเรียนคุณภาพสัญญาณมือถือ และแพ็คเกจค่าบริการภายหลังการควบรวมกิจการ “ทรู-ดีแทค” อย่างเบ็ดเสร็จ นับตั้งแต่ 1 มีนาคม 2566 เป็นต้นมา
หลังจากประธานอนุกรรมการด้านคุ้มครองผู้บริโภค และมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ได้จุดพลุเปิดฮอตไลน์สายด่วนให้ผู้บริโภคร้องเรียนปัญหาที่พบ ระหว่าง 9-23 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา ซึ่งกว่าร้อยละ 81 พบปัญหา “คุณภาพสัญญาณมือถืออ่อน-ดับ เน็ตอืด และแพ็คเกจค่าบริการที่ไม่ตรงปก” ประชาชนผู้บริโภคถูกโขกสับค่าบริการกันเป็นว่าเล่น
แต่รายงานที่สำนักงาน กสทช. ซึ่งได้นำรายงานผลการตรวจสอบของคณะอนุกรรมการติดตามและประเมินผลของสำนักงาน กสทช. ต่อกรณีควบรวมทรู-ดีแทคได้รับการยืนยันว่า บริษัทได้ทำตามเงื่อนไขควบรวมด้วยการลดเพดานอัตราค่าบริการเฉลี่ย 12 % โดยใช้วิธีการเฉลี่ยราคาด้วยการถ่วงน้ำหนักตามจำนวนผู้ใช้บริการโดยสามารถดำเนินการได้ตามเงื่อนไขก่อนการควบรวม และไม่พบปัญหาอย่างที่มีการร้องเรียนแม้แต่น้อย
เช่นเดียวกับเรื่องของสัญญาณอินเทอร์เน็ตที่อืดและล่มบ่อย รวมทั้งการปรับลดแพ็คเกจโปรโมชั่นยัดเยียดเอาแพ็คเกจใหม่ที่มัดมือชกเพิ่มค่าบริการนั้นจากการตรวจสอบของ กสทช. ก็ยืนยันว่า บริษัทไม่ได้มีการลดจุดรับส่งสัญญาณหรือเซลล์ ไซต์ แต่อย่างใด ทุกอย่างเป็นไปตามมาตรฐานตามที่กำหนด
เรียกได้ว่า เป็นการออกโรงปกป้องบริษัทสื่อสารชนิดที่เรียกว่า แทบจะเป็น “โทรโข่ง” หรือ PR Agency ของบริษัททรูกันไปเลย ประเภทที่ว่าคุณภาพสัญญาณอ่อนด้อยหรือบอดตรงไหนเอาปากกามาวงเลยก็ว่าได้
แต่เจอ กสทช. "ย้อนศร" ในที่ประชุมคำเดียว ข้อมูลต่าง ๆ เหล่านี้มีการตรวจสอบ ตรวจทานและรับรองผลจากใครหรือ ถึงได้ยืนยัน นั่งยันว่า ทุกอย่างที่เอกชนรายงานมานั้นถูกต้องตามเงื่อนไข จึงทำให้ “วงแตก” และท้ายที่สุดประธาน กสทช. ต้องสั่งการให้สำนักงานฯ กลับไปดำเนินการว่าจ้างคนกลางที่ปรึกษาเข้ามาตรวจสอบ ตรวจทานรายงานเหล่านี้
ก่อนหน้านี้ “ไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล” รักษาการเลขาธิการ กสทช. ก็นำทีมผู้บริหารสำนักงานแถลงปมปัญหาร้องเรียนที่ว่าพร้อมกับยืนยัน นั่งยันว่า สำนักงานฯ ไม่พบประเด็นข้อร้องเรียนเหล่านี้แม้แต่น้อย ไม่ว่าจะเรื่องของคุณภาพสัญญาณ แพ็คเกจค่าบริการที่ไม่ตรงปก รวมทั้งกรษณีที่อ้างว่ามีการดอดปรับแพ็คเกจขึ้นค่าบริการ โดยยืนยันว่า แพ็คเกจราคาถูกของบริษัททุกอย่างยังคงมีอยู่ เพียงแต่ผู้ใช้บริการจะต้อง ”ร้องขอ” เองเท่านั้น
ทำเอามูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เครือข่ายภาคประชาชนพากันตั้งข้อกังขา เหตุใดสำนักงาน กสทช. จึงร้อนรนรีบแถลงออกโรงปกป้องบริษัทสื่อสารรายนี้ ทั้งที่ กสทช. เสียงข้างมากร้องขอให้ประธาน กสทช. สั่งการให้สำนักงาน กสทช. ดำเนินการรวบรวมข้อมูลสถานการณ์ที่กำลังเป็นปมปัญหาเหล่านี้เพื่อนำเสนอต่อที่ประชุม กสทช.เพื่อพิจารณาให้ความเห็น
ก็คงจะด้วยเหตุนี้ วันวาน น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล หัวหน้าทีมเศรษฐกิจพรรคก้าวไกล และมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ก็ออกโรงเชิญชวนให้ผู้บริโภคที่พบปัญหาในเรื่องคุณภาพสัญญาณและบริการ รวมทั้งแพ็คเกจค่าบริการที่ไม่ตรงปกได้ร้องเรียนปัญหาโดยตรงไปยังสายด่วน กสทช. 1200 หลังจากที่ก่อนหน้านี้ รักษาการเลขาธิการ กสทช. ยืนยันว่า จากการติดตามตรวจสอบคุณภาพสัญญาณและการให้บริการยังคงเป็นไปตามมาตรฐาน และที่ผ่านมา มีผู้บริโภคร้องเรียนปัญหาคุณภาพสัญญาณ และแพ็คเกจค่าบริการเพียง 17 รายเท่านั้น
เช่นเดียวกับที่ นพ.ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา ประธานอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ที่ออกมาตั้งข้อสังเกตสิ่งที่สำนักงาน กสทช. แถลงข้างต้นว่าในมติของคณะอนุกรรมการฯ ติดตามผลการควบรวมทรู – ดีแทค ยังไม่เคยมีการรับรองว่า บริษัทฯ ได้ลดราคาค่าบริการลงร้อยละ 12 ตามที่สำนักงาน กสทช. แถลงข้างต้น
ดังนั้น การแถลงของสำนักงาน กสทช. อาจไม่ตรงกับมติของคณะอนุกรรมการฯ ที่ไม่สามารถตรวจสอบได้ว่า จำนวนผู้ใช้บริการแต่ละโปรโมชันถูกต้องหรือไม่ และมีโปรโมชันที่ไม่เปิดเผยเป็นการทั่วไปตามประกาศ กสทช. ทำให้ไม่สามารถตรวจสอบข้อมูลได้จริง จึงทำให้คณะอนุกรรมการฯ ไม่สามารถตรวจสอบจากฐานข้อมูลของบริษัทฯ ได้โดยตรงว่าเป็นไปตามที่บริษัทฯ แจ้งหรือไม่
นอกจากนี้ ต้องมีการกำหนดอัตราค่าบริการตามต้นทุนเฉลี่ย (Average Cost Pricing) ในกรณีค่าบริการแยกส่วน (เช่น บริการเสียง ส่งข้อความ ส่งข้อมูล) และใช้กับกรณีค่าบริการส่วนเกินโปรโมชันที่เกิดจริง แต่บริษัทฯ ยังคงคิดราคาส่วนเกินโปรโมชันในราคาที่สูงกว่าต้นทุนเฉลี่ย ซึ่งน่าจะไม่เป็นไปตามมาตรการที่กำหนดไว้
อีกประเด็นหนึ่ง แม้จะปรากฎรายการส่งเสริมการขายแบบเสนอเฉพาะเจาะจงเป็นรายบุคคลตามพฤติกรรมการใช้งาน เพื่อนำมาแสดงว่า ได้มีการลดราคาร้อยละ 12 แล้ว แต่เมื่อไม่สามารถตรวจสอบได้ว่า รายการนี้มีประมาณเท่าไร ก็บอกไม่ได้ว่ามีผลต่อการลดราคาจริงหรือไม่ ซึ่งสำนักงาน กสทช. ควรพิจารณาแนวทางการตรวจสอบด้วยเช่นกัน
และทำให้สังคมพากันตั้งข้อกังขากันต่อไปแล้วสิ่งที่ กสทช. เสียงข้างมากร้องขอให้ประธาน กสทช. ได้นำเรื่องร้องเรียนเหล่านี้ รวมทั้งข้อมูลของอนุกรรมการติดตามการควบรวมกิจการฯ เพื่อนำเสนอต่อที่ประชุมบอร์ด กสทช. พิจารณาจะไปมีความหมายอะไร ในเมื่อสำนักงาน กสทช. ทำหน้าที่เป็นโทรโข่ง หรือเครื่องฟอกขาว ไปให้เองเช่นนี้
ทำให้อดคิดต่อไปไม่ได้ว่านี่หากรัฐบาล “นายกฯ เศรษฐา ทวีสิน” และ กทม. ยังคงคลำทางหามาตรการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM 2.5 ไม่ได้ ก็น่าจะลองเรียกใช้บริการสำนักงาน กสทช. ของ “ท่านเลขาฯ ไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล” แห่งนี้ ดูรับรองว่าอาจได้ผลสรุป “ไม่พบปัญหาข้อร้องเรียน(ท่วมองค์กร)” ก็เป็นได้
เพราะสำนักงาน กสทช.ยุคนี้ เขาทำตัวเป็นเครื่องฟอกขาวเบ็ดเสร็จไปแล้วหรือไม่?!