นายลวรณ แสงสนิท ปลัดกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ตามที่นายกรัฐมนตรีให้ความสำคัญกับภาคการท่องเที่ยวในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจวันนี้ (2 มกราคม2567) คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบมาตรการส่งเสริมประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวและการใช้จ่ายตามที่กระทรวงการคลังเสนอ เพื่อเป็นการเสริมสร้างบรรยากาศและภาพลักษณ์การเป็นจุดหมายปลายทางของการท่องเที่ยว (Tourist Destination) หรือเป็นศูนย์กลาง(Hub) ด้านร้านอาหารและภัตตาคารที่มีคุณภาพ หลากหลาย และมีจุดแข็งด้านราคาในระดับภูมิภาค นำไปสู่การเพิ่มการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติและชาวไทยทุกระดับ และเพิ่มสัดส่วนนักท่องเที่ยวคุณภาพสูงได้อย่างยั่งยืนโดยประกอบด้วย 2 มาตรการ ดังต่อไปนี้
1. การปรับปรุงโครงสร้างและอัตราภาษีสรรพสามิตและภาษีประเภทอื่น รวมทั้งปรับปรุงกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้อง เพื่อสนับสนุนภาคการท่องเที่ยว
การปรับปรุงอัตราภาษีสรรพสามิตสินค้าสุราและสถานบริการ เพื่อเป็นการสนับสนุนมาตรการส่งเสริมประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยว และยกระดับอุตสาหกรรมสุราพื้นบ้านสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าเกษตรไทย จึงได้เสนอให้มีการปรับปรุงอัตราภาษีสินค้าสุราแช่พื้นบ้าน ไวน์ ไวน์ผลไม้ และสุราแช่ชนิดอื่นๆ เช่น ปรับปรุงอัตราภาษีสุราแช่พื้นบ้าน (อุ กระแช่ สาโท สุราแช่พื้นบ้านอื่น และสุราแช่ที่ใช้วัตถุดิบเป็นข้าวที่มีแรงแอลกอฮอล์ไม่เกิน 7 ดีกรี) กำหนดอัตราภาษีตามมูลค่าร้อยละ 0 และอัตราภาษีตามปริมาณ 150 บาท ต่อปริมาณหนึ่งลิตรแห่งแอลกอฮอล์บริสุทธิ์ (ลดลงจากอัตราภาษีตามมูลค่าร้อยละ 10 และอัตราภาษีตามปริมาณ 150 บาทต่อปริมาณหนึ่งลิตรแห่งแอลกอฮอล์บริสุทธิ์) และมีการปรับปรุงอัตราภาษีไวน์และไวน์ผลไม้โดยยกเลิกการจัดเก็บภาษีจากการแบ่งชั้นของราคา (Price Tier) และกำหนดให้มีการจัดเก็บภาษีเป็นอัตราเดียว (Unitary Rate) ที่มีความเรียบง่ายและสอดคล้องกับมาตรฐานสากล ทั้งนี้ คาดว่าการปรับปรุงอัตราภาษีสรรพสามิตสินค้าสุราในครั้งนี้ จะสนับสนุนสินค้าไทยให้เกิดการพัฒนาผลิตภัณฑ์ สนับสนุนการท่องเที่ยวชุมชน กระตุ้นเศรษฐกิจเมืองรองเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตร รวมทั้งทำให้สินค้าดังกล่าวแข่งขันกับประเทศต่างๆ และเป็นที่รู้จักของนานาชาติได้อีกทั้งสามารถกระตุ้นให้ค่าใช้จ่ายท่องเที่ยวต่อหัวของนักท่องเที่ยวเพิ่มสูงขึ้น ยังมีการปรับปรุงพิกัดอัตราภาษีสุราแช่ชนิดอื่นๆ โดยกำหนดพิกัดอัตราภาษีสำหรับสุราแช่ที่มีการผสมสุรากลั่นและมีแรงแอลกอฮอล์เกิน 7 ดีกรีขึ้นใหม่ เพื่อรองรับสินค้าที่กำลังเป็นที่นิยมในปัจจุบัน
สำหรับการปรับปรุงอัตราภาษีสถานบริการซึ่งประกอบกิจการบันเทิงหรือหย่อนใจ จากร้อยละ 10 ของรายรับของสถานบริการโดยไม่หักค่าใช้จ่ายเป็นร้อยละ 5 ของรายรับของสถานบริการโดยไม่หักค่าใช้จ่ายมาตรการดังกล่าวเป็นมาตรการระยะสั้นมีกำหนดระยะเวลาประมาณ 1 ปี (สิ้นสุดวันที่ 31 ธ.ค. 2567) ซึ่งจะช่วยให้ผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากโควิดกลับมาฟื้นตัวอีกครั้งและส่งเสริมการท่องเที่ยวให้สอดคล้องกับนโยบายภาครัฐด้วยอีกทางหนึ่ง
นอกจากนี้ จะเป็นการส่งเสริมและสนับสนุนการจ้างงานที่เพิ่มขึ้นและผู้ประกอบการสามารถจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายหรือปรับลดราคาค่าอาหารและบริการเพื่อกระตุ้นการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวภายในประเทศเพิ่มขึ้น
การปรับปรุงโครงสร้างภาษีศุลกากรสินค้าไวน์กรมศุลกากรได้ดำเนินการปรับปรุงโครงสร้างภาษีศุลกากรสินค้าไวน์ให้สอดคล้องควบคู่กับการปรับปรุงโครงสร้างภาษีสรรพสามิต โดยยกเว้นอากรขาเข้าสินค้าไวน์ในประเภทพิกัด 22.04 และ 22.05 รวม 21 รายการจากเดิมที่มีอัตราอากรร้อยละ 54 และ 60 โดยคาดว่าการยกเว้นอากรให้กับกลุ่มสินค้าดังกล่าวจะเป็นการขยายฐานการบริโภคและลดการลักลอบหลีกเลี่ยงอากรส่งผลให้จัดเก็บรายได้ภาษีอากร เช่น ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีเงินได้นิติบุคคล เป็นต้น เพิ่มขึ้นจากการขยายตัวของภาคการท่องเที่ยวและการใช้จ่าย
2. การปรับปรุงหลักเกณฑ์การตรวจสินค้าเพื่อขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มของนักท่องเที่ยว (VAT Refundfor Tourists) เพื่อลดปริมาณนักท่องเที่ยวที่ต้องเข้าคิวเพื่อแสดงสินค้าในกระบวนการขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม
กรมสรรพากรได้ดำเนินการปรับปรุงหลักเกณฑ์การตรวจสินค้าเพื่อขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มของนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ เพื่อลดปริมาณนักท่องเที่ยวที่ต้องเข้าคิวเพื่อแสดงสินค้าในกระบวนการขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มของนักท่องเที่ยว ซึ่งมีผลบังคับใช้แล้วตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2566โดย (1) การปรับเพิ่มวงเงินซื้อสินค้าที่ต้องแสดงต่อศุลกากร จากเดิมตั้งแต่ 5,000 บาทขึ้นไป เป็น 20,000 บาทขึ้นไป ซึ่งจะลดจำนวนนักท่องเที่ยวที่ต้องแสดงสินค้าลงจาก 1.2 แสนรายต่อปี เหลือประมาณ 30,000 รายต่อปี หรือลดลงประมาณร้อยละ 75 และ (2) การปรับเพิ่มมูลค่าสินค้าที่ต้องนำไปแสดงต่อสรรพากร 9 รายการ ได้แก่ เครื่องประดับ ทองรูปพรรณ นาฬิกา แว่นตา ปากกา สมาร์ทโฟน แล็ปท็อปหรือแท็บเล็ต กระเป๋า (ไม่รวมกระเป๋าเดินทาง) เข็มขัด จากเดิมมูลค่าต่อชิ้นตั้งแต่ 10,000 บาทขึ้นไป เป็น 40,000 บาทขึ้นไป และของที่สามารถถือขึ้นเครื่องได้ (carry-on) จากเดิมมูลค่าต่อชิ้นตั้งแต่ 50,000 บาทขึ้นไป เป็น 100,000 บาทขึ้นไป ทั้งนี้ หลักเกณฑ์ใหม่นี้จะช่วยลดจำนวนนักท่องเที่ยวที่ต้องแสดงสินค้าลงจาก 1.2 แสนรายต่อปี (หรือร้อยละ 4.7 ของจำนวนนักท่องเที่ยวที่ขอคืนภาษีทั้งหมด) เหลือประมาณ 30,000 รายต่อปี (หรือร้อยละ 1.2 ของจำนวนนักท่องเที่ยวที่ขอคืนภาษีทั้งหมด) หรือลดลงจาก 333 คนต่อวัน ที่ต้องแสดงสินค้าเหลือเพียง 84 คนต่อวัน โดยประมาณ หรือลดลงกว่าร้อยละ 75
ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวว่า การปรับปรุงโครงสร้างและอัตราภาษีสรรพสามิตและการยกเว้นอากรขาเข้าต่าง ๆ ข้างต้น จำเป็นต้องตราเป็นกฎกระทรวงและประกาศกระทรวงการคลังตามลำดับ ซึ่งจะได้เร่งดำเนินการให้มีผลบังคับใช้โดยเร็วภายในเดือนมกราคม 2567 ทั้งนี้ ในภาพรวมมาตรการส่งเสริมประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวและการใช้จ่ายที่กระทรวงการคลังเสนอ จะส่งผลให้การจัดเก็บรายได้ภาษีสรรพสามิตและภาษีศุลกากรเพิ่มขึ้นสุทธิประมาณ 401 ล้านบาทต่อปี และ GDP ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.0073 เทียบกับกรณีไม่มีมาตรการ นอกจากนี้ ภาครัฐยังจะสามารถจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มและภาษีเงินได้นิติบุคคลได้เพิ่มเติมในอนาคตจากการเพิ่มขึ้นของการจับจ่ายใช้สอยและการเพิ่มขึ้นของรายได้ของผู้ประกอบธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยวทั้งทางตรงและทางอ้อม เช่น ร้านค้า ร้านอาหาร ภัตตาคาร ธุรกิจบริการ สถานบันเทิง โรงแรมที่พัก ผู้ให้บริการขนส่ง สายการบินเป็นต้น และส่งผลให้มีการลงทุนขยายกิจการและการจ้างงานเพิ่มขึ้นต่อไป ส่งผลให้ภาพรวมเศรษฐกิจไทยขยายตัวได้ดีขึ้น