เปิดเหตุล้อประคองหลุดร่วงจากขบวนรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ชัดเบ้าลูกปืนล้อประคองเสียหาย ด้านบริษัทผู้ผลิต ลุยตรวจสอบละเอียด ย้ำห้ามเกิดเหตุการณ์เช่นนี้ขึ้นอีก เข้มบทลงโทษหากเกิดข้อผิดพลาดพิจารณาขึ้นแบล็คลิสต์ผู้ประกอบการ – พร้อมสั่งชดเชยผู้โดยสารฟรี ช่วงตรวจสอบรายละเอียด
นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม พร้อมด้วย นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม แถลงข่าวชี้แจงกรณีเหตุล้อประคอง (Guide Wheel) หลุดร่วงจากขบวนรถไฟฟ้ามหานคร สายสีเหลือง เมื่อวันที่ 2 มกราคม 2567 เวลา 18.21 น. ที่ผ่านมา โดยมี นายชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคม นายพิเชฐ คุณาธรรมรักษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางราง (ขร.) นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ผู้แทนบริษัท อีสเทิร์น บางกอกโมโนเรล จำกัด (EBM) ผู้รับสัมปทานเดินรถ ร่วมแถลงข่าว ในวันที่ 3 มกราคม 2567 ณ กระทรวงคมนาคม
นายสุริยะ กล่าวว่า จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้ตรวจสอบเพิ่มเติมที่ศูนย์ซ่อมบำรุงพบว่า เป็นล้อประคอง (Guide Wheel) ด้านล่างฝั่งขวา (ด้านนอกของคานทางวิ่ง) ของรถไฟฟ้ามหานคร สายสีเหลือง หมายเลข YM 17 (ตู้หมายเลข YA117) หลุดออกจากแคร่ล้อ (Bogie) จำนวน 1 ล้อ ได้หลุดร่วงลงมา ใส่รถแท็กซี่สีเขียวเหลือง บริเวณถนนเทพารักษ์ ระหว่างสถานีทิพวัล (YL22) และสถานีศรีเทพา (YL21) ฝั่งขาขึ้น (ปลายทางสถานีลาดพร้าว) ทำให้รถแท็กซี่ได้รับความเสียหายบริเวณด้านหน้ารถ โดยไม่มีผู้ได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิตจากเหตุการณ์ดังกล่าว ทั้งนี้ สาเหตุเบื้องต้นพบว่าเกิดจากเบ้าลูกปืน (Bearing) ของล้อประคอง (Guide Wheel) เสียหาย ทำให้ล้อประคองหลุดร่วงลงมา ซึ่งขบวนรถไฟฟ้าสายสีเหลืองที่ประสบเหตุเป็นขบวนใหม่ จากการตรวจสอบประวัติการซ่อมบำรุง (Maintenance Log) พบว่า มีการซ่อมบำรุงตามรอบวาระโดยสม่ำเสมอ (ประจำวัน ประจำสัปดาห์ และวาระตรวจละเอียดทุก 15 วัน) ปัจจุบัน บริษัท Alstom (ผู้ผลิต) อยู่ระหว่างตรวจสอบชุดล้อประคองที่หลุดออกมา เพื่อหาสาเหตุโดยละเอียดต่อไป
กระทรวงคมนาคมขอยืนยันความปลอดภัยในระบบรถไฟฟ้าสายสีเหลือง และจะดำเนินทุกมาตรการไม่ให้เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นอีกทั้งการป้องกัน ตรวจสอบ ในด้านความปลอดภัยการเดินรถและกำหนดมาตรการ กฎระเบียบลงโทษผู้รับเหมา เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนทั้งที่ใช้บริการรถไฟฟ้า และใช้ชีวิตเดินทางสัญจรในพื้นที่ของรถไฟฟ้า ในอนาคตจะมีการพิจารณาถึงเรื่องการตัดคะแนนหรือพิจารณาขึ้นบัญชีแบล็คลิสต์ เพื่อสร้างมาตรฐานให้กับผู้ประกอบการ
นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ กล่าวว่า ขณะเกิดเหตุเมื่อเจ้าหน้าที่พบสัญญาณแจ้งเตือนความผิดปกติบริเวณล้อ จึงทำการขนถ่ายผู้โดยสารจากขบวนรถไฟฟ้า YM17 ลงที่สถานี แล้วนำขบวนรถไฟฟ้าออกจากระบบ เพื่อไปตรวจสอบที่ศูนย์ซ่อมบำรุง (Depot) ศรีเอี่ยม และนำขบวนรถหมายเลข YM 08 ขึ้นให้บริการทดแทนที่สถานีศรีเอียม (YL17) โดยไม่มีส่วนโครงสร้างทางได้รับความเสียหายจึงให้บริการจนถึงเวลา 24.00 น. ตามปกติ สำหรับในวันนี้ (3 มกราคม 2567) ได้นำขบวนรถที่ได้รับการตรวจสอบว่ามีความมั่นคงปลอดภัยมาให้บริการจำนวน 6 ขบวน (ปกติวิ่ง 21 ขบวนจากทั้งหมด 30 ขบวน) โดยปรับรูปแบบการให้บริการโดยมีความถี่ทุก 30 นาที จนถึงวันที่ 6 มกราคม 2567 ที่จะมีการตรวจสอบจนครบและทยอยปรับความถี่ในการให้บริการจนเป็นปกติ (ทุก 5-10 นาที) ภายในวันที่ 8 มกราคม 2567 ทั้งนี้จะให้บริการรถไฟฟ้าสายสีเหลืองฟรีโดยไม่คิดค่าโดยสาร จนกระทั่งสถานการณ์เดินรถกลับมาเป็นความถี่ตามปกติ และหากเกิดข้อผิดพลาดในการเก็บค่าโดยสารไปแล้ว สามารถเรียกขอเงินคืนได้ทันที
สำหรับแนวทางการป้องกัน ได้สั่งการให้งดใช้ขบวนรถไฟฟ้าสายสีเหลืองที่ใช้ชุดแคร่ล้อ (Bogie) ในล็อตเดียวกับขบวนที่เกิดเหตุและตรวจสอบหาสาเหตุที่แท้จริงร่วมกับผู้ผลิต เพื่อดำเนินการแก้ไขและป้องกันให้ถูกจุดต่อไป และเพิ่มความเข้มข้นในการตรวจสอบเบ้าลูกปืนของล้อต่างๆ เพิ่มเติมจากการตรวจตามวาระปกติ ก่อนนำขบวนรถไฟฟ้าขึ้นมาให้บริการประชาชน ส่วนมาตรการระยะยาวคือให้เร่งรัดการออกพระราชบัญญัติการขนส่งทางราง พ.ศ. .... เพื่อใช้ในการกำกับดูแล ด้านความปลอดภัยให้มีประสิทธิภาพ และสามารถกำหนดบทลงโทษ และการชดเชยแก่ผู้โดยสารและผู้ได้รับผลกระทบ