เหลือบไปเห็นข่าว คุณสาลี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสำนักงานสภาองค์กรของผู้บริโภค ที่ออกโรงเรียกร้องให้รัฐบาลกำหนดค่าโดยสาร รถไฟฟ้าสายสีชมพู-และสายสีเหลือง 20 บาทตลอดสาย
โดยระบุว่า อัตราค่าโดยสารที่เรียกเก็บในขณะนี้ 15 - 45 บาทสูงเกินไป สร้างความเดือดร้อนให้ประชาชนในภาวะที่ค่าครองชีพสูงอยู่แล้ว
พร้อมยืนยันว่า ค่าโดยสาร 20 บาทนั้น มีความเป็นไปได้ โดยอ้างรายงานผลศึกษากรมขนส่งทางรางก่อนหน้านี้ ที่ระบุว่า การกำหนดค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีชมพูสูงสุดไม่เกิน 20 บาท เพียงพอกับค่าบริหารจัดการเดินรถของเอกชน โดยที่รัฐบาลไม่ต้องสมทบและไม่ขาดทุน เพราะสายสีชมพูมีเส้นทางวิ่งผ่านจุดเศรษฐกิจสำคัญ เช่น โรงเรียน โรงพยาบาล แหล่งชุมชนต่าง ๆ
นอกจากนี้ ผลการศึกษาของนักวิชาการ สภาผู้บริโภค ชี้ชัดเจนว่า ค่าใช้จ่ายเดินรถต่อคนต่อเที่ยวของผู้บริโภคระหว่างปี พ.ศ. 2557 – 2562 มีต้นทุนเฉลี่ยต่อคนต่อเที่ยวโดยสารระหว่าง 10.10 – 16.30 บาท ขึ้นกับจำนวนผู้โดยสารและค่าใช้จ่ายในแต่ละปี รวมถึงผลการศึกษาของกรุงเทพมหานครในปัจจุบันที่ยืนยันว่า ค่าบริการเดินรถประมาณ 11 – 13 บาทต่อคนต่อเที่ยว
สอดคล้องกับข้อมูลโครงการศึกษากำหนดอัตราค่าโดยสารขั้นสูง ค่าแรกเข้าและหลักเกณฑ์การขึ้นอัตราค่าโดยสารขนส่งมวลชนระบบรางของกรมการขนส่งทางราง ที่ระบุว่า ค่าเฉลี่ยต้นทุนงานระบบรถไฟฟ้าต่อผู้โดยสาร (30 ปี) ถ้าเป็น Heavy rail จะอยู่ที่ 14.31 บาท หรือ LRT หรือ Monorail จะอยู่ที่ 11.67 บาท เท่านั้น
ขณะที่เศรษฐกิจไทยยังคงเผชิญวิกฤต ภาคธุรกิจ SME และประชาชนโดยเฉพาะลูกหนี้ต้าง "หืดจับ หายใจไม่ทั่วท้อง" จากผลพวงการดำเนินนโยบายดอกเบี้ยธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่ปรับขึ้นดอกเบี้ยมาตรฐานถึง 8 ครั้งในช่วงขวบปีที่ผ่านมา จาก 0.5 เป็น 2.50 แล้วในปัจจุบัน
ส่งผลให้ธนาคารพาณิชย์์พาเหรดปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ตามมา แถมยังฉวยโอกาสปรับ "ส่วนต่าง" อัตราดอกเบี้ยเงินฝากและเงินกู้จนปัจจุบัน เฉลี่ย 7 - 8% เข้าไปแล้ว ทำให้สถานะของระบบแบงก์พาณิชย์ที่ถือเป็นเส้นเลือดใหญ่ของระบบเศรษฐกิจ กำไรทะลักล้นท่วมแบงก์กว่า 2.2 แสนล้าน
และนัยว่า กำไรสะสมเฉพาะ 5 แบงค์ใหญ่ ในช่วงระยะ 3 ปีที่ผ่านมานั้น มีกำไรรวมกันมากกว่า 1 ล้านล้านบาทเข้าไปแล้ว มากมายมหาศาลแค่ไหน ในท่ามกลางเศรษฐกิจที่ยังคงวิกฤตอย่างที่เห็น
ดูเหมือนสิ่งเหล่านี้ เรากลับไม่เคยเห็นบทบาทของคุณสาลีและสภาองค์กรของผู้บริโภค จะออกโรงสะท้อนความเดือดร้อน ออกโรงเรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะ ธปท. ให้ยุติการโขกสับขูดรีดขูดเนื้อเอากับประชาชนแม้แต่น้อย
ที่เห็นและเป็นไป ก็เป็นคุณหนุ่ม เมืองจันท์ ที่ออกโรงจุดประกายให้ทุกฝ่ายได้คิดและตำหนัก ถึงการขูดรีดขูดเนื้อของระบบแบงค์พาณิชย์ โดยที่หน่วยงานผู้กำกับดูแลอย่าง คปภ. ไม่ได้แสดงบทบาทในการกำกับดูแล ให้เกิดความเหมาะสม จนกลายเป็นไวรัลท่วมโซเชียลอยู่ในปัจจุบัน
จนนายกฯ เศรษฐา ต้องออกมาฟ้อนเงี้ยวเรียกร้อง ธปท. ลงไปกำกับดูแลส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยให้เกิดความเหมาะสม ไม่ใช่ทำนาบนหลังคนแบบนี้
กับค่าโดยสารรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย ที่สภายังคงมุ่งมั่นผลักดันกันอยู่ในเวลานี้ โดยอ้างรายงานผลการศึกษา ทั้งของสภาองค์กรของผู้บริโภคและกรมขนส่งทางรางนั้น หากการกำหนดอัตราค่าโดยสารดังกล่าว ยังคงสามารถทำให้รัฐดำเนินโครงการรถไฟฟ้าสายสีต่างๆ ไปได้อย่างตลอดรอดฝั่ง
แล้วเหตุใด เมื่อกระทรวงคมนาคมนำร่องดำเนินโครงการค่าโดยสารรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย ใน 2 สายทางหลัก คือ สายสีม่วงและสายสีแดง กลับทำเอารัฐบาลขาดทุนบักโกรกไปถึงวันละ 6.5-7 ล้านบาท และยังมีการคาดการณ์กันว่า หากขยายไปยังสายอื่นๆ ก็คาดว่า จะทำให้รัฐต้องขาดทุนทะลักไปนับ 10,000 ล้าน ไม่รู้จะต้องหาเม็ดเงินจากไหนมาชดเชยหรือแบกรับ
หรือหากสภาองค์กรของผู้บริโภคมีความจริงใจในการปกป้องผลประโยชน์ของผู้บริโภคอย่างแท้จริง ต้องการให้รัฐกำหนดอัตราค่าโดยสาร 20 บาทตลอดสาย ก็สมควรจะกดดันให้รัฐบาล และหน่วยงานเจ้าของโครงการ กำหนดเงื่อนไขการประมูล โดยกำหนดเงื่อนไขอัตราค่าโดยสาร 20 บาทตลอดสาย ไปตลอดสัญญาสัมปทานเอาไว้ซะตั้งแต่แรก เพื่อที่ผู้ให้บริการเดินรถจะได้ไม่ยกมาเป็นข้ออ้างเรียกร้องค่าชดเชย จนกลายเป็นค่าโง่เอาๆ ได้ในภายหลัง
อย่างกรณีการประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม บางขุนนนท์-มีนบุรี ที่การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย และกระทรวงคมนาคม ยังคงอยู่ระหว่างดำเนินการในเวลานี้ สภาองค์กรของผู้บริโภคก็ควรจะใช้โอกาสนี้ร่วมผลักดันให้รัฐบาล และกระทรวงคมนาคม กำหนดอัตราค่าโดยสารในการดำเนินโครงการนี้ที่ 20 บาทตลอดสายไปเสียตั้งแต่แรก จะได้ไม่สร้างปัญหาในภายหลัง
แค่นี้มันยากนักหรือไง คุณสาลี!!!