ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ธนาคารพาณิชย์ทยอยแจ้งผลประกอบการปี 2566 ปรากฏว่า ส่วนใหญ่ผลประกอบการมีกำไรกันถ้วนหน้า!
กสิกรไทยอู้ฟู่! ปี 66 กำไร 42,405 ล้านบาท
นางสาวขัตติยา อินทรวิชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยว่า เศรษฐกิจไทยในปี 2566 ยังคงขยายตัวในลักษณะไม่ทั่วถึง (K-Shaped Recovery) โดยการท่องเที่ยวเริ่มฟื้นตัว ในขณะที่กิจกรรมทางเศรษฐกิจในส่วนอื่นยังเผชิญแรงกดดันจากการปรับขึ้นของต้นทุน ภาระหนี้และค่าครองชีพของครัวเรือน และการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกอีกทั้งตลาดการเงินโลกในระหว่างปีค่อนข้างผันผวน โดยเริ่มฟื้นตัวกลับในช่วงปลายปีหลังจากที่ตลาดการเงินประเมินว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐฯ ได้แตะจุดสูงสุดแล้ว สำหรับในปี 2567 แม้เศรษฐกิจไทยน่าจะเติบโตดีขึ้น แต่ยังมีความท้าทายที่หลากหลายจากเศรษฐกิจโลกที่มีความเสี่ยงจากการเติบโตที่ชะลอลง โดยเฉพาะเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ได้รับผลกระทบจากอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับสูง และเศรษฐกิจจีนที่ยังเผชิญกับปัญหาความเปราะบางของภาคการเงินและตลาดอสังหาริมทรัพย์ นอกจากนี้ ยังต้องติดตามปัจจัยในประเทศ รวมถึงมาตรการสนับสนุนเศรษฐกิจของภาครัฐด้วยเช่นกัน
สำหรับปี 2566 ธนาคารและบริษัทย่อยมีกำไรสุทธิจำนวน 42,405 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 18.55% เมื่อเทียบกับปีก่อนซึ่งเป็นฐานที่ต่ำ รวมถึงภาวะเศรษฐกิจที่ทยอยปรับตัวดีขึ้นในบางส่วน
ธนาคารยังคงตั้งสำรองผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในปริมาณสูงใกล้เคียงกับปีก่อน เพื่อรองรับความไม่แน่นอนจากปัจจัยทางเศรษฐกิจที่อาจจะเกิดขึ้น โดยธนาคารยังคงยึดหลักความระมัดระวังในการพิจารณาตั้งสำรองฯ เพื่อเสริมความแข็งแกร่งอย่างต่อเนื่อง รายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นส่วนใหญ่มาจากกำไรจากการลงทุนในตราสารทางการเงินต่าง ๆ ตามสภาวะตลาด ผ่านนโยบายการกระจายความเสี่ยงการลงทุนในสินทรัพย์ทั่วโลก รวมทั้งรายได้ที่เกี่ยวเนื่องกับธุรกิจท่องเที่ยวจากการเปิดประเทศ ขณะที่รายได้ดอกเบี้ยสุทธิเพิ่มขึ้นตามสภาวะตลาด แม้ว่าการเติบโตของเงินให้สินเชื่อชะลอตัวลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับปีก่อน โดยมุ่งเน้นการจัดการคุณภาพสินทรัพย์ เพิ่มความยืดหยุ่นในการดูแลช่วยเหลือลูกค้ากลุ่มต่าง ๆ ประกอบกับการยกระดับกระบวนการเพิ่มศักยภาพการปล่อยสินเชื่อใหม่ของธนาคารให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ในส่วนของค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานเพิ่มขึ้นสอดคล้องกับรายได้ที่เพิ่มตามปริมาณธุรกิจ โดยอัตราส่วนค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงานอื่น ๆ ต่อรายได้จากการดำเนินงานสุทธิ (Cost to income ratio) อยู่ที่ 44.10% เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากปีก่อนซึ่งอยู่ที่ 43.15% รายได้จากการดำเนินงานเพิ่มขึ้นจำนวน 19,396 ล้านบาท หรือ 11.19% โดยมีรายได้ดอกเบี้ยสุทธิจำนวน 148,444 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 11.61% ตามสภาวะตลาด ทั้งนี้ รายได้ดอกเบี้ยสุทธิยังไม่ได้หักต้นทุนการบริหารจัดการหนี้ในเรื่องต่าง ๆ และค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน และเมื่อเทียบกับฐานของสินทรัพย์ที่ก่อให้เกิดรายได้ มีอัตราผลตอบแทน (Net interest margin : NIM) อยู่ที่ 3.66%
นอกจากนี้ รายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นจำนวน 3,950 ล้านบาท หรือ 9.81% ส่วนใหญ่เกิดจากการบริหารจัดการลงทุนทั้งในและต่างประเทศ และรายได้จากธุรกรรมเพื่อค้าและปริวรรตเงินตราต่างประเทศที่เพิ่มขึ้นตามปริมาณธุรกิจ สอดคล้องกับการฟื้นตัวบางส่วนของภาคการท่องเที่ยว อย่างไรก็ตาม รายได้ค่าธรรมเนียมและบริการสุทธิลดลงจำนวน 1,702 ล้านบาท หรือ 5.17% หลัก ๆ จากค่านายหน้าจากการซื้อขายหลักทรัพย์ ค่าธรรมเนียมรับจากการโอนเงิน และรายได้สุทธิจากการรับประกันภัยที่ลดลงซึ่งเป็นไปตามสภาวะตลาด
ผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น (Expected credit loss : ECL) ในปี 2566 มีจำนวน 51,840 ล้านบาท ซึ่งยังเป็นการตั้งในปริมาณสูงใกล้เคียงกับปีก่อน จากการพิจารณาตามหลักความระมัดระวังอย่างต่อเนื่องเพื่อเสริมความแข็งแกร่งรองรับความไม่แน่นอนที่อาจจะเกิดขึ้นจากสภาวะเศรษฐกิจโลก และเพื่อดูแล ช่วยเหลือเสริมศักยภาพการดำเนินธุรกิจให้ลูกค้า เพิ่มความความยืดหยุ่นในการจัดการคุณภาพสินทรัพย์ โดยอัตราส่วนค่าเผื่อผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นต่อเงินให้สินเชื่อด้อยคุณภาพ (Coverage ratio)
ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2566 ธนาคารและบริษัทย่อยมีสินทรัพย์รวมจำนวน 4,283,556 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากสิ้นปี 2565 จำนวน 37,187 ล้านบาท หรือ 0.88% หลัก ๆ เกิดจากการเพิ่มขึ้นของรายการระหว่างธนาคารและตลาดเงินสุทธิ ซึ่งเป็นการบริหารสภาพคล่องตามปกติของธนาคาร รวมถึงสินทรัพย์ทางการเงินต่าง ๆ ตามสภาวะตลาดภายใต้การบริหารจัดการอย่างมีคุณภาพ ในขณะที่เงินให้สินเชื่อสุทธิชะลอตัวลงเล็กน้อย จากการยกระดับกระบวนการเพิ่มศักยภาพการปล่อยสินเชื่อใหม่ของธนาคารให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น และการจัดการคุณภาพสินทรัพย์ภายใต้สภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว รวมทั้งการช่วยเหลือลูกค้ากลุ่มเปราะบางภายหลังจากมาตรการช่วยเหลือของธนาคารแห่งประเทศไทยสิ้นสุดลงในปี 2566 ซึ่งมีส่วนช่วยให้ลูกค้ามีสถานะทางการเงินที่ดีขึ้น สามารถประกอบธุรกิจได้อย่างต่อเนื่องสามารถประกอบธุรกิจได้อย่างต่อเนื่อง และสามารถขับเคลื่อนการฟื้นตัวของระบบเศรษฐกิจโดยรวม นอกจากนี้ การรับรู้ดอกเบี้ยค้างรับได้พิจารณาจากจำนวนที่คาดว่าจะได้รับจริง ทั้งนี้ เงินให้สินเชื่อด้อยคุณภาพต่อเงินให้สินเชื่อ (%NPL gross) อยู่ที่ระดับ 3.19% สำหรับอัตราส่วนเงินกองทุนทั้งสิ้นต่อสินทรัพย์เสี่ยงของกลุ่มธุรกิจทางการเงินธนาคารกสิกรไทยตามหลักเกณฑ์ Basel III ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2566 ยังคงมีความแข็งแกร่งอยู่ที่ 19.41% โดยมีอัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 อยู่ที่ 17
ทีเอ็มบีธนชาต ยิ้ม!.. กำไร 18,462 ล้านบาท
นายปิติ ตัณฑเกษม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ทีเอ็มบีธนชาต เปิดเผยว่า สำหรับปี 2566 ในภาพรวมถือว่าธนาคารมีผลการดำเนินงานที่เป็นไปตามเป้าหมาย โดยเรายังคงเดินหน้าตามแผนการรับรู้ประโยชน์จากการรวมกิจการเพื่อหนุนด้านรายได้และการบริหารค่าใช้จ่าย ที่สำคัญ คือการเพิ่มความแข็งแกร่งให้กับสถานะทางการเงินในทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นความสามารถในการรองรับความเสี่ยง สภาพคล่อง และฐานเงินกองทุน
จากเป้าหมายดังกล่าว กลยุทธ์ที่ทีทีบีมุ่งเน้นในปี 2566 จึงเป็นเรื่องของบริหารจัดการทุกองค์ประกอบของงบดุลให้มีคุณภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านสินเชื่อ ธนาคารยังคงใช้กลยุทธ์การเติบโตสินเชื่อใหม่อย่างรอบคอบ เน้นฐานลูกค้าที่ธนาคารมีความชำนาญ เข้าใจทั้งความต้องการและความเสี่ยงเป็นอย่างดี
อีกประการสำคัญ คือการดูแลลูกค้าสินเชื่ออย่างใกล้ชิด โดยธนาคารยังคงให้ความช่วยเหลือลูกหนี้กลุ่มเปราะบางอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งสนับสนุนการรวบหนี้ หรือการทำ Debt Consolidation เพื่อช่วยบรรเทาภาระดอกเบี้ยและช่วยให้ลูกหนี้สามารถบริหารจัดการสภาพคล่องได้ภายใต้ภาวะดอกเบี้ยขาขึ้น
โดยในปี 2566 ธนาคารได้ให้ความช่วยเหลือลูกค้าที่ยังต้องการรับความช่วยเหลือต่อเนื่องมาจากช่วงโควิด-19 คิดเป็นมูลค่าสินเชื่อประมาณ 11% ของพอร์ตสินเชื่อรวม และสำหรับโครงการรวบหนี้ได้เปิดกว้างสำหรับลูกค้าทุกกลุ่ม ธนาคารสามารถช่วยลูกค้ารวบหนี้ไปแล้วกว่า 1.7 หมื่นราย ซึ่งช่วยให้ลูกค้าสามารถประหยัดดอกเบี้ยไปได้ราว 1.2 พันล้านบาท
ด้วยกลยุทธ์ดังกล่าว พอร์ตสินเชื่อของธนาคารจึงมีคุณภาพ ประกอบกับการบริหารจัดการหนี้เสียในเชิงรุก สถานการณ์ด้านคุณภาพสินทรัพย์จึงเป็นไปตามเป้าหมาย สามารถลดระดับหนี้เสียลงมาได้อย่างต่อเนื่อง จากระดับสูงสุดในช่วงโควิด-19 ที่ 2.98% มาอยู่ที่ 2.62% ณ สิ้นปี 2566
ทั้งนี้ เนื่องจากธนาคารประเมินว่าเศรษฐกิจในช่วงถัดไปยังคงมีปัจจัยกดดันรอบด้าน จึงดำเนินการตั้งสำรองฯ พิเศษในไตรมาส 4 เป็นจำนวน 4.9 พันล้านบาท เพื่อยกระดับอัตราส่วนสำรองฯ ต่อสินเชื่อด้อยคุณภาพ หรือ NPL Coverage Ratio ให้ขึ้นมาอยู่ที่ 155% เมื่อเทียบกับ 138% ในปี 2565 และ 120% ก่อนรวมกิจการ ก็สะท้อนให้เห็นถึงความสามารถในการรองรับความเสี่ยงที่แข็งแกร่งขึ้นมาโดยตลอด
นอกจากนี้ ธนาคารก็ยังได้เตรียมความพร้อมด้านสภาพคล่อง โดยการขยายฐานเงินฝากเพิ่มเติมในไตรมาส 4 เพื่อรองรับแผนธุรกิจและการแข่งขันด้านเงินฝากที่อาจเกิดขึ้น ในปี 2567 ส่งผลให้อัตราส่วนสภาพคล่อง LCR เพิ่มขึ้นจาก 175% ในไตรมาสก่อน มาอยู่ที่ 199% โดยประมาณ เทียบกับเกณฑ์ขั้นต่ำของธปท. ที่ 100%
ด้านฐานเงินกองทุนยังคงอยู่ในระดับสูงและมีเสถียรภาพ โดยอัตราส่วน CAR และ Tier 1 ณ สิ้นปี 2566 เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 20.7% และ 17.0% ซึ่งสูงเป็นลำดับต้น ๆ ของอุตสาหกรรม และสูงกว่าเกณฑ์ขั้นต่ำของธนาคารกลุ่ม D-SIBs ที่ธปท.กำหนดไว้ที่ 12.0% และ 9.5% ตามลำดับ
ทั้งหมดนี้สะท้อนให้เห็นถึงสถานะทางการเงินที่ดีขึ้นในทุกมิติ เปรียบได้กับการมีกันชนที่แข็งแกร่งยิ่งขึ้นในทุกด้าน ซึ่งจะช่วยให้ธนาคารสามารถรองรับผลกระทบในยามที่ต้องเผชิญความไม่แน่นอนในรูปแบบต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นความเสี่ยงด้านคุณภาพสินทรัพย์ สภาพคล่อง หรือเงินกองทุน ได้อย่างมั่นคง โดยไม่ส่งผลต่อการดำเนินงานตามแผนธุรกิจปกติ รวมถึงไม่ลดทอนความสามารถในการให้ความช่วยเหลือลูกค้า และการสร้างมูลค่าด้านเงินปันผลให้กับผู้ถือหุ้นของธนาคาร
สำหรับผลการดำเนินงานรายการหลักๆ ในปี 2566 มีดังนี้
สินเชื่อ ณ สิ้นเดือนธันวาคม ปี 2566 อยู่ที่ 1,328 พันล้านบาท ชะลอลง 2.5% จากไตรมาสก่อนหน้า และลดลง 3.5% จากสิ้นปี 2565 เป็นไปตามแนวทางการเติบโตสินเชื่ออย่างรอบคอบและแผนการปรับโครงสร้างสินเชื่อ โดยมุ่งเน้นการขยายสินเชื่อรายย่อยมากขึ้น ทำให้สินเชื่อรายย่อยยังคงขยายตัวได้ต่อเนื่องที่ 2.1% จากปีที่แล้ว นำโดยสินเชื่อกลุ่มเป้าหมาย ได้แก่ สินเชื่อบ้านแลกเงิน สินเชื่อรถแลกเงิน สินเชื่อบุคคลและบัตรเครดิต ด้านสินเชื่อลูกค้าธุรกิจลดลง 11.6% จากปีก่อน เป็นผลจากการชำระหนี้คืนของลูกค้าและการนำสภาพคล่องส่วนเกินจากการปล่อยสินเชื่อกลุ่มลูกค้าธุรกิจไปหมุนเวียนปล่อยสินเชื่อรายย่อย เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้เงินทุน
ในด้านเงินฝากอยู่ที่ 1,387 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 4.3% จากไตรมาสก่อนหน้า ตามแผนการเตรียมสภาพคล่อง แต่ชะลอลงเล็กน้อย หรือราว 0.9% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว ซึ่งเป็นไปตามแผนของธนาคารให้การบริหารสินเชื่อและเงินฝากให้สอดคล้องกัน ทั้งนี้ เงินฝากเป้าหมาย ซึ่งได้แก่ เงินฝากประจำ ซึ่งให้สิทธิประโยชน์ด้านการออมดอกเบี้ยสูง และเงินฝาก ทีทีบี ออลล์ฟรี ที่ให้สิทธิประโยชน์ในการทำธุรกรรมและประกันอุบัติเหตุฟรี สามารถเติบโตได้ตามแผน
ภาพรวมด้านรายได้ยังคงได้รับแรงหนุนจากการรับรู้ประโยชน์จากการรวมกิจการ ทั้งจากประโยชน์ด้านงบดุล (Balance Sheet Synergy) ผ่านการปรับโครงสร้างสินเชื่อไปยังกลุ่มลูกค้ารายย่อยและเพิ่มสัดส่วนสินเชื่อ Consumer Loan และประโยชน์ด้านรายได้ (Revenue Synergy) จากการนำเสนอโซลูชันทางการเงินรูปแบบใหม่ ๆ ให้กับฐานลูกค้าที่เพิ่มขึ้นหลังการรวมกิจการ ส่งผลให้รายได้จากการดำเนินงานรวมในปี 2566 เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 70,961 ล้านบาท เทียบกับ 65,852 ล้านบาท ในปี 2565
ด้านค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานรวมอยู่ที่ 31,280 ล้านบาท ในปี 2566 เพิ่มขึ้นจาก 29,952 ล้านบาท ในปี 2565 เป็นผลจากกิจกรรมทางธุรกิจที่เพิ่มขึ้นและแผนการลงทุนทั้งด้านพนักงานและด้านดิจิทัล โดยธนาคารยังคงสามารถบริหารจัดการค่าใช้จ่ายได้เป็นอย่างดี สะท้อนได้จากอัตราส่วนต้นทุนต่อรายได้ที่อยู่ที่ 43.6% ลดลงจาก 45.1% ในปีก่อนหน้า
ทั้งนี้ เพื่อเพิ่มความแข็งแกร่งด้านการเงิน ธนาคารได้ดำเนินการตั้งสำรองฯ พิเศษ เพิ่มเติมจากระดับปกติ รวมทั้งปีตั้งสำรองฯ ไปทั้งสิ้น 22,199 ล้านบาท หลังหักสำรองฯ และภาษี ธนาคารจึงมีกำไรสุทธิในปี 2566 ที่ 18,462 ล้านบาท เทียบกับ 14,195 ล้านบาท ในปีก่อนหน้า
นายปิติ สรุปในตอนท้ายว่า “ผลการดำเนินงานในปี 2566 สะท้อนให้เห็นถึงศักยภาพและความพร้อมของทีทีบีในการก้าวสู่ปี 2567 โดยเรายังคงตั้งเป้าที่จะสร้างการเติบโตอย่างมีคุณภาพให้กับผู้ถือหุ้น พร้อมกับสนับสนุนแนวทางการลดหนี้ครัวเรือน รวมถึงการให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรม (Responsible Lending) ของภาครัฐ ซึ่งสอดคล้องกับจุดมุ่งหมาย Financial Well-being ของทีทีบีในการช่วยลูกค้าให้มีชีวิตทางการเงินที่ดีขึ้นอย่างยั่งยืน”
แบงก์กรุงเทพฯ... กำไร 41,636 ล้านบาท
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือหุ้น BBL รายงานผลประกอบการต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ว่า ธนาคารกรุงเทพและบริษัทย่อยรายงานกำไรสุทธิสำหรับปี 2566 จำนวน 41,636 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 42.1% จากปีก่อนที่กำไร 29,306 ล้านบาท ด้วยการเพิ่มขึ้นของรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ 28.0% โดยอัตราผลตอบแทนของสินทรัพย์ที่ก่อให้เกิดรายได้เพิ่มขึ้นสอดคล้องกับภาวะอัตราดอกเบี้ย สุทธิกับต้นทุนเงินรับฝากที่ทยอยเพิ่มขึ้นจากการปรับขึ้นของอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก
รวมถึงการปรับอัตราเงินนำส่งกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินเข้าสู่ระดับเดิมตั้งแต่ต้นปี 2566 ส่งผลให้ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิอยู่ที่ 3.02% สำหรับรายได้ค่าธรรมเนียมและบริการสุทธิลดลงเล็กน้อย จากธุรกิจหลักทรัพย์ตามปริมาณการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ที่ลดลง
ขณะที่ค่าธรรมเนียมจากบริการประกันผ่านธนาคาร และบริการกองทุนรวมและธุรกิจบัตรเครดิตปรับตัวดีขึ้น สำหรับค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงานเพิ่มขึ้น 18.5% ตามการขยายตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ และส่วนหนึ่งจากค่าใช้จ่ายเพื่อการพัฒนาและปรับปรุงประสิทธิภาพการดำเนินงาน โดยอัตราส่วนค่าใช้จ่ายต่อรายได้จากการดำเนินงานลดลงอยู่ที่ 48.8%
ทั้งนี้ จากการที่ธนาคารมีการตั้งสำรองด้วยความระมัดระวังอย่างต่อเนื่อง ในไตรมาส 4 ปี 2566 ธนาคารจึงตั้งผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นลดลง 18.1% จากไตรมาสก่อน ส่งผลให้ผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในปี 2566 มีจำนวน 33,666 ล้านบาท ซึ่งอยู่ในระดับใกล้เคียงกับปีก่อน
SCB กำไรกว่า 43,521 ล้านบาท
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บริษัท เอสซีบี เอกซ์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCB มีกำไรสุทธิของปี 2566 จำนวน 43,521 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 15.9%จากปีก่อน
โดยรายได้จากการดำเนินงานรวม 171,103 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 10.8% จากปีก่อน ในขณะที่ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานมีจำนวน 71,781 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2.7% จากปีก่อน มีอัตราส่วนค่าใช้จ่ายต่อรายได้อยู่ที่ 42% ลดลงจากปีก่อนหน้าที่ระดับ 45.2% สะท้อนถึงการควบคุมค่าใช้จ่ายอย่างรัดกุม และการเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินการอย่างต่อเนื่อง
นอกจากนี้ บริษัทฯ ได้ตั้งเงินสำรอง จำนวน 43,600 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 28.9% จากปีก่อน แสดงถึงการบริหารคุณภาพสินเชื่ออย่างรอบคอบ เพื่อรองรับความเสี่ยงจากการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจไทยที่ไม่ทั่วถึง และความไม่แน่นอนทางภูมิรัฐศาสตร์
ขณะที่ธนาคารพาณิชย์อื่นๆ ที่เริ่มทยอยประกาศผลประกอบการปี 2566 คาดว่าจะมีกำไรสูงมากเช่นกัน