ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันจันทร์ที่ 29 มกราคม 2567 รองศาสตราจารย์ ดร.อัทธ์ พิศาลวานิช นักวิชาการอิสระและผู้เชี่ยวชาญเศรษฐกิจระหว่างประเทศ ที่ปรึกษาบริษัท อินเทลลิเจนท์ รีเสิร์ช คอนซัลแตนท์ (ไออาร์ซี) จำกัด เผยแพร่บทวิเคราะห์ ในหัวข้อ ”เอลนิโญ (El Nino) ทำชาวนาและเกษตรกร “หนี้ท่วม”… โดยมีสาระสำคัญที่น่าสนใจ..
1. ปี 2567 โลกร้อนขึ้น น้ำทำการเกษตรลดลง
ตั้งแต่ปี 2566 – 2575 เป็นต้นไป อุณหภูมิโลกเพิ่มขึ้นจาก 0.8 องศาเซลเซียส เป็น 1.2 องศาเซลเซียส และปี 2567 การเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิโลกเพิ่มมากกว่า 1 องศาเซลเซียส ส่งผลปริมาณน้ำของไทยในปี 2567 “ลดลง 4,025 ล้านลูกบาศก์เมตร” จากปี 2566 (สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ประเมิน ณ. 9-15 ม.ค. 2567) ทำให้น้ำใช้เพื่อการเกษตรลดลง ภาคเกษตรต้องการน้ำมากสุดคิดเป็น 80% ของการใช้น้ำทั้งหมดของประเทศ ส่งผลกระทบต่อต้นทุนการผลิตภาคเกษตร “ที่สูงอยู่แล้ว ยิ่งสูงขึ้นอีก” ชาวนาและเกษตรกรอื่นจะอยู่ยากลำบากมากขึ้นจาก “ต้นทุนที่เพิ่มขึ้นและรายได้ลดลง”
2. “1 ทศวรรษ” น้ำฝนลดลงมากกว่า 20%
ตั้งแต่ปี 2554 – 2566 ปริมาณน้ำฝนลดลงเฉลี่ยมากกว่า 20% ต่อปี โดยในช่วงปี 2554-2558 ลดลง 27% และช่วงปี 2559-2562 ลดลง 21.7% บริษัท IRC คาดว่าในปี 2567 ปริมาณน้ำฝนลดลง 5-15% (เมื่อเทียบกับปี 2566)
3. เอลนิโญ ทำผลผลิตข้าวเปลือกไทยลดลงมากสุดในอาเซียน
ปี 2567 บริษัท IRC ประเมินว่า ช่วง 30 ปีที่ผ่านมา (2538-2565) ในอาเซียนเกิดภาวะ El Nino หนัก 2 ครั้ง คือ ช่วงปี 2542 -2544 และช่วงปี 2556-2559 แต่ละช่วงทำให้ผลผลิตข้าวเปลือกอาเซียนลดลงอย่างมาก และปี 2567 ผลผลิตข้าวเปลือกไทย “ลดลงมากสุด 3.5 และ 5.1 ล้านตันในปี 2567 และ 2568” ตามลำดับ ตามด้วยผลผลิตข้าวเปลือกของอินโดนีเซีย เวียดนามและเมียนมา
4. ข้าว ปาล์มน้ำมัน ทุเรียน “3 กลุ่มเสี่ยงผลผลิตลดลงมากสุด”
ในจำนวน 5 พืชเศรษฐกิจของไทยคือ ข้าว ยางพารา ปาล์มน้ำมัน ทุเรียน และมันสำปะหลัง ในปี 2567 หาก “อุณหภูมิเพิ่มขึ้น 1% และปริมาณน้ำฝนลดลง 1%” ทำให้ผลผลิตข้าว ปาล์มน้ำมัน ทุเรียน ลดลงมากสุด โดยปี 2567 คาดว่าผลผลิตข้าวเปลือกลดลง 1.3 ล้านตัน ปาล์มน้ำมันลดลง 6 แสนตัน และทุเรียนลดลง 4.9 แสนตัน
5. เอลนิโญ ทำผลผลิตข้าวเปลือกลดลง 3 ปีติดต่อกัน
อัตราการขยายตัวการผลผลิตข้าวเปลือกไทยลดลงต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2564 จาก 10.9% เหลือ -9.2% ในปี 2567
6. เอลนิโญ ทำปริมาณส่งออกข้าวไทยลดลง ราคาข้าวไทยแพงสุด สต๊อกข้าวโลกลดลง 4 ปีติด
ปี 2567 เอลนิโญทำให้ปริมาณการผลิตข้าวเปลือกลดลง ส่งผลทำให้ไทยมีข้าวส่งออกลดลงจาก 8.5 ล้านตัน (2566) เหลือ 7.2 ล้านตันในปี 2567 เป็นอันดับสองของโลก ส่วนทิศทางราคาข้าวไทยในตลาดโลก “แพงสุดในโลก” และสต๊อกข้าวโลกลดลง 4 ปีติดต่อกัน คาดว่าสต๊อกข้าวลดลง 1% ทำให้ราคาข้าวโลกเพิ่ม 4% และราคาข้าวโลกปี 2567 อยู่ที่ 610-670 เหรียญ/ตัน
7. เอลนิโญ ทุเรียนและปาล์ม รายได้ลดลงมากสุด และข้าว ยางพารา รายได้ติดลบมากสุด
รายได้ต่อไร่ของชาวนา และชาวสวนยางพารา ติดลบมากสุด คือ -971 บาท/ไร่ และ -3,315 บาท/ไร่ แต่ รายได้ของชาวสวนทุเรียนลดลงมากสุด 21,932 บาท/ไร่ และปาล์มน้ำมัน 3,505 บาท/ไร่
8. เอลนิโญ ข้าว ยาง ปาล์ม หนี้เพิ่มมากสุด
เอลนิโญทำครัวเรือนเกษตรกรเป็น หนี้เพิ่มขึ้น โดยครัวเรือนชาวนามีหนี้เพิ่มมากสุดอยู่ที่ 298,530 บาท/ครัวเรือน ตามด้วยยางพารา 271,700 บาท/ครัวเรือน และปาล์ม มันสำปะหลังและทุเรียน ตามลำดับ
9. เอลนิโญทำหนี้ครัวเรือนเกษตรกรเพิ่ม 8 หมื่นล้านบาท
เอลนิโญ ทำหนี้ครัวเรือนเกษตรกรเพิ่มขึ้น 8% หรือ 8 หมื่นล้านบาท ทำให้หนี้ครัวเรือนเกษตรกรเพิ่มในปี 2567 (ไม่มีเอลนิโญ) ที่ 11.6 ล้านล้านบาท เป็น 11.7 ล้านล้านบาท (มีเอลนิโญ)
10. ปี 2567 “น้ำ ปัญหาใหญ่เกษตรกรไทย”
รัฐบาลต้องเร่งบริหารจัดการ และหาแหล่งน้ำเพื่อเกษตรกร “โดยด่วน” เช่น ระบบ Smart Water โดยใช้เทคโนโลยีน้ำน้อย ทำให้ดินชุ่มชื่น และโครงการ “1 น้ำ 1 เกษตรกร” เป็นต้น