“อุตตม” ควง “สันติ” นัดคุยเงียบ “ปลัด-ขรก.ระดับสูง” กระทรวงการคลัง เช็คฟีดแบ๊ก ก่อนเดินเข้าสู่เวทีแถลงนโยบายรัฐบาลต่อรัฐสภา เหตุหวั่นขัดกฎหมายทำรัฐบาลพัง! เผยมากกว่าวิพากษ์นโยบาย นั่นคือ วิจารณ์คุณสมบัติของคนที่จะนำนโยบายไปสู่การปฏิบัติจริง
ระหว่างรอลุ้นระทึก! กับพันธกิจสำคัญ...การแถลงนโยบายของรัฐบาล “ประยุทธ์ 2/1” ต่อหน้าสมาชิกรัฐสภา เพื่อให้ 500 ส.ส. และอีก 250 ส.ว. รับฟังแนวทางบริหารประเทศ ช่วงวันพฤหัสบดีที่ 25 และวันศุกร์ที่ 26 ก.ค. 62 ซึ่งโอกาสจะขยายไปจนถึงเช้าวันเสาร์ที่ 27 ก.ค. 62 เช่นที่ นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎรและประธานรัฐสภา (โดยตำแหน่ง) พร้อมเขย่งวันเพิ่มอภิปรายให้อีก 1 วัน...มีสูง
ทั้งภาคประชาชนและสื่อมวลชนเอง คงต้องตามเช็คข่าวและความเคลื่อนไหวของรัฐมนตรีที่อยู่ในความสนใจจากโลกโซเชียลมีเดีย โดยเฉพาะ จาก...ไอจี หรือเฟซบุ๊กส่วนตัวของรัฐมนตรีแต่ละคน
แม้จะเป็นการสื่อสารเพียงฝ่ายเดียว แต่ยังดีกว่า...ไม่รู้ข่าวสารและข้อมูลความเคลื่อนไหวใดๆ เลย
สำหรับสายข่าวที่เกี่ยวข้องกับนโยบายเศรษฐกิจ ทั้งในเชิงมหภาค (ระดับนโยบาย และเศรษฐกิจระหว่างประเทศ) และจุลภาค (การปฏิบัติและเศรษฐกิจระดับรองลงมา) อย่าง...กระทรวงการคลังนั้น ยามนี้..คงมิอาจคาดหวังการปฏิสัมพันธ์กับ “เจ้ากระทรวง” ไม่ว่าจะเป็น นายอุตตม สาวนายน รมว.คลัง และนายสันติ พร้อมพัฒน์ รมช.คลัง จนกว่าพันธกิจข้างต้นจะผ่านพ้นไป
กระนั้น เพื่อไม่ให้ข่าวสารความเคลื่อนไหว หลุดไปจาก “หน้าสื่อ” พวกเขาก็พร้อมจะใช้พื้นที่ในโลกโซเชียลมีเดีย สื่อสารกิจกรรมในตำแหน่งของตัวเอง
ล่าสุด นายอุตตม ควงคู่ นายสันติ นัดหมายผู้บริหารกระทรวงการคลัง จากหลายกรม หลากสำนัก ภายใต้การนำของ นายประสงค์ พูนธเนศ ปลัดกระทรวงการคลัง เมื่อช่วงสายของวานนี้ (23 ก.ค.62) ดังที่ปรากฏเป็นข่าวอยู่ในเฟซบุ๊กของตัวเอง ที่ชื่อ “ดร.อุตตม สาวนายน @Dr.UttamaSavanayana”
โดย รมว.คลัง คนล่าสุด ขึ้นหัวข้อของเรื่องว่า... “นโยบายการคลัง จะขับเคลื่อนประเทศในทุกมิติ”
ก่อนจะย้ำว่า...“วานนี้ ผมได้ร่วมหารือกับผู้บริหารและกระทรวงการคลัง เรื่องนโยบายรัฐบาลที่จะมีการแถลงต่อรัฐสภาในวันที่ 25 ก.ค. นี้ โดยเรื่องแผนปรับโครงสร้างภาษี ผมได้มอบหมายให้สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ทำการพิจารณาแล้ว
ด้านนโยบายมีทั้งระยะสั้นที่ใช้งบประมาณในปี 62 และแผนระยะยาวที่ต้องใช้งบ ปี 63 เพื่อเป้าหมายของการลดความเหลื่อมล้ำทั้งระบบ
สำหรับนโยบายเร่งด่วน เช่น ปัญหาปากท้องชาวบ้าน การจัดสินเชื่อให้เอื้อต่อการเข้าถึงของรายย่อย การยกระดับบัตรสวัสดิการแห่งรัฐและเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ คนพิการ ครอบคลุมไปยังกลุ่มมารดาตั้งครรภ์ และเด็กแรกเกิด เด็กเรียนเรียนดีแต่มีปัญหาด้านรายได้ครอบครัว การเร่งรัดพัฒนาระบบบริการสุขภาพ การเข้าถึงบริการทางการแพทย์ ลดความแออัดของโรงพยาบาลขนาดใหญ่
การปรับปรุงงบประมาณปี 63 เพื่ออัดเงินลงสู่ระบบเศรษฐกิจโดยเร็ว การยกระดับค่าแรงงานแรกเข้าระบบแรงงาน และปรับค่าแรงให้สอดคล้องกับการพัฒนาศักยภาพ ทักษะฝีมือแรงงาน
ขณะที่ระยะยาว ในส่วนนโยบายกระทรวงการคลัง ได้แก่ การดูแลวินัยการเงินการคลังอย่างเคร่งครัด โดยจะกำหนดสิทธิพิเศษทางภาษีของนักลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ การปรับโครงสร้างการจัดเก็บรายได้ภาครัฐ และปรับปรุงอัตราภาษีให้เหมาะสม ปรับปรุงภาษีรองรับยุคดิจิทัล เพื่อให้เอกชนมีศักยภาพในการแข่งขัน การจัดทำ Big data เพื่อการบริหารการเงินการคลัง
ด้านการออม ผลักดันให้ประชาชนทุกกลุ่มมีเงินออมระยะยาวรองรับวัยเกษียณ พัฒนาตลาดเงินตลาดทุน การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานรองรับเศรษฐกิจดิจิทัล เศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน เศรษฐกิจสีเขียว เศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ การปรับปรุงกฎหมายรองรับผู้ประกอบการใหม่
รวมไปถึงสานต่อเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) รองรับ ศูนย์กลางการบิน ศูนย์กลางการแพทย์ของเอเชีย เมืองอัจฉริยะ การยกระดับภาคเกษตรเชื่อมโยงกับอุตสาหกรรม การแก้ปัญหาที่อยู่อาศัย ที่ทำกิน เพื่อสร้างสังคมเอื้ออาทร สร้างความเข้มแข็งในชุมชน
สิ่งเหล่านี้จำเป็นจะต้องดำเนินการขับเคลื่อนทั้งระบบ เพื่อเร่งผลักดันให้เศรษฐกิจขับเคลื่อนและเติบโตอย่างยั้งยืน”
มองผิวเผินจากความข้างเดียวข้างต้น เหมือนว่า...2 รมต.คลัง จะเพียงนัดคุย ทำความรู้จัก พร้อมกับเกริ่นถึงนโยบายที่จะมีให้กับฝ่ายข้าราชการประจำ ได้เตรียมนำไปปฏิบัติ เพื่อให้เกิดสัมฤทธิ์ผลตามนโยบายที่เตรียมจะแถลงต่อรัฐสภา
ทว่า หลายคนยังอดสงสัยไม่ได้กับท่าทีของ 2 รมต.คลัง นั่นเพราะหลายนโยบายที่หาเสียงไว้ก่อนหน้านี้ เอาเข้าจริง...ไม่น่าจะทำได้ และเป็น นายอุตตมเอง ที่ออกไปแล้วว่า...บางเรื่องไม่เคยพูดตอนหาเสียง และบางเรื่องอาจจำต้องชะลอออกไปก่อน รวมถึงบางเรื่องอาจทำไม่ได้เลย
ดังนั้น การนัดหมายข้าราชการระดับสูงของกระทรวงการคลังรอบนี้ จึงมีนัยสำคัญบางประการแฝงอยู่ อย่างน้อยก็เพื่อ “ตรวจเช็ค” ถึงความเหมาะสมของนโยบายก่อนการแถลงต่อรัฐสภา พร้อมจัดเตรียมทีมงานในทุกมิติ ทั้งเชิงวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์และเชิงการปฏิบัติงานจริง รองรับการอภิปรายของฝ่ายค้าน
ปัญหาคือ หลายนโยบายของรัฐบาล “ประยุทธ์ 2/1” และจากพรรคการเมืองแกนนำรัฐบาล อันเป็น “ต้นสังกัด” ของ รมว.คลังนั้น มีบางนโยบายที่ยากจะเกิดขึ้นจริง และบางนโยบายที่ไม่เอื้อต่อแนวทางแก้ไขปัญหาตามที่เตรียมจะจัดแถลงนโยบายต่อรัฐสภา ที่สำคัญหลายนโยบาย ผลประโยชน์อาจไม่ได้ตกอยู่กับคนส่วนใหญ่ของประเทศ และไม่เกิดประโยชน์ต่อ “วงล้อเศรษฐกิจ” ในระยะยาวอย่างแท้จริง
รออีกเพียงไม่กี่วัน...คนไทยจะได้เห็น “ของจริง” ในวันแถลงและอภิปราย...นโยบายของ ของรัฐบาล “ประยุทธ์ 2/1” ซึ่งแน่นอนว่า...มันคงไม่หยุดเพียงแค่ตัวนโยบายว่า...จะทำได้จริงหรือไม่? หรือทำแล้วจะเกิดประโยชน์ต่อระบบเศรษฐกิจและคนรากหญ้าในสังคมไทยได้อย่างไร?
นั่นเพราะ...คุณสมบัติของรัฐมนตรี ตั้งแต่ระดับ “เบอร์ 1” จนถึงคนท้ายๆ ในกลุ่ม “36 รัฐมนตรี” ล้วนมีผลต่อการนำนโยบายไปปฏิบัติให้เกิดมรรคผลอย่างเป็นรูปธรรม
นโยบายไม่ดี...ต่อรัฐมนตรีมีคุณภาพ ก็ยากจะเข็นครกขึ้นภูเขา? และหากคุณสมบัติของรัฐมนตรีมีไม่ครบ หรือมีที่มาที่ไป...ขัดต่อข้อกฎหมาย ยิ่งจะเป็นเรื่องที่ยากมากขึ้นไปอีก และโอกาสที่จะนำพานโยบายไปแก้ไขปัญหา หรือสร้างโอกาสที่ดีแก่ผู้คนในสังคมไทย และระบบเศรษฐกิจของชาติ...ก็ยิ่งจะห่างไกลมากยิ่งขึ้น
อีกเพียง 2 วัน...คนไทยจะได้เห็นมากกกว่าการแถลงและอภิปรายนโยบายของรัฐบาลชุดใหม่นี้ เพราะมากกว่านั้น คือ...การขุดคุ้ยคุณสมบัติของผู้นำที่จะนำนโยบายที่ว่าไปปฏิบัติ เพื่อให้เกิดผลเป็นรูปธรรมจริง
อุณหภูมิในห้องประชุม “ชั่วคราว” รัฐสภา (ห้องประชุมใหญ่ บริษัท ทีโอที จำกัด ถ.แจ้งวัฒนะ) จะร้อนรุ่ม กระทั่งแผ่รังสีความร้อนออกนอกจอโทรทัศน์ ไปถึงผู้คนที่เฝ้าติดตามรับชม ผ่านการถ่ายทอดสดครั้งนี้...มากแค่ไหน?
อีกเดี๋ยวคงได้รู้กัน!!!
โดย กากบาทดำ