เปิดผลสำรวจสุขภาพสื่อไทยปี 66 พบยังติดลบ กว่าครึ่งยังต้องโหมทำงานหนัก เกิน 10 ชม.ต่อวัน 27% มีโรคประจำตัว ส่วนใหญ่เป็นภูมิแพ้ - เบาหวาน ด้านสมาคมวิชาชีพสื่อยอมรับสุขภาวะสื่อไทยติดลบ อนาคตสื่อยังไม่แน่นอน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าเมื่อวันที่ 6 ก.พ. 2567 ที่ผ่านมา มูลนิธิสื่อเพื่อสุขภาวะ (มสส.) ร่วมกับ สมาคมผู้สื่อข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย โดยการสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้จัดโฟกัส กรุ๊ป เรื่อง “สถานการณ์สุขภาวะสื่อมวลชนไทย ปี 2566” เพื่อนำเสนอผลการสำรวจสุขภาวะของสื่อมวลชน ในรอบปี 2566 ที่ผ่านมา มีข่าวเรื่องสื่อมวลชนประสบปัญหาด้านสุขภาพหลายกรณี บางกรณีถึงกับเสียชีวิตในที่ทำงานอย่างเช่นพนักงานด้านการบันทึกข้อมูลผังรายการโทรทัศน์ของ TNN ช่อง 16 แม้จะมีการระบุว่า มาจากสาเหตุกล้ามเนื้อหัวใจตาย แต่ด้านหนึ่งก็มาจากการทำงานหนักเกินไปมีเวลาพักผ่อนน้อย
นายอภิวัชร์ เกตุทัต ประธานมูลนิธิสื่อเพื่อสุขภาวะ (มสส.) แถลงผลการสำรวจสุขภาวะของสื่อมวลชนไทย ปี 2566 ผ่านการตอบแบบสอบถามของสื่อหนังสือพิมพ์ โทรทัศน์ วิทยุ และสื่อออนไลน์พบว่าสื่อมวลชน 73 % ไม่มีโรคประจำตัว ส่วนอีก 27% มีโรคประจำตัว ส่วนใหญ่เป็นโรคภูมิแพ้ 28.6% ตามมาด้วยโรคเบาหวาน 17.2% และโรคหอบหืด 5.7% เมื่อเปรียบเทียบกับผลการสำรวจปี 2565 พบว่ามีโรคประจำตัวเพิ่มขึ้น 5.4% สื่อมวลชน 77% มีการตรวจสุขภาพประจำปี ส่วนอีก 23% ไม่ได้ตรวจโดยให้เหตุผลว่า เป็นเรื่องส่วนตัวและมีปัญหาเรื่องค่าใช้จ่าย
ส่วนคำถามที่ว่า สื่อมวลชนไทยทำงานหนักแค่ไหน ส่วนใหญ่ 55.88% ทำงานวันละ 6-8 ชั่วโมงตามมาตรฐานการทำงานของวิชาชีพอื่นๆ รองลงมา 33.53% ทำงานวันละ 9-10 ชั่วโมง และมีสื่อมวลชน 9.41% ต้องทำงานมากกว่า 10 ชั่วโมงต่อวัน มีเพียงแค่ 1.18% เท่านั้น ที่ทำงานน้อยกว่า 6 ชั่วโมงต่อวัน ส่วนปัจจัยเสี่ยงต่อสุขภาพนั้น สื่อมวลชนส่วนใหญ่ 76.47% ไม่สูบบุหรี่ ส่วนการดื่มแอลกอฮอล์ พบว่า 52.4% ส่วนใหญ่เป็นการสังสรรค์และเข้าสังคม รองลงมา คือ ดื่มเพื่อความสนุกสนาน ด้านปัจจัยเสี่ยงเรื่องอุบัติเหตุ พบว่า สื่อมวลชนที่ขับและซ้อนจักรยานยนต์สวมหมวกกันทุกครั้ง 57.40% สวมบางครั้ง 37.87% และไม่สวมเลย 4.73% ในขณะที่การคาดเข็มขัดนิรภัยขณะขับขี่หรือโดยสารรถยนต์ พบว่า 87.57% คาดทุกครั้ง มีเพียง 12.43% เท่านั้นที่คาดบางครั้ง
นายมงคล บางประภา นายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย กล่าวถึงแนวทางการดูแลสุขภาพและสวัสดิภาพของสื่อมวลชนไทยว่า ระบบการดูสุขภาวะของสื่อมวลชนไทยโดยรวมยังไม่เคยมี และยังไม่มีหลักประกันมากนัก อย่างมากที่สุดก็แค่การดูแลในระดับพื้นฐานคือประกันสุขภาพและการประกันชีวิต นอกจากนี้ ยังประสบปัญหาไม่มีการขึ้นค่าตอบแทน ปลดออก เลิกจ้าง คนทำงานสื่อที่มีประสบการณ์หลายคนต้องไปประกอบอาชีพอื่น เช่น ขับรถแท็กซี่ ทำให้มีมีแรงกดดันด้านสุขภาพจิตจนเป็นที่มาของสุขภาพกาย ส่วนความพยายามของคนทำงานด้านสื่อมวลชนในช่วงที่ผ่านมา เคยมีข้อเสนอและมีความพยายามผลักดันให้เกิดการจัดตั้งสหภาพแรงงานกลางสื่อมวลชนของไทยเพื่อปกป้องดูแลสื่อ แต่ก็ยังไม่มีน้ำหนักและยังไม่มีความเป็นรูปธรรม เพราะสำนักข่าวต่างๆ ไม่ได้ให้ความสำคัญและไม่ให้การสนับสนุน ดังนั้น ในความเห็นส่วนตัวของตน คือ สุขภาวะของสื่อมวลชนไทยทั้งสุขภาวะทางด้านจิตใจและสุขภาวะทางกายล้วนแต่ติดลบ
ด้านสื่อมวลชนร่วมเสนอแนะและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นว่า ปัจจุบันมีสื่อมวลชนที่ประสบปัญหาจากการเปลี่ยนแปลงระบบนิเวศน์ของสื่อได้หันมาทำสื่อออนไลน์มากขึ้น แต่สื่อเหล่านี้ไม่ได้รับการดูแลด้านสวัสดิภาพและสวัสดิการ จึงอยากให้สมาคมวิชาชีพสื่อได้เข้ามาดูแลปัญหาเหล่านี้ด้วย โดยเฉพาะมีสื่อโทรทัศน์ที่ทำงานตั้งแต่ตีหนึ่งถึงเช้าเพื่อเตรียมรายการข่าวเช้าของแต่ละสถานีเชื่อว่ามีไม่ต่ำกว่า 100 คน ที่มีปัญหาสุขภาพ นอกจากนี้ ยังมีข้อเสนอให้มูลนิธิสื่อเพื่อสุขภาวะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพและสมาคมวิชาชีพสื่อได้ร่วมมือกันแก้ไขปัญหาดังกล่าวพร้อมกับเสนอให้สื่อมวลชนที่ประสบความสำเร็จได้หันกลับมาดูแลนักข่าวและคนทำสื่อที่ประสบความเดือดร้อนที่มีปัญหาสุขภาพด้วย โดยอาจจะมีการตั้งกองทุนเพื่อดำเนินการในเรื่องนี้