อ่านรายงาน ป.ป.ช. ที่ส่งแฟ้ม Digital Wallet คืนกลับไปให้รัฐบาลพิจารณาประกอบการดำเนินนโยบายแจกเงิน 10,000 บาท ผ่านDigital Wallet ก็ได้แต่ปลง ไม่รู้ว่าเป้าหมายที่แท้จริงของ ป.ป.ช.น้ันคืออะไรกันแน่?
เอาเป็นว่า ขนาด “ยัยไหม- ศิริกัญญา ตันสกุล” รมต.คลัง(เงา)ของพรรคก้าวไกล ยังออกมาสัพยอกว่า “เสียเวลา” จริงๆ ทำโครงการดีเลย์ไปโดยเปล่าประโยชน์ แทนที่รัฐบาลจะเร่งประชุมหารือคณะกรรมการชุดใหญ่เพื่อพิจารณาว่า จะดำเนินโครงการนี้ด้วยวิธีใดมากกว่าไปฟังรายงานที่มีแต่เปิดช่องให้ “นักร้อง” กระซวกรัฐบาล
แถมบางข้อเสนอก็ออกจะทำเกินหน้าที่ อย่างที่ไปเสนอแนะให้แจกเฉพาะกลุ่มเปราะบาง คนยากจนผู้มีรายได้น้อย ซึ่งต้องกลับไปดูว่าวัตถุประสงค์โครงการดิจิทัล วอลเล็ตนี้คืออะไร เพราะแต่ละโครงการมีความแตกต่างกัน
เมื่อพลิกไปดูแฟ้มรายงานที่ ป.ป.ช. ส่งมาก็ได้แต่อึ้งกิมกี่ ไม่คิดก็ต้องคิด นี่ ป.ป.ช. กำลังจะ “เปิดถ้วยแทง(ข้างหลัง)” หรือไม่?
1. โครงการมีความเสี่ยงต่อการทุจริต ทั้งทุจริตเชิงนโยบาย และการทุจริตจากกลุ่มเป้าหมายที่ได้รับจากโครงการ
2. ความเสี่ยงทางเศรษฐกิจ การกระตุ้นเศรษฐกิจในขณะที่การขยายตัวทางเศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะสมดุล ยังไม่ถึงขั้นวิกฤต การจะดำเนินโยบายที่มีวัตุประสงค์ช่วยเหลือประชาชนควรจัดลำดับความสำคัญ พิจารณากลุ่มเป้าหมายที่ต้องการความช่วยเหลือ
3. ความเสี่ยงด้านกฎหมาย รัฐบาลต้องตระหนักและระมัดระวังการดำเนินโยบายที่จะไม่ไปขัดแย้งรัฐธรรมนูญและกฎหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
ส่วนข้อเสนอแนะ 8 ข้อ ที่ ป.ป.ช. ชงเสนอแนะมานั้น ยิ่งอ่านก็ยิ่งมึนว่า เป็นข้อเสนอแนะหรือชี้โพรงให้กระรอก นักร้องได้เตรียมแฟ้มไว้ร้องแหกกระเชอกันแน่!
1. รัฐบาลควรชี้แจงความชัดเจนการดำเนินโยบาย Digital Wallet ว่า ใครเป็นผู้ได้รับประโยชน์จากโครงการ จะไม่ตกแก่ นักการเมือง พรรคการเมือง หรือคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง หรือผู้ประกอบการรายใหญ่ ได้ประโยชน์มากกว่ารายย่อย
2. เสนอแนะให้ กกต.ควรตรวจสอบนโยบายหาเสียงของพรรคเพื่อไทยต่อโครงการนี้ที่ "ไม่ตรงปก" การดำเนินโครงการหลังเป็นรัฐบาลไม่เป็นไปตามที่ได้หาเสียงไว้ เพื่อเป็นบรรทัดฐานหาไม่แล้วพรรคการเมืองอื่น ๆ อาจเจริญรอยตาม
3. รัฐบาลควรศึกษาความเหมาะสมคุ้มค่า จากการดำเนินนโยบายดิจิทัลวอลเล็ต พิจารณาผลดี และผลเสียจากการที่ต้องกู้เงินถึง 5 แสนล้านมาดำเนินโครงการ ขณะที่ตัวคูณทางเศรษฐกิจมีเพียง 0.4 แต่สร้างภาระหนี้ไว้ให้แก่ รบ. และประชาชน ต้องใช้เวลาถึง 4-5 ปีกว่าจะชำระหนี้ได้หมด กระทบต่อการลงทุนภาคอื่นๆ
4. รัฐบาลควรพิจารณาประเด็นความเสี่ยงด้านกฎหมายต่อการดำเนินนโยบายดังกล่าวอย่างรอบด้าน ทั้งต่อ รธน. พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง ...
……
8. หากรัฐบาลมีความจำเป็นต้องกู้เงินมาช่วยเหลือประชาชน น่าจะเลือกแนวทางช่วยเหลือกลุ่มเปราะบาง โดยใช้เงินงบประมาณปกติจะเหมาะสมกว่า โดยช่วยเหลือผ่านแอปเป๋าตังค์ ที่มีประสิทธิภาพ และมีความพร้อม อยู่แล้ว อันจะลดความเสี่ยงต่อการกู้เงินจนสร้างภาระ เสี่ยงจะขัดรัฐธรรมนูญและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
นี่ใช่ข้อเสนอแนะแน่หรือ หรือว่า คือการเปิดถ้วย(ให้) แทง(ข้างหลัง)กันแน่???
แก่งหิน เพิง