อ่านรายงานคณะกรรมการ ป.ป.ช.ที่ส่งแฟ้มหารือคืนกลับไปให้รัฐบาลไปพิจารณาประกอบการดำเนินนโยบายแจกเงินหมื่นผ่านโครงการ Digital Wallet แล้ว ก็ได้แต่เหนื่อยใจแทน ไม่รู้จะเป็นข้อเสนอแนะเชิงป้องปรามเพื่อประโยชน์ของรัฐบาลในการพิจารณาดำเนินโครงการ หรือเป็นการ “ กระตุกเบรก”สกัดกั้นการดำเนินโครงการหรือนโยบายของรัฐบาลโดยตรง
…
เอาเป็นว่าขนาด “ศิริกัญญา ตันสกุล” รมต.คลัง(เงา)ของพรรคก้าวไกล ยังออกมาสัพยอกว่า “เสียเวลา” ทำให้โครงการดีเลย์ไปโดยเปล่าประโยชน์ แทนที่รัฐบาลจะเร่งประชุมคณะกรรมการชุดใหญ่ เพื่อสรุปว่าจะเดินหน้าโครงการนี้ด้วยวิธีใด ดีกว่าจะไปฟังรายงานที่มีแต่เปิดช่องให้ “นักร้อง” กระซวกไส้รัฐบาล ทำให้โครงการล่าช้า..
แถมบางข้อเสนอก็ออกจะทำเกินหน้าที่ อย่างเรื่องที่ไปเสนอแนะให้แจกเฉพาะกลุ่มคนเปราะบาง กลุ่มคนยากจนผู้มีรายได้น้อย ซึ่งต้องกลับไปดูว่า วัตถุประสงค์โครงการดิจิทัลวอลเล็ตนี้คืออะไร เพราะแต่ละโครงการมีความแตกต่างกัน บางนโยบายอาจไม่ได้เจาะจงเฉพาะกลุ่มคนเปราะบาง
เห็นแล้วก็ให้นึกย้อนไปถึงเรื่องที่ คณะกรรมการ ป.ป.ช. ก็เคยจัดทำรายงานผลการศึกษาในลักษณะเดียวกัน กรณีโครงการก่อสร้างอาคารผู้โดยสารส่วนเหนือ หรือ North Expansion Terminal ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (ทสภ.) ของบริษัทท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ AOT วงเงินกว่า 42,000 ล้านบาท ที่ฝ่ายบริหาร AOT และกระทรวงคมนาคมประกาศจะเดินหน้าก่อสร้างควบคู่ไปกับการขยายอาคารผู้โดยสารเดิมในแผนด้านตะวันออกและตะวันตก จนได้ชื่อว่าเป็น “เทอร์นิมัล ตัดแปะ” เพราะเป็นโครงการที่อยู่นอก Master Plan
โดย ป.ป.ช. เห็นว่า ทอท. ควรชะลอการก่อสร้างเทอร์มินัลด้านทิศเหนือ (North Expansion) วงเงินลงทุน 4.2 หมื่นล้านบาท และควรหันไปเร่งดำเนินการก่อสร้างส่วนต่อขยายอาคารผู้โดยสารด้านทิศตะวันออก (East Expansion) ตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 24 ส.ค. 2553 ซึ่งเป็นไปตามแผนแม่บทเดิมโดยเร็ว เพื่อให้สอดคล้องกับอาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1 ที่กำลังจะเปิดให้บริการในปี 2565
และควรดำเนินโครงการก่อสร้างส่วนต่อขยายอาคารผู้โดยสารด้านทิศตะวันตก (West Expansion) ในคราวเดียวกัน เพื่อให้สนามบินสุวรรณภูมิสามารถรองรับผู้โดยสารได้สูงสุด 75 ล้านคนต่อปี เพื่อลดความแออัดของอาคารผู้โดยสารปัจจุบัน
แม้สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) จะออกโรงทักท้วงไม่เห็นด้วยกับโครงการถึง 2 ครั้ง เนื่องจากผิดไปจากแผนแม่บทมาสเตอร์แพลนที่กำหนดให้มี 2 เทอ์มินัลเท่านั้น คือ อาคารผู้โดยสาร 1 (เทอร์มินัล 1) ด้านทิศเหนือ ใกล้มอเตอร์เวย์ และอาคารผู้โดยสาร 2 (เทอร์มินัล 2) ด้านทิศใต้ ฝั่งถนนบางนา-ตราด และหาก ทอท.จะขยายขีดความสามารถของสนามบินก่อนการก่อสร้างเทอร์มินัล 2 ก็ให้ไปดำเนินการขยายเทอร์มินัล 1 ด้านตะวันออกและตะวันตกที่อยู่ในมาสเตอร์แพลนเดิม รวมทั้งก่อสร้างอาคารเทียบเครื่องบินรอง หรือ Sattellite-1 ระหว่าง 2 เทอร์มิทัล
ก่อนที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. จะตั้งคณะทำงานศึกษาโครงการดังกล่าว และนำเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2564 โดยที่ประชุม ครม.ที่มี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ นั่งหัวโต๊ะ ได้เห็นชอบกับรายงานผลศึกษาดังกล่าวที่เห็นควรให้กระทรวงคมนาคมกลับไปดำเนินการทบทวนการก่อสร้างให้เป็นไปตามแนวทางที่ สศช. และมติคณะรัฐมนตรีเมื่อปี 2557 กำหนดไว้
แต่กระนั้น ทอท. และกระทรวงคมนาคม กลับไม่สนเสียงทักท้วง ยังคง “ดั้นเมฆ” ลุยกำถั่ว “เทอร์มินัล(ตัดแปะ)” ที่ว่านี้ต่อไป โดยอ้างความเห็นชอบของคณะกรรมการบริหารท่าอากาศยานสากลกรุงเทพแห่งที่ 2 ที่มี นายอนุทิน ชาญวีระกุล รองนายกฯ และรมว.สาธารณสุข เป็นประธาน
และแม้ 12 องค์กรวิชาชีพด้านวิศวกรรม ที่นำโดย สมาคมสถาปนิกสยามฯ รวมทั้งองค์การต่อต้านคอร์รัปชั่น (ประเทศไทย) หรือ ACT ที่นายกฯ และรัฐบาลเรียกร้องให้ทุกฝ่ายให้ความร่วมมือจะร่วมออกโรงทัดทานกันอย่างไร แต่ ทอท. ก็ยังคงประกาศเดินหน้าก่อสร้าง เทอร์มินัลตัดแปะ ที่ว่านี้ ชนิดที่เรียกว่า “ช้างทั้งโขลงก็รั้งไม่อยู่”
หากไม่เพราะประเทศเผชิญวิกฤตไวรัสโควิด-19 ในข่วงปี 2563-65 จนกระทบต่อเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและการบินทั่วโลก รวมทั้งประเทศไทยแล้ว วันนี้โครงการก่อสร้างเทอร์มินัลตัดแปะมูลค่ากว่า 42,000 ล้าน ของ ทสภ. คงแล้วเสร็จหรืออยู่ระหว่างก่อสร้างไปแล้ว
ก่อนที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. จะหันมาตั้ง “คณะกรรมการเพื่อศึกษาและดำเนินการรับฟังความเห็นเกี่ยวกับนโยบายรัฐบาล กรณีการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet” เพื่อศึกษารายละเอียด ผลกระทบ และความเสี่ยงต่อความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นจากการดำเนินโครงการดังกล่าว และจัดทำรายงานลการศึกษา ตลอดจนข้อเสนอแนะจำนวน 8 ข้อที่กำลังเป็นประเด็นถกเถียงของสังคมอยู่เวลานี้
ที่คาใจและเชื่อว่าสังคมก็คงไม่เข้าใจบทบาทของ ป.ป.ช. ต่อกรณีการหยิบยกเรื่องที่เป็นประเด็นร้อนของสังคมขึ้นมาดำเนินการศึกษา และจัดทำรายงานเพื่อป้องปรามการทุตริตในลักษณะนี้ หากไม่มี “วาระซ่อนเร้น” ไม่มีเบื้องหน้าเบื้องหลัง หรือรับใบสั่งใครมาเป็นพิเศษแล้ว
งั้นคณะกรรมการ ป.ป.ช. ก็ช่วยตอบทีว่า โครงการประมูลหาเอกชนเข้าร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้า สายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ -สุวินทวงศ์ (มีนบุรี) วงเงินลงทุนกว่า 1.42 แสนล้านบาท ที่ “การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.)” ดำเนินการไปกว่า 3 ปีแล้วยังคืบหน้าไปถึงไหนยังไม่สามารถดำเนินการประมูลให้ลุล่วงลงไปได้
โครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีส้ม สวนตะวันออก (ศูนย์วัฒนธรรม-มีนบุรี) ที่แม้จะก่อสร้างแล้วเสร็จไปตั้งแต่ปลายปี 65 แต่ประชาชนผู้โดยสารต้อง “หาวเรอรอ” ที่จะใช้บริการโครงการดังกล่าว เพราะต้องรอผลการประมูลโครงการที่ รฟม. ตั้งแท่นจะนำเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาให้ความเห็นชอบตั้งแต่ปลายปี 2565 ผ่านมาวันนี้กว่า 1 ปี 5 เดือนเข้าไปแล้ว
รวมทั้งมีการออกมาแฉโพยการประมูลที่เต็มไปด้วยความอื้อฉาว มีการร้องเรียน และฟ้องร้องกันนัวเนียในชั้นศาลมาไม่รู้กี่สิบคดี รวมทั้งยังมีคดีความที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) ดำเนินการสอบสวนส่งแฟ้มสอบสวนไปให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ไปดำเนินการไล่เบี้ยผู้เกี่ยวข้องกับกรณีฮั้วประมูลตั้งแต่ปีก่อน และกำลังดำเนินการเปิดแฟ้มสอบสวนใหม่ขึ้นมาอีกคดี
โครงการที่อาจเรียกได้ว่า วันนี้ก่อให้เกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจแก่ประเทศชาติไปแล้วนับหมื่นล้าน หรือหลายหมื่นล้านจากความล่าช้าในการดำเนินการ โครงการที่รัฐบาลชุดก่อนที่แม้จะมีนายกฯ ที่ได้ชื่อว่ามือสะอาดที่สุดใน 3 โลก ยังไม่กล้าเคาะโต๊ะให้ความเห็นชอบ
สิ่งเหล่านี้ยังไม่อื้อฉาวเพียงพอ ยังไม่เป็นประเด็นร้อนของสังคมและของประเทศเพียงพอที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. จะหยิบยกเรื่องขึ้นมาพิจารณาไต่สวน หรือดำเนินการศึกษามาตรการป้องกันการทุจริตกรณีโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มอีกหรือ?
นอกจากไม่คิดจะตั้งคณะกรรมการขึ้นไต่สวนและตรวจสอบโครงการแล้ว แม้แต่แฟ้มผลสอบสวนคดีฮั้วประมูลโครงการที่ “ดีเอสไอ” ส่งไปให้ ป.ป.ช. ขยี้ไล่บี้ต่อ หรือที่ใครต่อใครร้องแรกแหกกระเชอกันท่วมโซเชียล ป.ป.ช. ก็ยังไม่เคยหยิบยกขึ้นมาไต่สวน หรือคิดจะตั้งกรรมการขึ้นไต่สวน
ทำให้ผู้คนในสังคมอดคิดไม่ได้ว่านี่คณะกรรมการ ป.ป.ช. เห็นชอบไปกับขบวนการฮั้วประมูลเหล่านี้ด้วยหรือไม่อย่างไร?
จึงเอาแต่ “ปก -ปิด-แช่” ประเด็นร้องเรียนและแฟ้มสอบสวนเหล่านี้เอาไว้ แบบรอให้ศาลมีคำพิพากษาอย่างหนึ่งอย่างใดออกมาแล้วค่อยมาเก็บเกี่ยวผลประโยชน์
แบบว่า หากศาลตัดสินว่าผิด (ก็) ผิดด้วย หากตัดสินว่าไม่มีมูลก็คงจะมั่วนิ่วผสมโรงว่า คดีร้องไม่มีมูลไปด้วยว่างั้นเถอะ จริงไม่จริงท่านประธานคณะกรรมการ ป.ป.ช. ที่เคารพ!!!