หลายสิ่งกำลังท้าทาย “อำนาจรัฐ” และ “อำนาจรัฐ” เองก็อาจกำลังท้าทาย “ความอยู่รอดของตัวเอง” เช่นกัน! กับเสียงทักท้วงจาก ป.ป.ช. น่าสนใจว่า “รัฐบาลเศรษฐา” จะไปยังไงต่อ? หากหยุด! ย่อมกระทบการเลือกตั้งครั้งหน้า แต่หากจะไปต่อ อนาคตจะมีชะตากรรมเฉกเช่น “รัฐบาลยิ่งลักษณ์” หรือไม่? อาการ “ว้าวุ่น” ของทีมกุนซือรัฐบาล การหาทางออกให้กับเรื่องนี้ จะเป็นเช่นใด? คนไทยยังต้องลุ้นกันต่อไป
..............
น่าเห็นใจ รัฐบาลที่มีพรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำ และ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ยิ่งนัก! เป็น รัฐบาล...บริหารประเทศมาได้ราว 6 เดือน แต่ต้องเผชิญสารพัดปัญหา...จน “ไปต่อไม่เป็น” ในหลากหลายประเด็นอย่างต่อเนื่อง
หากยังจำได้... นอกจากจะไม่มีเงินงบประมาณปี 2567 ให้ใช้ได้ตามปกติ เนื่องเพราะเกิดความล่าช้าในการจัดทำงบประมาณแผ่นดิน อันเป็นมาจากการจัดตั้ง “รัฐบาลชุดใหม่” ภายหลังการเลือกตั้งครั้งล่าสุดที่เกิดความล่าช้า
ว่ากันว่า... เร็วสุด หาก “รัฐบาลเศรษฐา” จะได้ใช้งบประมาณจำนวน 3.48 ล้านล้านบาท คงหลังสิ้นเดือนเมษายน 2567 ไปแล้ว
การไม่มีงบประมาณในมือให้ใช้ ทำให้ “รัฐบาลเศรษฐา” ไม่อาจขับเคลื่อนนโยบายหรือโครงการใดๆ โดยเฉพาะโครงการลงทุนเพื่อการกระตุ้นกำลังซื้อของประชาชนและการกระตุ้นเศรษฐกิจ ที่ทำได้คือการออกนโยบายในส่วนที่ไม่เกี่ยวกับการใช้จ่ายงบประมาณ ไปพรางๆ ก่อนเท่านั้น
“เรื่องของมาตรการที่รัฐบาลพยายามช่วยเหลือประชาชน เป็นการบรรเทารายจ่ายให้กับประชาชน แต่ขณะนี้รัฐบาลไม่มีงบประมาณที่สามารถใช้จ่ายได้ เนื่องจากงบประมาณปี 2567 ต้องรอเดือนพฤษภาคมก่อน ขณะนี้รัฐบาลขับเคลื่อนช่วยประชาชนได้เพียงแค่นโยบายอย่างเดียว ทั้งเรื่องวีซ่าฟรี นโยบายการกระตุ้นการลงทุน จากบริษัทข้ามชาติที่พยายามเข้ามาลงทุน ดังนั้น จึงต้องการให้เกิดการลงทุน และกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น ซึ่งการลดดอกเบี้ยถือเป็นเรื่องสำคัญ เพราะเป็นภาระของค่าใช้จ่าย ซึ่งหากลดดอกเบี้ย อัตราการเกิดเงินเฟ้อก็แทบจะไม่มีความเสี่ยง”
นั่นยืนยันชัดเจนจากคำพูดข้างต้นของ นายเศรษฐา เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2567
การถูกปฏิเสธจาก “คณะกรรมการไตรภาคี” ในเรื่องการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ เมื่อต้นเดือนธันวาคม 2566 คือ เรื่องแรกๆ ที่ท้าทายอำนาจรัฐบาล
กับ 2 เรื่องล่าสุด สดๆ ร้อนๆ ที่ดูเหมือนจะ “สั่นคลอน” อำนาจรัฐบาล โดยเฉพาะ “ตัว - นายกฯเศรษฐา” (นี่ยังไม่นับรวมความเห็นจากคณะกรรมการกฤษฎีกา ที่เคยให้ไว้ กรณีรัฐบาลเตรียมออกเป็น พ.ร.บ.กู้เงิน 5 แสนล้านบาท เพื่อนำมาใช้ในโครงการแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท ที่แม้จะไม่ได้ห้าม แต่ก็ส่งสัญญาณ ระมัดระวังทางข้อกฎหมาย) นั่นก็คือ...
เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2567 หลังจากที่ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ในกำกับดูแลของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ไม่สนใจคำทักท้วงจาก “ผู้นำรัฐบาล” ที่ส่งสัญญาณเตือนในเรื่องการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25%
วลี “เรื่องความเห็นต่างและทิฐิ” ดูไม่มีความหมายในความคิดของ กนง. นั่นจึงนำมาซึ่งการประกาศคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ในระดับเดิมที่ 2.5%
ตามกันมาติดๆ ในวันเดียวกัน รอบนี้เป็น “มิชชั่น” ของสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) โดย นายนิวัติไชย เกษมมงคล เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. ที่ได้แถลงข่าวถึงความคืบหน้าเรื่อง นโยบายแจกเงินดิจิทัลวอลเลตของรัฐบาล ภายหลังจาก ที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติเห็นชอบให้ส่งผลการศึกษาเพื่อป้องกันการทุจริตเกี่ยวกับนโยบายรัฐบาล กรณีการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเลต (Digital Wallet) ไปยังรัฐบาลและเป็น ประธานกรรมการ ป.ป.ช. ที่ได้ลงนามแล้ว เพื่อเรียนนายกรัฐมนตรี ประกอบการตัดสินใจดำเนินโครงการต่อไป
เรื่องหลังนี้...ดูจะ “ขัดใจ” ของใครหลายคนใน “รัฐบาลเศรษฐา” สุดๆ เพราะดูเสมือนว่า ป.ป.ช. กำลังส่งสัญญาณเตือน และ “บล็อก” การดำเนินโครงการของรัฐบาล อันมีพื้นฐานมาจากนโยบายหาเสียงเลือกตั้งที่ผ่านมา
แต่ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของ กนง. ที่คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ในระดับเดิม 2.5% หรือเรื่อง ป.ป.ช. แถลงเตือนว่า โครงการแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท มีโอกาสเสี่ยงที่อาจนำไปสู่การทุจริตเชิงนโยบาย กลุ่มเป้าหมายเอื้อเจ้าสัวธุรกิจขนาดใหญ่ และอาจเสี่ยงต่อการขัดกฎหมาย โดยที่เศรษฐกิจของไทยยังไม่อยู่ในภาวะ “วิกฤติ” แต่อย่างใด
ทว่าดูเหมือน แนวคิดของทั้ง 2 องค์กร “เบอร์ต้นๆ” ทั้ง กนง. (ธปท.) และ ป.ป.ช. ล้วนเกี่ยวพันในเชิงลบต่อโครงการแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาทไปเต็มๆ
นาทีนี้ น่าสนใจว่า...“รัฐบาลเศรษฐา” จะทำอย่างไร? กับโครงการแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท และที่สำคัญ “คำเตือน” จาก ป.ป.ช. จำเป็นที่ “รัฐบาลเศรษฐา” จะต้องเชื่อและปฏิบัติตามในระดับใด?
เชื่อและทำตามทั้งหมด! เพื่อหลีกเลี่ยงประเด็นที่อาจนำไปสู่การกระทำที่ผิดกฎหมาย เหมือนเช่นที่ “รัฐบาลยิ่งลักษณ์” เคยประสบปัญหามาแล้วกับโครงการรับจำนำข้าวตันละ 15,000 บาท
หรือใช้กลวิธี “ไปต่อ..แต่ขอลดไซส์โครงการลงฯ”
ก่อนจะไปหาคำตอบนี้จาก “รัฐบาลเศรษฐา” เราลองไปดูกันที่สาระสำคัญของ เอกสารผลการศึกษาเพื่อป้องกันการทุจริตนโยบายเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ตไปยังรัฐบาล กันก่อน...
กับ 4 ประเด็นหลักที่สำคัญ + 8 ข้อเสนอจาก ป.ป.ช. ที่รัฐบาลควรตระหนักรู้ก่อนทุกอย่างจะสายเกินแก้ เริ่มจาก 4 ประเด็นที่ว่านี้ คือ...
1. ประเด็นความเสี่ยงต่อการทุจริต อาทิ ประเด็นความเสี่ยงต่อการทุจริตเชิงนโยบาย ความเสี่ยงต่อการทุจริตจากกลุ่มเป้าหมายที่ได้รับเงินจากโครงการฯ
2. ประเด็นความเสี่ยงด้านเศรษฐกิจ การดำเนินนโยบายของรัฐบาลที่มีวัตถุประสงค์เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ในขณะที่การขยายตัวทางเศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะสมดุล จะต้องคำนึงถึงความคุ้มค่าและมีความจำเป็น ตลอดจนผลกระทบ และภาระทางการเงิน การคลังในอนาคต
3. ประเด็นความเสี่ยงด้านกฎหมาย กล่าวคือ การดำเนินโครงการภายใต้แนวนโยบายดังกล่าว รัฐบาลจะต้องตระหนัก และใช้ความระมัดระวังอย่างเคร่งครัดและรอบคอบภายใต้บทบัญญัติของกฎหมายที่ให้อำนาจไว้ รวมทั้งแนวปฏิบัติที่ชัดเจน โปร่งใส ปราศจากการทุจริตและประพฤติมิชอบ
4. ประเด็นอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ เทคโนโลยีบล็อกเชน (Blockchain) และประเด็นเกี่ยวกับการกำหนดนโยบายของพรรคการเมือง
และอีก 8 ข้อเสนอ ประกอบด้วย...
1. รัฐบาลควรศึกษาโครงการ ชี้แจงความชัดเจนอย่างเป็นรูปธรรม ผู้ได้รับประโยชน์จากโครงการจะไม่ตกแก่พรรคการเมือง นักการเมือง ผู้ประกอบการรายใหญ่
2. การหาเสียงสิ่งที่พรรคเพื่อไทยแถลงนโยบายต่อรัฐสภา ในโครงการดังกล่าวมีความแตกต่างกัน สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ควรตรวจสอบว่าขัดรัฐธรรมนูญ และ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองหรือไม่ ให้เป็นบรรทัดฐานพรรคการเมืองหาเสียงแล้วไม่ปฏิบัติตามที่หาเสียงไว้
3. โครงการดิจิทัลวอลเล็ตควรคำนึงถึงความคุ้มค่า ความจำเป็นในการกระตุ้นเศรษฐกิจ ตลอดจนผลกระทบภาระทางการเงิน การคลังในอนาคต ต้องพิจารณาระหว่างผลดี ผลเสียการกู้เงิน 500,000 ล้านบาท ที่สร้างภาระหนี้แก่รัฐบาลและประชาชนระยะยาว
4. ความเสี่ยงด้านกฎหมาย
5. ความเสี่ยงการดำเนินโครงการอย่างรอบด้าน กำหนดมาตรการบริหารความเสี่ยงและการป้องกันทุจริต มีกระบวนการตรวจสอบทั้งก่อนระหว่างและหลังการดำเนินโครงการ ให้โครงการดำเนินการได้อย่างโปร่งใส
6. การนำเทคโนโลยีบล็อกเชนมาใช้กับโครงการ ครม.ควรพิจารณาถึงความจำเป็นความเหมาะสม ระยะเวลา และงบประมาณที่ต้องใช้พัฒนาระบบให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์และระยะเวลาในโครงการ ที่เป็นการแจกเงินเพียงครั้งเดียวให้ใช้จ่ายภายใน 6 เดือน
7. ความเจริญเติบโตประเทศไทยยังไม่ถึงขั้นประสบภาวะวิกฤตเศรษฐกิจเพียงแต่ชะลอตัว ดังนั้น การกระตุ้นเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างมีเสถียรภาพ ควรพิจารณาให้ความสำคัญต่อโครงสร้างทางเศรษฐกิจ โครงการช่วยเหลือประชาชนภายใต้เศรษฐกิจที่ไม่เข้าขั้นวิกฤติ ควรพิจารณากลุ่มเป้าหมายที่เปราะบางสุด อาทิ กลุ่มมีรายได้ต่ำกว่าเส้นความยากจน
8. รัฐบาลควรช่วยเหลือกลุ่มประชาชนที่มีฐานะยากจน เปราะบาง ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ โดยแจกจากแหล่งเงินงบประมาณปกติ มิใช่เงินกู้ตาม พ.ร.บ.เงินกู้ และจ่ายในรูปเงินบาทปกติในอัตราที่เหมาะสม เพื่อพยุงการดำรงชีวิตประชาชนที่ยากจน โดยกระจายจ่ายเงินเป็นงวดๆ ผ่านแอปเป๋าตังที่มีประสิทธิภาพ มีฐานข้อมูลครบ หากใช้แหล่งเงินงบประมาณปกติจะลดความเสี่ยงการขัดรัฐธรรมนูญขัด พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง พ.ร.บ.เงินตรา และไม่สร้างภาระหนี้สาธารณะประเทศระยะยาว
“สำนักข่าวเนตรทิพย์” หยิบเอามาให้อ่านกันเต็มๆ เพราะเชื่อว่า...สิ่งนี้ อาจจะกลายเป็นอีกหน้าประวัติศาสตร์สำคัญของการเมืองไทยในอนาคต
คราวนี้ เราลองไปสำรวจความเห็นต่อปรากฏการณ์ข้างต้นจากคนในฝั่งรัฐบาลกันบ้าง โดยเฉพาะ “เบอร์ 1 – นายกฯ เศรษฐา” ที่ได้ให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวถึงประเด็นนี้...
ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง...หน้าที่ของ ป.ป.ช. ที่จะต้องตรวจสอบทุจริตประพฤติมิชอบ ไม่ควรเกี่ยวข้องกับการขับเคลื่อนนโยบาย โดยเฉพาะการที่รัฐบาลจะแจกเงินให้คนกลุ่มใด เช่นที่ ป.ป.ช. แนะนำให้แจกเฉพาะคนกลุ่มเปราะบางเท่านั้น
หรือเรื่อง...ไม่ควรใช้เงินกู้ แต่ควรเป็นเงินงบประมาณแผ่นดิน แม้เรื่องนี้ “นายกฯ เศรษฐา” จะไม่มีคำพูดที่ชัดเจน แต่ “คอการเมือง” ต่างวิเคราะห์ได้ตรงกัน นั่นคือ ลำพังเงินงบประมาณที่จะเหลือให้รัฐบาลได้ใช้ หลังหักงบประมาณในส่วนของรายจ่ายประจำ (เงินเดือนและสวัสดิการของข้าราชการ) และงบประมาณผูกพันแล้ว ก็แทบจะไม่เพียงพอ
เรื่องจะใช้งบประมาณแผ่นดินมาทำโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่าง...โครงการแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท คงไม่ต้องพูดถึง ถ้ารัฐบาลจะเชื่อ ป.ป.ช. นั่นก็หมายความว่า...จะต้องยกเลิกโครงการนี้กันไปเลย
“ผมว่าเป็นเรื่องสำคัญในสังคมไทย เราเองเป็นรัฐบาลมาจากการเลือกตั้ง มีพี่น้องประชาชนให้การสนับสนุน ความเห็นต่างเป็นเรื่องที่สังคมต้องยอมรับได้ ความเห็นต่างเป็นเรื่องที่เราต้องบริหารความคาดหวังซึ่งกันและกัน ต้องอยู่ในกรอบของกฎหมายและความไม่ก้าวร้าวซึ่งกันและกัน ฉะนั้นตรงนี้ต้องบริหารกันไป”
ข้างต้นคือ คำตอบของ “นายกฯ เศรษฐา” จากคำถามที่ว่า...รัฐบาลยังมั่นใจใช่หรือไม่ว่าจะฝ่าวิกฤตความเห็นต่างตรงนี้ไปได้ และสามารถแจกเงินดิจิทัลได้ใช่หรือไม่?
ถึงนาทีนี้...จึงน่าสนใจว่า “รัฐบาลเศรษฐา” จะเอากันอย่างไร? กับการจะขับเคลื่อนโครงการแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท ตามที่ได้เคยประกาศหาเสียงเอาไว้กับคนไทย
หากไม่ทำต่อ...แน่นอนว่า ย่อมกระทบต่อการเลือกตั้งในครั้งต่อไปอย่างแน่นอน ทำนอง “หาเสียงได้ แต่ทำไม่ได้” ในทางกลับกัน...หาก “รัฐบาลเศรษฐา” ยังจะดึงดัน โดยไม่สนใจในคำทักท้วงจากทั่วทุกสารทิศ แล้ว
อนาคตจะมีชะตากรรมเฉกเช่น “รัฐบาลยิ่งลักษณ์” หรือไม่?
ระหว่างนี้... เชื่อว่า “ทุกมันสมอง” ของบรรดากุนซือรัฐบาล คงกำลัง “ว้าวุ่น” อยู่กับการหาทางออกให้กับเรื่องนี้ เชื่อว่า...ในอีกไม่กี่วันข้างหน้า คนไทยจะได้รับคำตอบสวยๆ จากรัฐบาลอย่างแน่นอน