ประกาศกระทรวงสาธารณสุข พ.ศ. 2567 ส่งผลให้เสพยาบ้าเสรี หรือ ครอบครองยาบ้าไม่เกิน 5 เม็ดเสรี ไม่ผิดกฎหมาย ไม่ถูกจับ จริงหรือ ?
…
กำลังเป็นประเด็นสุดฮอต เป็น “ทอล์ก ออฟเดอะทาวน์” เวลานี้ กับเรื่องของประกาศ สธ. ลงวันที่ 10 ก.พ. 2567 เรื่องการครอบครองยาบ้าไม่เกิน 5 เม็ด หรือยาเสพติดประเภทอื่นๆ เพียงเล็กน้อย ไม่ผิดกฎหมาย ไม่โดนจับ
กรุยทางสู่..การเปิดยาบ้าเสรี?
ที่ถือความเข้าใจผิดมหันต์ เข้าใจคลาดเคลื่อนของสื่อออนไลน์ โดยแท้!
เพราะตามประมวลกฎหมายยาเสพติด ที่มีศักดิ์ทางกฎหมายสูงกว่า ประกาศกระทรวงสาธารณสุขนั้น ยังมีข้อหาหรือฐานความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดเหล่านี้ ดังนี้..
1. การเสพยาเสพติดให้โทษ (เช่น เสพยาบ้า เสพยาไอซ์ เสพยาอี) หรือวัตถุออกฤทธิ์ (เสพยาเค) "ยังคงเป็นความผิด" ตามประมวลกฎหมายยาเสพติด มาตรา 104 + 162 มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือ ทั้งจำทั้งปรับ
แม้มีระบบการบำบัดรักษาผู้เสพยาเสพติดเพื่อไม่ต้องรับโทษจำคุก แต่ผู้ที่จะเข้ารับการบำบัดรักษา ต้องมี “คุณสมบัติ” เป็นไปตามเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนด และเจ้าหน้าที่ของรัฐต้องพิจารณาแล้ว “เห็นสมควรส่งตัวเข้าบำบัดรักษา”
นอกจากนี้ กระบวนการบำบัดรักษาก็มีขั้นตอนการบำบัดรักษา “แบบปิด” กล่าวคือ "ผู้เสพต้องถูกกักตัวไว้บำบัดรักษาในสถานที่ที่กำหนด" จนกว่าจะหายจากการติดยาเสพติด
ฉะนั้น การเสพยาเสพติดในปัจจุบัน "ยังคงมีโทษทางอาญา" มิใช่ไม่มีโทษ หรือเปิดโอกาสให้เสพยาเสพติดเสรี อย่างที่เข้าใจผิดกัน !
2. การครอบครองยาเสพติด เช่น มียาบ้า ยาไอซ์ หรือ วัตถุออกฤทธิ์ ยาเค ไว้ในครอบครอง ยังคงเป็นความผิดฐาน "ครอบครองยาเสพติดโดยผิดกฎหมาย" ตามประมวลกฎหมายยาเสพติด มาตรา 90 + 145 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 15 ปี และปรับไม่เกิน 1,500,000 บาท
3. การครอบครองยาเสพติด เช่น ยาบ้า ไม่เกิน 5 เม็ด หรือ ยาไอซ์ ไม่เกิน 100 มิลลิกรัม หรือยาเค มีน้ำหนักสุทธิไม่เกิน 500 มิลลิกรัม ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข พ.ศ. 2567 ยังคงเป็นความผิด ฐาน "ครอบครองเพื่อเสพ" ตามประมวลกฎหมายยาเสพติด มาตรา 107 + 164 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
แม้มีระบบการบำบัดรักษาผู้กระทำผิดฐาน "ครอบครองยาเสพติดเพื่อเสพ" ก็ตาม แต่ผู้ที่จะเข้ารับการบำบัดรักษา ต้อง “มีคุณสมบัติ” เป็นไปตามเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนด และ เจ้าหน้าที่ของรัฐต้องพิจารณาแล้วเห็นสมควรส่งตัวเข้าบำบัดรักษา
นอกจากนี้ กระบวนการบำบัดรักษาก็มีขั้นตอนการบำบัดรักษาแบบปิด กล่าวคือ "ผู้ครอบครอบยาเสพติดเพื่อเสพต้องถูกกักตัวไว้บำบัดรักษาในสถานที่ที่กำหนด" จนกว่าจะหายจากการติดยาเสพติด
ฉะนั้น การเสพยาเสพติดในปัจจุบัน "ยังคงมีโทษทางอาญา" มิใช่ไม่มีโทษ หรือ เปิดโอกาสให้เสพ หรือครอบครองยาเสพติดเสรี อย่างที่เข้าใจผิดกัน !
สรุปแล้ว..
1. การครอบครองยาเสพติด เช่น ยาบ้าเกิน 5 เม็ด มีโอกาสถูกจับข้อหา "ครอบครองยาเสพติดโดยผิดกฎหมาย" มีโทษจำคุกสูงถึง 15 ปี ตามประมวลกฎหมายยาเสพติด มาตรา 90 + 145
2.การครอบครองยาเสพติด เช่น ยาบ้า ไม่เกิน 5 เม็ด มีโอกาสถูกจับข้อหา "ครอบครองยาเสพติดเพื่อเสพ" มีโทษจำคุกสูงถึง 2 ปี ตามประมวลกฎหมายยาเสพติด มาตรา 107 + 162 และ ประกาศกระทรวงสุข พ.ศ. 2567 (ที่เพิ่งประกาศ) หรือถูกกักตัวในสถานที่ที่กำหนดเพื่อทำการบำบัด ตามระยะเวลาที่กำหนด
3. การเสพยาเสพติด เช่น เสพยาบ้า เสพยาไอซ์ เสพยาอี เสพยาเค มีโอกาสถูกจับข้อหา "เสพยาเสพติดโดยผิดกฎหมาย" มีโทษจำคุกสูงถึง 1 ปี ตามประมวลกฎหมายยาเสพติด มาตรา 104 + 162 หรือถูกกักตัวในสถานที่ที่กำหนดเพื่อทำการบำบัด ตามระยะเวลาที่กำหนด
“การเสพยาเสพติดทุกชนิดประเภท การครอบครองยาเสพติดทุกชนิดประเภท ไม่ว่าจำนวนเท่าใด "ยังคง" เป็นความผิดตามกฎหมาย ถูกจับกุม ดำเนินคดีได้”
ส่วนการแก้ไขตามประกาศ สธ.ฉบับล่าสุดนั้น จะเป็นเส้นทาง “ทำมาหารับประทานของเจ้าหน้าที่” อย่างไร ตอนจับจากผู้ครอบครองและผู้ค้า แปรสภาพมาเป็นผู้เสพและครอบครองไม่เกิน 5 เม็ดกันอย่างไร อันนี้ไม่อาจจะทราบได้
แก่งหิน เพิง