ผู้สื่อข่าวรายงานจากทำเนียบรัฐบาลว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 13 ก.พ 67 กระทรวงพลังงานยังไม่มีการเสนอวาระแต่งตั้งคณะกรรมการ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (บอร์ด กฟผ.ชุดใหม่) แต่อย่างใด แม้ว่าก่อนหน้านี้จะมีการเผยแพร่รายชื่อกรรมการบอร์ดใหม่ออกไปหมดแล้วก็ตาม รวมทั้งได้รับการกลั่นกรอง จากคณะกรรมการสรรหาบอร์ดแล้วก็ตาม แต่ยังต้องมีการตรวจสอบคุณสมบัติเพิ่มเติมว่า มีคดีความติดตัวหรือไม่
อย่างไรก็ตาม นายประเสริฐ สินสุขประเสริฐ ปลัดกระทรวงพลังงาน และว่าที่ประธานบอร์ด กฟผ. เปิดเผยว่า หากคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบรายชื่อบอร์ด กฟผ. ชุดใหม่ เมื่อบอร์ดเข้าปฏิบัติหน้าที่แล้ว จะเร่งพิจารณาแต่งตั้งผู้ว่าการ กฟผ. คนใหม่ (คนที่ 16) แทน นายบุญญนิตย์ วงศ์รักมิตร ผู้ว่าการ กฟผ. ที่ได้ครบวาระไปแล้วตั้งแต่วันที่ 21 ส.ค. 2566 ส่วนจะเป็น นายเทพรัตน์ เทพพิทักษ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) หรือไม่ก็แล้วแต่มติ บอร์ด กฟผ. จะเห็นชอบ
จากนั้นภารกิจแรกๆ ที่จะดำเนินการคือการเร่งพิจารณาปัญหาเงินของ กฟผ. หลังจากแบกรับภาระแทนประชาชนในการดูแลค่าเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้าราว 1 แสนล้านบาทไปแล้ว
“เราคงจะต้องมาดูเรื่องการเงิน ซึ่งต้องดูแลค่าครองชีพประชาชน ควบคู่ รวมทั้งโครงการส่งเสริมการลงทุนของ กฟผ. ที่จะต้องปรับรูปแบบการผลิตไฟฟ้าตามเทคโนโลยีใหม่ การลดการใช้ฟอสซิล โดยเฉพาะโครงการโซลาร์ลอยน้ำที่ยังค้างการพิจารณาอยู่ที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) คงจะต้องดูว่าล่าช้าอย่างไร เพราะโครงการเหล่านี้ ถือว่าจะช่วยลดต้นทุนการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (แอลเอ็นจี) และส่งเสริมแผน ตามแผนความเป็นกลางทางคาร์บอนของรัฐบาลในอนาคต"
ทั้งนี้ กฟผ. ได้จัดทำแผนลงทุนระบบ Hydro-Floating Solar Hybrid ใน 9 เขื่อน คือ เขื่อนสิรินธร เขื่อนอุบลรัตน์ เขื่อนภูมิพล เขื่อนศรีนครินทร์ เขื่อนวชิราลงกรณ์ เขื่อนจุฬาภรณ์ เขื่อนบางลาง เขื่อนรัชประภา และเขื่อนสิริกิติ์ กำลังผลิตรวม 2,725 เมกะวัตต์ โดยจะเริ่มทยอยเข้าระบบตั้งแต่ปี 2563 – 2580 โดยก่อสร้างแล้วเสร็จและกำลังก่อสร้างคือ เขื่อนสิรินธร เขื่อนอุบลรัตน์ และหลายโครงการยังไม่ผ่านการพิจารณาจาก สศช.