“กทพ. ตั้งแท่นขยายสัมปทานทางด่วนขั้นที่ 1-2 ประเคน BEM 15 ปี แลกก่อสร้างทางพิเศษยกระดับ Double Deck (งามวงศ์วาน-พระราม 9) วงเงินลงทุน 3.45 หมื่นล้าน”
…
บทสรุปของประเด็นสุดร้อน ที่กระทรวงคมนาคมและการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) กำลังซุ่มเงียบดำเนินการ กับการผุด “โครงการทางพิเศษยกระดับชั้นที่ 2 (งามวงศ์วาน-พระราม 9)” หรือ Double Deck วงเงินลงทุน 3.45 หมื่นล้าน เพื่อแก้ปัญหาจราจรบนโครงข่ายทางด่วน
โดยได้มีการซุ่มเจรจากับ บมจ. ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM เพื่อให้เอกชนรับภาระการลงทุน แลกกับการขยายสัญญาสัมปทานทางด่วนขั้นที่ 1 สายเฉลิมมหานคร และขั้นทาง 2 ทางด่วนศรีรัช จากที่จะสิ้นสุดสัญญาในปี 2578 ออกไป
เบื้องต้นที่เคยมีการศึกษากันเอาไว้ก่อนหน้า คือ 15 ปีเป็นอย่างน้อย
ผู้บริหาร กทพ. ให้เหตุผลอย่างน่ารับฟังว่า หลักการของ กทพ. นั้น ในส่วนที่เกี่ยวเนื่องกับโครงข่ายสัมปทาน กทพ. จะไม่ลงทุนเอง แต่จะให้เอกชนผู้รับสัมปทานรายเดิมเป็นผู้ลงทุน โดยได้มีการเจรจากับ BEM ให้เป็นผู้ลงทุน แลกกับการขยายสัญญาสัมปทานระบบทางด่วนขั้นที่ 1 และขั้นที่ 2 ที่จะสิ้นสุดปี 2578 ออกไป ส่วนจะขยายออกไปกี่ปีนั้นอยู่ระหว่างศึกษาและเจรจา
คาดว่า จะนำเสนอแนวทางในการดำเนินการต่อที่ประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) กทพ. ในเดือนนี้ ก.พ. ก่อนนำเสนอต่อคณะกรรมการกำกับตามมาตรา 43 พ.ร.บ.การร่วมลงทุนฯ ปี 2562 โดยคาดจะใช้เวลาดำเนินการเจรจาเพื่อแก้ไขสัญญาให้แล้วเสร็จภายใน 2 เดือนจากนี้
บร๊ะเจ้า! แค่เงินลงทุน 34,500 ล้าน ซึ่ง กทพ. มีศักยภาพจะลงทุนได้เองอยู่แล้ว แต่กลับไม่คิดจะลงทุนเอง เพราะยึดมั่นในหลักการ หากเป็นโครงการที่เกี่ยวเนื่องกับโครงข่ายสัมปทานจะไม่ดำเนินการเอง (เพราะอาจถูกเอกชนฟ้องหัวจนทำให้เกิดค่าโง่ได้อีก) จึงไม่มีทางเลือกอื่น นอกจากให้เอกชนผู้รับสัมปทานเดิมลงทุน
เพราะงั้น คนกรุงผู้ใช้ทาง และประชาชนคนไทย 66 ล้าน ขอได้โปรดเห็นใจ กทพ. และกระทรวงคมนาคม ที่จำเป็นจะต้อง “ประเคน” โครงการไปให้บริษัทเอกชนผู้รับสัมปทานรายเดิมดำเนินการ โดยต้องแลกกับการขยายสัญญาสัมปทานออกไปด้วยเถิด...
ปุ่ดโธ่! ท่านผู้ว่า กทพ. และ "รมต.สุริยะ" ที่เคารพ! ก็หากมันยุ่งขิงยากยิ่งนัก ก็สู้ปล่อยเอาไว้ อย่าไปสร้างซะก็สิ้นเรื่อง จะไปแกว่งเท้าหาเสี้ยนหา “ค่าโง่” กันทำซากอะไร? รอสิ้นสุดสัมปทานแล้วค่อย “ไถ่บาป” ให้ประชาชนผู้ใช้ทางวิ่งฟรีซะให้หนำใจ หรือค่อยก่อสร้างเอง หรือจะเปิดประมูลสัมปทานใหม่ (ก่อนสิ้นสุดสัญญา 3-5 ปี) ค่อยเพิ่มเติมเงื่อนไขก่อสร้างทาง Double Deck ที่ว่าเข้าไปจะดีกว่าไหม?
ที่ผ่านมา ยัง “สุมหัว” ปล้นประชาชนคนกรุงผู้ใช้ทางไม่พอกันอีกหรือ?
ดูเหมือนทั้งหลายทั้งปวงที่ กทพ. และคมนาคม ซุ่มเงียบดำเนินการอยู่นั้น จะเป็นการอาศัย “ช่อง(โหว่)ว่าง” ตาม พ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ.2562 ที่กำหนดหลักเกณฑ์ไว้ในมาตรา 46 และ 47
ในกรณีที่ต้องมีการแก้ไขสัญญาสัมปทาน ให้หน่วยงานเจ้าของโครงการ เสนอเหตุผล และความจำเป็น ประเด็นที่ขอแก้ไข ผลกระทบ และข้อมูลอื่น ๆ ต่อคณะกรรมการกำกับดูแล (ตาม ม.43) เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบ ก่อนนำร่างสัญญาร่วมลงทุนฉบับแก้ไขเสนอสำนักงานอัยการสูงสุดพิจารณา และเสนอรัฐมนตรีเจ้าสังกัดพิจารณาเห็นชอบก่อนลงนาม
โดยไม่ต้องนำเสนอขอเห็นชอบจาก ครม. (ย้ำชัดๆ ตรงนี้) ไม่ต้องนำเสนอขอเห็นชอบจาก ครม. บร๊ะเจ้า! ตั้งแท่นขยายสัญญาสัมปทานกันเป็นแสนล้าน (หรือหลายแสนล้าน) แต่ไม่ต้องเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบ ประชาชนคนไทยก็ไม่ต้องรับรู้ด้วย
(ไหนๆ นายกฯ และท่าน รมว.คลัง ก็จะเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการ พีพีพี อยู่แล้ว วันที่ 19 ก.พ.นี้ ก็ลองสอบถามผู้อำนวยการ สคร. ดูเอาว่า เห็นหรือยังว่า กฎหมายพีพีพีของตัวเองนั้น มันมี “ช่องโหว่” เบ้อเริ่มเทิ่มแค่ไหน? ของเดิมกับเรื่องของสายสีส้ม ที่ตั้งแท่นประเคนให้เอกชนรายเดียวกันก็ยังมีปัญหาเขาทำตาม หลักเกณฑ์ตามประกาศคณะกรรมการ พีพีพี และตาม พ.ร.บ.การร่วมลงทุนฯ พีพีพี นี้หรือไม่)
และหากรัฐบาลและประชาชนคนไทย รวมทั้งหน่วยงานตรวจสอบในสามโลกยอมให้ กทพ. และกระทรวงคมนาคม “ลักไก่” แก้ไขและยายสัญญาสัมปทาน “ทางด่วนขั้น 1 และ 2” ประเคนสัมปทานแก่คู่สัญญาเอกชนรายเดิมไปอีก 15-20 ปี (ตามผลศึกษาเดิมที่มีการซุ่มทำเอาไว้แล้ว) แลกกับการให้เอกชนลงทุนทางด่วนยกระดับ Double deck แค่ 3.45 หมื่นล้าน (ที่ กทพ. มีปัญญาลงทุนได้อยู่แล้ว) นั้น
ก็เห็นทีว่า ไอ้ที่ประชาชนคนไทยและโดยเฉพาะคนกรุงนับ 10 ล้าน คาดหวังกันไว้ว่า “ได้นายกฯ เศรษฐา - เราจะเป็นเศรษฐี" เห็นทีจะไม่ใช่แล้ว????
ผลกระทบที่จะเกิดตามมาในทันที ก็คือ ประชาชนคนใช้ทางจะถูก “มัดมือชก” โขกค่าผ่านทางที่ แพง แพง แพง ในสามโลกไปตลอดศก หรืออย่างน้อยก็ 15-20 ปี หลังสิ้นสุดสัญญาในปี 2578
ส่วนบริษัทเอกชนจะได้ผลประโยชน์จากการขยายสัญญาสัมปทานที่ว่านี้ไปอีกกี่มากน้อย บอกได้เลยอาจจะมากกว่า 3-5 แสนล้าน เผลอ ๆ อาจมากกว่า 5 แสนล้าน เท่ากับที่รัฐบาลและกระทรวงการคลังกำลังวิ่งพล่านหาแหล่งเงินกู้ในโครงการ Digital Wallet นั่นแหล่ะ)
คนกรุงผู้ใช้ทางคงต้องเปลี่ยนสโลแกนใหม่ “ได้นายกฯ เศรษฐา (ไหง) เรากลายเป็นกะลาสี”
คำถามที่ต้องถามไปยังท่านสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมต.คมนาคม และรัฐบาล ก็คือ สิ่งที่ กทพ. และคมนาคมกำลัง “ตั้งแท่น” ดำเนินการอยู่นี้ ประเทศชาติและประชาชนคนไทยได้อะไรหรือ ?
นอกจากจะถูกมัดมือชก โขกค่าผ่านทางแพงสุดในสามโลกไปอีก 15-20 ปี
จากเดิมที่รัฐบาลชุดก่อนได้มัดมือชกต่อขยายสัญญาสัมปทานให้กับ BEM ไปถึง 15 ปีเศษกันมาแล้ว (มติ ครม. 13 ก.พ. 2563) แลกกับการยุติข้อพิพาทที่อ้างว่า กทพ. มีอยู่กับเอกชนจำนวน 17 ข้อพิพาท คิดเป็นมูลหนี้กว่า 78,908 ล้านบาท
โดยขยายสัมปทานทางด่วนขั้นที่ 2 หรือทางพิเศษศรีรัช ส่วนเอ, บี และซี จากเดิมที่สิ้นสุด 28 ก.พ. 2563 ออกไปอีก 15 ปี 8 เดือน พร้อมกับสัญญาทางด่วนขั้นที่ 2 หรือทางพิเศษศรีรัช ส่วนดี ขยายเป็นระยะเวลา 8 ปี 6 เดือน จากเดิมหมดอายุสัญญาในวันที่ 22 เม.ย. 2570 และสัญญาทางด่วนบางปะอิน-ปากเกร็ด หรือส่วนซีบวก ขยายสัญญาออกไปเป็นระยะเวลา 9 ปี 1 เดือน จากเดิมหมดอายุสัญญาวันที่ 27 ก.ย. 2569 โดยให้สัญญาทั้ง 3 ฉบับสิ้นสุดลงพร้อมกันในวันที่ 31 ต.ค. 2578
ทั้ง ๆ ที่ประเด็นข้อพิพาทต่างๆ ที่หยิบยกขึ้นมาเป็นข้ออ้างยังอยู่ชั้นการพิจารณาของศาลปกครอง และอนุญาโตตุลาการ มีเพียงคดีเดียว คือ การสร้างทางแข่งขันและไม่ให้บริษัทปรับขึ้นอัตราค่าผ่านทางตามสัญญาที่ศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาให้ กทพ. พ่ายคดี ต้องจ่ายชดเชยความเสียหายแก่คู่สัญญา 1,700 ล้านบาท
ที่สำคัญของเดิมที่อ้างว่า รัฐอาจต้องจ่ายค่า(โง่)ชดเชยแก่เอกชน 78,900 ล้านบาทนั้น ครม. ในรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ยัง(ยอม)ขยายสัญญาสัมปทานให้แก่เอกชนแค่ 8 -15 ปีเท่านั้น (แยกตามแต่ละสัญญา) ไม่ได้ “เหมารวมเข่ง” อย่างที่ กทพ. และกระทรวงคมนาคม ตั้งแท่นให้อยู่นี้
แถมไอ้ที่ตั้งแท่นจะขยายสัญญาสัมปทานกันไปตั้ง 15 ปี แลกกับการให้เอกชนลงทุนแค่ 34,500 ล้านบาท น้อยกว่าค่า(โง่)ชดเชยเดิมถึง 50% นั้น มันใช่หรือ? ส่วนเกินนับแสนล้านที่กำลังตั้งแท่นกันอยู่นี้ไหลไปเข้ากระเป๋าใครกัน
(เผื่อใครไม่รู้ ก็จงรู้เอาไว้ด้วยว่า... ก่อนหน้านี้บริษัทเอกชนผู้รับสัมปทานผลิตและจ่ายประปาในเขตรังสิต-ปทุมธานี ที่เป็นบริษัทในเครือ(และหวี) เดียวกับเอกชนรายนี้ ก็เคยใช้วิธีการเดียวกันนี้ ในการดิ้นขอต่อสัมปทานประปารังสิต-ปทุมธานี 20 ปีมาแล้ว แต่ครั้งนั้น ทั้ง “บิ๊กป็อก-มท.1 และสหภาพการประปาภูมิภาค (กปภ.) ลุกขึ้นมาประท้วง ทำให้แผนต่อขยายสัมปทานประปา 20 ปี ไปไม่ถึงฝั่งแต่กระนั้น บริษัทเอกชนก็ยังเทียวไล้เทียวขื่อวิ่งพล่านขอขยายสัญญา จนสุดท้ายมาสบโอกาสหลังปรับเปลี่ยนรัฐบาลใหม่ ไม่ถึงขวบเดือน กฟภ. ก็กุลีกุจอสะบัดปากกาเซ็นสัญญาจ้างเหมาเอกชนรายเก่าผลิตและจ่ายประปาปทุมไปเรียบร้อย 10 ปี)
เรื่องใหญ่ขนาดนี้คณะกรรมการ ป.ป.ช. และหน่วยงานตรวจสอบทั้งหลาย ไม่คิดจะล้วงลูกเข้ามาศึกษาและจัดทำรายงานให้ประชาชนคนไทยได้รับรู้ เพื่อป้องกันทุจริตคอร์รัปชั่นกันบ้างหรือ?
หรือต้องให้ประชาชนคนไทยลุกขึ้นมาแหกอกถลกหนัง เพราะ “ได้นายกฯ เศรษฐา ไหง(กรู)พวกเรากลายเป็นกะลาสี”