สินค้าหรือบริการภูมิปัญญาท้องถิ่นหลายชาติ รวมทั้งของไทย สามารถพัฒนาเป็นสินค้าวัฒนธรรม สร้างเงินก้อนโตได้ไม่ยาก.. หากปรับเปลี่ยนได้ตรงความต้องการ นำเทคโนโลยีมาช่วย ภายใต้การมีระบบบริหารจัดการ
เพราะแนวทางนี้สร้างความสำเร็จให้กับสินค้าพรีเมี่ยมสุดหรู (Luxury) เช่น “หลุยส์ วิตตอง, คริสเตียนดิออร์, ชาแนล, แอร์เมส , บาลองเชียก้า , ปราด้า , กุชชี่ , จอร์จิโออาร์มานี่ , จีวองชี่ , อีฟแซงต์ , โลรองต์”..
ว่ากันว่าสินค้าแบรนด์เนมพวกนี้ ตั้งราคาขายทำกำไรเฉลี่ยอยู่ที่ 8-10 เท่าตัว และบางชิ้นกำไรมากถึง 13 เท่าตัว..
นอกจากนี้ แม้เศรษฐกิจผันผวนวิกฤตขนาดไหน ก็แทบไม่กระทบกับผู้ซื้อกลุ่มมหาเศรษฐีเลย เพราะลักชัวรี่แบรนด์พวกนี้ เป็นสินทรัพย์ที่ให้มากกว่ามูลค่า หรือความพึงพอใจ มันยังให้บารมีกับผู้ครอบครอง
โดยช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ขณะที่เยอรมนีเข้ายึดปารีส ฝรั่งเศส ทางเยอรมนีนอกจากกวาดต้อนสินทรัพย์ต่างๆ ไปแล้ว ยังเล็งจะย้ายห้องเสื้อชั้นสูงในปารีส ให้ไปเปิดที่เบอร์ลินหรือเวียนนา แต่ทางสมาคมห้องเสื้อชั้นสูงของฝรั่งเศส ยืนยันว่า จะไม่ย้ายไปไหน ถ้าไม่ใช่อยู่ที่ปารีส ก็ปล่อยให้มันสูญพันธุ์ไป
แต่เพื่อความอยู่รอดช่วงสงคราม ห้องเสื้อชั้นสูงพวกนี้ ก็มีการแอบขายเสื้อผ้า ให้เจ้าหน้าที่เยอรมันและผู้สมรู้ร่วมคิด
รวมทั้งต้องผ่านการเปลี่ยนแปลงต่างๆ อีกมากมาย กว่าลักชัวรี่แบรนด์พวกนี้จะยืนยงมาถึงปัจจุบัน
ซึ่งวิวัฒนาการดังกล่าวน่าจะเป็นประโยชน์ สำหรับสินค้าภูมิปัญญาท้องถิ่นไทย ที่กำลังสร้างมาตรฐานขึ้นระดับโลก
ทั้งนี้ปัญหาใหญ่ที่สินค้าลักชัวรี่ต้องเผชิญมาตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน ก็คือ..”สินค้าเลียนแบบก๊อปปี้”..
ซึ่งนักประวัติศาสตร์พบข้อมูลว่า มีมาตั้งแต่สมัยโรมัน เมื่อมหาเศรษฐีใหม่ อยากได้รับการยอมรับจากตระกูลขุนนาง รวมถึงเศรษฐีเก่า
นอกจากต้องมีความมั่งคั่งแล้ว จะต้องมีวัตถุอะไรบางอย่างเช่น “ซิเซโร่” นักปรัชญานักการเมืองช่วงนั้นที่เป็นคนนอก ได้สร้างการยอมรับจากเศรษฐีเก่าด้วยการใช้เงินกว่า 1 ล้านเซสเตอร์ติ (หน่วยเงินสมัยโรมัน) ทำโต๊ะจากไม้มะนาว ซึ่งขณะนั้นรายได้ต่อปีคนทั่วไปอยู่ที่ปีละ 1,000 เซสเตอร์ติเท่านั้น
หลังจากนั้นเศรษฐีใหม่โรมัน ก็สั่งทำโต๊ะเลียนแบบโต๊ะจากไม้มะนาวของซิเซโร่ แต่ใช้วัตถุดิบไม้ที่ราคาถูกกว่า เพื่อให้เกิดการยอมรับ
ขณะที่สินค้าแบรนด์เนม ในยุคหรูหราประชาธิปไตย ที่พยายามเปิดกว้างให้ใครๆ ก็เป็นเจ้าของสินค้าแบรนด์เนมได้มากขึ้น ด้วยการออกของใช้ที่มีราคาย่อมเยาลงมา เช่น น้ำหอม แว่นตา นาฬิกา กระเป๋าเงิน ไปจนถึงที่หนีบธนบัตร ซึ่งมียี่ห้อแบรนด์เนมพิมพ์อยู่ ไม่จำกัดอยู่แค่สมัยที่ความหรูหรา
ยังเป็นธุรกิจเกี่ยวกับความใกล้ชิดคุ้นเคยและสง่างามสำหรับกลุ่มลูกค้าชั้นสูง เช่น การช้อปปิ้งเสื้อผ้าของ โอ๊ต กูตูร์ แฟชั่นเสื้อผ้าชั้นสูง ออกแบบโดยดีไซเนอร์ กูตูริเยต์ ตัดเย็บด้วยมือ ยุคหรูหราประชาธิปไตยนี้ ทำให้เกิดของก๊อปปี้มากมาย
ตั้งแต่ก๊อปปี้เกรดเอ ที่พวกนี้เคยติดสินบน ช่างเย็บแพตเทิร์น และติดสินบนนางแบบ ให้ยืมชุดที่ต้องการก๊อปปี้ออกไป
โดยเรื่องนี้เป็นปัญหาขึ้นมา หลังจากที่ผู้หญิงคนหนึ่งใส่ชุดคริสเตียนดิออร์ ไปงานเลี้ยง แล้วไปเจอกับอีกคนใส่ชุดเหมือนกัน จึงร้องไปที่ดิออร์ ทางบริษัทจึงแจ้งความตำรวจให้สืบสวนจนจับแก๊งก๊อปปี้สินค้าได้
ส่วนปัจจุบันด้วยเทคโนโลยี และนโยบายสินค้าแบรนด์เนมที่ขยายกลุ่มผู้ใช้ ทำเป็นเสื้อสำเร็จรูปออกขาย จึงก๊อปปี้ได้ง่ายทั้งเสื้อผ้า กระเป๋า ซื้อมาถอดเป็นชิ้นๆ ก๊อปปี้ออกขายในวันรุ่งขึ้นได้ทันที
ซึ่งส่วนนี้ทางสมาคมสินค้าแบรนด์เนมได้ปราบปราม พร้อมชี้ให้เห็นปัญหาที่ใหญ่กว่าว่า เงินที่หมุนเวียนในวงการของก๊อปปี้มหาศาลนี้ มีหลักฐานในการโดนนำไปใช้ผิดกฎหมาย เช่นเหตุก่อการร้ายระดับโลก ก่อให้เกิดการค้ามนุษย์ ใช้แรงงานราคาถูกเพื่อทำกำไรมาก โดยปัญหานี้คงต้องตรวจจับกันไปอีกนาน
ความเปลี่ยนแปลงมากอีกช่วงของสินค้าลักชัวรี่ก็คือ ยุคแฟชั่นเร่งด่วน เช่น เอชแอนด์เอ็ม ซาร่า ทาร์เก็ต แมงโก้ ท็อปช็อป ใช้กลยุทธ์ ดึงดีไซน์เนอร์ระดับท็อป มาร่วมทีมออกแบบกับดีไซน์เนอร์คนรุ่นใหม่
ความลับของร้านแฟชั่นพวกนี้คือ ...”บิ๊กเดต้า” ซึ่งนำข้อมูลที่ได้จากร้านค้าหลายพันสาขา มากำหนดแนวโน้มแฟชั่นหรือเทรนด์สินค้าใหม่ๆ ที่ผลิตออกมากว่าหมื่นรุ่นต่อปี ดึงลูกค้าให้เข้ามาพบเสื้อผ้าใหม่ได้ทุกสัปดาห์ ลดอายุสินค้าแฟชั่นจาก 6 เดือนเปลี่ยนคอลเลกชั่นใหม่ตามฤดูกาลหน้าร้อน หน้าหนาว ไปเป็นเหลือแค่คอลเลกชั่นละไม่กี่สัปดาห์ โดยโดนเหน็บจากวงการเสื้อผ้าว่า เป็นวงจรแฟชั่นไร้ฤดูกาล
สำหรับทางเลือกของพวกลักชัวรี่แบรนด์เดิม มีการปรับตัวรับมือผลกระทบดังกล่าว เช่น โดดเข้ามาร่วมวงกับแฟชั่นเร่งด่วนพวกนี้ไปเลย หรือออกอีกยี่ห้อมาแข่งขัน
ขณะที่อีกทางหนึ่งหลายลักชัวรี่เลือกไปทางวิลิศมาหรา (Deluxe) ไปเลย เพราะกลุ่มอภิมหาเศรษฐีจริงๆ ต้องการงานละเอียดประณีต ซื้อแบบมีรสนิยม เห็นคุณค่าของงานทำมือ วัตถุดิบที่ใช้มีคุณภาพขั้นเทพ เป็นของสะสมให้มูลค่าทางใจที่มาพร้อมกับเงิน
กลุ่มดีลักซ์พวกนี้ จะไม่ไปชมงานแฟชั่นเสื้อผ้าของกูตูร์ แต่จะนั่งเครื่องบินเจตส่วนตัวข้ามมหาสมุทรมา เพื่อลองเสื้อผ้า หรือให้หัวหน้าช่างเย็บผ้าพร้อมเสื้อผ้าทั้งคอลเลกชั่นนั่งเครื่องบินส่วนตัวไปหา
กลุ่มอภิมหาเศรษฐีพวกนี้ จะสั่งทำของแบบเฉพาะตัวมีชิ้นเดียวในโลก เช่น “น้ำหอมกลิ่นเฉพาะตัวเหมือนพระเจ้าหลุยส์ที่ 14” มีเมื่อหลายศตวรรษก่อน เครื่องประดับส่วนตัว
โดยทางเจ้าของแบรนด์จะมีข้อเสนอพิเศษ ให้กลุ่มดีลักซ์เข้าพักวิลล่าหรู ที่ตกแต่งด้วยเฟอร์นิเจอร์แอนทีคของยุโรป มีบริการบัทเลอร์ส่วนตัว 24 ชั่วโมง มีสระว่ายน้ำ ห้องยิม ห้องซาวน่าส่วนตัว มีห้องพักให้ผู้ติดตาม เช่นพวกพี่เลี้ยง นักบิน เชฟที่ตามมาทำอาหาร
นี่เป็นเพียงบางส่วน ของบทเรียนที่สินค้าลักชัวรี่ต้องปรับตัว ตั้งแต่ยุคสงคราม ปัญหาสินค้าก๊อป หรือการเปลี่ยนจากเทคโนโลยีบิ๊กเดต้า..
ซึ่งภูมิปัญญาไทยน่าจะนำมาประยุกต์ใช้ เพื่อขึ้นไปแข่งในระดับโลกได้ไม่แพ้ใคร!
โดย คนฝั่งธนฯ