วันก่อนมีโอกาสไปฟังสัมมนา "แนวทางการพัฒนาและส่งเสริมบรรษัทภิบาลคู่สัญญาหน่วยงานของรัฐ" ที่สำนักงาน ป.ป.ช. จัดขึ้นที่ ร.ร. กราฟ กรุงเทพฯ ได้รับฟังข้อมูลอันชวนคิดจาก คุณอนิวัต โพธิ์ประเสริฐ ผอ.สำนักพัฒนาและส่งเสริมธรรมาภิบาล สำนักงาน ป.ป.ช. ที่กล่าวถึงสถานการณ์การทุจริตคอร์รัปชันในประเทศไทย ที่วัดจากดัชนีการรับรู้การทุจริต หรือ CPI ของประเทศต่างๆ ทั่วโลก
ซึ่งพบว่า ตลอด 10 ปีที่ผ่านมา ดัชนี CPI ของประเทศไทยยังคงทรงตัวอยู่ระหว่าง 35-36 คะแนน (จาก 100 คะแนน) อย่างล่าสุดที่เพิ่งประกาศออกมาเมื่อ 30 ม.ค. 67 CPI ของประเทศไทยก็อยู่ที่ 35 คะแนน อยู่ในอันดับที่ 108 จาก 180 ประเทศ
อันเป็นเครื่องสะท้อนให้เห็นถึงปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันของประเทศที่ไม่ได้รับการแก้ไขอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับเพื่อนบ้านในอาเซียน พบว่า ดัชนี CPI ชองสิงคโปร์นั้นสูงถึง 83 คะแนน มาเลเซีย 53 คะแนน และเวียดนาม 41 คะแนน สะท้อนให้เห็นว่า การทุจริตคอร์รัปชันในประเทศเหล่านี้ต่ำกว่าไทยเรา มีความโปร่งใสในการทำธุรกิจดีกว่าประเทศไทยทั้งสิ้น
มันจะดีขึ้นได้อย่างไร จนวันนี้เรายังควานหาตัวเองไม่เจอเลย หน่วยงานและองค์กรทำหน้าที่ตรวจสอบการทุจริตทั้งหลายแหล่ แม้แต่สำนักงาน ป.ป.ช. เองก็เถอะ กว่าจะตรวจสอบลงโทษขบวนการทุจริตคอร์รัปชันแต่ละเรื่องได้ ก็ล่วงเลยชนิดที่จำไม่ได้แล้วว่าเรื่องเกิดขึ้นตั้งแต่ปีไหน พ.ศ.ไหน?
เอาแค่กรณี “เสาไฟกินรี” ของ อบต.ราชาเทวะ ที่พาเหรดจัดซื้อกันอย่างครึกโครมก่อนหน้านี้ ไม่รู้ว่าขนเอาไปติดกันถึงไหน เพราะนัยว่า ติดกันมั่วทุกตรอกซอกซอย แม้แต่บ่อปลาหรือป่าหญ้าแพรกก็ยังอุตส่าห์ติดให้ไม่มีเว้นนั้น ป.ป.ช. ลงโทษเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องไปถึงไหนแล้วหล่ะ ฟ้องหัวเอาคนผิดผู้เกี่ยวข้องมาลงโทษได้สักคนหรือยัง และเรียกเงินคืนหลวงได้สักบาทสักสตางค์กันหรือยัง ตัวบริษัทที่ผูกขาดขายเสาไฟพวกนี้ให้หน่วยงานอย่างมีเลศนัยนั้น ป.ป.ช. มีการลงโทษขึ้น "แบล็กลิสต์" ขึ้นบัญชีดำสักรายหรือยัง
หรือกรณีที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ส่งสำนวนผลสอบสวนกรณีจัดฮั้วประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม (บางขุนนนท์-มีนบุรี) วงเงินกว่า 1.42 แสนล้าน ไปให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ดำเนินการไต่สวนเอาผิดผู้เกี่ยวข้องตั้งแต่ปลายปี 2565 และพรรคร่วมฝ่ายค้านยื่นเรื่อง ป.ป.ช. ให้ดำเนินการไต่สวนเอาผิดอดีต รมว.คมนาคม ต่อกรณีฮั้วประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม
และกรณีที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เครือข่ายภาคประชาชน และ ส.ส. ร้องให้ ป.ป.ช. ตรวจสอบเอาผิดรักษาการเลขาธิการ กสทช. ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบกรณีจัดทำรายงานข้อมูลดีลควบรวมกิจการทรู-ดีแทคเอื้อประโยชน์แก่บริษัทเอกชนก่อนหน้า และกรณี กสทช. อนุมัติดีลควบรวมกิจการที่มีผลประโยชน์ทับซ้อน ถือหุ้นโยงใยกันไปมา แถมตัวกรรมการที่ร่วมลงมติยังมีประโยชน์ทับซ้อนด้วยอีก หรือกรณีการร้องป.ป.ช.สอบกระบวนการสรรหาเลขาธิการ กสทช. เป็นไปโดยมิชอบ และกรณี กสทช. อนุมัติเงินสนับสนุนถ่ายทอดฟุตบอลโลก 2022 ที่ไม่เป็นไปตามประกาศหลักเกณฑ์ กสทช.
มีสักกี่เรื่องที่ ป.ป.ช. ขยับองคาพยพลงมาดำเนินการบ้าง ที่เห็นและเป็นไปก็เห็นมีแต่ ปก- ปิด- แช่ ไม่มีการขยับจับเรื่องร้องเรียนเหล่านี้ขึ้นมาพิจารณาใด ๆ จนผู้คนเขาพากันสัพยอกองค์กร ป.ป.ช. น่าจะปรับเปลี่ยนชื่อเป็นองค์กร ปก ปิด แช่ กันไปแล้ว
เอาว่าขนาดโครงการปาล์มอินโด มูลค่ากว่า 14,000 ล้านที่บริษัท ปตท.สผ. บริษัทลูก ปตท. หรือ PTT เข้าไปลงทุนในอินโดนีเซียอย่างใหญ่โตสร้างความฮือฮาให้กับนักลงทุนผู้ถือหุ้น ปตท. ในอดีต ก่อนจะเผชิญปัญหาโครงการล้มลงกลางครัน เพราะความขัดแย้งภายในหรือจะเพราะอะไรก็ตามแน่ สุดท้ายมีการตั้งคณะกรรมการสอบสวนภายในและส่งเรื่องให้คณะกรรมการป.ป.ช.ดำเนินการไต่สวนมาตั้งแต่ปีมะโว้ 2558-2559 โน้นแล้ว
ผ่านมาวันนี้จะ 8-9 ปีเข้าไปแล้วคืบหน้าถึงไหน ป.ป.ช. ตั้งอนุกรรมการไต่สวนกันบ้างหรือยัง หรือเรียกผู้บริหารใน ปตท. ไปดำเนินการไต่สวนสักคนหรือยังท่านประธาน
แก่งหิน เพิง