กระทั่งวันนี้ รัฐบาลของนายกฯเศรษฐา ทวีสิน ยังคงไม่สามารถจะเกลี้ยกล่อมให้ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)เร่งรัดจัดประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กบง.)เพื่อพิจารณาทบทวนและปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงจากปัจจุบัน 2.5% ได้
…
แม้เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) จะออกโรงสนับสนุนหนุนรัฐบาลด้วยอีกแรง ถึงสถานการณ์เศรษฐกิจในปัจจุบันที่กำลังดำดิ่งสู่วิกฤติ ภาคธุรกิจน้อยใหญ่ต่างหืดจับ หายใจไม่ทั่วท้อง ตัวเลขอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ GDP ของประเทศ ณ สิ้นปี 2566 ออกมาต่ำกว่าคาด ขณะที่รัฐบาลและกระทรวงการคลังได้ใช้นโยบายการคลังไปหมดหน้าตักแล้ว
แต่กระนั้น ธปท. ก็ยังไม่มีทีท่าว่าจะทบทวนแนวทางการปรับลดดอกเบี้ยนโยบายลง ด้วยข้ออ้างสุดคลาสสิก แม้จะปรับลดดอกเบี้ยนโยบายลงไป ก็ไม่ทำให้สายการบินลดค่าตั๋วโดยสาร ไม่ได้ทำให้ทัวร์จีนจับจ่ายใช้สอยเพิ่มมากขึ้น
สะท้อนให้เห็นมุมมองของ ธปท. ที่แทบจะเดินไปคนละทางกับรัฐบาล ตอกย้ำให้เห็นความไม่ลงรอยที่ไม่สามารถจะประสานเดินไปในทิศทางเดียวกันได้ ความคาดหวังที่ทุกฝ่ายหวังจะได้เห็น ธปท. และสมาคมธนาคารไทย พาเหรดปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงมานั้น แทบจะเป็นเรื่องเพ้อฝัน (แม้ผลประกอบการแบงก์ทั้งระบบจะมีกำไรทะลักล้นกว่า 2.2 แสนล้านบาท ในปีที่ผ่านมาก็ตาม)
คงจะเพราะเหตุนี้ กระทรวงการคลังและรัฐบาลจึงเดินเกมแก้ลำแนวทางการจัดตั้งธนาคารพาณิชย์รูปแบบใหม่เพิ่มเติม ในลักษณะที่เป็น Virtual Bank ที่นัยว่าจะพลิกโฉมหน้าทางการเงิน ให้ประชาชนได้เข้าถึงแหล่งเงินอย่างแท้จริง ไม่ติดกับดักทางการเงินของระบบธนาคารพาณิชย์รูปแบบเดิม ไม่ต้องถูกมัดมือชกโขกค่าธรรมเนียมและดอกเบี้ยสุดโต่งอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน
ระยะเวลาไม่ถึง 3 เดือน กระทรวงการคลังได้ มีผลักดันแนวทางจัดตั้ง “ธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา” หรือ Virtual Bank จนกระทั่งเดินมาถึงโค้งสุดท้ายที่เตรียมประกาศหลักเกณฑ์การจัดตั้งกันในสัปดาห์นี้ ซึ่งเบื้องต้นจะออกใบอนุญาต (License) จำนวน 3 ราย กำหนดทุนจดทะเบียนเอาไว้ 5,000 ล้าน ก่อนเปิดให้เอกชนผู้สนใจยื่นขอจัดตั้งในห้วงเดือน มี.ค. ศกนี้
หลังจากนั้น ธปท. จะพิจารณาคุณสมบัติผู้เข้ายื่นใบสมัครประมาณ 9 เดือน และประกาศผู้ผ่านการคัดเลือกที่ได้รับใบอนุญาตในกลางปี 2568 จากนั้นผู้ที่ได้รับคัดเลือกจะมีเวลาในการเตรียมตัวเป็นเวลา 1 ปี คาดว่าจะดำเนินการธุรกิจได้ภายในปี 2569
นัยว่า กลุ่มทุนเอกชนทั้งที่เป็นสถาบันการเงินเดิม กลุ่มทุนสื่อสารและพลังงานที่แสดงความสนใจจะกระโจนเข้าร่วมวงไพบูลย์ Virtual Bank ได้เปิดตัวออกมาแล้วอย่างน้อย 3 กลุ่ม ประกอบด้วย กลุ่มแรก บริษัทเอสซีบี เอกซ์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCB ร่วมกับ Kakao Bank ผู้นำด้านธนาคารดิจิทัลใหญ่ที่สุดจากเกาหลีใต้
กลุ่มที่ 2 ประกอบด้วยพันธมิตรอย่างธนาคารกรุงไทย KTB, AIS, บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ GULF และบริษัท ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ OR และกลุ่มที่ 3 แอสเซนด์ มันนี่ จำกัด ผู้ให้บริการอีวอลเล็ต ภายใต้ชื่อ “ทรูมันนี่” และพันธมิตร
สัปดาห์ก่อนผู้บริหาร Virtual Bank น้องใหม่ อย่าง OR-KTB และ AIS ออกมาชูจุดแข็งของพันธมิตรที่มีฐานลูกค้าในมือมากกว่าใคร โดย OR มีสถานีบริการน้ำมันกว่า 2,203 แห่ง ร้านคาเฟ่ อเมซอนอีก 4,045 สาขา, ร้านสะดวกซื้อ 2,186 สาขา ทั้งยังมีร้านอาหารและเครื่องดื่มที่เป็นสมาชิกบัตร Blue Card อีกกว่า 8 ล้านคน ขณะ AIS ก็มีฐานลูกค้ามือถือและบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ตอยู่ในมือกว่า 50 ล้าน สามารถจะประมวลวิเคราะห์ความต้องการลูกค้าแต่ละกลุ่มได้ทุกด้าน ด้าน KTB ที่เป็นผู้พัฒนา “แอพเป๋าตัง” ยังมีฐานลูกค้าอีกกว่า 40 ล้าน รวมแล้วพันธมิตรกลุ่มนี้มีฐานลูกค้าอยู่นับ 100 ล้านรายในมือ ทำให้ได้เปรียบกลุ่มอื่น ๆ จนถึงกับประกาศว่าจะเปลี่ยนโฉมหน้าทางการเงินครั้งใหญ่อย่างแน่นอน!
แต่ Virtual Bank ที่ว่านี้จะเปลี่ยนโฉมหน้าทางการเงิน ทำให้ประชาชนได้เข้าถึงแหล่งเงินได้อย่างแท้จริงหรือไม่ จะสามารถทลายกำแพงผูกขาดทางการเงินที่ถือเป็นเส้นเลือดใหญ่ของระบบเศรษฐกิจได้หรือไม่ ในเมื่อหลักเกณฑ์การจัดตั้ง Virtual Bank ที่ว่านี้ ยังคงอยู่ภายใต้กำกับของ ธปท. ทุกกระเบียดนิ้ว !!!
*ย้อนรอยดู Nano-Pico Finance
หากทุกฝ่ายจะได้ย้อนรอยดูเส้นทางการจัดตั้ง Nano Finance และ Pico Finance ของกระทรวงการคลังก่อนหน้านี้ จะเห็นได้ว่า ก็ล้วนอ้างเพื่อเป็นแหล่งเงินทุนให้ประชาชนได้เข้าถึง อีกทั้งยังเป็นการจัดระเบียบเงินกู้นอกระบบ ดึงบรรดาเจ้าพ่อ เจ้าแม่เงินกู้ทั้งหลายเข้าสู่ระบบ ภายใต้การกำกับของ ธปท.
โดย “นาโนไฟแนนซ์” สินเชื่อรายย่อยเพื่อการประกอบอาชีพภายใต้การกำกับนั้น เปิดทางให้เอกชนที่สนใจเข้ามาขอใบอนุญาตเมื่อ 7-8 ปีก่อน กำหนดเกณฑ์ปล่อยกู้เอนกประสงค์ไม่เกิน 2 เท่าเงินเดือน และไม่เกิน 100,000 บาท คิดดอกเบี้ยได้ไม่เกิน 36% (จากปกติ 25%)
ผู้ประกอบธุรกิจที่สามารถให้สินเชื่อนาโนไฟแนนซ์ได้ ได้แก่ ธนาคารพาณิชย์ บริษัทเงินทุน และผู้ประกอบธุรกิจที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน โดยหากธนาคารพาณิชย์และบริษัทเงินทุนต้องการให้สินเชื่อนาโนไฟแนนซ์ก็สามารถดำเนินการได้เลย แต่หากเป็นผู้ประกอบธุรกิจที่ไม่ใช่ธนาคารพาณิชย์หรือบริษัทเงินทุน จะต้องได้รับอนุญาตจาก รมว.คลังก่อน จึงจะสามารถประกอบธุรกิจให้สินเชื่อนาโนไฟแนนซ์ได้ โดยต้องจัดตั้งเป็นบริษัทจำกัด หรือบริษัทมหาชนจำกัด มีทุนจดทะเบียนไม่ต่ำกว่า 50 ล้านบาท และต้องมีอัตราส่วนหนี้สินรวมทั้งสิ้นต่อส่วนของผู้ถือหุ้น (Debt to Equity ratio) ไม่เกิน 7 เท่า
ขณะที่ PICO Finance สินเชื่อรายย่อยระดับจังหวัดภายใต้การกำกับของกระทรวงการคลัง เป็นสินเชื่อเอนกประสงค์ที่รัฐต้องการให้บรรดาเจ้าพ่อ เจ้าแม่เงินกู้นอกระบบทั้งหลาย เข้ามาขออนุญาตจัดตั้งและปล่อยกู้สินเชื่ออย่างถูกกฎหมาย กำหนดเกณฑ์ปล่อยกู้ได้ไม่เกิน 50,000-100,000 บาท ดอกเบี้ยไม่เกิน 36% ซึ่งปัจจุบันมีผู้ประกอบการที่เข้ามาจดทะเบียนจัดตั้งพิโก้ ไฟแนนซ์ กับรัฐมากกว่า 1,000 ราย
ความสำเร็จ-ล้มเหลวของการจัดตั้งนาโน และพิโก้ ไฟแนนซ์ มีมากน้อยแค่ไหน ทุกฝ่ายต่างรู้แก่ใจกันดีการจัดตั้งนาโนไฟแนนซ์ ที่เปิดทางให้สถาบันการเงิน บริษัทเงินทุนและผู้ประกอบธุรกิจสามารถดำเนินการได้กลายเป็นช่องทางที่ทำให้แบงก์และสถาบันการเงินตบเท้าเข้าร่วมดำเนินการกันอย่างคึกคัก แทบจะทุกแห่งไม่มีพลาดขบวน ขณะที่หนทางในการสยบบรรดาเจ้าพ่อเจ้าแม่เงินกู้นอกระบบทั้งหลาย ที่รัฐบาลและคลังตั้งเป้าหมายไว้สวยหรูนั้นกลับล้มเหลวโดยสิ้นเชิง
ตลอดห้วง 2 เดือนที่ผ่านมา รัฐบาลและกระทรวงมหาดไทย ยังคงดำเนินนโยบายเปิดทางให้ประชาชนที่เป็นหนี้เงินกู้นอกระบบเข้ามาจดแจ้งเพื่อเป็นตัวกลางในการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบที่ว่ากันอยู่เลย ยอดหนี้นอกระบบนับแสนล้าน ยังคงตามหลอกหลอกประชาชนคนระดับรากหญ้า
เหตุนี้ จึงอดคิดไม่ได้ว่า การทบทวนแนวนโยบายคุมกำเนิดแบงก์พาณิชย์และสถาบันการเงิน ด้วยการจัดตั้งธนาคารไร้สาขา หรือ Virtual Bank ที่ว่า เพื่อหวังจะให้เป็นแหล่งเงินทุนที่ประชาชนเข้าถึงได้อย่างแท้จริงนั้น จะเป็นคำตอบที่ทุกฝ่ายเพรียกหากันอยู่อีกหรือไม่
มีหลักประกันใดรับประกันได้ว่า Virtual Bank ที่ว่าจะไม่เจริญรอยตาม Nano-Pico Finance ก่อนหน้านี้ ในเมื่อหลักเกณฑ์การจัดตั้งและการกำกับดูแลทั้งหลายนั้นยังคงอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของคลังและธปท.ทุกกระเบียดนิ้ว มีด้วยหรือที่ธปท.และสมาคมธนาคารไทยจะ”ทุบหม้อข้าว”ตนเองยอมให้รัฐผุดสถาบันการเงินแข่งโดยตนเองไม่มีเอี่ยว
*ถึงเวลาทบทวนเกณฑ์ Virtual Bank
หลักเกณฑ์การจัดตั้งและเงื่อนไขการปล่อยกู้สำหรับสถาบันการเงินใหม่ Virtual Bank ที่เปิดช่องในการรุกตลาดสินเชื่อออนไลน์เป็นหลัก และอาศัยช่องทางการจำหน่ายและปล่อยกู้ผ่านเครือข่ายออนไลน์เป็นหลักนั้น
ส่วนที่รัฐบาลและกระทรวงการคลังควรให้ความสำคัญ ก็คือ การกำหนด “ส่วนต่าง” อัตราดอกเบี้ยที่เหมาะสม เพราะด้วยพื้นฐานของ Virtual Bank ที่ไม่มีต้นทุนด้านสาขา ไม่ต้องอาศัยหรือใช้พนักงานหน้าเคาน์เตอร์เรือนหมื่นคน แต่เน้นการทำตลาดออนไลน์ อาศัยเทคโนโลยีที่เข้าถึงผู้ใช้บริการได้ในทุกช่องทาง ทำให้สามารถลดต้นทุนการบริหารจัดการลงได้ มีความเปรียบธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินเต็มรูปแบบ
แน่นอนหาก Virtual Bank เปิดตัวออกมาและเริ่มให้บริการ หากเงื่อนไขการปล่อยกู้อำนวยความสะดวกแก่ลูกค้าผู้ใช้บริการย่อมทำให้ลูกค้าในระบบเดิมที่ต้องถูกโขกสับอัตราดอกเบี้ยอย่างไม่มีทางเลือก พร้อมจะผละโผเข้ามาซบธนาคารพาณิชย์รูปแบบใหม่ที่ว่านี้กันทั้งระบบอยู่แล้ว
แน่นอนว่า ต้นทุนบริหารจัดการของ Virtual Bank ที่มีความเปรียบธนาคารพาณิชย์เต็มรูปแบบนั้นย่อมทำให้รัฐสามารถสามารถจะกำหนดส่วนต่าง (Spread) อัตราดอกเบี้ยให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม 3-5% ได้ ไม่ใช่ปล่อยให้แบงก์โขกส่วนต่างดอกเบี้ยไปจนถึง 7-10% อย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน
แต่หากรัฐบาลและคลังปล่อยให้ทุกอย่างอยู่ภายใต้การกำกับของ ธปท. ยังคงต้องปฏิบัติตามเกณฑ์ที่ ธปท. กำหนด โดยที่ทุกฝ่ายต่างรู้อยู่เต็มอกว่า ยังไงเสีย ธปท. คงต้องรักษาระบบธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินภายใต้การกำกับของตนเองที่มีอยู่ราว 30 แห่งนี้เป็นหลักแล้ว
สุดท้ายแล้ว Virtual Bank ก็คงเจริญรอยตาม “นาโน และพิโก้ ไฟแนนซ์” ที่เป็นได้แค่ “มหกรรมปาหี่” ที่คลังและ ธปท. ทำคลอดออกมาลดกระแสต้านของสังคมเท่านั้น
*ชำเลืองธนาคารพาณิชย์ในภูมิภาค-โลก
หากเปรียบเทียบกับประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคเดียวกัน จะเห็นถึงความไม่สมดุลของสถาบันการเงินและแบงก์พาณิชย์ของประเทศไทยที่ถูกคุมกำเนิดไว้เพียง 30 แห่งเท่านั้น
ขณะที่สหรัฐอเมริกานั้นมีธนาคารมากกว่า 4,800 แห่ง ขณะที่ยุโรปอย่างอังกฤษ เยอรมนี และฝรั่งเศส ล้วนมีธนาคารพาณิชย์มากกว่า 250 แห่งขึ้นไป ขณะที่ประเทศเล็ก ๆ อย่างสิงคโปร์มีอยู่ถึง 133 แห่ง อินโดนีเซีย 109 แห่ง เวียดนาม 46 แห่ง ฟิลิปปินส์ 44 แห่ง สปป.ลาว 44 แห่ง เมียนมา 43 แห่ง มาเลเซีย 42 แห่ง แม้แต่ประเทศกัมพูชาที่มีจำนวนประชากรอยู่เพียง 16 ล้านคน ยังมีธนาคารพาณิชย์มากกว่า 60 แห่งในปัจจุบัน
แต่ประเทศไทยนั้นกลับมีธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินอยู่เพียง 30 แห่ง (ธนาคารพาณิชย์ 13 แห่ง และธนาคารพาณิชย์เพื่อรายย่อย กับสถาบันการเงินเฉพาะกิจ 17 แห่ง) โดยไม่เคยมีการพิจารณาที่จะเปิดใบอนุญาตสถาบันการเงินหรือแบงก์พาณิชย์อย่างเต็มรูปแบบใหม่เพิ่มเติมมานับศตวรรษ
หรือหากจะพิจารณาออกใบอนุญาต ก็เป็นเพียงสถาบันการเงินเฉพาะกิจ หรือเฉพาะประเภท ที่ล้วนตกอยู่ภายใต้เงื่อนไขที่ ธปท. กำหนดกฎเกณฑ์ “ครอบงำ” ไว้ทั้งหมด แม้กระทั่งผู้ให้บริการทางการเงินที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน อย่างธุรกิจบัตรเครดิต นาโนไฟแนนซ์ หรือพิโก้ ไฟแนนซ์ ที่รัฐบาลพยายามจะส่งเสริมดึงเจ้าพ่อเจ้าแม่เงินกู้นอกระบบเข้ามาอยู่ในระบบ ก็ยังต้องนำไปฝากไว้ภายใต้การกำกับดูแลของแบงก์ชาติ และดำเนินธุรกิจได้ภายใต้ข้อกำหนดเงื่อนไขเป็นการเฉพาะเท่านั้น ไม่สามารถจะผงาดขึ้นไปแข่งขันกับสถาบันการเงินหรือแบงก์พาณิชย์อย่างเต็มรูปแบบได้