เรื่องของจุดยืนธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ต่อกรณีกระแสเรียกร้องให้คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กบง.) ได้พิจารณาทบทวนและปรับลดดอกเบี้ยนโยบายลงเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน เอสเอ็มอี และหัวอกบรรดาลูกหนี้เงินกู้ทั้งหลายอีกแรง
หลังเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มจะดำดิ่งจมปลักและติดกับดักงบประมาณรายจ่ายรัฐที่ล่าช้า ขณะนโยบายแจกเงินผ่าน “ดิจิทัล วอลเล็ต” ของรัฐบาลก็เจอโรคเลื่อนจนคนรอจะเป็นไส้เลื่อนกันหมดแล้ว ผู้ประกอบการในภาคการผลิต ธุรกิจการอุตสาหกรรม ไปยันที่ประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ที่มีสมาคมธนาคารไทยร่วมอยู่ด้วยต่างออกโรงเรียกร้องให้ ธปท. ได้พิจารณาทบทวนและปรับลดดอกเบี้ยนโยบายลงเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจอีกแรง
แต่ ธปท. ยังคงแสดงจุดยืนในการตรึงดอกเบี้ยนโยบายอย่างไม่สนหน้าอินทร์หน้าพรม ยังคงยืนหยัดอย่างแน่วแน่ในนโยบายดอกเบี้ย “แค่สลึง” ยังแตะไม่ได้ เพราะอาจกระทบเสถียรภาพทางการเงินและเศรษฐกิจประเทศเอาได้
เป็นจุดยืนอันแข็งกร้าวที่ได้รับเสียงชื่นชมจากผู้คน (บางกลุ่ม) ว่า นี่แหล่ะคือหน้าที่ของธนาคารกลางของประเทศที่ต้องทำหน้าที่สร้างสมดุลให้กับระบบเศรษฐกิจ
ช่างตรงข้ามกับการกำกับดูแลสถาบันการเงินและแบงก์พาณิชย์ภายใต้การกำกับดูแลของ ธปท. โดยแท้ เพราะแม้เปลือกนอก ธปท. จะกำหนดหลักเกณฑ์ในการกำกับดูแลเอาไว้เข็มงวด มีกฎหมาย ประกาศหลักเกณฑ์ในการกำกับดูแลสถาบันการเงินและแบงก์พาณิชย์ที่ดู “ขลัง” และเข้มแข็งสุดลิ่ม
แบงก์พาณิชย์และสถาบันการเงินที่จะระดมเงินฝากและปล่อยกู้ ให้สินเชื่อทางการเงินแก่ภาคธุรกิจ อุตสาหกรรม เงินกู้อสังหาริมทรัพย์บ้าน ที่ดิน คอนโด เรือกสวนไร่นา หรือตั้งแต่สากกะเบือไปยันเรือรบและเครื่องบินของการบินไทยนั้น
ทุกอณูของการพิจารณาปล่อยกู้ให้สินเชื่อจะต้องดำเนินการภายใต้กฎเกณฑ์การบริหารความเสี่ยงอันเข้มงวดที่ ธปท. วางเอาไว้ทุกกระเบียดนิ้ว หากสถาบันการเงินและแบงก์พาณิชย์ใดดำเนินการไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่วางไว้ อาจถูก ธปท. ลงโทษถึงขั้นเพิกถอนใบอนุญาตได้ทุกเวลา
แล้วก็มา “โป๊ะแตก-แหกอก ธปท.” เมื่อเกิดกรณีปล่อยกู้อื้อฉาวขึ้นกับธนาคารกรุงไทย (KTB) กับบริษัท เอ็นเนอร์ยี่ เอิร์ธ จำกัด (มหาชน) หรือ EARTH ที่บริษัทอาศัยเพียงใบตราส่งสินค้าทางเรือ (B/L) ในการสั่งซื้อและนำเข้าถ่านหิน และสัญญาจองซื้อถ่านหินจากเหมืองในอินโดนีเซียมาตั้งเบิกขอสินเชื่อกับธนาคาร วงเงินกว่า 12,000 ล้านบาท
ก่อนจะมีการขุดคุ้ยธุรกรรมที่ว่านั้น ที่แท้แค่ “B/L และออฟชั่นทิพย์” ที่บริษัทเที่ยวไปขอกู้จากธนาคารและสถาบันกการเงินอื่น ๆ ภายใต้การกำกับอัน “เข้มงวด” ของ ธปท. อีกนับสิบแห่ง จนเป็นที่มาที่ทุกองค์กรตรวจสอบและกำกับดูแล ทั้งสำนักงานคณะกรรมการ ก.ล.ต. ตลาดหลักทรัพย์ และกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ที่ต่างยื่นมือเข้ามาตรวจสอบตามอำนาจหน้าที่กันอย่างถึงพริกถึงขิง
ยกเว้น ธปท. ที่วันนี้ยังงัวเงียนั่งเกาหัวแก๊ก ๆ ๆ ไม่รู้จะเริ่มต้น ก.เอ๋ย ก.ไก่ กันตรงไหนก่อนดี!
แก่งหิน เพิง