ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) ระบุว่า เศรษฐกิจของกลุ่มประเทศ CLMV (ประกอบด้วย กัมพูชา สปป. ลาว เมียนมา และเวียดนาม) มีแนวโน้มขยายตัวสูง ท่ามกลางเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มขยายตัวในอัตราที่ชะลอลง โดย IMF ได้คาดการณ์เศรษฐกิจโลก ปี 2567 จะขยายตัวร้อยละ 2.9 (ชะลอตัวจากที่คาดการณ์การขยายตัวในปี 2566 ร้อยละ 3.0 โดย กัมพูชา ขยายตัวที่ร้อยละ 6.1 สปป. ลาว ขยายตัวที่ร้อยละ 4.0 เมียนมา ขยายตัวที่ร้อยละ 2.6 และเวียดนาม ขยายตัวที่ร้อยละ 5.8) กลุ่มประเทศ CLMV มีความสัมพันธ์กับไทยทั้งในมิติเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน และมิติทางประวัติศาสตร์ร่วมกัน อย่างไรก็ตาม แม้จะมีที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ใกล้กันแต่ทุกประเทศมีนโยบายทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองที่มีลักษณะเฉพาะตัว การศึกษาสถานการณ์ทางเศรษฐกิจของแต่ละประเทศ จะช่วยสร้างโอกาสในการส่งออกสินค้าไทย ตลอดจนขยายความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการค้าระหว่างกัน รวมทั้งเป็นข้อมูลสำหรับภาครัฐและเอกชนในการจัดทำนโยบายและตัดสินใจเชิงกลยุทธ์
สถานการณ์ทางเศรษฐกิจของประเทศในกลุ่ม CLMV
1. กัมพูชา: 1) ธนาคารโลกเลื่อนสถานะทางเศรษฐกิจของกัมพูชาขึ้นมาอยู่ในกลุ่มประเทศ Lower - Middle Income ในปี 2559 2) สหภาพยุโรปได้เริ่มกระบวนการเพิกถอนกัมพูชาจากสิทธิพิเศษทางการค้า Everything But Arms (EBA) เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2562 3) การจัดทำแผนแม่บทโลจิสติกส์เพิ่มขีดความสามารถด้านโลจิสติกส์ผ่าน 3 ระเบียงเศรษฐกิจ (เชื่อมโยงทะเลจีนใต้ ชายแดนประเทศไทย และชายแดนเวียดนาม) และ 4) การเปลี่ยนผ่านการปกครองสู่พลเอกฮุน มาเนต ผู้นำพรรค Cambodian People's Party ที่ชนะการเลือกตั้งในปี 2566 ด้วยคะแนนเสียงร้อยละ 84
2. สปป. ลาว: 1) การมุ่งเป็น Battery of Asia ปัจจุบัน สปป. ลาว มีโรงไฟฟ้าที่เปิดดำเนินการแล้ว 42 แห่ง 2) รถไฟ สปป. ลาว - จีน เป็นจุดเปลี่ยนลักษณะภูมิประเทศจาก Land-locked เป็น Land-link เชื่อมต่อกับจีน ตลอดจนเชื่อมโยงเศรษฐกิจภายในประเทศ 3) สหประชาชาติรับรองให้ สปป. ลาว หลุดพ้นจากประเทศด้อยพัฒนาเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2564 4) การพัฒนาระบบการคลังผ่านการเพิ่มการจัดเก็บรายได้และลดการใช้จ่ายภาครัฐ โดยออกมาตรการควบคุมด้านการคลัง พัฒนาการจัดเก็บรายได้ และคุมการใช้จ่ายภาครัฐ 5) ราคาเชื้อเพลิงและสินค้าอุปโภคบริโภคปรับตัวสูงขึ้น ส่งผลให้ สปป. ลาว ประสบปัญหาภาวะเงินเฟ้อสูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ในปี 2565
3. เมียนมา: 1) ในปี 2562 ธนาคารกลางเมียนมาประกาศออกใบอนุญาตให้แก่ธนาคารต่างประเทศจํานวน 5 - 10 แห่ง เพื่อสนับสนุนการเปิดเสรีทางการเงินของประเทศ 2) การรัฐประหารเมื่อปี 2564 เป็นปัจจัยจำกัดการเติบโตที่สำคัญ 3) นักลงทุนต่างชาติย้ายฐานการผลิตจากเมียนมาไปยังประเทศจีนในช่วงปลายปี 2565 ภายหลังจากที่เมียนมาประสบปัญหาการเมืองภายในประเทศ และ 4) ในปี 2565 ค่าเงินจั๊ตอ่อนค่ารุนแรง และรัฐบาลจึงได้ดำเนินมาตรการเพื่อรักษาเสถียรภาพโดยการลดการสั่งสินค้าจากต่างประเทศ จำกัดการนำเข้า แต่ก็ยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้
4. เวียดนาม: 1) เวียดนามมีการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศมูลค่ากว่า 435,000 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา จากปัจจัยต่าง ๆ ได้แก่ การทำข้อตกลงการค้าเสรีกับหลายประเทศ แรงงานที่มีคุณภาพ และมีทำเลที่ตั้งที่เป็นประโยชน์ต่อการค้าในภูมิภาค 2) เวียดนามเป็นประเทศที่มีมูลค่าการส่งออกสูงสุดในกลุ่ม CLMV โดยมีสินค้าอิเล็กทรอนิกส์เป็นสินค้าส่งออกหลัก สัดส่วนกว่าร้อยละ 30 โดยประเทศคู่ค้ารายใหญ่ ได้แก่ สหรัฐฯ และจีน 3) การเติบโตอย่างมีนัยสำคัญของ e-Commerce จากการใช้งานอินเทอร์เน็ตที่เพิ่มขึ้น รวมถึงรายได้เฉลี่ยต่อหัวเพิ่มขึ้น โดยในปี 2565 เวียดนามมียอดการค้าบน e-Commerce สูงเป็นลำดับที่ 26 ของโลก มูลค่ารวมกว่า 13,358 ล้านดอลลาร์สหรัฐ 4) เวียดนามมีประชากรมากเป็นลำดับที่ 15 ของโลก (96.2 ล้านคน) โดยร้อยละ 70 อยู่ในวัยทำงาน ส่งผลให้มีแรงงานจำนวนมากและมีตลาดภายในขนาดใหญ่ 5) การเมืองมีเสถียรภาพไม่ผูกขาดกับผู้นำคนเดียว แม้จะปกครองโดยพรรคคอมมิวนิสต์ 6) เวียดนามได้ประโยชน์จากสงครามการค้าสหรัฐฯ - จีน เป็นประเทศเป้าหมายในการเป็นฐานการผลิตแห่งใหม่ รวมทั้งได้รับผลประโยชน์จากการส่งออกไปสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น ทดแทนการส่งออกจากจีน 7) การบริโภคภายในประเทศเพิ่มขึ้นจากการฟื้นตัวต่อเนื่องของตลาดแรงงาน 8) เวียดนามให้สัตยาบันรับรองข้อตกลง CPTPP ในปี 2561 โดยประเทศสมาชิกจะได้รับการยกเว้นภาษีนำเข้าสินค้าตามรายการสินค้าที่กำหนดไว้ และ 9) ในปี 2563 เวียดนามยกเลิกข้อจำกัดการถือหุ้นของนักลงทุนต่างชาติในธุรกิจทั่วไป โดยยกเลิกเพดานการถือครองหุ้นของนักลงทุนต่างชาติ และลดเพดานจำกัดการถือครองหุ้นของต่างชาติเป็นร้อยละ 30 สำหรับธุรกิจบางประเภท เช่น การธนาคาร และการบิน
โอกาสการค้าการลงทุนของไทย
1. กัมพูชา: 1) ใช้ประโยชน์จากแผนแม่บทโลจิสติกส์ 2025 ผ่านการส่งออกสินค้าไปยังกัมพูชาและประเทศที่ 3 เช่น เวียดนาม ซึ่งไทยสามารถลดต้นทุนทางการเงินและเวลาได้เฉลี่ยร้อยละ 20 2) อุปสงค์สินค้าผลไม้และผลไม้แปรรูปเพิ่มสูงขึ้นเป็นโอกาสส่งออกผลไม้แปรรูปของไทย 3) ความได้เปรียบจากการมีค่าแรงต่ำสุดในกลุ่มประเทศ CLMV จึงเหมาะกับอุตสาหกรรมที่เป็น Labor - Intensive 4) การออกกฎระเบียบที่ดึงดูดการลงทุน อาทิ กำหนดเงินลงทุนขั้นต่ำในการเริ่มต้นกิจการเพียงประมาณ 100,000 บาท การถือครองหุ้นได้ร้อยละ 100 (ในอุตสาหกรรมที่ไม่หวงห้าม) รวมทั้งสามารถนำกำไรกลับประเทศได้โดยมีกฎระเบียบน้อยกว่าประเทศอื่นในกลุ่ม CLMV และ 5) ธุรกิจที่น่าสนใจ ได้แก่ การแพทย์ พลังงาน เกษตรกรรม อสังหาริมทรัพย์
2. สปป. ลาว: 1) การใช้ประโยชน์จากโครงสร้างพื้นฐานของ สปป. ลาว โดยจัดทำแผนบูรณาการการใช้พื้นที่บริเวณจังหวัดมุกดาหารและจังหวัดหนองคายเชื่อมโยงไทยไปยังจีน ผ่านรถไฟ สปป. ลาว - จีน 2) การขนส่งสินค้าผ่านเส้นทางรถไฟ สปป. ลาว - จีน ทำให้การขนส่งผลไม้จากไทยไปจีนสะดวกขึ้นด้วยต้นทุนที่ถูกลง ซึ่งในอนาคตสินค้าธัญพืชและสินค้าประมงแช่เย็น จะสามารถใช้เส้นทางรถไฟดังกล่าวขนส่งสินค้าเข้าไปยังจีนได้เช่นกัน 3) การเร่งปฏิรูปโครงสร้างระบบการเงินการธนาคารและสินเชื่อของประเทศให้มีความเป็นสากล สามารถรองรับการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติได้มากขึ้น รวมทั้งเป็นโอกาสของไทยในการขยายการลงทุนสาขาบริการธนาคารใน สปป. ลาว 4) ผู้บริโภคมีความนิยมในสินค้าไทยโดยมองว่าเป็นสินค้าระดับบนที่มีคุณภาพ และนิยมข้ามพรมแดนมาจับจ่ายใช้สอยบริเวณชายแดน ทั้งนี้ มูลค่าการค้าชายแดนไทย - สปป. ลาว ปี 2566 (ม.ค. - ส.ค. 66) มีมูลค่าการค้ารวม 169,355 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.53 (YoY) และ 5) ความท้าทายสำหรับการค้าและการลงทุนใน สปป. ลาว ได้แก่ ตลาดมีขนาดเล็ก (ประชากรประมาณ 7.5 ล้านคน ต่ำที่สุดใน CLMV) และกำลังซื้อยังไม่สูงมากนัก
3. เมียนมา: 1) การเร่งส่งเสริมการค้าชายแดน เนื่องจากสถานการณ์ความรุนแรงภายในประเทศส่งผลให้สินค้าอุปโภคบริโภคขาดแคลน ชาวเมียนมาจึงเลือกข้ามแดนมาใช้จ่ายบริเวณตะเข็บชายแดน ซึ่งชายแดนไทย-เมียนมามีระยะทางถึง 2,400 กิโลเมตร ประกอบกับในปลายปี 2565 รัฐบาลเมียนมาผ่อนปรนให้สามารถใช้เงินบาทชำระค่าสินค้าสำหรับการค้าชายแดน เพื่อกระตุ้นการค้าและลดการพึ่งพาการใช้เงินดอลลาร์สหรัฐ 2) โอกาสของไทยในการเป็นตัวเลือกลำดับต้นหากนักลงทุนพิจารณาจะย้ายฐานการผลิตออกจากเมียนมา โดยไทยอาจให้สิทธิประโยชน์พิเศษสำหรับนักลงทุนที่ย้ายฐานการผลิตจากเมียนมา เช่น เครดิตภาษีนำเข้าเครื่องจักรหรือปัจจัยการผลิต การนำเข้าแรงงานฝีมือ เป็นต้น และ 3) ความท้าทายสำหรับการค้าและการลงทุนในประเทศเมียนมา ได้แก่ กำลังซื้อโดยเฉลี่ยยังไม่สูง มีความแตกต่างด้านชาติพันธุ์สูง
4. เวียดนาม: 1) การที่เวียดนามมุ่งหมายเป็นศูนย์กลางไอทีของ CLMV และอาเซียน เป็นผลให้เกิดภาวะขาดแคลนแรงงานฝีมือด้านไอที ซึ่งการส่งออกแรงงานฝีมือด้านไอทีผ่าน Remote work ของไทย เป็นประเด็นที่ควรศึกษาความเป็นไปได้ 2) เวียดนามเป็นตลาดขนาดใหญ่ และเป็นตลาดที่มีศักยภาพ ด้วยประชากรที่มากเป็นลำดับที่ 15 ของโลก (96.2 ล้านคน) และร้อยละ 70 อยู่ในวัยทำงาน ส่งผลให้มีกำลังซื้อสูงที่สุดในกลุ่มประเทศ CLMV และ 3) ความท้าทายสำหรับการค้าและการลงทุนในเวียดนาม ได้แก่ ชาวเวียดนามไม่ได้มองว่าสินค้าไทยมีคุณภาพดีกว่าสินค้าที่ผลิตภายในประเทศหรือที่ซื้อจากประเทศอื่น ซึ่งแตกต่างกับ สปป. ลาว เมียนมา และกัมพูชา ที่มองว่า สินค้าไทยเป็นสินค้าระดับกลาง - ระดับบน
นายพูนพงษ์ฯ กล่าวปิดท้ายถึงความสำคัญของประเทศในกลุ่ม CLMV ต่อการส่งออกของไทยว่า การส่งออกของไทยไปยังประเทศในกลุ่ม CLMV มีมูลค่ารวมกว่า 26,695.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นสัดส่วนกว่าร้อยละ 9.4 ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมดของไทยในปี 2566 (โดยที่กัมพูชา คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 2.3 (6,441.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) สปป. ลาว คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 1.6 (4,647.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) เมียนมา คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 1.6 (4,410.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) และเวียดนาม คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 3.9 (11,196.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ)