เศรษฐกิจไทยเข้าใกล้วิกฤติแล้วหรือยัง? คำตอบนี้ “คนไทย – ธุรกิจขนาดกลางและเล็ก” ต่างรู้กันดี! แม้ฝ่ายที่เห็นต่างจากรัฐบาล จะชี้ประเด็น 5 แบงก์พาณิชน์ขนาดใหญ่ ฟันกำไรในปี 2566 รวมกันสูงถึง 1.8 แสนล้านบาท และหากนับรวมผลกำไรของธุรกิจขนาดใหญ่อื่นๆ เข้าไปแล้ว กำไรรวมๆ กันราว “ล้านล้านบาท” ย่อมสะท้อนเศรษฐกิจไทยที่เติบโตแค่ไหน? แต่อยากให้รู้เอาไว้ ผลกำไรของธุรกิจ “เจ้าสัว – นายทุน - นักธุรกิจ” นั่นคือเลือดที่ไหลโทรมกายของคนไทยและประเทศไทย
………
เถียงกันไม่จบ! เศรษฐกิจไทยยามนี้...ใกล้วิกฤติแล้วหรือยัง?
หากถามไปทางฝั่งรัฐบาลและบรรดากองเชียร์...ที่หวังจะเห็นการผลักดัน โครงการเติมเงินผ่านกระเป๋าเงินดิจิทัล 10,000 บาท (แจกเงินหมื่นผ่านดิจิทัล วอลเล็ต) ให้เป็น “นโยบายเศรษฐกิจระยะเร่งด่วนที่สำคัญ” ของ “รัฐบาลเศรษฐา” ภายใต้การกำกับดูแลโดยกระทรวงการคลัง ซึ่งพรรคเพื่อไทยประกาศเป็นนโยบายหลัก ในช่วงการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2566 ด้วยหวังกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศยามนี้ โดยเฉพาะกำลังซื้อของภาคเอกชน และกำลังขายของภาคธุรกิจ
ชัดเจนว่า...เศรษฐกิจไทยนาทีนี้ ไม่ค่อยสู้ดีสักเท่าใด? จำเป็นจะต้องมีโครงการขนาดใหญ่ วงเงินระดับ 5 แสนล้านบาท มาช่วยพลิกฟื้น ผ่านแนวทางการกู้ยืมเงินมาใช้ในโครงการฯอย่างเร่งด่วน!
ครั้นลองไปฟังเสียงจากฟากที่ไม่เห็นด้วยกับ โครงการแจกเงินหมื่นผ่านดิจิทัล วอลเล็ต โดยเฉพาะ “หัวหอก” อย่างธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) หรือ แบงก์ชาติ ที่เห็นต่างจากรัฐบาล ทั้งในเรื่องนี้และเรื่องปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงมาเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจแล้ว
มันแตกต่างกันคนละขั้ว เสมือนอยู่คนละประเทศเดียวกัน!!!
“เรคกูเรเตอร์ภาคการเงิน” (แบงก์ชาติ) ไม่เชื่อว่า...เศรษฐกิจไทยยามนี้ จะเข้าใกล้คำว่าวิกฤตแต่อย่างใด คำตอบจากผลการดำเนินงานและกำไรของบรรดาธนาคารพาณิชย์ในประเทศไทย โฟกัสไปแค่ 5 แบงก์ใหญ่ตลอดทั้งปี 2566 ที่มีรวมกันเกือบ 1.8 แสนล้านบาท
สะท้อนว่า...เศรษฐกิจไทยกำลังจะไปได้สวย? กำไรของ 5 แบงก์พาณิชย์ใหญ่ พิสูจน์ได้ว่า...กำลังซื้อของภาคธุรกิจและภาคประชาชนยังคงเข้มแข็ง จึงสร้างรายได้จำนวนมหาศาลให้กับธนาคารพาณิชย์เหล่านี้ได้อย่างเป็นล่ำเป็นสัน
จนถึงนาทีนี้...คำตอบที่ประชาชนคนไทยคาดหวังจะได้รับอานิสงส์จากโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะเร่งด่วนของ “รัฐบาลเศรษฐา” ยังคงลางเลือน...
กระนั้น ก็มีข้อสังเกตจากนักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ และบรรดา “กูรูการเงิน” หลายคนที่แนะนำให้ทั้งภาคประชาชนและภาคธุรกิจ ลองสำรวจเม็ดเงินในกระเป๋าสตางค์หรือในบัญชีเงินฝากของตัวเอง
นั่นแหละ...พอจะได้คำตอบที่ว่า เศรษฐกิจใกล้วิกฤติแล้วหรือยัง?
ย้อนกลับไปดูผลงานของบรรดา 5 ธนาคารพาณิชย์ชั้นแนวหน้าของประเทศไทย กับนวัตกรรมที่รังสรรค์ผลงานได้ยอดเยี่ยม จนสามารถสร้างผลกำไรสูงสุดต่อเนื่องกันมาหลายสิบปี นับเฉพาะผลกำไรของปี 2566 ที่ผ่านมา จัดได้ว่า “อู้ฟู่สุดๆ” ทำสถิติใหม่ได้เรื่อยๆ
ไล่เรียงกันมา...เริ่มจากแบงก์พาณิชย์ที่ทำกำไรสูงสุด อย่าง...ธนาคารไทยพาณิชย์ ในนามกลุ่มที่ชื่อ บริษัท เอสซีบี เอกซ์ จำกัด (มหาชน) พบว่า ในปี 2566 สามารถทำกำไรสุทธิได้มากถึง 43,521 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 15.9% จากปีก่อน โดยที่ผลกำไรเพิ่มจากรายได้จากการดำเนินงานรวม 171,103 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 10.8% จากปีก่อน ส่วนใหญ่มาจากรายได้ดอกเบี้ยสุทธิที่เพิ่มขึ้น
รองลงมา คือ ธนาคารกสิกรไทย ที่มีกำไรสุทธิ 42,405 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 18.55% จากปีก่อน รายได้จากการดำเนินงานเพิ่มขึ้น 19,396 ล้านบาท (+11.19%) โดยมีรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ 148,444 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 11.61% โดยมีรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น 3,950 ล้านบาท (+9.81%) โดยอ้างว่า...ส่วนใหญ่เกิดจากการบริหารจัดการลงทุนทั้งในและต่างประเทศ และรายได้จากธุรกรรมเพื่อค้าและปริวรรตเงินตราต่างประเทศที่เพิ่มขึ้นตามปริมาณธุรกิจ สอดคล้องกับการฟื้นตัวบางส่วนของภาคการท่องเที่ยว
ขณะที่ ธนาคารกรุงเทพ แม้จะอยู่ในลำดับที่ 3 แต่ผลของกำไรสุทธิ ไม่หนี 2 อันดับแรกมากสักเท่าใด ตัวเลขที่ปรากฏในบัญชีผลการดำเนินงานคือ 41,636 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 42.1% จากปีก่อน โดยกำไรที่เพิ่มขึ้นจากรายได้ดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้น 28% สอดคล้องกับภาวะอัตราดอกเบี้ยสุทธิกับต้นทุนเงินรับฝากที่ทยอยเพิ่มขึ้นจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก และการปรับอัตราเงินนำส่งกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินเข้าสู่ระดับเดิม
อันดับ 4 ธนาคารกรุงศรี พบว่า มีกำไรสุทธิ 32,929 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 7.2% จากปีก่อน โดยมีปัจจัยสนับสนุนมาจากการเพิ่มขึ้นของรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ และรายได้ค่าธรรมเนียมและบริการสุทธิของพอร์ตสินเชื่อเพื่อผู้บริโภคในต่างประเทศที่ควบรวมแล้วเสร็จในปี 2566
สำหรับ “น้องเล็ก” ของ 5 แบง์พาณิชย์ขนาดใหญ่ อย่าง...ทีเอ็มบีธนชาต แม้จะทำผลกำไรสุทธิห่างชั้นจาก 4 อันดับแรก เหลือเพียง 18,462 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 30.1% จากปีก่อน แต่ก็ถือว่า...สูงมากเมื่อเทียบกับธุรกิจอุตสาหกรรมอื่นๆ โดยผลกำไรของธนาคารแห่งนี้ ส่วนใหญ่มาจากผลการดำเนินงานหลักและคุณภาพสินทรัพย์ที่ควบคุมได้ รายได้หลักเติบโตได้ดี มีการปรับโครงสร้างงบดุลให้มีความเหมาะสม เพื่อเสริมแผนการใช้สภาพคล่องและบริหารจัดการงบดุลให้มีประสิทธิภาพในช่วงดอกเบี้ยขาขึ้น
เบ็ดเสร็จ! เฉพาะผลกำไรของ 5 แบงก์พาณิชย์ขนาดใหญ่ในประเทศไทยในปี 2566 นั้น มีรวมกัน 178,935 ล้านบาท
กำไรที่มีมากเท่าใดของธุรกิจธนาคารพาณิชย์ รวมถึงธุรกิจขนาดใหญ่อื่นๆ ไม่ว่าจะเป็น...ธุรกิจค้าปลีก-ค้าส่ง ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ธุรกิจยานยนต์และภาคขนส่ง ธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม และอีกสารพัดธุรกิจ ล้วนดูดเงินออกจากกระเป๋าและบัญชีเงินฝากของคนไทยทั้งสิ้น
เสมือนการถ่ายเลือดออกจากร่างกายของคนเรา ยิ่งเลือดถูกดูดไปเป็นผลกำไรของธุรกิจธนาคารพาณิชย์และธุรกิจขนาดใหญ่อื่นๆ มากเท่าใด เลือดในกาย (เม็ดเงิน) ของทั้งภาคประชาชนและภาคธุรกิจขนาดกลางและเล็ก ก็จะเหลือน้อยถอยลงมากเท่านั้น
กำไรรวมๆ กันของทั้งธุรกิจธนาคารพาณิชย์และธุรกิจขนาดใหญ่อื่นๆ ที่มีรวมๆ กันมากกว่า “ล้านล้านบาท” นั้น หากถูกนำมาใช้เพื่อการลงทุนขยายกิจการภายในประเทศ ก็ยังพอจะมีประโยชน์โพดผลต่อระบบเศรษฐกิจไทยโดยรวม โดยเฉพาะผลประโยชน์ประชาชนคนใช้แรงงาน...หาเช้ากินค่ำได้บ้าง
แต่หาก เจ้าสัว - นายทุน - นักธุรกิจเหล่านั้น เลือกจะส่งผลกำไรกลับ “บริษัทแม่” หรือ “ผู้ถือหุ้นในต่างประเทศ” รวมถึงนำไปลงทุนขยายกิจการในต่างประเทศ ไม่ว่าในเวียดนาม อินโดนีเซีย และอีกหลายๆ ประเทศ เช่นที่เป็นอยู่ในขณะนี้
แน่นอนว่า...เลือดที่ไหลโทรมกายนั้น ย่อมส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจของไทย และความอยู่รอดของภาคธุรกิจและภาคประชาชนอย่างไม่ต้องสงสัย และถ้าเป็นเช่นนี้ตลอดไป คำตอบของคำถามที่ว่า...เศรษฐกิจไทยใกล้ถึงขั้นวิกฤติแล้วหรือยัง?
ถึงนาทีนี้...คนไทยคงมีในใจกันบ้างแล้วและยิ่งแนวโน้มที่บรรดา “ผู้บริหารระดับสูง” ของธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ เตรียม “ยกการ์ดขึ้นสูง” ในการดำเนินงานในปี 2567 ด้วยแล้ว ไม่ว่าจะเป็น...
การ “เดินหน้าสะสม - เงินสำรอง” ให้สูงยิ่งๆ ขึ้น
การพิจารณาปล่อยสินเชื่อ (เงินกู้) ให้กับภาคธุรกิจขนาดกลางและเล็ก ที่จำต้องเข้มข้นและยากขึ้น ด้วยหวังจะขจัดปัญหา “หนี้เสีย (เอ็นพีแอล)” ให้ลดลง
การกำหนดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้และค่าธรรมเนียมอื่นๆ ที่คิดกับภาคธุรกิจขนาดกลางและเล็ก รวมถึงจากภาคประชาชน (เงินกู้ส่วนบุคคล/เงินกู้อื่นๆ) ที่จะต้องแพงขึ้น ตามความเสี่ยงที่จะมี
ทั้งหมดสะท้อนได้เป็นอย่างดีว่า...โอกาสการเข้าถึงแหล่งเงินกู้ของภาคธุรกิจขนาดกลางและเล็ก และภาคประชาชน ในปี 2567 จะเป็นเช่นใด?
หากภาวะดังกล่าวยังคงปรากฏเป็นผลประจักษ์เช่นนี้ต่อไปเรื่อยๆ ต่อให้ “รัฐบาลเศรษฐา” จะออกสัก 10 โครงการแจกเงินหมื่นผ่านดิจิทัล วอลเล็ต เพื่อหวังจะใช้กระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศกันมากมายสักเพียงใด?
ก็คงจะเอากันไม่อยู่เป็นแน่!!!