ผู้สื่อข่าว สำนักข่าวเนตรทิพย์ ออนไลน์ รายงานว่า วันนี้ (30 กรกฎาคม 2562) ดร.ณรงค์ชัย อัครเศรณี อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน และผู้คร่ำหวอดในแวดวงการเมือง ได้โพสต์เฟสบุ๊ค ในหัวข้อ ”รัฐบาลประยุทธ์2..เห็นอะไรในวาระแถลงนโยบาย” ซึ่งมีสาระที่น่าสนใจ โดยระบุว่า
การแถลงนโยบายรัฐบาลประยุทธ์ 2 เมื่อ 25-26 ก.ค.นี้ ผ่านไปแล้ว แวดวงสนทนาและสื่อต่างๆ วิพากษ์วิจารณ์กันมากมาย ผลรวมจากการสำรวจออกมาส่วนใหญ่ไม่ค่อยพอใจ ด้วยเหตุผลต่างๆ นานา
วันนี้ผมขอแชร์ว่าผมเห็นอะไร ดูจากตาและจากประสพการณ์ ที่เห็นการอภิปรายในสภา เห็นการบริหารประเทศมากว่า 50 ปี เพื่อจะเป็นข้อมูลให้ท่านผู้อ่านที่สนใจปัญหาชาติบ้านเมือง อาจใช้ประโยชน์ได้บ้าง
เสียงสะท้อนส่วนใหญ่ ที่ได้รับฟัง ได้อ่าน มีไม่พอใจมากกว่าพอใจ ทั้งสาระและลีลา คือทั้ง Style และ Substance
ผมคิดว่าการดูและการรับฟังการอภิปรายในรัฐสภา เหมือนเราดูนักการเมืองแสดงวาทะ ซึ่งก็ไม่ต่างจากการดู การฟัง การแสดงอื่นๆ เช่น กีฬาและนาฏศิลป์ รวมทั้งการแสดงของอาชีพต่างๆ
การแสดง การทำงานของทุกอาชีพ จะให้ดีต้องฝึกซ้อมสม่ำเสมอ มีการเรียนรู้ไปด้วย จึงจะพัฒนาได้ดีขึ้น
ท่านคิดว่าอาชีพนักการเมืองมีโอกาสฝึกซ้อมไหมครับ
ประเทศไทย นักการเมืองสายการเลือกตั้ง จะเป็นนักการเมืองอาชีพได้ลำบากมาก คืออาชีพต้องมีความต่อเนื่องของงานและรายได้ นักการเมืองไทย คาดหวังอย่างนั้นไม่ได้ เพราะไม่รู้เลยว่าจะตกงานเมื่อไร การตกงานเพราะแพ้เลือกตั้งเป็นความเสี่ยง (Risk) ที่พอจะคาดคะเนได้ แต่ความไม่แน่นอน (Uncertainty) ว่าจะถูกยึดอำนาจเมื่อไร คำนวณไม่ได้เลย คนที่ต้องทำงานต่อเนื่อง ต้องมีรายได้ประจำ จะมาเสี่ยงเป็นนักการเมืองได้ยาก
ดังนั้น คนที่มีความรู้ ความสามารถ ถ้าจะมามีอาชีพเป็นนักการเมือง ต้องมีทุน มีเงินมากอยู่แล้ว หรือใจกล้าแบบบ้าบิ่น เราจึงมีนักการเมืองส่วนมากที่เป็นนักธุรกิจคนไทยเชื้อสายจีนตามท้องถิ่นทั่วประเทศ เพราะท่านเหล่านี้มีอาชีพอยู่แล้ว ไม่มีหรือไม่ได้รับเลือกตั้งก็คอยได้ นักการเมืองไทยจึงมีคำนำหน้าว่า เสี่ย เฮีย โก หลงจู้ เจ้ ฯลฯ เป็นส่วนมาก
ในเมื่อสังคมการเมืองไทยเป็นอย่างนี้ เราจึงได้ยินคำบ่นว่า นักการเมืองไทยไม่มีคุณภาพ โดยไม่บ่นว่าสังคมไทยไม่ช่วยสร้างนักการเมืองที่ดีมีคุณภาพ
ทีนี้มาดูว่าที่ได้นักการเมืองมารอบนี้ มีคุณภาพมากน้อย แค่ไหน อย่างไร คงต้องยอมรับก่อนว่า นักการเมืองที่เคยพัฒนาตนจนมีคุณภาพหลายคนไม่ได้กลับเข้ามา เพราะรัฐธรรมนูญและกฎหมายเลือกตั้ง สร้างกำแพงไว้กันคนเหล่านั้น (พรรคเพื่อไทย) และบางคนก็ไปสร้างปัญหาให้ตัวเองจนเข้าแข่งขันไม่ได้ (ไทยรักษาชาติ) ดังนั้นสภาผู้แทนชุดนี้ จึงมี สส.หน้าใหม่จำนวนมาก ซึ่งคุณภาพยังต้องใช้เวลาพิสูจน์
ที่มีการสำรวจความคิดเห็นของประชาชน ก็ได้รับคำชมอยู่บ้าง ที่ผมขออ้างอิงในบทความนี้ ก็คือคำอภิปรายของ คุณพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เพราะเห็นได้ Rating สูงเป็นที่หนึ่ง
ผมขออ้างอิงคำอภิปรายของคุณพิธาในเชิงวิชาการทางเศรษฐศาสตร์เป็นหลัก เพราะเป็นอาชีพที่ผมเรียนรู้ ทั้งปฏิบัติมาต่อเนื่องกว่า 50 ปีแล้ว
คุณพิธา อภิปรายปัญหาของเกษตรกร เกษตรกรรม โดยวิเคราะห์ว่าเกิดตั้งต้นจากปัญหากรรมสิทธิ์ที่ดิน ในวิชาเศรษฐศาสตร์ เราเรียกว่าปัญหาทางด้าน Supply เศรษฐศาสตร์มี Supply กับ Demand ทุกธุรกรรมคือถ้า Supply เจอ Demand ที่ลงตัว ธุรกรรมก็เกิด ถ้าราคาเป็นธรรม เป็นที่พอใจของทั้งสองฝ่าย คือผู้ซื้อ ผู้ขาย / ผู้ผลิต ธุรกรรมก็ต่อเนื่อง เจริญเติบโต
ปัญหาทางเศรษฐกิจของไทย ส่วนใหญ่มาจากทางฝั่ง Supply ซึ่งเป็นการนำเอาปัจจัยการผลิตต่างๆ มาสร้างสินค้าและบริการ ปัจจัยนั้นก็คือ ที่ดิน (Land) แรงงาน (Labor) ทุน (Capital) และเทคนิคการผลิต (Technology) ทุกอย่างรวมกัน ทำการภายใต้กฎ / ระเบียบของรัฐ
ประเด็นของคุณพิธา คือ ปัจจัยที่ดินสำคัญที่สุดสำหรับอาชีพเกษตรกรรม ซึ่งจริงและใครก็เถียงไม่ได้ ไม่ว่าจะมีใจลำเอียง มีอคติต่อคุณพิธาแค่ไหน และที่สำคัญยิ่งกว่านั้นก็คือ ผมคิดว่ากรรมสิทธิ์ที่ดินเป็นปัญหาใหญ่ที่สุดของเศรษฐกิจไทย ซึ่งกระทบธุรกิจทุกอย่าง ไม่ใช่เกษตรกรรมเท่านั้น
ท่านประชาชนอาจไม่ทราบว่า ปัญหากรรมสิทธิ์ที่ดินมีมากจนฉุดรั้งความเจริญทางเศรษฐกิจของไทย สาเหตุมาจากความไม่ชัดเจนของกรรมสิทธิ์ และของการใช้ที่ดิน
ท่านผู้อ่านก็คงทราบว่า ที่ดินเป็นเรื่องของพื้นที่ ซึ่งกรรมสิทธิ์ต้องใช้แผนที่
ปัญหาคือแผนที่ของที่ดินของไทย มีหลายชุด บางกรณีในพื้นที่เดียวกัน เกิดการทับซ้อนกันเพราะ Scale การเขียนแผนที่มักใช้กันที่ 1 ต่อ 20,000 ดังนั้นในแผนที่ 1 เมตร เท่ากับที่ดิน 20,000 เมตร หรือ 20 กิโลเมตร โอกาสทับซ้อนกันจึงสูงมาก
เรามีแผนที่หลัก คือโฉนดที่ออกโดยกรมที่ดิน แต่เราก็มีแผนที่ของ
- กรมพัฒนาที่ดิน
- กรมป่าไม้
- กรมอุทยานฯ
- สปก.
- นิคมสร้างตนเอง
ซึ่งแต่ละหน่วยงาน ก็อ้างกฎหมายของตนเอง ไม่ยอมรับกันและกัน ไม่ยอมร่วมกันแก้ไข เราจึงได้เห็นเรื่องแผนที่ทับซ้อน และเรื่องคดีความอยู่ตลอดเวลา ซึ่งส่วนใหญ่ก็ไม่มีข้อยุติ ทำให้การใช้ประโยชน์จากที่ดินต้องหยุด ต้องสะดุด มูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจก็ไม่มี
เรื่องปัญหากรรมสิทธิ์ที่ดินไม่ใช่เรื่องใหม่ มีมานานมากแล้ว รัฐบาลประยุทธ์หนึ่ง ก็ประกาศว่าจะทำ Single Map เพราะตอนนี้มีดาวเทียม มี GISTDA ทำได้ไม่ยาก แต่ห้าปีผ่านไป Single Map หรือ One Map ก็ยังไม่เกิด หวังว่าที่คุณพิธาอภิปราย จะมีคนสานต่อและทำให้เกิดได้ จะเป็นการปลดกับดักทางเศรษฐกิจ / สังคมอันหนึ่งของไทย
นอกจากปัญหากรรมสิทธิ์ ยังมีปัญหาการใช้ ซึ่งก็เกี่ยวกับผังเมืองที่ปรับเปลี่ยนไม่ทันการณ์อีกด้วย
มีอีกหลายเรื่อง ที่อภิปรายกันในสภา ที่ผมว่าน่าสนใจและน่าติดตาม เรื่องการแก้ไขปัญหาต่างๆ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติ ท่านประชาชนต้องช่วยกันเสริมต่อ ผมเองจะมาแชร์กับท่านเรื่องปัญหาเศรษฐกิจต่อไปครับ