หลายคนสงสัยและตั้งคำถาม? คนไทย ธุรกิจไทย และประเทศไทย ได้อะไรจากการใช้จ่ายงบประมาณจำนวนมหาศาลกับการเดินสายทัวร์ต่างประเทศ “15 ชาติ” ตลอด 6 เดือนเศษของ “นายกฯเศรษฐา ทวีสิน” คำตอบที่มี...อาจยังไม่ชัดเท่ากับการแถลงผลงานของรัฐบาลในวันพรุ่งนี้ (15) กระนั้น ข้อความข้างในบทความชิ้นนี้ ก็น่าจะเหตุผลหักล้างกับข้อกล่าวหาข้างต้นจากฝ่ายตรงข้ามรัฐบาลได้บ้าง ส่วนอะไรที่ผลงานของรัฐบาล อีกไม่เกิน 24 ชม. คนไทย...ลองมาไล่ทำ “เช็คลิสต์” กันดู อะไรบ้างที่ “รัฐบาลเศรษฐา” เรียกว่าเป็น...ผลงานของตัวเอง!!!
...............
6 เดือนเศษของการทำหน้าที่ “นายกรัฐมนตรี”... คนไทย ภาคธุรกิจไทย และระบบเศรษฐกิจไทย ได้อะไรจากคนที่ชื่อ “เศรษฐา ทวีสิน”???
กลายเป็นคำถามเชิงถากถาง! ถึงศักยภาพของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ที่ดังกระหึ่มอยู่ในเวลานี้
การออกเดินสายทัวร์ต่างประเทศ “บ่อยและถี่” นับรวม 15 ประเทศ ทั้งในและนอกภูมิภาคอาเซียนของ “นายกฯ เศรษฐา” ท่ามกลางภาวะความขัดแย้งเชิงความคิด ที่ว่า...เศรษฐกิจไทยใกล้ถึงขั้นวิกฤติแล้วหรือยัง?
ก็ยังจะมีปมความล้มเหลว ทั้งในข้อสั่งการและการแสดงความคิดเห็นของนายกรัฐมนตรี แทรกกลางเป็น “ยาดำ” ทิ่มแทงหัวใจคนเป็น “ผู้นำรัฐบาล”
นับตั้งแต่...ปมข้อเสนอแนะถึงคณะกรรมการไตรภาคี ในประเด็นปรับเพิ่มการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ซึ่งท้ายที่สุด! ก็ไม่มีผลอะไรในเชิงปฏิบัติ
ต่อด้วย...ความเห็นถึงการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ในสังกัด ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) หรือ แบงก์ชาติ หวังจะลดภาระทางการเงินของ “ลูกหนี้เงินกู้” สถาบันการเงิน และหวังจะกระตุ้นเศรษฐกิจไทยในยามนี้
แต่ก็อย่างที่เห็น...กนง.ยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่เดิม 2.5%
แม้กระทั่ง ความเห็นของสำนักงานกฤษฎีกา เกี่ยวกับการขับเคลื่อนโครงการเติมเงินผ่านกระเป๋าเงินดิจิทัล 10,000 บาท (แจกเงินหมื่นผ่านดิจิทัล วอลเล็ต) ที่ออกมาแล้ว...ไม่เป็นคุณต่อรัฐบาลสักเท่าใด?
เรื่องร้อนๆ เหล่านี้ นายเศรษฐา และคณะรัฐมนตรีใน “รัฐบาลเศรษฐา” รวมถึงส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ยังมีแก่ใจจะออกเดินสาย...ทัวร์ต่างประเทศ อีกหรือ?
การเดินทางไปเยือนต่างประเทศแต่ละครั้งนั้น ประเทศไทยต้องสูญเสียงบประมาณจำนวนมาก แล้วมันอะไรกลับคืนมาบ้าง?
แม้สังคมไทยส่วนใหญ่จะรู้ว่า...นี่คือคำถามจาก “ฝ่ายตรงข้าม” ในทางการเมืองของรัฐบาล ทว่าคนไทยเองก็อยากจะรู้เช่นกันว่า...การที่ “นายกฯ เศรษฐา” นำคณะฝ่ายไทยออกเดินสายทัวร์ต่างประเทศ นับรวมกัน 15 ประเทศ ในรอบ 6 เดือนเศษที่ผ่านมา ประเทศไทยได้อะไรบ้าง?
14 มีนาคม 2567 นี้ “นายกฯ เศรษฐา” และคณะฯ จะเดินทางกลับถึงประเทศไทย หลังจากเสร็จสิ้นภารกิจในการเดินทาง เยือนประเทศสาธารณรัฐฝรั่งเศส และสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีอย่างเป็นทางการ (7- 13 มีนาคม 2567) ซึ่งใน 2 ประเทศยักษ์ใหญ่ฝั่งสหภาพยุโรปนั้น รัฐบาลไทย ภายใต้การนำของ “นายกฯ เศรษฐา” ยังได้ร่วมทำกิจกรรมคู่ขนานกับรัฐบาลของทั้ง 2 ประเทศ
และทันทีที่ถึงประเทศไทย คิวร้อนๆ ที่ “นายกฯเศรษฐา” จะต้องทำต่อไป ก็คือ...
การแถลงผลงาน 6 เดือนของรัฐบาล โดยเฉพาะกับ “ความสำเร็จ” ในการเดินสายพบปะ “ผู้นำประเทศ” ทั้งเพื่อการแนะนำตัวเองกับ “ผู้นำประเทศเพื่อน” ในกลุ่มอาเซียนและชาติยังใหญ่ของเอเชีย และการประชุมที่เป็นไปตามกรอบวาระการประชุม ซึ่งได้มีการกำหนดเอาไว้ล่วงหน้าในทุกๆ ปีอยู่ก่อนแล้ว
โดยเฉพาะ เวทีการประชุมอย่างหลัง ซึ่งมีหลายเวทีที่ “นายกฯ เศรษฐา” ถือโอกาสได้พบปะกับ “ผู้นำชาติมหาอำนาจ” และ “ผู้บริหารระดับสูงของบริษัทข้ามชาติ” เป้าหมายก็เพื่อจะบอกว่า...
หนึ่ง... ประเทศไทยได้ “เปิดประเทศ” สู่ความเป็นประชาธิปไตยแล้ว ฉะนั้น รัฐบาลของประเทศต่างๆ โดยเฉพาะฝั่งตะวันตก ที่เคย “บอยคอต – ประเทศไทย” ก็ควรหันกลับมาติดต่อค้าขาย เจรจาพาที ทั้งในเชิงความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ และในมิติการค้าและการลงทุนระหว่างกัน
อีกหนึ่ง...เชิญชวนกลุ่มทุนและธุรกิจอุตสาหกรรมข้ามชาติขนาดใหญ่ เข้ามาลงทุนในประเทศไทย โดยที่ “รัฐบาลไทย” พร้อมจะอำนวยโอกาสและความสะดวกในทุกๆ ด้านกับทุนข้ามชาติเหล่านั้น
หากไม่มีอะไรผิดพลาด 15 มีนาคมที่จะถึงนี้ ก็น่าที่ “นายกฯ เศรษฐา” จะเปิดแถลงข่าวใหญ่ “ผลงาน 6 เดือนของรัฐบาล” ให้คนไทยได้รับรู้ทั่วกัน
สิ่งที่ฝ่ายตรงข้าม...มองไม่เห็นเป็นผลงานของรัฐบาล นั้น “นายกฯ เศรษฐา” จะเปลี่ยนวิกฤติเป็นโอกาสได้แค่ไหน? และคนไทยจะเชื่อในผลงาน 6 เดือนของรัฐบาลหรือไม่?
อีกเดี๋ยวได้รู้กัน!!!
แต่ที่แน่ๆ คนที่เคยทำหน้าที่ “รัฐมนตรีต่างประเทศ” ในยุค “รัฐบาลยิ่งลักษณ์” อย่าง...นายนพดล ปัทมะ ได้ออกมาแสดงความคิดเห็นในประเด็นดังกล่าว พร้อมกับขอให้วิจารณ์ “นายกฯ เศรษฐา” ด้วยใจที่เป็นธรรม อย่าหวังเพียงคิดแค่ “ด้อยค่า” ในทางการเมืองเท่านั้น
อดีตรัฐมนตรีต่างประเทศ ชี้ว่า...ส่วนตัวตนเห็นว่าผลงานที่เด่นของรัฐบาลนี้ น่าจะเป็นเรื่อง “ด้านต่างประเทศ” โดยเฉพาะการไปเจรจาเปิดตลาดการค้าและการลงทุน ด้วยการเชิญชวนให้นักลงทุนที่เป็นบริษัทชั้นนำเกือบทั่วโลกเข้ามาลงทุนในประเทศไทย
อีกทั้ง นายกรัฐมนตรียังได้โปรโมต “ซอฟต์พาวเวอร์” ให้กับสินค้าไทย อีกด้วย และที่เห็นว่าอาจเดินทางบ่อย ด้วยเหตุผล 3 ประการ ที่ตัวเขาขอสรุปเป็นข้อๆ ตามนี้จาก...
1. การเดินทางไปหลายประเทศนั้น เป็นกำหนดการประชุมที่มีกำหนดล่วงหน้าแต่ละปีอยู่แล้ว เช่น การเดินทางไปประชุมยูเอ็นที่นิวยอร์ค การไปประชุมอาเซียน-ญี่ปุ่น หรือการไปประชุมอาเซียน-ออสเตรเลีย ซึ่งผู้นำเกือบทุกประเทศเดินทางไปร่วม ถ้าไทยไม่ไปจะเป็นเรื่องที่แปลก นอกจากนั้น มีธรรมเนียมว่าทุกครั้งที่นายกฯ คนใหม่เข้าบริหารประเทศก็จะต้องเดินทางไปแนะนำตัวเอง และเจรจาเพื่อสร้างความสัมพันธ์ทั้งสองฝ่าย เช่น ที่เดินทางไปจีน ลาว กัมพูชา สิงคโปร์ เยอรมัน ฝรั่งเศส เป็นต้น
2. การเดินทางไปเจรจากับรัฐบาล รวมทั้งพบปะนักธุรกิจประเทศต่างๆ ไม่ใช่เรื่องง่ายที่สักแต่ทำไปให้พ้นๆ แต่ต้องทำงานหนักเพราะต้องอ่านแฟ้มเอกสารและเตรียมประเด็นเจรจา ในฐานะที่เคยเป็น รมว.การต่างประเทศ ตนเข้าใจขั้นตอนและความยากลำบากในการเตรียมการของทุกภาคส่วน โดยเฉพาะตัวนายกฯ เองที่จะต้องเป็นผู้ดำเนินการเจรจาเอง
และ 3. การดึงดูดการเปิดตลาดและดึงนักลงทุนมาไทย เพื่อสร้างงาน สร้างโอกาส เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันนั้น อาจจะต้องใช้เวลาอยู่บ้าง งานด้านต่างประเทศไม่ใช่การปลูกหญ้าที่เจ็ดวันเขียว แต่เป็นเหมือนการปลูกไม้ยืนต้นที่เป็นการวางรากฐานและใช้เวลาตามสมควร แต่ถ้าวางรากฐานและทิศทางให้ถูกต้อง ก็เชื่อมั่นว่าการเจรจาและกระชับความสัมพันธ์กับประเทศต่างๆ จะผลิดอกออกผลในไม่ช้า
“การวิจารณ์ผู้นำนั้นทำได้ แต่ควรอยู่บนข้อเท็จจริง ที่มีการด้อยค่าว่าการไปต่างประเทศเหมือนเป็นแมลงวันที่บินไปบินมา ไม่มีผลงานอะไรนั้นไม่เป็นธรรม ผมเชื่อในความตั้งใจของนายกฯ และรัฐบาล ที่ตั้งใจสร้างโอกาสให้กับไทยในเวทีโลก เพราะถ้าจะหาความเพลิดเพลินจากการเดินทางไปต่างประเทศ ท่านเคยเป็นนักธุรกิจก็เคยท่องเที่ยวไปเกือบทั่วโลกอยู่แล้ว ขอติดตามผลสำเร็จที่จะตามมา ค่าของคนอยู่ที่ผลของงาน” นายนพดล สรุปความเอาไว้อย่างสนใจ
ลองดู ภาพรวมกว้างๆ กับผลประจักษ์ของการเดินทางไปเยือนต่างประเทศในหลายๆ ครั้ง ตลอด 6 เดือนเศษของการเข้ารับตำแหน่ง “นายกรัฐมนตรี” ของนายเศรษฐา ที่ “โฆษกรัฐบาล” นายชัย วัชรงค์ ยกย่องให้เป็น... บุรุษผู้ทำหน้าที่นักการทูต และนักเจรจาทางด้านการค้าและการลงทุน ที่มุ่งสร้างผลประโยชน์ในลักษณะ WIN WIN ด้วยการทุกฝ่าย....
เริ่มภารกิจแรกที่การเข้าร่วม การประชุมสมัชชาสหประชาชาติ สมัยสามัญ ครั้งที่ 78 (78th Session of the United Nations General Assembly: UNGA78) ณ นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา (18-24 กันยายน 2566) ครั้งนั้น นายกฯไทย เชิญชวนภาคเอกชนขนาดใหญ่ของสหรัฐ โดยเฉพาะ 3 บริษัทเทคยักษ์ใหญ่ ประกอบด้วย อะเมซอน กูเกิล และ ไมโครซอฟท์ ด้วยมูลค่าการลงทุนเกือบ 4 แสนล้านบาท
จากนั้น ก็ตามมาด้วยการเดินทางเยือน ราชอาณาจักรกัมพูชา พบกับ สมเด็จฮุน เซน ประธานคณะองคมนตรีกัมพูชา เพื่อแนะนำตัวในโอกาสรับตำแหน่งใหม่ (28 กันยายน 2566)
การเดินทางไปพบ ผู้บริหารและนักธุรกิจของฮ่องกง (8-9 ตุลาคม 2566) ที่ได้เน้นย้ำว่า...ประเทศไทยเปิดและพร้อมรับนักลงทุนและภาคเอกชนจากฮ่องกงและนานาชาติแล้ว
การเข้าคารวะ ดาโตะ เซอรี อันวาร์ อิบราฮิม นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย ในโอกาสเดินทางเยือนประเทศมาเลเซีย อย่างเป็นทางการ ต่อด้วยการเดินทางเยือนสิงคโปร์อย่างเป็นทางการ พร้อมหารือทวิภาคีกับ นายลี เซียนลุง นายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ เพื่อแนะนำตัวในโอกาสรับตำแหน่งใหม่ (11-12 ตุลาคม 2566)
การเข้าร่วมประชุมเวทีข้อริเริ่มสายแถบและเส้นทาง ครั้งที่ 3 (Belt and Road Forum for International Cooperation: BRF) โดยนายกรัฐมนตรี ยังได้พบปะหารือทวิภาคีกับ นายวลาดิเมียร์ ปูติน ประธานาธิบดีแห่งสหพันธรัฐรัสเซีย และ นายสี จิ้นผิง ประธานาธิบดีสาธารณรัฐประชาชนจีน ในงานเลี้ยงอาหารค่ำ ณ กรุงปักกิ่ง ประเทศจีน (16-19 ตุลาคม 2566)
การประชุม อาเซียนและคณะมนตรีความร่วมมือรัฐอ่าวอาหรับ (Gulf Cooperation Council: GCC) ประเทศซาอุดีอาระเบีย (19 - 21 ตุลาคม 2566)
การเดินทางไปเยือน สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว เพื่อแนะนำตัวในโอกาสรับตำแหน่งใหม่ (29-30 ตุลาคม 2566)
เดินทางเข้าร่วม ประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ประจำปี 2023 ซานฟรานซิสโก สหรัฐอเมริกา (12-19 พฤศจิกายน 2566)
การเข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน - ญี่ปุ่นสมัยพิเศษ (ASEAN-Japan Commemorative Summit) ในวาระครบรอบ 50 ปี ความสัมพันธ์อาเซียน - ญี่ปุ่น ณ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น (14-19 ธันวาคม 2566)
การเข้าร่วมการประชุม World Economic Forum ประจําปี 2567 ที่นครซูริก สมาพันธรัฐสวิส (15-19 มกราคม 2567)
การเข้าประชุมงาน Sri Lanka – Thailand Business Forum ณ กรุงโคลัมโบ ประเทศศรีลังกา (3-4 กุมภาพันธ์ 2567)
การเดินทาง ร่วมประชุมสุดยอดอาเซียน-ออสเตรเลีย สมัยพิเศษ โดยได้หารือประเด็นสำคัญกับผู้นำหลายประเทศ และเตรียมความพร้อมโครงการของไทยไปแสดงในงาน The MIPIM Awards ในปี 2568 ต่อด้วยการเดินทางต่อไปยัง กรุงเบอร์ลิน ประเทศเยอรมนี ไปกล่าวสุนทรพจน์ที่การประชุม ITB Berlin 2024 และเข้าพบ ประธานาธิบดี แอมานุแอล มาครง แห่งฝรั่งเศส เพื่อพูดคุยระดับทวิภาคี (4-14 มีนาคม 2567)
ตลอดการเข้ารับตำแหน่ง นายกรัฐมนตรีของ นายเศรษฐา กับการเดินสายไปทัวร์ต่างประเทศในทุกครั้ง ก็เป็น “โฆษกรัฐบาล” ที่ออกมายืนยันในทำนองว่า...มันคือส่วนหนึ่งในแผนยุทธศาสตร์ของรัฐบาลในการประชาสัมพันธ์ความพร้อมในการเปิดประเทศ และต้อนรับการลงทุนจากต่างประเทศ รวมถึงตอกย้ำการเชิญชวนให้นักท่องเที่ยวจากทั่วโลกมาเยือนเมืองไทย เพื่อสัมผัสกับวัฒนธรรมในมิติต่างๆ ของไทย โดยเฉพาะแผนการโปรโมท “ซอฟท์พาวเวอร์” ของไทยในมิติต่างๆ
“เชื่อมั่นครับว่า ยุทธศาสตร์ด้านการต่างประเทศของรัฐบาลภายใต้การนำของนายกฯ เศรษฐา ทวีสิน จะทำให้ไทยก้าวหน้า กลับสู่จุดที่ทั่วโลกให้ความสำคัญ ให้ความสนใจ ยุทธศาสตร์แบบผูกมิตร การทูตที่กินได้ จะทำให้ประชาชนปากท้องดีขึ้น และเชื่อมั่นได้เลยครับว่านายกรัฐมนตรียังตั้งใจที่จะเปิดนโยบายวีซ่าฟรีกับประเทศอื่น ๆ เพิ่มขึ้นอีก เพื่อเพิ่มศักยภาพของหนังสือเดินทางไทยในเวทีโลกครับ” นายชัย ย้ำ
ถึงนาทีนี้ “สำนักข่าวเนตรทิพย์” คงไม่ต้องพูดอะไรให้มากความ อย่างน้อย...ความข้างต้น แม้จะออกมาในด้านที่เป็นคุณต่อ “รัฐบาลเศรษฐา” แต่ก็เป็นไปเพื่อการถ่วงน้ำหนักกับสารพัดข้อกล่าวหาที่ว่า... คนไทย ธุรกิจไทย และระบบเศรษฐกิจไทย ไม่ได้อะไรจากการเดินสายออนทัวร์ต่างประเทศของ “นายกฯ เศรษฐา” รวม 15 ประเทศ ตลอด 6 เดือนเศษ
เพราะในความเป็นจริงแล้ว สิ่งที่รัฐบาลไทย ภายใต้การนำของ “นายกฯ เศรษฐา” ทำเอาไว้นั้น มันยังจะคงอยู่และเดินหน้าต่อไปข้าง แม้ว่า...อนาคตในทางการเมืองของเขาอาจสิ้นสุดลง! ทั้งที่เร็วกว่ากำหนด และ/หรือ เป็นไปตามกำหนดเวลาก็ตาม
ประเทศไทยย่อมได้ประโยชน์อย่างไม่ต้องสงสัย?
แต่ที่แน่ๆ หากไม่มีอะไรผิดพลาด! วันนี้ (14 มีนาคม 2567) นายกฯ เศรษฐาและคณะฯ จะเดินทางกลับถึงประเทศไทย และวันพรุ่งนี้ (15 มีนาคม 2567) คนไทยก็อาจจะได้เห็น...การแถลง “ผลงาน 6 เดือนของรัฐบาล” กัน
ถึงตรงนั้น เราลองมา “เช็คลิสต์” กันดู อะไรบ้างที่ “รัฐบาลเศรษฐา” เรียกว่าเป็น...ผลงานของตัวเอง!
…