เหลือบไปเห็นไอเดียสุดบรรเจิดของ รมต.คมนาคม นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ ที่มีแนวนโยบายจะให้บริษัท ขนส่ง จำกัด หรือ บขส. และการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เจ้าของพื้นที่สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ หรือสถานีกลางบางซื่อ จัดหาที่ดินเพื่อสร้างสถานีขนส่งกรุงเทพแห่งใหม่ขึ้นภายในบริเวณหรือพื้นที่ใกล้เคียงสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ แทนสถานีหมอชิต 2 เดิมที่ชำรุดทรุดโทรม
จนถูกผู้คนถ่ายทอดและประจานความฟอนเฟะภายในสถานี ไม่ว่าจะเรื่องของชานชลาสถานีที่ผู้โดยสารผู้ใช้บริการจะใช้บริการทีก็แสนทุลักทุเล ป้ายบอกทางที่ไม่รู้ทำเอาไว้ตั้งแต่ พ.ศ.ไหน ไร้พัดลม ไร้ไฟส่องสว่าง หรือบันไดเลื่อนที่เสียมาตั้งแต่เปิดให้บริการ 20-30 ปีแล้ว
จนทำให้สถานีขนส่งหมอชิต 2 แห่งนี้แทบจะเป็นแดนสนธยา ใครหลงเข้าไปใช้บริการช่วงดึกดื่นค่ำคืนมีหวังถูกฉุดคร่าหรือถูกปล้นหมดเนื้อหมดตัวเอา การเชื่อมต่อการเดินทาง จุดดับเพลิง และห้องพยาบาล ทุกอย่างไร้การบำรุงรักษา
จนถูก ส.ส.พรรคก้าวไกล (ก.ก.) นำไปตั้งกระทู้ประจานผลงานความฟอนเฟะให้ได้อายแทบแทรกแผ่นดินกลางสภามาแล้ว เพราะอยู่ใต้จมูกกระทรวงคมนาคมแท้ๆ แต่กลับ “มองไม่เห็น”
แต่แทนที่กระทรงวงคมนาคมจะลงไปแก้ไขปัญหาให้สะเด็ดน้ำ ก็กลับผุดไอเดียสุดบรรเจิดจะให้ ”บขส. และสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ หาที่ดินบริเวณใกล้เคียง เพื่อให้ บขส.สร้างอาคารแบบ Mixed Use ควบคู่ไปกับสถานีรถโดยสาร โดยมีระบบเชื่อมต่อการเดินทางร่วมกับสถานีกลางฯ”
และมีแนวคิดจะดึงเอารถโดยสารทุกเส้นทางกลับมารวมศูนย์ให้บริการอยู่ภายในสถานีกลางใหม่แห่งนี้ โดยมีอาคารแยกการให้บริการแต่ละเส้นทาง อาทิ อาคารเส้นทางสายเหนือ สายตะวันออกเฉียงเหนือ สายใต้ และสายตะวันออก โดยคาดว่าจะใช้งบลงทุนราว 7,000 ล้านบาท
สรุปง่ายๆ ก็คือ จะดึงเอารถ บขส. ทุกสายมารวมศูนย์อยู่ที่สถานี บขส.หมอชิต 2 ใหม่ จากเดิมที่ บขส.ได้โยกย้ายรถโดยสาร บขส.สายไกลไปอยู่ย่านหัวเมือง อย่างสายเหนือ สายตะวันออกเฉียงเหนือที่โยกไปอยู่แถวรังสิต-ธรรมศาสตร์ สายใต้ที่พุทธมณฑล-ศาลายา และสายตะวันออกที่เอกมัย หรือจะลาดกระบังก็ตามแต่
โดย รมว.คมนาคม ระบุว่า เพื่อจะให้ผู้โดยสารสามารถเดินเท้าเชื่อมต่อระหว่างอาคารกับสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ และรถไฟฟ้าได้อย่างสะดวก ซึ่งจะเชื่อมต่อโดยอุโมงค์ หรือทางเดินที่มีหลังคาคลุม และยังจะทำให้การให้บริการของรถ บขส. เป็นรูปแบบเดียวกันกับสนามบิน หรือใช้ประตูทางออกร่วมกัน (Shared Gate) เพื่อใช้พื้นที่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยรถ บขส. จะต้องเข้ามารับผู้โดยสารตามเวลาที่กำหนดเท่านั้น
“บริเวณสถานีขนส่งกรุงเทพแห่งใหม่ จะต้องไม่มีอู่จอดรถในพื้นที่อาคาร โดยรถที่ให้บริการจะเข้ามารับ-ส่งผู้โดยสารตามเวลาเท่านั้น เพื่อแก้ปัญหาความแออัดของพื้นที่ และลดปัญหามลพิษ และที่สำคัญ คือ จะพัฒนาอาคารเป็น Mixed Use โดยมีการออกแบบอาคารให้ใช้ร่วมกัน เช่น ใช้พื้นที่ชั้นล่างเป็นสถานีรถโดยสาร และพัฒนาพื้นที่ชั้นบนเป็นสำนักงาน รวมถึงพื้นที่เชิงพาณิชย์ เพื่อสร้างรายได้ และเป็นการใช้พื้นที่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด เป็นต้น รวมทั้งจัดให้มีพื้นที่รอคอย และพื้นที่ซื้อตั๋วในตัวอาคาร พร้อมทั้งป้ายแสดงข้อมูลรถที่จะเข้ายังชานชาลาต่างๆ ในลักษณะ Shared Gate ดังเช่นต้นแบบในต่างประเทศ”
“แก่ง หินเพิง” เงี่ยหูฟังไอเดียสุดบรรเจิด “ในสามโลก” ของ รมต.คมนาคมข้างต้น และกำลังรอดู (อย่างตั้งใจ) อยู่ว่าข้าราชการ เจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องทั้งในส่วนของ บขส. กรมขนส่งทางราง การรถไฟฯในฐานะเจ้าของพื้นที่สถานีกรุงเทพอภิวัฒน์ รวมทั้งสำนักขนส่งและจราจร (สนข.) ของกระทรวงคมนาคม และตัวกรมขสนส่งทางบกเองจะมีท่าทีอย่างไรต่อแนวนโยบายนี้
ทั่วโลกเขามีแต่จะหาทางกระจายศูนย์ขนส่งในลักษณะนี้ออกไปตั้งนอกเมือง ตั้งศูนย์ HUB Spoke นอกเมือง อย่างสายเหนือที่ไปตั้งที่รังสิต-ธรรมศาสตร์ สายใต้แถวพุทธมณฑล-ศาลายา สายตะวันออกจะไปบางนา-ลาดกระบังก็ว่าไป แล้วเชื่อมต่อการเดินทางด้วยระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน หรือจะด้วยระบบขนส่งสาธารณะเข้ามาในเมืองก็ว่าไป
แต่ รมต.คมนาคม กลับผุดไอเดียสุดบรรเจิดจะดึงเอาสถานีขนส่งที่กระจายตัวออกไปก่อนหน้า กลับเข้ามารวมศูนย์อยู่ที่สถานีหมอชิตใหม่ภายในสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์แห่งนี้แทน ไม่เมาไวน์ก็คงเมาหมัด (เพราะกัดกลุ้มที่ควานหาผลงาน 6 เดือนไม่เจอหล่ะวะงานนี้)
แค่ “อิเมจิ้น” ตามนโยบายสุดบรรเจิดของ ฯพณฯ ท่าน ก็ “มึนตี๊บ” วิงเวียนศีรษะตาลายไปหมดแล้ว เอาแค่ว่าจะจัดระบบขนส่งอย่างไรให้รถโดยสาร รถร่วม บขส.นับพัน ๆ คันเวียนเข้ามารับ-ส่งผู้โดยสารที่สถานีกลางแห่งนี้ โดยไม่สร้างปัญหาจราจรให้ “จลาจล” ไม่ต้องไปพูดถึงที่จอดพักรถจอดรถหรอกว่าจะเอาไปไว้ที่ไหนตรงไหน
แต่นี่จะรวมศูนย์ขนส่งมันทุกสายมาไว้กลางเมือง แล้วหาทางจัดสร้างโครงข่ายจราจร โครงข่ายถนนหนทางหรือรถไฟฟ้าเชื่อมต่อกันในภายหลัง ซึ่งไม่รู้จะทำได้หรือไม่ ต่อไปใครจะไปไหนหากจะต้องมาขึ้นรถที่สถานีกลางกรุงเทพฯ อาจต้องเผื่อเวลาเดินทางกันสัก 1-2 วันในการเข้าถึงสถานี และอย่าได้ฝันว่าจะอาศัยระบบขนส่งมวลชนจะรถเมล์ ขสมก. แท็กซี่ หรือวินมอเตอร์ไซด์ หรือเอารถยนต์ส่วนตัวเข้าไปเด็ดขาด ขนาดพื้นที่สถานีหมอชิต 2 เวลานี้ก็ยังโกลาหลแก้ปมไม่ออกกันอยู่เลย เมื่อดึงรถโดยสารสายอื่น ๆ ทั้งหมดเข้ามารวมศูนย์ไว้ มันจะโกลาหลแค่ไหนลองหลับตานึกดูเอา
ไม่มีใครคิดอุตริเอาท่ารถ บขส. มากระจุกรวมไว้ใจกลางเมืองแบบนี้หรอก ฯพณฯ ท่าน ยกเว้นที่ญี่ปุ่น แต่นั่นเขามีทางด่วนวิ่งตรงรองรับการเดินทางเข้า-ออกโดยเฉพาะ ไม่ต้องผ่านถนนสายหลักอื่น ๆ แบบบ้านเรา หรือหากทำได้ก็ไม่รู้จะต้องทุ่มเทงบประมาณกันไปสักเท่าไหร่
เผลอ ๆ งบประมาณรายจ่ายของภาครัฐ 3.5 ล้านล้านบาท จะพอหรือเปล่าก็ไม่รู้นะ
ไหน ๆ ก็มีข่าวมีกระแสสะพัด รัฐบาลเตรียมจัดทัพปรับปรุงคณะรัฐมนตรีกันใหม่อีกแล้ว ยังไง ก็ฝากฝังผลงานและไอเดียสุดบรรเจิดของ ฯพณฯ ท่านสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ ที่ขอส่งเข้าประกวดไว้พิจารณาด้วยคนครับท่านนายกฯ เศรษฐา (เราจะเป็นเศรษฐี)
แก่งหิน เพิง