นายสราวุธ ทรงศิวิไล อธิบดีกรมทางหลวง เปิดเผยว่า กรมทางหลวง โดยสำนักก่อสร้างสะพาน ได้ดำเนินโครงการก่อสร้างปรับปรุงทางแยกต่างระดับเขาไม้แก้ว จ.ชลบุรี เพื่ออำนวยความสะดวกและความปลอดภัยให้แก่ประชาชน รองรับปริมาณการจราจรและการขยายตัวภาคอุตสาหกรรมในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ ตามยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศ
ทางแยกจุดตัดเขาไม้แก้วหรือทางแยกจุดตัดระหว่างทางหลวงหมายเลข 36 และทางหลวงหมายเลข 331 ในพื้นที่ จ.ชลบุรี เป็นเส้นทางที่มีความสำคัญในการเชื่อมโยงการคมนาคมและการขนส่งระหว่างพื้นที่ภาคตะวันออกไปสู่จังหวัดและภูมิภาคใกล้เคียง รองรับปริมาณการจราจรจากการขยายตัวทางเศรษฐกิจและภาคอุตสาหกรรมของประเทศ ส่งผลให้บริเวณทางแยกดังกล่าวมีปริมาณการจราจรหนาแน่น ประชาชนไม่ได้รับความสะดวกในการเดินทาง ด้วยความสำคัญของทางแยกนี้ กรมทางหลวงจึงได้ดำเนินการโครงการก่อสร้างปรับปรุงทางแยกต่างระดับเขาไม้แก้ว จ.ชลบุรี ตั้งอยู่ระหว่างทางหลวงหมายเลข 36 ที่ กม.14+500 - กม.15+900 และทางหลวงหมายเลข 331 ที่ กม.25+300 - กม.26+533 รวมระยะทางประมาณ 2.633 กิโลเมตร โดยมีรูปแบบที่สอดคล้องกับลักษณะภูมิประเทศและเขตทางที่มีอยู่เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด ประกอบด้วย
- ก่อสร้างสะพานต่างระดับบนทางหลวงหมายเลข 331 แบบ Directional Ramp ในทิศทางเลี้ยวขวาเข้าทางหลวงหมายเลข 36 เพื่อเดินทางจาก จ.ฉะเชิงเทรา ไป เมืองพัทยา จ.ชลบุรี และจาก อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี ไปสู่ จ.ระยอง
- ก่อสร้างสะพานต่างระดับแบบ Loop Ramp ในทิศทางเลี้ยวขวาเข้าทางหลวงหมายเลข 331 เพื่อเดินทางจากเมืองพัทยา จ.ชลบุรี ไปสู่ อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี และจาก จ.ระยอง ไป จ.ฉะเชิงเทรา
- งานก่อสร้างทางหลวงบริเวณทางแยกจุดตัดเป็นมาตรฐานทางชั้นพิเศษ ขนาด 10 ช่องจราจร (ไป -กลับ) ผิวทางคอนกรีต บนทางหลวงหมายเลข 331 สำหรับประชาชนที่มีความประสงค์เดินทางไป จ.ฉะเชิงเทรา และ อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี และทางหลวงหมายเลข 36 สำหรับเส้นทางการเดินทางระหว่าง เมืองพัทยา จ.ชลบุรี และ จ.ระยอง
นอกจากนี้ ยังได้รวมงานก่อสร้างระบบท่อระบายน้ำ งานติดตั้งไฟฟ้าแสงสว่าง งานติดตั้งป้ายจราจร และงานสีตีเส้นจราจร รวมงบประมาณทั้งหมด 601,601,396 บาท
ปัจจุบันโครงการก่อสร้างแล้วเสร็จ โดยได้ทำการเปิดให้บริการแก่ประชาชนในการสัญจรได้ด้วย ความสะดวก รวดเร็ว และปลอดภัย เพิ่มขีดความสามารถในการรองรับปริมาณการจราจรในอนาคต เป็นการพัฒนาโครงข่าย ทางหลวงเพื่อรองรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจ การลงทุน รวมทั้งการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรมและการท่องเที่ยว ในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษบริเวณชายฝั่งทะเลภาคตะวันออก เพื่อสนับสนุนในการมุ่งสู่การเป็นศูนย์กลางการคมนาคมขนส่งและโลจิสติกส์ของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้