หวั่นใจกันมานาน! วันนี้...คนไทยได้เห็นไทม์ไลน์โครงการ “แจกเงินหมื่นดิจิทัลฯ” กันแล้ว กับแผนการที่ “นายกฯ เศรษฐา” แจงไว้... พร้อมแจก 10,000 บาท ให้กลุ่มเป้าหมาย 50 ล้านคนไทย ในไตรมาส 4 ปี 2567 นับเป็น “สัญญาณบวก” ต่อการสร้างโอกาสให้กับคนตัวจิ๋ว และการกระตุ้นระบบเศรษฐกิจของไทย
……………
ทุกๆ เวทีที่ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เดินทางลงพื้นที่ในต่างจังหวัดทั่วประเทศ ก็มักจะถูกถามถึงเรื่อง โครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ต จากประชาชนในพื้นที่นั้นๆ และคำตอบที่มีให้...ก็ตรงกัน!!!
“แจกครับแจก”... “รอแป๊บนึง” ... “กำลังดำเนินการอยู่ครับ”
จนหลายคนเกิดความสงสัย? ที่สุดแล้ว โครงการ “แจกเงินหมื่นฯ” เพื่อหวังกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล มันจะเกิดขึ้นได้จริงหรือ? ในเมื่อหลายฝ่าย...ไล่ตั้งแต่พรรคฝ่ายค้าน สมาชิกวุฒิสภาบางกลุ่ม นักวิชาการบางคน หน่วยงานรัฐบางองค์กร โดยเฉพาะ...ธนาคารแห่งประเทศไทย (แบงก์ชาติ) ที่ออกมาคัดค้านหัวชนฝา แม้กระทั่งวงการสื่อสารมวลชน เองก็เหอะ!!!
ล่าสุด ระหว่างการประชุมสมาชิกวุฒิสภา (สว.) เพื่อพิจารณาญัตติให้คณะรัฐมนตรีแถลงข้อเท็จจริง หรือชี้แจงปัญหาสำคัญเกี่ยวกับการบริหารราชการแผ่นดินโดยไม่มีการลงมติตามรัฐธรรมนูญมาตรา 153 เมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2567 ที่ผ่านมา มีการหยิบเรื่องนี้มาวิพากษ์รัฐบาลอย่างเข้มข้น...
และเป็น “สว.คนดัง” อย่าง...นายสมชาย แสวงการ และ นายเฉลิมชัย เฟื่องคอน ที่มาตั้งข้อสังเกตในทำนอง...โครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ต เป็นนโยบายในการเลือกตั้งที่มีการเผยแพร่บนเว็บไซต์คณะกรรมการการเลือกตั้ง ว่า หากพรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล จะกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการทำโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ต ด้วยการแจกเงินให้คนไทยที่มีอายุตั้งแต่ 16 ปีขึ้นไป คนละ 10,000 บาท จำนวน 56 ล้านคน คิดเป็นจำนวนเงิน 5.6 แสนล้านบาท โดยใช้จากงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567
“นายกรัฐมนตรีประกาศทุกเวทีหาเสียงว่าจะไม่กู้เงิน แต่ตอนนี้เป็นอย่างไร จึงขอตั้งข้อสังเกตว่า การประกาศเช่นนั้นมีลักษณะสัญญาว่าจะให้ ซึ่งอาจผิดพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561 มาตรา 73 วรรค (1) ที่ห้ามไม่ให้ผู้สมัครผู้ใดเสนอให้ หรือสัญญาว่าจะให้ หรือจัดเตรียมว่าจะให้ทรัพย์สิน หรือผลประโยชน์อื่นใด มีโทษจำคุก 1-10 ปี ปรับ 20,000-200,000 บาท เพิกถอนสิทธิ 20 ปี” ข้อสังเกตจาก นายเฉลิมชัย เฟื่องคอน
ขณะที่ นายสมชาย แสวงการ ก็วิพากษ์ได้รุนแรงไม่ต่างกัน โดยระบุตอนหนึ่งว่า... นายกรัฐมนตรีหมกมุ่นเรื่องนี้ ดิจิทัลวอลเล็ต ซึ่งได้ไม่คุ้มเสีย และตนวิงวอนมาตลอดว่า เลิกเถอะ อย่าดันทุรัง สภาฯ แห่งนี้อภิปรายไม่ไว้วางใจเป็นครั้งที่ 64 รัฐบาลรับฟัง นำไปแก้ไข ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการชุมนุมทางการเมือง ความมั่นคง มีรัฐบาลหนึ่งไม่ฟัง โครงการจำนำข้าว สุดท้ายรัฐมนตรีบางคนติดคุก นายกรัฐมนตรีหนีออกนอกประเทศ ดิจิทัลวอลเล็ตก็เหมือนกัน ตนจึงเตือนด้วยความหวังดี สว. อภิปรายทิ้งทวน เนื่องจาก 11 พฤษภาคมนี้ก็หมดเวลาของเราแล้ว
แน่นอนว่า...มีหลายคนเช่นกัน? อดสงสัยในต่อมสำนึก “ซีกนิติบัญญัติ” ของ สว.ชุดนี้
ทำนอง... เหตุใดจึงเพิ่งจะปรากฏขึ้นมาในวันที่ใกล้หมดอายุการทำงานตลอด 5 ปี ทำไม...ช่วงการบริหารประเทศของรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ก่อนหน้านี้...จึงไม่คิดจะอภิปรายรัฐบาล
เป็นเพราะ...รู้สึกห่วงใยผลประโยชน์ของชาติบ้านเมือง หรือกำลังจะต่อรองอะไร? กับใคร? หรือไม่? อย่างไร?
ทว่าเหตุการณ์ สดๆ ร้อนๆ ที่เกิดขึ้น เมื่อช่วงสายของวันที่ 27 มีนาคม 2567 ที่ผ่านมา และเป็น “นายกฯ เศรษฐา” ที่ได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการขับเคลื่อนโครงการแจกเงินหมื่นดิจิทัล มาประชุมหารือที่ทำเนียบรัฐบาล แม้จะไม่มี “ผู้ว่าแบงก์ชาติ” (เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ) เข้าร่วมประชุมฯ เนื่องจากติดภารกิจเดินทางไปต่างประเทศ และที่ประชุมฯ ก็ใช้เวลาในการประชุมสั้นๆ เพียง 30 นาทีเศษ
ทว่าเนื้อหาสาระระหว่างการประชุมคณะกรรมการนโยบายโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ต ครั้งที่ 2/2567 ที่ตัวเขาเป็นประธานฯ ก็พอจะเห็น “เป็นเนื้อเป็นหนัง” ถึงความชัดเจนของโครงการฯได้มากขึ้น
นั่นเพราะระหว่างทาง...ในชั้นการประชุมคณะอนุกรรมการฯ ที่มี นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธานฯ ได้จัดเตรียมความพร้อมในมิติต่างๆ ได้มากพอจะส่งต่อไปสู่เวทีการประชุมของคณะกรรมการชุดใหญ่ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานการประชุมฯ
โดยการประชุมของคณะกรรมการชุดใหญ่ฯ นั้น “นายกฯ เศรษฐา” ระบุตอนหนึ่งว่า... เศรษฐกิจไทยมีปัญหาการเจริญเติบโตต่ำกว่าศักยภาพเป็นเวลายาวนาน และต้องเผชิญกับปัญหาทั้งภายในและภายนอก รวมถึงการฟื้นตัวของรายได้ของประชาชนที่ไม่เท่ากันหลังสถานการณ์โควิด-19 ท่ามกลางภาระดอกเบี้ยที่ยังสูงตลอดเวลา
“มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง ผมขอเน้นย้ำว่า...โครงการเติมเงิน 10,000 บาทผ่านดิจิทัลวอลเล็ตนี้ เป็นหนึ่งในมาตรการระยะสั้นที่จะช่วยเพิ่มเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ ให้กระจายตัวไปสู่ท้องถิ่นผ่านประชาชน ผู้ได้รับสิทธิ์และผู้ประกอบการร้านค้า ดังนั้น การดำเนินงานในขอบเขตที่มีเงื่อนไขที่เหมาะสมกับบริบทเศรษฐกิจในปัจจุบันย่อมส่งผลดีต่อเศรษฐกิจในภาพรวม และช่วยดูแลความเป็นอยู่ของประชาชนให้ดีขึ้น” นายกเศรษฐา ย้ำและว่า...
จากที่กล่าวมา โครงการดิจิทัลวอลเล็ต ควรถูกขับเคลื่อนและผลักดันเกิดเป็นรูปธรรมโดยเร็ว นอกจากนี้ ตนยังทราบมาว่า คณะทำงานรวบรวมข้อมูลความเห็นข้อเท็จจริง และข้อเสนอแนะทุกภาคส่วนได้จัดตั้งขึ้นแล้ว และอยู่ระหว่างรอหน่วยงานต่างๆ ให้ความเห็นกลับมา ซึ่งก็ขอให้การดำเนินโครงการนี้คำนึงถึงความเห็นของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างครบถ้วน
สรุปให้กระชับขึ้น! บอร์ดชุดใหญ่ฯ มอบหมายให้กระทรวงการคลังและสำนักงบประมาณไปดำเนินการ ในเรื่องข้อเสนอความเป็นไปได้ของแหล่งเงินฯ นอกเหนือจากการออก พ.ร.บ.เงินกู้น 5 แสนล้านบาท
มอบหมายให้กระทรวงการพาณิชย์ไปเร่งสรุปหลักเกณฑ์ของร้านค้าและสินค้าที่จะเข้าร่วมโครงการฯ
มอบให้กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และบอร์ดรัฐบาลดิจิทัล สรุปการพัฒนาระบบและเปิดให้สถาบันการเงิน รวมทั้งผู้ประกอบธุรกิจกระเป๋าเงินเข้าร่วมโครงการฯ
ทั้งหมดจะต้องนำเสนอต่อที่ประชุมใหญ่ในวันที่ 10 เมษายนที่จะถึงนี้!!!
“นายกฯเศรษฐา” ยังคงยืนยันระหว่างแถลงข่าวหลังการประชุมฯในครั้งนี้ ว่า...ภายในไตรมาสที่ 3 รัฐบาลจะเปิดให้ร้านค้าและประชาชนเข้าร่วมลงทะเบียน และพร้อมจะแจกเงินให้ถึงมือประชาชน ภายในไตรมาสที่ 4 นี้...เช่นกัน
หากยังจำกันได้...ในวันแรกที่เดินทางเข้าไปสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในกระทรวงการคลัง ก็เป็น “นายกฯ เศรษฐา” ที่ตอบคำถามของผู้สื่อข่าวประจำกระทรวงการคลัง ซึ่งได้ถามว่า... “หากคะแนนเต็มสิบ นายกฯ จะให้คะแนนการดำเนินโครงการแจกเงินหมื่นดิจิทัลเท่าไหร่?”
11 คะแนน...นั่นคือคำตอบจาก “นายกฯ เศรษฐา”
แม้ระหว่างทาง...ที่รัฐบาลต้อง “เจอตอ” ต้านโครงการแจกเงินหมื่นดิจิทัล กระนั้น ความมั่นใจที่ว่า... รัฐบาลเศรษฐา จะขับเคลื่อนโครงการนี้ได้ ก็ยังดำรงอยู่...
ถึงนาทีนี้ คนไทยได้เห็น “ไทม์ไลน์” ของแผนการดำเนินงานในโครงการแจกเงินหมื่นดิจิทัล หรือชื่อเต็มๆ คือ โครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ต กันแล้ว
“สำนักข่าวเนตรทิพย์” จะไม่วิพากษ์วิจารณ์ว่า... โครงการนี้จะเกิดขึ้นได้จริงหรือไม่? นั่นเพราะได้เห็นถึงความตั้งใจจริงของรัฐบาลชุดนี้ ในท่ามกลางปัญหาย้อนแย้งระหว่าง...เศรษฐกิจไทยมีปัญหาจริงๆ หรือเปล่า?
ดังนั้น การเพิ่มอำนาจซื้อของประชาชน ในวันที่การกระจายรายได้ของคนไทย...ยังไม่เท่าเทียมกัน จึงนับเป็นความจำเป็นเร่งด่วน! อย่างที่สุด ที่รัฐบาลจะต้องเร่งรัดดำเนินโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ ในทำนองนี้...
หากรัฐบาลยังคงปล่อยให้ธุรกิจขนาดใหญ่ - เศรษฐกิจในมือคนตระกูลดัง...เติบโตอย่างก้าวกระโดด ตั้งแต่ระดับหลักหน่วยปลายๆ จนถึงเติบโตที่ 2 ระดับ หรือขยายตัวเกิน 10% ต่อไปเรื่อยๆ
ช่องว่างความจน - รวย ของสังคมไทยจะถ่างออกไปไกลมากยิ่งขึ้น!!!
เหมือนบ่อยครั้ง ที่ “สำนักข่าวเนตรทิพย์” ได้หยิบยกเรื่องที่กลุ่มทุนขนาดใหญ่ นำเอาผลกำไรจากการดำเนินงานในประเทศไทย ไปลงทุนในต่างประเทศไทย มองเผินๆ นัยว่า...เหมือนจะเป็นการส่งเสริมให้ธุรกิจคนไทยเติบโตในต่างแดน ทว่าความเป็นจริง...ก็แค่พวกเขา (ทุนใหญ่) ต้องการกระจายความเสี่ยงจากปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นจากผลของความขัดแย้งในอนุภูมิภาค ซึ่งอาจส่งต่อไปถึงเสถียรภาพทางธุรกิจและความมั่งคั่งของตระกูลพวกเขาก็เท่านั้น
หาได้กังวลใจต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศ หรือห่วงใยในชีวิตความเป็นอยู่ของเพื่อนร่วมชาติแต่อย่างใด?
การกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านคนไทย 50 ล้านคน (เกณฑ์อายุ 16 ปีขึ้นไป) ไปสู่ภาพรวมธุรกิจขนาดจิ๋ว เล็ก กลาง ใหญ่ และยักษ์ โดยเฉพาะธุรกิจระดับกลางลงมา จึงนับเป็นสิ่งที่จำเป็นที่ “รัฐบาลเศรษฐา” มองเห็นตรงกับจุดยืนของ “สำนักข่าวเนตรทิพย์” ที่อยากจะเห็นสิ่งนี้เกิดขึ้นเร็วๆ
อย่างน้อย...เม็ดเงินระดับ 5 แสนล้านบาท ที่แม้วันนี้...จะยังไม่ชัดเจนในเรื่องของแหล่งที่มาของเงินทุน ทว่าหากโครงการดำเนินการต่อไปได้ จะไม่เพียงการกระตุ้นเศรษฐกิจทั้งทุกมิติ ตั้งแต่ระดับจีดีพีที่คาดว่าจะเติบโต 1 - 1.5% หากยังทำให้ระดับประชาชน ที่มองเห็นโอกาสต่อยอดจากโครงการฯ ก็สามารถจะนำเงิน 10,000 บาทต่อคนไปลงทุนทำการค้าเล็กๆ ที่ตัวเองถนัดไป
ตรงนี้ อาจเป็นสิ่งจำเป็นในขั้นต่อไปที่ “รัฐบาลเศรษฐา” อาจต้องให้ “ความรู้คู่เงินทุน” แก่กลุ่มเป้าหมายทั้ง 50 ล้านคน ว่า...ทำอย่างไรจึงจะต่อยอดเงิน 10,000 บาทที่รับแจกไปสร้างความยั่งยืนแก่ครอบครัวตัวเองได้
หากแม้มีคนคิดในมิตินี้ แค่เพียง 1% ของ 50 ล้านคน นั่นก็จะมีคนมากถึง 5 แสนคน ที่อาจจะต่อยอดโครงการแจกเงินหมื่นดิจิทัลไปสู่ธุรกิจระดับไมโครเอสเอ็มอีได้
เอาเป็นว่า...ถึงนาทีนี้ สังคมไทยคงได้เห็นความชัดเจนและสัญญาณบวกของโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ต หรือ โครงการแจกเงินหมื่นดิจิทัลกันบ้างแล้ว
10 เมษายน 2567 ทุกอย่างคงจะกระจ่างชัด! โดยเฉพาะแหล่งที่มาของเงินในโครงการฯ
หากหน่วยงานของรัฐและรัฐบาล สามารถจะตอบโจทย์ตรงนี้ ได้อย่างครบถ้วนกระบวนความแล้ว! ในวันที่ สว.ชุดใหม่ จะเข้ามาทำงานแทนที่ชุดเก่า...ระบบเศรษฐกิจไทย โอกาสทางธุรกิจของคนตัวเล็ก-ตัวจิ๋วในสังคมไทย ก็คงจะเปิดกว้างขึ้น
อย่างน้อย...ก็น่าจะเปิดกว้างได้มากกว่าในวันนี้นั่นแหละ!!!.