ขยันผุดโปรเจ็กต์ขึ้นมาเป็นรายวันจริงๆ สำหรับรัฐบาลนายกฯเศรษฐา (ที่เขาว่าเราจะได้เป็นเศรษฐี) ที่ล่าสุดกำลังปล้ำผีลุก ปลุกผีนั่งจะลุยไฟ"เอนเตอร์เทนเมนท์ คอมเพล็กซ์ Entertainment Complex ผุด "กาสิโน" หารายได้จากบ่อนการพนันขึ้นมาอีกแล้ว..
……
โดยนัยว่า 1 ใน 3 พื้นที่ตั้งที่เหมาะสม ที่กระทรวงการคลังศึกษาเอาไว้เบื้องต้น นอกจากกรุงเทพฯ ภูเก็ต ก็มาโผล่อยู่เมืองพัทยาในเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ อีอีซี อีกแล้ว
ทั้งที่ โครงการลงทุนหลักในเขตเศรษฐกิจพิเศษ หรือ อีอีซี เอง ก็ยังเต็มไปด้วยปัญหา โดยเฉพาะ 2 โครงการเรือธงอย่าง รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) และ โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา และเมืองการบินตะวันออก
ยิ่งในส่วนของโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน มูลค่ากว่า 2.24 แสนล้านบาท ด้วยแล้ว กว่า 4 ปี จะครบ 5 ปีแล้ว นับแต่รัฐบาลและการรถไฟฯ (รฟท.) ให้สัมปทานกับบริษัทเอกชน (บ.เอเซียเอราวัน จำกัด ของกลุ่มทุน ซีพี. และพันธมิตร) เมื่อ 24 ต.ค.62 แต่จนวันนี้โครงการกลับไม่มีคืบหน้า ยังไม่ "เปิดหวูด" ก่อสร้างแม้แต่น้อย
ผลพวงความล่าข้าโครงการนี้ได้ทำให้โครงการลงทุนอื่น ๆ โดยเฉพาะการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินตะวันออก มูลค่าการลงทุนร่วม 3 แสนล้าน พลอยติดหล่มไปด้วย !
วันวานเห็นนายกฯ เศรษฐา ที่เดินทางลงไปพื้นที่ภาคใต้ ได้ให้นโยบายอยากให้ยกระดับเมืองภูเก็ตเป็นเขตปกครองพิเศษที่มีกฎหมายรองรับการลงทุนเป็นการเฉพาะ แบบเดียวกับเขตเศรษฐกิจอีอีซี
เลยทำให้อดคิดไปไม่ได้ว่า แล้วเขตเศรษฐกิจพิเศษอีอีซี ที่มี พ.ร.บ.อีอีซี รองรับอยู่โดยตรงหล่ะ แตกต่างกับกฎหมายอื่นๆ ตรงไหน มีกฎหมายพิเศษรองรับแล้วเป็นอย่างไร ?
เพราะที่เห็นและเป็นไปนั้น ก็บริหารจัดการได้ไม่ต่างไปจากระบบราชการอื่นๆ มีกฎหมายก็เหมือนไม่มีนั่นแหล่ะ เพราะหน่วยงาน “ใช้ไม่เป็น” จนป่านนี้ยังไม่มีอะไรเป็นรูปธรรม
ตัวนายกฯ ที่ควรจะลงไปกำกับดูแลเอง ก็กลับมอบหมายให้รองนายกฯ นายภูมิธรรม เวชยชัย ทำหน้าที่เป็นประธานคณะกรรมการเขตเศรษฐกิจพิเศษ แทนซะงั้น !
ทีนี้ก็เลยช้าไปกันใหญ่ ตัวรองนายกฯ ภูมิธรรมเอง ก็งานยุ่งขิง ไหนจะสวมหมวก รมว.กระทรวงพาณิชย์ ที่ต้องรับมือกับปัญหาข้าวยากหมากแพง ไข่แพง หมูแพง เป็นรายวัน
ไหนจะรับผิดชอบ ประธานกรรมาธิการศึกษาแนวทางแก้ไขรัฐธรรมนูญ (รธน.) รับมือสภา ไหนจะแก้ปัญหาข้าวเน่า 10 ปี ยังกินได้ เพื่อปูทางให้ "อดีตนายกฯ ปู” ปิ๊กบ้านแล้วจะเอาเวลาที่ไหนไปประชุม 7 เดือนที่ผ่านมา จึงแทบจะเรียกได้ว่า ประชุมบอร์ดอีอีซีไปไม่ถึง 3 ครั้ง
อย่าว่า แต่นายกฯ รองนายกฯ หรือ รมต.จะไม่ให้ความสำคัญหรือเข้าร่วมประชุมเลย ขนาดปลัดกระทรวงยังส่งตัวแทนเข้าประชุมแทนไปด้วยอีก
แล้วนโยบายอีอีซี มันจะขับเคลื่อนกันไปได้อย่างไร ?
กับเรื่องที่เป็นปัญหาที่ทำให้โครงการมันสะดุุด ทั้งเรื่องของเงินลงทุน การระดมทุนของบริษัทเอกชนผู้รับสัมปทานที่หลายฝ่ายตั้งข้อกังขาตกลงว่า มีไหมศักยภาพเพียงพอหรือไม่ ไม่สามารถจะจัดหาแหล่งเงินหรือระดมทุนได้
หรือในเรื่องปัญหาการก่อสร้างโครงการบนพื้นที่ทับซ้อน ช่วงบางซื่อ-ดอนเมือง ก็ไม่รู้รถไฟฯ และ สกพอ. ลืมอะไรไปไหม ตัวเองมีกฎหมายพิเศษอีอีซีอยู่ในมือแท้ๆ แต่กลับใช้ไม่เป็น หรือทำอะไรไม่เป็นโล้เป็นพายอยู่ได้
ทีนโยบายส่งเสริมรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ดึงค่ายรถยนต์จีนตบเท้าเข้ามาตั้งโรงงานผลิตรถยนต์ EV ตั้งโรงงานแบตฯ อีวีในไทย ที่ไม่รู้รัฐบาลต้องประเคนผลประโยชน์ ลดภาษีโน่นนั่นนี่ให้ไปเท่าไหร่ หรือต้องอัดฉีดเม็ดเงินภาษี ส่งเสริมให้คนซื้อรถอีวี ยอมสูญเสียภาษีหรือลดภาษีอะไรให้จิปาถะ โดยที่ยังไม่รู้เลยว่า ผลประโยชน์แท้จริงที่จะตกกับประเทศสักกี่มากน้อย รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกลับเออออห่อหมกประเคนให้ไป
แต่กับเม็ดเงินอุดหนุนการก่อสร้างโครงการ ที่เอกชนต้องขอปรับร่นเวลาจ่ายให้เร็วขึ้น เพื่อชดเชยดอกเบี้ยที่ต้องแบกรับจากการดำเนินนโยบายดอกเบี้ย "บนยอดดอย" ของแบงก์ชาติ และการปีนเกลียวกับกระทรวงการคลัง
หรือแค่การส่งเสริมการลงทุนบีโอไอที่เอกชนผู้รับสัมปทานร้องขอต่ออายุมาครั้งแล้วครั้งเล่า เพราะยังเจรจาแก้ไขสัญญาไม่ลงตัว ไม่ตกผลึกเสียทีนั้น หน่วยงานอีอีซีและผู้เกี่ยวข้องกลับโยนกลองกันให้วุ่น ไม่สามารถจะใช้กฎหมายพิเศษใดๆ ที่มีอยู่ในมือมาแก้ไขปัญหาให้มันสะเด็ดน้ำ
เช่นเดียวกับโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินตะวันออก ที่โดนควันหลงมาจากโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินข้างต้น จนทำให้ต้องมีการแก้ไขสัญญาปรับ Timeline การดำเนินโครงการกันให้วุ่นอยู่ในปัจจุบัน
บริษัทเอกชนผู้รับสัมปทานมีการยื่นข้อเสนอแก้ไขสัญญาสัมปทานเช่นกัน ทั้งยังต้องการความชัดเจนจากนโยบายภาครัฐที่มีต่อโครงการนี้ที่พ่วงอยู่กับรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน แต่หน่วยงานกำกับดูแลโครงการ อย่าง สกพอ. ก็กลับไม่สามารถตัดสินใจแก้ไขปัญหาให้ลุล่วงไปได้ นอกจากซื้อเวลานั่งหายใจรวยรินกันไปวันๆ
ทั้งที่จะว่าไป โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน และโครงการเมืองการบินตะวันออก ที่ว่า ก็เป็นโครงการลงทุนสุดบิ๊กบึ้มที่สุดใน 3 โลกอยู่แล้ว มีมูลค่าการลงทุนรวมกว่า 5 แสนล้าน และมีนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศตบเท้าเข้าร่วมมากที่สุดในสามโลกอยู่แล้ว
ขนาดโครงการสุดบิ๊กบึ้มที่ตั้งอยู่เบื้องหน้าแท้ๆ เนื้องานโครงการ หากผลักดันสำเร็จจะปลุกเศรษฐกิจได้ดีกว่านโนบาย "ดิจิทัล วอลเล็ต" เป็นไหนๆ รัฐบาลเองยังไม่สามารถจะขับเคลื่อนให้มันเดินหน้าไปไหนได้
แล้วจะไปเพรียกหาการลงทุนหรือนักลงทุนหน้าไหนมาได้อีก!
แก่งหิน เพิง